“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

พระเยซูเจ้าทรงสนทนากับนิโคเดมัส

3 1ชายคนหนึ่งจากกลุ่มชาวฟาริสีชื่อนิโคเดมัส เป็นหัวหน้าคนหนึ่งของชาวยิว 2เขามาเฝ้าพระเยซูเจ้าตอนกลางคืน ทูลว่า “รับบี พวกเรารู้ว่า ท่านเป็นอาจารย์ที่มาจากพระเจ้า เพราะไม่มีใครทำเครื่องหมายอัศจรรย์อย่างที่ท่านทำได้ นอกจากพระเจ้าจะสถิตกับเขา” 3พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า

“เราบอกความจริงแก่ท่านว่า

ไม่มีใครเห็นพระอาณาจักรของพระเจ้าa

ถ้าเขาไม่ได้เกิดใหม่”b

4นิโคเดมัสทูลถามว่า “คนชราแล้วจะเกิดใหม่ได้อย่างไรกัน เขาจะเข้าไปในครรภ์มารดาอีกครั้งหนึ่ง แล้วเกิดใหม่ได้หรือ” 5พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า

“เราบอกความจริงแก่ท่านว่า

ไม่มีใครเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า

ถ้าเขาไม่เกิดจากน้ำและพระจิตเจ้าc

6สิ่งใดที่เกิดจากเนื้อหนังย่อมเป็นเนื้อหนัง

สิ่งใดที่เกิดจากพระจิตเจ้า ย่อมเป็นจิต

7อย่าประหลาดใจถ้าเราบอกท่านว่า

ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องเกิดใหม่จากเบื้องบน

8ลมdย่อมพัดไปในที่ที่ลมต้องการ

ท่านได้ยินเสียงลมพัด

แต่ไม่รู้ว่า ลมพัดมาจากไหน และจะพัดไปไหน

ทุกคนที่เกิดจากพระจิตเจ้าก็เป็นเช่นนี้”

9นิโคเดมัสทูลถามพระองค์ว่า “เหตุการณ์เช่นนี้จะเป็นไปได้อย่างไร” 10พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านเป็นอาจารย์ของชาวอิสราเอล ท่านไม่รู้เรื่องเหล่านี้หรือ

11เราบอกความจริงแก่ท่านว่า

เรากำลังพูดถึงเรื่องที่เรารู้e

และเป็นพยานถึงเรื่องที่เราเห็น

แต่ท่านทั้งหลายไม่ยอมรับคำยืนยันของเราf

12ถ้าท่านทั้งหลายไม่เชื่อ

เมื่อเราพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับโลกนี้

ท่านจะเชื่อได้อย่างไร

เมื่อเราจะพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสวรรค์g

13ไม่มีใครเคยขึ้นไปบนสวรรค์h

นอกจากผู้ที่ลงมาจากสวรรค์

คือบุตรแห่งมนุษย์เท่านั้น

14โมเสสยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใด

บุตรแห่งมนุษย์iก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น

15เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์j

จะมีชีวิตนิรันดร

16พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก

จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์

เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ

แต่จะมีชีวิตนิรันดร

17เพราะพระเจ้าทรงส่งพระบุตรมาในโลกนี้

มิใช่เพื่อตัดสินลงโทษโลก

แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้นเดชะพระบุตรนั้น

18ผู้ที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ

แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษอยู่แล้ว

เพราะเขามิได้มีความเชื่อ

ในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้าk

19ประเด็นของการตัดสินลงโทษก็คือ

ความสว่างเข้ามาในโลกนี้แล้ว

แต่มนุษย์รักความมืดมากกว่ารักความสว่าง

เพราะการกระทำของเขานั้นชั่วร้าย

20ทุกคนที่ทำความชั่ว

ย่อมเกลียดความสว่างและไม่เข้าใกล้ความสว่าง

เกรงว่าการกระทำของตนจะปรากฏชัดแจ้ง

21แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามความจริงl

ย่อมเข้าใกล้ความสว่าง

เพื่อให้เห็นชัดว่าสิ่งที่เขาทำนั้นได้ทำโดยพึ่งพระเจ้า”

พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนในแคว้นยูเดีย

ยอห์นเป็นพยานครั้งสุดท้าย

22หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์เข้าไปในแคว้นยูเดีย พระองค์ประทับอยู่กับเขาที่นั่นและทรงทำพิธีล้างm 23ส่วนยอห์นก็ทำพิธีล้างอยู่ที่ไอโนนn ใกล้ตำบลซาลิม เพราะที่นั่นมีน้ำบริบูรณ์ ประชาชนต่างมารับพิธีล้าง 24เวลานั้นยอห์นยังไม่ถูกจำคุก

25ชาวยิวคนหนึ่งเริ่มโต้เถียงกับศิษย์บางคนของยอห์นเรื่องการชำระล้างo 26คนเหล่านั้นจึงไปหายอห์น พูดว่า “รับบี ขณะนี้ผู้ที่เคยอยู่กับท่านที่แม่น้ำจอร์แดนฟากโน้น และท่านเป็นพยานถึงเขากำลังทำพิธีล้างอยู่ และทุกคนก็ไปหาเขา”

 27ยอห์นตอบว่า “มนุษย์มีสิ่งใดไม่ได้นอกจากสิ่งที่ได้รับจากสวรรค์ 28ท่านทั้งหลายก็เป็นพยานได้ที่ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้แล้วว่า ‘ข้าพเจ้าไม่ใช่พระคริสตเจ้า แต่ข้าพเจ้าถูกส่งมาก่อนพระองค์’

 29ผู้ที่มีเจ้าสาวคือเจ้าบ่าวp

แต่เพื่อนเจ้าบ่าวที่ยืนฟังอยู่

ย่อมยินดีเมื่อได้ยินเสียงของเจ้าบ่าว

ข้าพเจ้ามีความยินดีเช่นนี้ และความยินดีของข้าพเจ้าก็สมบูรณ์

30พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้น

ส่วนข้าพเจ้าจะต้องด้อยลง”

31ผู้ที่มาจากเบื้องบนย่อมอยู่เหนือทุกคนq

ผู้ที่มาจากแผ่นดินนี้

ย่อมเป็นของแผ่นดินนี้ และพูดอย่างคนของแผ่นดินนี้

ผู้ที่มาจากสวรรค์ย่อมอยู่เหนือทุกคนr

32เขาเป็นพยานถึงสิ่งที่ได้เห็นและได้ยิน

แต่ไม่มีใครยอมรับคำพยานยืนยันของเขา

33ผู้ที่รับคำพยานยืนยันของเขา

ก็รับรองว่าพระเจ้าทรงสัตย์จริง

34ผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมานั้น

ย่อมกล่าวพระวาจาของพระเจ้า

เพราะพระเจ้าประทานพระจิตเจ้าให้เขาอย่างไม่จำกัดs

35พระบิดาทรงรักพระบุตร

และทรงมอบทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระบุตรt

36ผู้ใดมีความเชื่อในพระบุตร ย่อมมีชีวิตนิรันดร

ผู้ที่ไม่ยอมเชื่อฟังพระบุตร จะไม่พบชีวิตนั้น

การลงโทษของพระเจ้ากำลังอยู่เหนือเขาแล้ว

 

เรียนพระคัมภีร์กับคุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร
พระวรสารนักบุญยอห์น บทที่ 3

 



 

3 a พระอาณาจักรของพระเจ้า เป็นวลีที่ใช้บ่อยๆ ในพระวรสารสหทรรศน์ (มธ 4:17 เชิงอรรถ f) แต่พบใน ยน เพียงที่นี่ และข้อ 5 เท่านั้น ยน มักจะใช้คำว่า ชีวิต หรือ ชีวิตนิรันดร เพื่อสื่อความหมายเดียวกัน

b คำกรีก anothen มีความหมายทั้ง อีกครั้งหนึ่ง และ จากเบื้องบน เราเลือกใช้ความหมายแรกในข้อนี้ เพราะคำถามของนิโคเดมัสในข้อ 4 แสดงว่าเขาไม่เข้าใจความหมายที่สอง

c เป็นการกล่าวพาดพิงถึงศีลล้างบาปที่เราจำเป็นต้องรับ (ดู รม 6:4 เชิงอรรถ a)

d ทั้งในภาษากรีก และภาษาฮีบรู คำเดียวกันหมายถึงทั้ง ลม และ จิต รวมทั้ง พระจิตเจ้า ด้วย

e พระเยซูเจ้าไม่ได้ตรัสด้วยการริเริ่มของพระองค์เอง (7:17-18) แต่ทรงประกาศยืนยันถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงเห็น ร่วมกับพระบิดา (1:18; 3:11; 8:38; ดู 8:24 เชิงอรรถ g) พระองค์ทรงถ่ายทอดพระวาจาและคำสอนของพระบิดาให้แก่เรา (3:34; 8:28; 12:49, 50; 14:24; 17:8, 14) พระองค์เองเป็นพระวาจาหรือพระวจนาตถ์ (1:1, 14) พระวจนาตถ์ไม่ทรงอยู่เฉยๆ แต่ทรงสร้างทุกสิ่งขึ้นมาจากความเปล่า (1:1 เชิงอรรถ a) ทรงปลุกคนตายให้กลับคืนชีพ (5:28-29; 11:43, 44) ประทานชีวิตแก่วิญญาณ (5:24; 6:63; 8:51) ประทานพระจิตเจ้าผู้ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตอมตะ (1:33 เชิงอรรถ x; 20:22) ดังนั้น พระวจนาตถ์จึงทรงบันดาลให้มนุษย์เป็นบุตรของพระเจ้า (1:12; 10:35) โดยมีเงื่อนไขว่า มนุษย์ต้องมีความเชื่อในพระวจนาตถ์ (1:12) ต้อง ดำรงอยู่ในพระองค์ (ดู 8:31) ต้องรักษาพระวาจาของพระองค์ (8:51, 55; 12:47; 14:23; 15:20; 17:6) ต้องเชื่อฟังบทบัญญัติของพระองค์ คือบทบัญญัติแห่งความรัก (13:34 เชิงอรรถ u) อย่างไรก็ตาม พระวจนาตถ์คงเป็นปริศนา (2:19 เชิงอรรถ g) ที่เข้าใจยาก (ดู 6:60; 7:36) ทรงเข้าในดวงใจที่ถ่อมตนเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังพระวจนาตถ์หรือพระวาจาจึงตอบสนองแตกต่างกัน (7:43; 10:19) บางคนเชื่อ (4:41; 7:40ฯ, 46; 8:30) บางคนแม้ได้เห็น เครื่องหมายต่างๆ แล้ว (2:11 เชิงอรรถ f) ก็ยังละทิ้งพระองค์ไปด้วยความผิดหวัง (6:66) พระวจนาตถ์หรือพระวาจาที่ถูกปฏิเสธนี้จะพิพากษามนุษย์ทุกคนในวันสุดท้าย (12:48)

f พระวรสารของ ยน มีลักษณะการพิจารณาคดีที่ฟังพยานหลายปากด้วยกัน (ดู 5:22 เชิงอรรถ i) พยานเหล่านี้ได้แก่ ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง (1:7-8, 15, 19; 3:26; 5:33; 10:41) พระเยซูเจ้าเองทรงเป็นพยานถึงความจริง (18:37) ทรงกล่าวโทษโลก (7:7) ทรงเป็นพยานถึงพระบิดา และถึงพระองค์เองในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำสารของพระบิดา (3:11, 31-32; 5:26; 10:25 เทียบ 1 ทธ 6:13; วว 1:5; 3:14) จุดยอดของการพิจารณาคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูเจ้าทรงถูกนำมาพิจารณาคดีต่อหน้าปีลาต (ดู 18:28 เชิงอรรถ d) พระบิดาทรงเป็นพยานถึงพระบุตร (5:31-37; 8:18) และพระจิตเจ้าก็ทรงเป็นพยานเช่นเดียวกัน (15:26 ดู 14:26; รม 8:16; 1 ยน 5:6-12) นอกจากพยานที่กล่าวมาแล้วนี้ บรรดาอัครสาวก (ดู 17:20) จะร่วมเป็นพยานด้วย (15:27; 19:35; กจ 1:8 เชิงอรรถ k)

g การเชื่อ (ดู มธ 8:10 เชิงอรรถ b; รม 1:16 เชิงอรรถ h) ประกอบด้วย การยอมรับพระเยซูเจ้า (1:12; 5:43) การรู้จักพระองค์ และพระบิดาพร้อมกับพระองค์ (10:38; 14:7) การรับรู้ว่าพระองค์เป็นพระบุตรและผู้นำสารของพระบิดา (3:16-18; 14:1,10; 17:8, 21-25; 20:31) การเข้ามาเฝ้าพระองค์ (6:35) การเห็น พระองค์ (6:36, 40; 11:40; 20:8, 29) การเห็นเครื่องหมาย (2:11 เชิงอรรถ f; 4:53; 20:31) และพยานหลักฐานอื่นๆ (3:11 เชิงอรรถ f; 10:25) เป็นจุดเริ่มของความเชื่อซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร (3:15 เชิงอรรถ j; 5:25; 10:26-28 เชิงอรรถ m) ความเชื่อแสดงตนในความรักที่ปฏิบัติตามพระวาจา และบทบัญญัติของพระเจ้า ท่าทีพื้นฐานเช่นนี้ต่อพระคริสตเจ้าจะเป็นมาตรการที่พระเยซูเจ้าจะทรงใช้ในการพิพากษามวลมนุษย์ (3:17-18, 36; 5:29, 44-47)

h ในสมัยพระเยซูเจ้ามีข้อเขียนของชาวยิวหลายชิ้นอ้างว่าบางคนได้รับการเปิดเผยพิเศษจากพระเจ้า ข้อความที่พระเยซูเจ้าทรงกล่าวนี้อาจเป็นการยืนยันว่า ผู้ที่ได้รับการเปิดเผยเหล่านี้ไม่เคยขึ้นไปพบพระเจ้าในสวรรค์ พระองค์เท่านั้นเสด็จลงมาจากสวรรค์ จึงเป็นบ่อเกิดการเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าโดยแท้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ข้อความนี้ยังอาจพาดพิงถึงการที่พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ ซึ่งพิสูจน์ว่าพระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์และทรงรับพระเกียรติรุ่งโรจน์ในฐานะ บุตรแห่งมนุษย์ ด้วย

i บุตรแห่งมนุษย์ (ดู ดนล 7:13 เชิงอรรถ k; มธ 8:20 เชิงอรรถ h; 12:32; 24:30) จะต้องถูกยกขึ้น หมายถึง ทั้งถูกยกขึ้นตรึงบนไม้กางเขน และถูกยกขึ้นไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา (1:51; 8:28; 12:32-34, 32 เชิงอรรถ j; 13:31-32) เพื่อจะรับความรอดพ้นได้มนุษย์จะต้อง มองดู พระองค์ ผู้ ทรงถูกยกขึ้น บนไม้กางเขน (19:37 เชิงอรรถ v; กดว 21:8; ศคย 12:10 เชิงอรรถ f) นั่นคือเชื่อว่าพระองค์เป็นพระบุตรเพียงพระองค์เดียว (ยน 3:18) แล้วนั้นมนุษย์จะได้รับการชำระล้างด้วยน้ำ ซึ่งไหลออกมาจากพระสีข้างที่ถูกแทง (19:34; ศคย 13:1) ตำแหน่ง “บุตรแห่งมนุษย์ ใน ยน เน้นถึงธรรมชาติมนุษย์ของพระเยซูเจ้า แม้ว่าพระองค์จะเป็นพระบุตรที่ทรงบังเกิดจากพระบิดา (ข้อ 13 และ 16:62) และทรงกระทำกิจการซึ่งแสดงล่วงหน้าถึงสิทธิพิเศษที่จะเปิดเผยอย่างชัดเจนเมื่อสิ้นพิภพก็ตาม (5:26-29; 6:27, 53; 9:35)

j อาจแปลได้อีกว่า เพื่อทุกคนที่เชื่อ จะมีชีวิตนิรันดรในพระองค์ พระเจ้าผู้ทรงเป็นเจ้านายสูงสุดของชีวิตแต่ผู้เดียว (ปฐก 9:4-5; ฉธบ 32:39; สดด 36:10) ทรงมอบอำนาจการเป็นเจ้านายนี้ให้กับพระบุตร (ยน 5:21; 10:18 เชิงอรรถ j; 17:2) พระบุตรเองทรงเป็นชีวิต (11:25; 14:6) พระองค์ทรงชีวิตในพระองค์และประทานชีวิต (5:26) ให้แก่ผู้ที่เชื่อในพระองค์ (1:4,12; 4:14; 5:24; 6:35; 20:31) ชีวิตนี้มีน้ำเป็นสัญลักษณ์ (4:1 เชิงอรรถ a) ได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจา (6:35 เชิงอรรถ k) ยน มักเรียกชีวิตนี้ว่า ชีวิตนิรันดร อันหมายถึงคุณสมบัติของพระเจ้าเท่านั้น ชีวิตดังกล่าวนี้จึงอยู่เหนือวัตถุ เหนือกาลเวลาและการวัดใดๆ ทั้งสิ้น (เทียบ ปฐก 21:33; สดด 90:2; ปชญ 5:15-16; อสย 40:28) พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานชีวิตนี้แก่ผู้ที่มีความเชื่อ (ดู 2 คร 4:18) และได้ประทานให้แล้วด้วย (ยน 3:36; 5:24; 6:40, 68; 1 ยน 2:25) แต่ชีวิตนี้จะสมบูรณ์หลังจากการกลับคืนชีพแล้วเท่านั้น (6:39-40, 54; 11:25-26 ดู 7:14; 18:8; 19:16)

k . สำนวนภาษาฮีบรู “ชื่อ” หมายถึง ตัวบุคคล ประโยคนี้จึงหมายความว่า “เชื่อในพระบุตร”

l ดู 1 ยน 3:19 เชิงอรรถ g

m บางทีพระเยซูเจ้าทรงทำพิธีล้างซึ่งมีความหมายเหมือนกับพิธีล้างของยอห์น คือแสดงการเป็นทุกข์กลับใจเพื่อเตรียมรับพระอาณาจักร

n เชื่อกันว่าไอโนน (แปลว่า น้ำพุ) อยู่ในลุ่มแม่น้ำจอร์แดน ประมาณ 12 กิโลเมตร ทางตอนใต้ของเมืองสิโธโปลิส บางคนเชื่อว่า ไอโนน อยู่ที่เอนฟาราห์ในปัจจุบัน

o การชำระล้าง นี้อาจหมายถึง พิธีล้าง นั่นเอง ชาวยิวคนหนึ่ง สำเนาโบราณบางฉบับว่า ชาวยิวหลายคน

p พันธสัญญาเดิมใช้การสมรสเป็นภาพเปรียบเทียบแสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับอิสราเอล (ฮชย 1:2 เชิงอรรถ b) พระเยซูเจ้าทรงประยุกต์ใช้การเปรียบเทียบนี้กับพระองค์ (มธ 9:15//; 22:1ฯ; 25:1ฯ; ดู เปาโล ใน 2 คร 11:2; อฟ 5:22ฯ) การเสด็จมาของพระเมสสิยาห์นำความยินดีมาสู่โลก (ข้อ 29) (เทียบ 1:29, 36-39; 2:1-11) ดังนั้น งานวิวาหมงคลของลูกแกะของพระเจ้า (วว 19:7; 21:2) จึงได้เริ่มแล้ว

q หรือ เหนือทุกสิ่ง

r สำเนาโบราณบางฉบับละคำว่า ย่อมอยู่เหนือทุกคน

s หรือ กล่าวพระวาจาของพระเจ้า และประทานพระจิตเจ้าโดยไม่จำกัด

t ตามพระราชโองการของพระบิดา ทุกสิ่ง อยู่ในพระหัตถ์ (หรือ อำนาจ) ของพระบุตร (ข้อ 35; 10:28, 29; 13:3; 17:2 เทียบ 6:37-39; มธ 11:27; 28:18) นี่เป็นรากฐานของอำนาจปกครอง (ยน 12:13-15; 18:36-37) ซึ่งพระบุตรจะทรงรับกลับมาอีกในวันที่จะทรง ถูกยกขึ้น (ยน 12:32 เชิงอรรถ j; 19:19; กจ 2:33; อฟ 4:8) และในวันนั้น เจ้าของโลกนี้ จะสูญเสียอาณาจักรของตนไป (ยน 12:31)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก