“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

หนังสือเอสเธอร์

  1. ภูมิหลังของเรื่อง
  2. บทที่ 1
  3. บทที่ 2
  4. บทที่ 3
  5. บทที่ 4
  6. บทที่ 5
  7. บทที่ 6
  8. บทที่ 7
  9. บทที่ 8
  10. บทที่ 9
  11. บทที่ 10

ภูมิหลังของเรื่อง

 

ความฝันของโมรเดคัย a

          (1A) ปีที่สองในรัชสมัยกษัตริย์อาหสุเอรัสbผู้ยิ่งใหญ่ ต้นเดือนนิสาน โมรเดคัยบุตรยาอีร์ บุตรของชิเมอี บุตรของคีช จากตระกูลเบนยามิน มีความฝันc (1B) เขาเป็นชาวยิวในนครสุสาdเป็นคนสำคัญคนหนึ่ง มีตำแหน่งในราชสำนัก (1C)เขาเป็นเชลยคนหนึ่งที่ถูกกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์แห่งบาบิโลนจับเป็นเชลยมาจากกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับกษัตริย์เยโคนียาห์แห่งยูดาห์e

            (1D)ความฝันของเขาเป็นดังนี้ มีเสียงดังชุลมุน มีเสียงฟ้าร้องและแผ่นดินไหว เกิดความโกลาหลวุ่นวายทั่วแผ่นดิน (1E)มังกรใหญ่สองตัวปรากฏขึ้นร้องเสียงดัง พร้อมจะต่อสู้กัน (1F)เมื่อได้ยินเสียงร้องนี้ ชนทุกชาติก็เตรียมทำสงครามกับเชื้อสายของผู้ชอบธรรม (1G)วันนั้นเป็นวันมืดมิด เป็นวันแห่งความทุกข์ยาก ความชั่วร้ายและความโกลาหลวุ่นวาย (1H)ประชากรที่ชอบธรรมทั้งหลายล้วนหวาดกลัวเพราะภัยพิบัติกำลังคุกคามอยู่ เขากลัวความตาย จึงทูลวอนขอพระเจ้า (1I)ขณะที่เขาทูลวอนขออยู่นั้น แม่น้ำใหญ่ก็ผุดขึ้นจากตาน้ำเล็กๆ มีน้ำมากมาย (1K)แสงสว่างปรากฏขึ้นพร้อมกับดวงอาทิตย์ ผู้ต่ำต้อยได้รับการยกย่อง และทำลายผู้ทรงอำนาจ

            (1L)โมรเดคัยตื่นขึ้นและครุ่นคิดถึงความฝันนี้ ว่าพระเจ้าทรงประสงค์จะทำประการใด เขาเก็บความฝันนี้พิจารณาในใจจนถึงค่ำ พยายามเข้าใจความหมายของความฝัน

 

แผนปลงพระชนม์

            (1M)โมรเดคัยอยู่ในราชสำนักกับบากาธันและธาเรสf ซึ่งเป็นขันทีรักษาความปลอดภัยในราชสำนัก (1N)โมรเดคัยได้ยินคนทั้งสองพูดกัน ก็สืบดูแผนการของเขา รู้ว่าทั้งสองคนกำลังวางแผนจะปลงพระชนม์กษัตริย์อาหสุเอรัส จึงทูลให้ทรงทราบ (1O)กษัตริย์ทรงสั่งให้สอบสวนขันทีทั้งสองคนนี้ เขารับสารภาพและถูกประหารชีวิต (1P)กษัตริย์รับสั่งให้บันทึกเรื่องราวนี้ไว้ในจดหมายเหตุ โมรเดคัยบันทึกเรื่องนี้ไว้ด้วย (1Q)กษัตริย์ทรงรับรองตำแหน่งของโมรเดคัยในราชสำนัก และทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้เขา

            (1R)แต่ฮามานบุตรของฮัมเมดาธาชาวอากัก ซึ่งกษัตริย์ประทานเกียรติยศให้อย่างสูง กลับหาทางทำร้ายโมรเดคัยและประชากรของเขา เพราะเรื่องขันทีทั้งสองคนของกษัตริย์

 

1 a พระศาสนจักรรับข้อความเพิ่มเติมตามฉบับภาษากรีก (LXX) ที่ไม่อยู่ในต้นฉบับภาษาฮีบรูเป็นพระวาจาซึ่งได้รับการดลใจด้วย เราจัดพิมพ์ข้อความที่เพิ่มเติมนี้เป็นตัวเอน และนับลำดับเลขข้อตามฉบับภาษากรีก (LXX)

b “อาหสุเอรัส” เป็นการเขียนเป็นภาษาฮีบรู พระนามภาษาเปอร์เซียที่ว่า “Kshajarsha” และพระนามภาษากรีกที่ว่า “Xerxes” (ดู อสร 4:6) ตัวบทต้นฉบับภาษากรีกก็สับสนแปลพระนาม “อาหสุเอรัส” ว่า “Artaxerxes” (464-423 ก่อน ค.ศ.) ซึ่งที่จริงทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ต่อจากกษัตริย์ Xerxes (486-465 ก่อน ค.ศ.)

c ต้นฉบับภาษากรีกเท่านั้นเล่าเรื่องความฝันนี้โดยใช้ภาษาแบบ “วิวรณ์” เพื่อบอกล่วงหน้าถึงโครงสร้างของเรื่อง และเน้นบทบาทของพระเจ้าในเหตุการณ์ที่จะเล่าต่อไป

d “นครสุสา” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงบาบิโลน เคยเป็นราชธานีของอาณาจักรเอลาม เป็นที่ประทับฤดูหนาวของกษัตริย์เปอร์เซีย

e ผู้เขียนเล่าเหตุการณ์โดยใช้ลำดับเวลาอย่างอิสระ ลำดับวงศ์ตระกูลของโมรเดคัย (2:5) มีชื่อเพียง 3 ชื่อ แต่ครอบคลุมช่วงเวลา 5-6 ศตวรรษ หนังสือนี้บอกว่าโมรเดคัยเป็นข้าราชบริพารของกษัตริย์อาหสุเอรัส (ราวปี 480 ก่อน ค.ศ.) และยังบอกว่าเขาถูกจับเป็นเชลยมาในรัชสมัยของกษัตริย์เยโคนียาห์ (หรือ “เยโฮยาคิน”) ราวปี 598 ก่อน ค.ศ.

f “บากาธันและธาเรส” ชื่อทั้งสองนี้เขียนแตกต่างกันในต้นฉบับ เราจึงรักษาชื่อไว้เป็นแบบเดียวกันตลอดเรื่อง

I. กษัตริย์อาหสุเอรัสและพระราชินีวัชที

 

กษัตริย์ทรงจัดงานเลี้ยง

1 1ในรัชสมัยของกษัตริย์อาหสุเอรัส คือกษัตริย์อาหสุเอรัสผู้ทรงปกครองหนึ่งร้อยยี่สิบเจ็ดมณฑลจากอินเดียถึงเอธิโอเปีย 2ในสมัยที่กษัตริย์อาหสุเอรัสทรงครองราชย์ที่นครสุสาราชธานี 3ปีที่สามในรัชกาลของพระองค์ พระองค์พระราชทานงานเลี้ยงแก่บรรดาเจ้านายและข้าราชบริพาร บรรดานายทัพนายกองgแห่งเปอร์เซียและมีเดีย บรรดาขุนนางและผู้ว่าราชการมณฑลมาร่วมงานเลี้ยงเฉพาะพระพักตร์ด้วย 4พระองค์ทรงแสดงความมั่งคั่งและความรุ่งเรืองของพระอาณาจักร ทั้งความหรูหราในราชสำนักอยู่หลายวัน งานเลี้ยงดำเนินไปหนึ่งร้อยแปดสิบวัน 5เมื่อวันเหล่านี้ผ่านไปแล้ว กษัตริย์ยังพระราชทานการเลี้ยงแก่ประชาชนทุกคนที่อยู่ในนครสุสาราชธานีทั้งผู้น้อยผู้ใหญ่เป็นเวลาเจ็ดวันในพระราชอุทยาน 6ซึ่งประดับด้วยม่านผ้าฝ้ายสีขาวและสีม่วงแดงแขวนบนเสาหินอ่อนด้วยเชือกป่านสีแดงเข้มคล้องห่วงเงิน มีเตียงทองคำและเงินตั้งบนพื้นลาดปูนฝังหินแดง หินอ่อน มุกดาและพลอยสีต่างๆ 7เครื่องดื่มก็รินใส่ถ้วยทองคำหลายชนิด เหล้าองุ่นของกษัตริย์มีมากมายตามพระทัยกว้างของพระองค์ 8พระองค์ไม่ทรงบังคับผู้ใดให้ดื่ม แต่ทรงสั่งมหาดเล็กให้ทุกคนดื่มได้ตามความพอใจ

พระราชินีวัชทีทรงถูกถอดจากตำแหน่ง

9พระราชินีวัชทีhพระราชทานการเลี้ยงแก่สตรีในราชสำนักของกษัตริย์อาหสุเอรัสด้วย

10วันที่เจ็ด กษัตริย์มีพระทัยรื่นเริงด้วยเหล้าองุ่น ทรงสั่งเมหุมา บิสธา ฮารโบนา บิกธา และอาบักธา เศธาร์ และคารคาส ขันทีทั้งเจ็ดคนซึ่งเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดของกษัตริย์อาหสุเอรัส 11ให้ไปทูลเชิญพระราชินีวัชทีมาเฝ้าพระองค์ สวมมงกุฎราชินีเพื่อให้ประชาชนและบรรดาเจ้านายได้ชมความงามของพระนาง เพราะพระนางทรงพระสิริโฉมมาก 12แต่พระราชินีวัชทีทรงปฏิเสธ ไม่ยอมเสด็จมาตามพระบัญชาที่กษัตริย์รับสั่งไปกับขันที กษัตริย์จึงไม่พอพระทัยอย่างมากและทรงพระพิโรธ

13กษัตริย์ทรงถามผู้มีปรีชาที่รู้กฎหมายi –เป็นธรรมเนียมในสมัยนั้นที่กษัตริย์จะทรงปรึกษาทุกเรื่องกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายและข้อกำหนด– 14พระองค์จึงทรงเรียกเคารเชนา เชธาร์ อัดมาธา ทารชิช เมเรส มารเสนา และเมมูคาน เจ้านายทั้งเจ็ดองค์ของแคว้นเปอร์เซียและมีเดีย ที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระองค์j มีตำแหน่งสูงสุดในราชอาณาจักร 15ทรงถามเขาว่า “ตามกฎหมายจะต้องทำอย่างไรกับพระราชินีวัชที เพราะพระนางมิได้ปฏิบัติตามพระบัญชาของกษัตริย์อาหสุเอรัสซึ่งรับสั่งไปกับขันที 16เมมูคานจึงทูลตอบเฉพาะพระพักตร์และต่อหน้าบรรดาเจ้านายว่า “พระราชินีวัชทีทรงกระทำผิดทั้งต่อพระราชา ต่อบรรดาเจ้านายและต่อประชาชนทุกคนที่อยู่ในเขตปกครองทั้งหมดของกษัตริย์อาหสุเอรัสด้วย 17สิ่งที่พระราชินีทรงกระทำจะเป็นที่รู้แก่สตรีทุกคน ทำให้เขาดูถูกสามีของตน เขาจะพูดว่า ‘กษัตริย์อาหสุเอรัสทรงบัญชาให้พระราชินีเสด็จมาเฝ้า แต่พระนางไม่ยอมเสด็จมา’” 18ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป บรรดาภรรยาของเจ้านายแห่งแคว้นเปอร์เซียและมีเดียจะได้ยินถึงการกระทำของพระราชินี และเล่าให้เจ้านายทั้งหลายของกษัตริย์รู้ทั่วกัน ทำให้เกิดการดูถูกและขัดเคืองเป็นอย่างมาก 19ถ้าพระราชาพอพระทัย ขอให้มีพระราชกฤษฎีกาจากพระองค์ และให้บันทึกไว้ในกฎหมายของชาวเปอร์เซียและชาวมีเดียตลอดไปkว่า พระนางวัชทีจะเข้าเฝ้ากษัตริย์อาหสุเอรัสอีกไม่ได้ และขอพระราชาประทานตำแหน่งพระราชินีแก่สตรีคนอื่นที่ดีกว่าพระนาง 20เมื่อพระราชกฤษฎีกาเป็นที่รู้จักทั่วพระอาณาจักรกว้างใหญ่ สตรีทุกคนจะต้องให้เกียรติสามีของตนทั้งที่มีฐานะสูงและฐานะต่ำ”

21คำแนะนำนี้พอพระทัยกษัตริย์และพอใจเจ้านาย กษัตริย์จึงทรงกระทำตามที่เมมูคานทูลเสนอ 22พระองค์ทรงมีพระอักษรส่งไปทุกแคว้นของพระอาณาจักร แต่ละแคว้นได้รับพระราชสาสน์ที่เขียนตามอักขระในภาษาของตน สามีทุกคนจึงเป็นเจ้านายในบ้านของตนl

 

g “แม่ทัพนายกอง” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “กองทัพ” การเลี้ยงแขกมากมายเช่นนี้มีเล่าถึงบ่อยๆ ในพระคัมภีร์ เช่น ปฐก 40:20; 1 พกษ 3:15; ดนล 5:1; มก 6:21

h “วัชที” พระนามพระราชินีองค์นี้ เช่นเดียวกับพระนาม “เอสเธอร์” ไม่เป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์

i “กฎหมาย” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “กาลเวลา”

j “ที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระองค์” (ดู 2 พกษ 25:19) ** ธรรมเนียมที่กษัตริย์ทรงปรึกษาผู้มีปรีชายังมีหลักฐานใน ดนล 2:2ฯ; 5:7-12

k เรื่องพระราชกฤษฎีกา “ตลอดไป” แต่ในความเป็นจริงจะถูกยกเลิกในไม่ช้า พบได้บ่อยๆ ในหนังสือที่เขียนในสมัยหลัง เมื่อชาวยิวอยู่ใต้ปกครองของชาวเปอร์เซีย จึงนับเป็นการประชดประชันชาวเปอร์เซียไปด้วย

l ต้นฉบับภาษาฮีบรูเสริมว่า “และพูดภาษาประชากรของตน” อาจหมายความว่าสามีไม่จำเป็นต้องพูดภาษาของภรรยา (ต่างชาติ) แต่ภรรยาต้องพูดภาษาของสามี ต้นฉบับภาษากรีกละประโยคนี้

II. โมรเดคัยและพระนางเอสเธอร์

 

กษัตริย์ทรงแต่งตั้งเอสเธอร์เป็นพระราชินี

2         1ต่อมาไม่นาน เมื่อกษัตริย์อาหสุเอรัสคลายพระพิโรธ พระองค์ทรงระลึกถึงพระนางวัชที สิ่งที่พระนางทรงกระทำ และข้อกำหนดเกี่ยวกับพระนางa 2บรรดาข้าราชบริพารจึงทูลกษัตริย์ว่า “ขอทรงให้หาหญิงสาวพรหมจารีที่มีความงามมาถวายพระราชา 3ขอพระราชาทรงแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในทุกเขตปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระองค์ เพื่อนำหญิงสาวพรหมจารีที่สวยงามมายังฮาเร็มที่นครสุสาราชธานี ให้อยู่ใต้อำนาจของเฮกัยขันทีผู้ดูแลสตรีของพระราชา เขาจะจัดให้สตรีเหล่านั้นมีทุกสิ่งที่เสริมความงาม 4สตรีคนที่พระราชาพอพระทัยจะได้เป็นพระราชินีแทนพระนางวัชที” กษัตริย์พอพระทัยข้อเสนอนี้ จึงทรงกระทำตามนั้น

          5ที่นครสุสาราชธานีมีชาวยิวคนหนึ่งชื่อโมรเดคัยบุตรของยาอีร์ บุตรของชิเมอี บุตรของคีช เป็นคนเผ่าเบนยามิน 6เขาเป็นคนหนึ่งในหมู่คนที่กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์แห่งบาบิโลนทรงจับเป็นเชลยจากกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับกษัตริย์เยโคนิยาห์แห่งยูดาห์ 7เขาเคยเลี้ยงดูฮาดัสสาห์หรือเอสเธอร์bบุตรหญิงของลุง เพราะเธอกำพร้าพ่อแม่ หญิงสาวคนนี้มีรูปร่างดี หน้าตางดงาม เมื่อบิดามารดาของเธอสิ้นชีวิต โมรเดคัยก็รับเธอมาเลี้ยงเป็นบุตรc

8เมื่อพระบัญชาของกษัตริย์และพระราชกฤษฎีกาประกาศออกไปแล้ว หญิงสาวจำนวนมากถูกนำมาที่นครสุสาราชธานี ให้เฮกัยดูแล เอสเธอร์ก็ถูกนำเข้ามาในพระราชวังด้วย และอยู่ในอารักขาของเฮกัยผู้ดูแลสตรี 9สตรีผู้นี้เป็นที่พอใจของเฮกัยซึ่งเอ็นดูเธอมาก เขาจึงเอาใจใส่จัดหาอาหารและทุกสิ่งที่เสริมความงามให้เธอ เขายังจัดให้เธอมีสาวใช้ที่คัดเลือกแล้วเจ็ดคนจากพระราชวัง จัดให้เธอและสาวใช้พักอยู่ในห้องดีที่สุดในฮาเร็ม 10เอสเธอร์มิได้บอกให้ใครรู้ถึงชาติกำเนิดและครอบครัวของเธอ เพราะโมรเดคัยห้ามไว้d 11ทุกวันโมรเดคัยเดินไปมาหน้าลานของฮาเร็ม เพื่อรู้ว่าเอสเธอร์เป็นอย่างไร และมีอะไรเกิดขึ้นกับเธอ

          12ตามระเบียบการของฮาเร็ม สตรีแต่ละคนจะเข้าเฝ้ากษัตริย์อาหสุเอรัสตามเวรของตนเมื่อเตรียมตัวเป็นเวลาสิบสองเดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใช้สำหรับเสริมความงาม หกเดือนแรกต้องใช้มดยอบนวดตัว หกเดือนหลังต้องใช้น้ำมันหอมและเครื่องประเทืองผิวอื่นๆ 13เมื่อหญิงสาวจะเข้าเฝ้ากษัตริย์ เธอจะนำสิ่งใดก็ได้จากฮาเร็มที่เธอต้องการ เข้าไปในพระราชฐานส่วนพระองค์ 14เธอจะเข้าเฝ้าในเวลาเย็น และในเวลาเช้าเธอจะกลับออกมาอยู่ในฮาเร็มอีกส่วนหนึ่งใต้อารักขาของชาอัชกาส ขันทีของกษัตริย์ผู้ดูแลนางสนม เธอจะไม่ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์อีก นอกจากกษัตริย์จะพอพระทัยและทรงเรียกชื่อของเธอให้เข้าเฝ้า

          15เมื่อถึงเวรของเอสเธอร์บุตรหญิงของอาบีคาอิล ลุงของโมรเดคัยซึ่งรับเธอไว้เป็นบุตรบุญธรรมจะเข้าเฝ้า เธอมิได้ขอสิ่งอื่นนอกจากสิ่งที่เฮกัยขันทีของกษัตริย์ผู้ดูแลหญิงสาวแนะนำ เอสเธอร์ประทับใจทุกคนที่เห็นเธอ 16เมื่อเอสเธอร์ถูกนำเข้าเฝ้ากษัตริย์อาหสุเอรัสในพระราชฐานส่วนพระองค์ในเดือนสิบ คือเดือนเทเบท ปีที่เจ็ดในรัชกาลของพระองค์ 17กษัตริย์ทรงรักเอสเธอร์ยิ่งกว่าหญิงอื่นทุกคน เธอเป็นที่โปรดปรานและได้รับพระกรุณามากกว่าหญิงพรหมจารีคนอื่น พระองค์ทรงสวมมงกุฎบนศีรษะของเธอ และทรงตั้งเธอให้เป็นพระราชินีแทนพระนางวัชที

18แล้วกษัตริย์พระราชทานงานเลี้ยงใหญ่แก่บรรดาเจ้านายและข้าราชบริพารเป็นเกียรติแก่พระนางเอสเธอร์ พระองค์ทรงประกาศเป็นวันฉลองในเขตปกครองทั้งหลาย และพระราชทานของกำนัลด้วยพระทัยกว้างขวาง

โมรเดคัยไม่ยอมแสดงคารวะฮามาน

          19เมื่อมีการรวบรวมหญิงสาวพรหมจารีมาจากที่ต่างๆ โมรเดคัยรับราชการอยู่ที่ประตูพระราชวังe 20พระนางเอสเธอร์มิได้ทรงเปิดเผยให้ใครรู้ถึงพระประยูรญาติหรือชาติกำเนิดของพระนางดังที่โมรเดคัยกำชับไว้ พระนางเอสเธอร์ทรงเชื่อฟังโมรเดคัย เช่นเดียวกับเมื่อพระนางทรงอยู่ในความดูแลfของเขา 21วันหนึ่งโมรเดคัยอยู่ที่ประตูพระราชวังg บิกธานและเธเรชขันทีสองคนของกษัตริย์ผู้เฝ้าประตูท้องพระโรง มีความโกรธเคืองกษัตริย์อาหสุเอรัส และหาช่องทางที่จะประทุษร้ายพระองค์ 22เมื่อโมรเดคัยรู้เรื่องนี้ ก็ทูลพระราชินีเอสเธอร์ พระนางเอสเธอร์ก็กราบทูลกษัตริย์ในนามของโมรเดคัย 23เมื่อมีการสอบสวนเรื่องนี้ว่าเป็นความจริงแล้ว ทั้งสองคนก็ถูกแขวนคอที่ตะแลงแกง เรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือพงศาวดารตามพระบัญชาของกษัตริย์

2 a ต้นฉบับภาษาฮีบรูกล่าวเป็นนัยว่ากษัตริย์อาหสุเอรัสทรงเสียพระทัยที่ทรงกระทำต่อพระนางวัชทีเช่นนี้ แต่ต้นฉบับภาษากรีกบางฉบับกล่าวว่าพระองค์ทรงลืมพระนางแล้ว

b ชื่อ “เอสเธอร์” น่าจะมาจากภาษาบาบิโลน “อิชทาร์” เช่นเดียวกับชื่อ “โมรเดคัย” จาก “มาร์ดุ๊ก” เทพเจ้าของชาวบาบิโลน แต่บางคนคิดว่า “เอสเธอร์” มาจากภาษาเปอร์เซีย “สตาเรห์” (= ดวงดาว) ส่วน “ฮาดัสสาห์” มาจากรากศัพท์ภาษาฮีบรู หมายถึงต้น myrtle

c “เลี้ยงเป็นบุตร” ต้นฉบับภาษากรีกว่า “เลี้ยงเพื่อจะเป็นภรรยาของตน”

d “ห้ามไว้” การห้ามบอกชาติตระกูลของตนจะพบได้อีกในเรื่องดาเนียลและเพื่อนสามคน (ดู ดนล 1) แต่ใน ดนล กษัตริย์ทรงทราบชาติตระกูลของหนุ่มทั้งสี่คนแล้วว่าเป็นชาวยิว และโปรดปรานเขาที่มีความซื่อสัตย์ต่อธรรมบัญญัติของตน

e ข้อ 19 นี้แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับทั้งภาษาฮีบรูและภาษากรีกไม่ชัดเจน

f ข้อ 20 ต้นฉบับภาษากรีกว่า “พระนางเอสเธอร์มิได้ทรงเปิดเผยให้ใครรู้ชาติกำเนิดของพระนาง โมรเดคัยสอนพระนางให้ทรงยำเกรงพระเจ้าและปฏิบัติตามบทบัญญัติดังที่เคยทรงปฏิบัติเมื่อทรงอยู่ในอารักขาของเขา และพระนางก็มิได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต”

g “อยู่ที่ประตูพระราชวัง” สำนวนนี้บางทีหมายถึงการรับราชการ หรืออาจหมายเพียงถึงสถานที่เท่านั้น

3 1หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ กษัตริย์อาหสุเอรัสทรงเลื่อนยศฮามานบุตรของฮัมเมดาธาชาวอากักa และทรงแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงสุด ให้มีที่นั่งเหนือเจ้านายทั้งหลายที่อยู่กับพระองค์ 2ข้าราชบริพารซึ่งอยู่ที่ประตูพระราชวังต้องก้มลงกราบแสดงความเคารพฮามาน เพราะกษัตริย์ทรงสั่งให้ทำเช่นนี้ แต่โมรเดคัยไม่ยอมก้มลงกราบแสดงความเคารพb 3ข้าราชบริพารซึ่งอยู่ที่ประตูพระราชวังจึงถามโมรเดคัยว่า “ทำไมท่านไม่ยอมทำตามพระบัญชาของกษัตริย์” 4แม้ข้าราชบริพารพูดกับเขาเช่นนี้ทุกวัน เขาก็ไม่ยอมฟัง ข้าราชบริพารเหล่านั้นจึงไปฟ้องฮามานให้พิจารณาว่าถ้อยคำของโมรเดคัยมีเหตุผลหรือไม่ เพราะโมรเดคัยอ้างว่าตนเป็นชาวยิว 5เมื่อฮามานเห็นว่าโมรเดคัยไม่ยอมก้มลงกราบแสดงความเคารพตน ก็โกรธมาก 6และเมื่อรู้ว่าโมรเดคัยเป็นชาวยิว ก็คิดจะทำร้ายโมรเดคัย และพยายามทำลายล้างชนชาติของโมรเดคัย คือชาวยิวทุกคนที่อยู่ทั่วราชอาณาจักรของกษัตริย์อาหสุเอรัสด้วย

III. ชาวยิวอยู่ในอันตราย

 

พระราชกฤษฎีกาให้ทำลายล้างชาวยิว

            7เดือนแรก คือเดือนนิสาน ปีที่สิบสองในรัชกาลกษัตริย์อาหสุเอรัส ฮามานสั่งให้จับสลากcเพื่อหาวันและเดือนที่จะต้องทำลายล้างชาวยิว สลากที่ออกมาคือวันที่สิบสี่d เดือนสิบสอง คือเดือนอาดาร์ 8ฮามานจึงทูลกษัตริย์อาหสุเอรัสว่า “มีชนชาติหนึ่งกระจายอยู่ในหมู่ประชาชนแคว้นต่างๆ ในอาณาจักรของพระองค์ แต่แยกตนจากชนชาติอื่น มีกฎหมายของตนแตกต่างจากกฎหมายของชนชาติอื่นและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของพระราชาe จึงไม่สมควรที่พระราชาจะทรงปล่อยเขาไว้เช่นนี้ 9ถ้าพระราชาพอพระทัย ขอทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้ทำลายล้างเขา และข้าพเจ้าจะนำเงินหนักสามร้อยสี่สิบตันมาให้แก่ผู้บริหารราชการของพระราชาเพื่อเขาจะใส่ในพระคลังของพระองค์”

          10กษัตริย์จึงทรงถอดพระธำมรงค์ตราออกจากพระหัตถ์ ทรงมอบแก่ฮามานบุตรของฮัมเมดาธาชาวอากัก ศัตรูของชาวยิว 11และตรัสกับฮามานว่า “เงินนั้นเป็นของท่าน ส่วนประชาชนนั้น ท่านจงทำตามใจชอบเถิด”

          12วันที่สิบสามเดือนแรก ฮามานเรียกบรรดาอาลักษณ์มาเขียนพระราชกฤษฎีกาตามคำสั่ง ส่งไปยังผู้ว่าราชการภาค ผู้ว่าราชการแคว้น และเจ้านายของชนชาติต่างๆ บรรดาอาลักษณ์จึงเขียนพระราชกฤษฎีกาในพระนามของกษัตริย์อาหสุเอรัส ด้วยอักษรเป็นภาษาของชนชาตินั้นๆ และประทับตราด้วยพระธำมรงค์ของพระองค์ 13ผู้ถือสารนำพระราชสาสน์เหล่านี้ไปยังแคว้นต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร สั่งให้ทำลาย ประหารชีวิต และล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวทั้งหมด ทั้งคนหนุ่มและคนชรา ทั้งเด็กและผู้หญิงในวันเดียวกัน คือวันที่สิบสี่เดือนสิบสอง คือเดือนอาดาร์ และให้ริบข้าวของของเขาด้วย

          (13A) ข้อความในพระราชสาสน์มีดังนี้

 

            “กษัตริย์อาหสุเอรัสผู้ยิ่งใหญ่ เขียนถึงผู้ว่าราชการแคว้นทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเจ็ดแคว้น ตั้งแต่อินเดียจนถึงเอธิโอเปีย และถึงผู้ว่าราชการเขตที่ขึ้นอยู่กับแคว้นเหล่านี้ ดังนี้ว่า

(13B)เราปกครองชนชาติมากมาย และมีอำนาจทั่วโลก เราตั้งใจจะไม่ถืออำนาจเป็นใหญ่ในการปกครอง แต่จะปกครองอย่างยุติธรรมและอย่างมีเมตตาตลอดเวลา ให้พลเมืองของเราอยู่เย็นเป็นสุข เราจะส่งเสริมความก้าวหน้าให้มีความปลอดภัยในการเดินทางทั่วราชอาณาจักร และฟื้นฟูสันติภาพที่ทุกคนปรารถนา (13C)เราถามบรรดาที่ปรึกษาว่าจะบรรลุจุดประสงค์นี้ได้อย่างไร ฮามานซึ่งมีความรอบคอบอย่างเด่นชัดในหมู่ที่ปรึกษา มีความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อเราอย่างมั่นคง มีตำแหน่งเป็นที่สองรองจากเรา (13D)ให้คำแนะนำเราว่าในหมู่ชนชาติทั้งหลายทั่วโลก มีชนชาติหนึ่งแทรกซึมเข้ามา เขาเป็นศัตรูกับทุกคน มีกฎหมายต่างจากชนชาติอื่นทุกชาติ เขามักละเมิดไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกา ขัดขวางมิให้เกิดความสามัคคีที่เรามุ่งมั่นไว้ให้เป็นผลสำเร็จในอาณาจักรของเรา”

(13E)เมื่อเราเห็นว่าชนชาตินี้เป็นชนชาติเดียวที่ขัดแย้งกับชนชาติอื่นอยู่เสมอ เพราะเขาดำเนินชีวิตตามกฎหมายที่แตกต่างจากชาติอื่น ขัดขวางผลประโยชน์ของเรา และประกอบอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดจนเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของอาณาจักร

(13F)เราจึงตราพระราชกฤษฎีกาว่า บุคคลที่มีชื่อระบุไว้ในจดหมายของฮามาน ซึ่งเราแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารราชการและเป็นเสมือนบิดาอีกคนหนึ่งของเรา จะต้องถูกศัตรูทำลายล้างด้วยคมดาบให้สิ้นซาก รวมทั้งบุตรและภรรยาอย่างไร้เมตตาในวันที่สิบสี่ เดือนสิบสอง คือเดือนอาดาร์ของปีนี้ (13G)เพื่อคนเหล่านี้ที่ต่อต้านเราทั้งในอดีตและปัจจุบัน จะถูกประหารชีวิตอย่างไม่ต้องปรานีภายในวันเดียว การปกครองอาณาจักรของเราจึงจะดำเนินไปอย่างมั่นคงและสงบสุขตลอดไป”

 

          14สำเนาของพระราชกฤษฎีกานี้จะต้องถูกนำไปประกาศในแต่ละแคว้น ให้ชนชาติทั้งหลายรับรู้และเตรียมพร้อมสำหรับวันนั้น 15บรรดาผู้ถือสารก็รีบปฏิบัติตามรับสั่งของกษัตริย์และประกาศกฤษฎีกานั้นในนครสุสาราชธานี กษัตริย์เสวยพระกระยาหารและทรงดื่มกับฮามาน แต่ชาวนครสุสามีความวุ่นวายใจมาก

3 a “ชาวอากัก” เราไม่รู้ว่าชนชาตินี้เป็นใคร อยู่ที่ไหน ใน 1 ซมอ 15:7-9 กษัตริย์ซาอูลทรงชนะกษัตริย์ “อากัก” ชาวอามาเลข ผู้เขียนอาจเลือกชื่อ “อากัก” เป็นบรรพบุรุษของฮามาน เพราะโมรเดคัยเป็นชนเผ่าเบนยามินในตระกูลคีช เช่นเดียวกับกษัตริย์ซาอูล จึงเป็นการย้ำความขัดแย้งเป็นอริกันระหว่างชนทั้งสองชาติ

b การก้มลงกราบแสดงความเคารพไม่ขัดกับธรรมบัญญัติของชาวยิว เป็นการแสดงความเคารพตามประเพณีในราชสำนักทางตะวันออก และปฏิบัติในราชสำนักอิสราเอลด้วย (1 พกษ 1:23; 2 พกษ 4:37) การที่โมรเดคัยไม่ยอมก้มลงกราบแสดงความเคารพต่อฮามานจึงไม่ใช่การยืนยันความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าและธรรมบัญญัติ ดังที่เราพบได้ใน ดนล 1:8; 3:12; 6:14 แต่เป็นการกระทำเพื่อแสดงความภูมิใจในชาติของตน แต่ข้อความเพิ่มเติมในภาษากรีกทำให้โมรเดคัยยืนยันในบทอธิษฐานภาวนาว่าเขาไม่ยอมก้มกราบมนุษย์เพราะความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า [4:(17D)-(17E)]

c “จับสลาก” แปลตามตัวอักษรว่า “จับปูร์ คือสลาก” คำ “ปูร์” (Pur) เป็นคำภาษาบาบิโลน ฮามานตกลงใจจะฆ่าล้างโคตรชาวยิวทุกคนแล้ว เขาจับสลากเพียงเพื่อรู้ว่าวันไหนเป็นวันเหมาะที่สุดที่จะทำการนี้

d “วันที่สิบสี่” ต้นฉบับภาษาฮีบรูไม่กล่าวถึงวันที่ของวันที่จับสลากได้ แต่สำเนาโบราณภาษากรีกบางฉบับเสริมว่า “วันที่สิบสี่” ข้อนี้อาจถูกเพิ่มเติมในภายหลังเมื่อมีการเพิ่มข้อความใน 9:23-27 เพื่ออธิบายความหมายของวันฉลอง “ปูริม” เดือนอาดาร์เป็นเดือนที่ 12 ของปฏิทินชาวยิว อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

e คำกล่าวหาว่าชาวยิวไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของกษัตริย์ต่างชาติ พบได้บ่อยๆ ในหนังสือที่เขียนในสมัยที่ชาวกรีกปกครองอิสราเอล เช่น อสธ 3:(13 A)-(13E); อสร 4:12ฯ; ยดธ 12:2; ปชญ 2:14ฯ

ความพยายามของโมรเดคัยและพระนางเอสเธอร์ที่จะปกป้องชาวยิว

4 1เมื่อโมรเดคัยรู้เรื่องนี้ ก็ฉีกเสื้อผ้าของตนด้วยความทุกข์ สวมผ้ากระสอบ โปรยเถ้าบนศีรษะ แล้วออกไปเดินกลางเมือง ร้องไห้คร่ำครวญส่งเสียงดังอย่างขมขื่น 2เขามาถึงหน้าประตูพระราชวัง แต่เข้าไปข้างในไม่ได้ เพราะไม่มีอนุญาตให้ผู้ที่สวมผ้ากระสอบเข้าประตูพระราชวัง 3ในทุกแคว้นที่พระบัญชาของกษัตริย์และพระราชกฤษฎีกาไปถึง ชาวยิวไว้ทุกข์ใหญ่ จำศีลอดอาหาร ร้องไห้คร่ำครวญ หลายคนโปรยขี้เถ้าบนผ้ากระสอบใช้เป็นที่นอนa

          4เมื่อหญิงรับใช้และขันทีของพระนางเอสเธอร์มาทูลพระนางเรื่องนี้ พระราชินีทรงเป็นทุกข์ยิ่งนัก ทรงส่งเสื้อผ้าไปให้โมรเดคัยสวมแทนผ้ากระสอบb แต่เขาไม่ยอมรับ 5พระนางเอสเธอร์จึงทรงเรียกฮาธาค ขันทีคนหนึ่งซึ่งกษัตริย์ประทานให้คอยรับใช้พระนาง ตรัสสั่งให้ไปพบโมรเดคัยเพื่อถามว่าเกิดอะไรขึ้น และทำไมเขาจึงทำเช่นนี้ 6ฮาธาคออกไปพบโมรเดคัยที่ลานเมืองหน้าประตูพระราชวัง 7โมรเดคัยเล่าเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น บอกจำนวนเงินที่ฮามานสัญญาจะมอบแก่พระคลังของกษัตริย์เพื่อทำลายชาวยิว 8โมรเดคัยให้สำเนาพระราชกฤษฎีกาที่ออกในนครสุสาสั่งให้ทำลายชาวยิว เพื่อนำไปถวายพระนางเอสเธอร์ บอกให้พระนางทรงทราบเหตุการณ์ และกำชับให้พระนางเข้าเฝ้ากษัตริย์เพื่อทูลขอพระกรุณาแทนประชากรของพระนาง (8A)โมรเดคัยสั่งฮาธาคให้ทูลพระนางว่า “ขอพระนางทรงระลึกถึงวันที่พระนางยังทรงต่ำต้อย เมื่อข้าพเจ้าเคยเลี้ยงดูพระนาง เพราะฮามานผู้มีตำแหน่งรองจากกษัตริย์ ทูลกษัตริย์กล่าวหาพวกเราให้ถูกประหารชีวิต (8B)ขอพระนางทูลอธิษฐานองค์พระผู้เป็นเจ้า และทูลกษัตริย์เพื่อพวกเรา โปรดทรงช่วยให้พวกเราพ้นจากความตายเถิด”c

            9ฮาธาคก็กลับไปทูลพระนางเอสเธอร์ตามที่โมรเดคัยบอกd 10พระนางเอสเธอร์ทรงสั่งฮาธาคให้ไปบอกโมรเดคัยว่า 11“ข้าราชบริพารทุกคนของกษัตริย์ และประชาชนในแคว้นต่างๆของพระองค์รู้ว่า ถ้าชายหรือหญิงคนใดเข้าเฝ้ากษัตริย์ที่พระราชฐานชั้นในโดยที่ไม่มีรับสั่ง จะต้องถูกประหารชีวิตตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้สำหรับทุกคน เว้นแต่กษัตริย์จะทรงยื่นพระคทาทองคำไปที่เขา เขาจึงจะรอดชีวิต แต่ข้าพเจ้า กษัตริย์ไม่ทรงเรียกให้เข้าเฝ้าสามสิบวันแล้ว”

12เมื่อโมรเดคัยรู้ถ้อยคำเหล่านี้ของพระนางเอสเธอร์ 13ก็ให้คนไปทูลพระนางว่า “พระนางอย่าทรงคิดว่าทรงอยู่ในพระราชวังแล้วจะรอดชีวิตต่างจากชาวยิวคนอื่น 14ถ้าพระนางทรงเงียบอยู่ในเวลานี้ ชาวยิวก็จะได้รับความช่วยเหลือและความรอดพ้นจากที่อื่นe แต่พระนางจะทรงพินาศพร้อมกับครอบครัวของบิดา อาจเป็นไปได้ว่าพระนางทรงได้รับตำแหน่งพระราชินีก็เพื่อช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้”

15พระนางเอสเธอร์ทรงสั่งคนไปบอกโมรเดคัยว่า 16“จงไปรวบรวมชาวยิวทุกคนที่อยู่ในนครสุสา จงจำศีลอดอาหารเพื่อข้าพเจ้า ไม่กินไม่ดื่มเป็นเวลาสามวันสามคืน ข้าพเจ้าและสาวใช้ก็จะจำศีลอดอาหารเช่นเดียวกันด้วย แล้วข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้ากษัตริย์ แม้จะเป็นการละเมิดกฎหมาย ถ้าจะต้องตาย ข้าพเจ้าก็ยอม” 17โมรเดคัยก็ไปทำตามที่พระนางเอสเธอร์รับสั่งทุกประการ

 

คำอธิษฐานภาวนาของโมรเดคัยf

(17A)โมรเดคัยระลึกถึงพระราชกิจทั้งหลายที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำ และอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์ว่า

 

            (17B)”ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า กษัตริย์ผู้ทรงสรรพานุภาพ

                        ทุกสิ่งอยู่ในอำนาจของพระองค์

            ไม่มีผู้ใดอาจขัดขวางพระองค์ได้

                        เมื่อทรงมีพระประสงค์จะช่วยอิสราเอลให้รอดพ้น

 

            (17C)พระองค์ทรงสร้างฟ้าดิน

                        และสิ่งน่าอัศจรรย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้ท้องฟ้า

            พระองค์ทรงเป็นเจ้านายของทุกสิ่ง

                        ไม่มีผู้ใดจะต่อต้านพระองค์ได้

 

            (17D)พระองค์ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง

                        ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

            พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้าไม่ยอมก้มกราบฮามานผู้ยโส

                        มิใช่เพราะข้าพเจ้าจองหอง ทะนงตน หรืออวดดี

            ข้าพเจ้ายินดีจูบฝ่าเท้าของเขา

                        เพื่อช่วยชาวอิสราเอลให้รอดพ้น

 

            (17E)แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมก้มกราบฮามาน

                        ก็เพราะข้าพเจ้าไม่ยอมให้เกียรติแก่มนุษย์

มากกว่าให้เกียรติแด่พระเจ้า

ข้าพเจ้าไม่ยอมก้มกราบผู้ใดนอกจากพระองค์

พระองค์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าทำเช่นนี้มิใช่เพราะความทะนงตน

 

(17F)บัดนี้ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้า

กษัตริย์ พระเจ้าของอับราฮัม

โปรดทรงไว้ชีวิตประชากรของพระองค์ด้วยเถิด

เพราะศัตรูตั้งใจจะทำลายข้าพเจ้าทั้งหลาย

และปรารถนาที่จะทำให้มรดกของพระองค์ตั้งแต่แรกเริ่มต้องพินาศ

(17G)ขออย่าทรงมองข้ามผู้ที่เป็นส่วนมรดกของพระองค์

ซึ่งพระองค์ทรงปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากแผ่นดินอียิปต์

(17H)โปรดทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาของข้าพเจ้าเถิด

โปรดทรงพระกรุณาต่อผู้ที่เป็นมรดกของพระองค์

โปรดทรงเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความยินดี

ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้มีชีวิต ขับร้องสรรเสริญพระนามของพระองค์ต่อไป

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

ขออย่าทรงปิดปากของผู้ที่สรรเสริญพระองค์เลย

(17I)ชาวอิสราเอลทุกคนร้องตะโกนสุดกำลัง เพราะความตายอยู่ต่อหน้าเขา

 

คำอธิษฐานภาวนาของพระนางเอสเธอร์

(17K)พระราชินีเอสเธอร์ทรงเป็นทุกข์แทบจะสิ้นพระชนม์ จึงทรงแสวงหาความช่วยเหลือจากองค์พระผู้เป็นเจ้า พระนางทรงเปลื้องฉลองพระองค์ที่หรูหราออก แล้วทรงชุดไว้ทุกข์แสดงความโศกเศร้า ทรงโปรยขี้เถ้าและฝุ่นดินบนพระเศียรแทนเครื่องหอมมีค่า ไม่สนพระทัยที่จะประดับพระกายให้งดงามอย่างที่เคย แต่ทรงสยายพระเกศาให้ยุ่งเหยิง แล้วทรงอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าแห่งอิสราเอลว่า

 

            (17L)“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า

                        ข้าแต่พระมหากษัตริย์ของข้าพเจ้าทั้งหลาย

            พระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นทรงเป็นพระเจ้า

                        โปรดทรงช่วยเหลือข้าพเจ้าเถิด

            ข้าพเจ้าอยู่คนเดียว ไม่มีผู้ใดช่วยเหลือข้าพเจ้านอกจากพระองค์เท่านั้น

                        ข้าพเจ้ากำลังเผชิญอันตรายเสี่ยงชีวิต

           

(17M)ตั้งแต่เป็นเด็ก ข้าพเจ้าเคยได้ยินจากบุคคลในครอบครัวg

เล่าว่าพระองค์ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

ทรงเลือกสรรชาวอิสราเอลจากชนชาติทั้งหลาย

ทรงเลือกบรรพบุรุษของข้าพเจ้าจากบรรพบุรุษของเขา

เป็นมรดกถาวรของพระองค์

พระองค์ทรงกระทำตามที่ทรงสัญญาไว้กับเขาทุกประการ

 

(17N)บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ทำบาปผิดต่อพระองค์

พระองค์จึงทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าทั้งหลายตกอยู่ในมือของศัตรู

เพราะข้าพเจ้าทั้งหลายไปกราบไหว้เทพเจ้าของเขา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเที่ยงธรรม

 

(17O)แต่บัดนี้ บรรดาศัตรูยังไม่พอใจที่ได้กดขี่ข้าพเจ้าทั้งหลาย

ให้มีความขมขื่นที่ต้องเป็นทาส

แต่เขายังทำพันธสัญญากับรูปเคารพของตนhว่า

จะลบล้างพระสัญญาที่พระองค์ตรัสไว้

จะทำลายล้างผู้ที่เป็นมรดกของพระองค์

จะปิดปากผู้ที่สรรเสริญพระองค์

และขจัดพระสิริรุ่งโรจน์ให้หมดไปจากพระวิหารและพระแท่นบูชาของพระองค์

(17P)กลับจะทำให้ชนต่างชาติสรรเสริญรูปเคารพที่ไร้ค่า

จะยกย่องกษัตริย์ที่ตายได้ให้เป็นกษัตริย์นิรันดร

 

(17Q)ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

โปรดอย่าทรงมอบอำนาจปกครองของพระองค์

ให้แก่สิ่งที่ไม่มีความเป็นอยู่เหล่านั้นเลย

                        อย่าให้บรรดาศัตรูได้หัวเราะเยาะเพราะข้าพเจ้าทั้งหลายต้องพินาศ

            โปรดให้แผนการของเขากลับมาทำลายเขาเอง

                        โปรดทรงลงโทษผู้ที่ริเริ่มเบียดเบียนข้าพเจ้าทั้งหลายให้เป็นตัวอย่างเถิด

            (17R)ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงระลึกถึงข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด

                        โปรดทรงสำแดงพระองค์ในเวลาที่ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความทุกข์

 

            โปรดให้ข้าพเจ้ามีความกล้าหาญเถิด

ข้าแต่กษัตริย์ของบรรดาเทพเจ้า

พระองค์ทรงพระอานุภาพเหนือผู้มีอำนาจทุกคน

(17S)โปรดทรงใส่ถ้อยคำจูงใจไว้ในปากของข้าพเจ้า

เมื่อต้องเผชิญกับสิงโต

โปรดทรงเปลี่ยนใจของเขาให้เกลียดชังศัตรูที่ต่อสู้กับข้าพเจ้าทั้งหลาย

เพื่อเขากับพวกจะพินาศ

 

(17T)โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้นอันตรายด้วยพระหัตถ์พระองค์

โปรดทรงช่วยเหลือข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าอยู่คนเดียว

ไม่มีผู้ใดช่วยเหลือนอกจากพระองค์ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

(17U)พระองค์ทรงรอบรู้ทุกอย่าง

ทรงทราบว่าข้าพเจ้าชังเกียรติยศจากคนอธรรม

และรังเกียจการร่วมเตียงกับผู้ที่ไม่ได้เข้าสุหนัตและคนต่างชาติ

(17W)พระองค์ยังทรงทราบว่าข้าพเจ้าอยู่ในความคับขัน

ข้าพเจ้ารังเกียจเครื่องหมายแสดงเกียรติยศสูงสุด

ที่ข้าพเจ้าต้องสวมบนศีรษะเมื่อต้องแสดงตนในที่สาธารณะ

ข้าพเจ้ารังเกียจสิ่งเหล่านี้ประดุจรังเกียจผ้าสกปรก

ข้าพเจ้าไม่สวมใส่สิ่งเหล่านี้เมื่ออยู่เป็นส่วนตัว

(17X)ข้าพเจ้า ผู้รับใช้พระองค์ไม่เคยร่วมโต๊ะกับฮามาน

หรือร่วมงานเลี้ยงของกษัตริย์

ข้าพเจ้าไม่เคยดื่มเหล้าองุ่นที่รินถวายแด่เทพเจ้าแล้ว

(17Y)ตั้งแต่วันที่เปลี่ยนสภาพชีวิตจนกระทั่งบัดนี้

ผู้รับใช้พระองค์ไม่มีความยินดีอื่นใดนอกจากความยินดีในพระองค์

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของอับราฮัม

 

            (17Z)ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงพลังเหนือทุกสิ่ง

                        โปรดทรงฟังเสียงของผู้สิ้นหวัง

            และโปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้พ้นจากอำนาจของคนชั่วร้าย

                        โปรดช่วยข้าพเจ้าให้ชนะความกลัวด้วยเถิด

4 a “จำศีลอดอาหาร...โปรยขี้เถ้าบนผ้ากระสอบใช้เป็นที่นอน” เป็นเครื่องหมายของการไว้ทุกข์และการกลับใจใช้โทษบาป (ดู ยดธ 4:10; 1 มคบ 3:47; อสย 37:1; ฯลฯ)

b เพื่อโมรเดคัยจะผ่านเข้าประตูพระราชวังได้

c สำนวนแปลโบราณภาษาละตินยังเสริมอีกว่า “ขอพระนางทรงลุกขึ้นเถิด ทรงนั่งนิ่งๆ อยู่ทำไม พระนางทรงเป็นอิสระแล้ว ทั้งพระนาง ตระกูลของพระนาง และตระกูลของบรรพบุรุษ ประชากรทุกคนของพระนาง และอนุชนรุ่นหลังของพระนางก็เป็นอิสระเช่นเดียวกัน ขอพระนางทรงลุกขึ้น ดูซิว่าพวกเราจะต่อสู้และรับทรมานเพื่อประชากรของเราได้หรือไม่ พระเจ้าอาจทรงแสดงพระกรุณาต่อพวกเขาก็ได้”

d สำนวนแปลโบราณภาษาละตินยังเสริมข้อความอธิบายความทุกข์ของพระนางเอสเธอร์ว่า “ขณะที่พระนางเอสเธอร์ทรงอ่านจดหมายของพระประยูรญาติก็ทรงฉีกฉลองพระองค์และทรงคร่ำครวญเสียงดัง ทรงกันแสงอย่างมาก พระวรกายสั่นเทิ้มและอ่อนเพลีย”

e “ความช่วยเหลือ...จากที่อื่น” หมายถึง “จากพระเจ้า” ผู้เขียนตัวบทภาษาฮีบรูหลีกเลี่ยงไม่ออกพระนามพระเจ้า

f คำอธิษฐานทั้งของโมรเดคัยและของพระนางเอสเธอร์แสดงความศรัทธาของชาวยิวในพันธสัญญาเดิมได้เป็นอย่างดี แต่ก็แสดงให้เห็นการขอผลประโยชน์สำหรับตนเอง และสนใจแสดงว่าตนเป็นฝ่ายถูกต้อง มากกว่าที่เคยพบในตัวบทที่เก่าแก่กว่า

g “ครอบครัว” เป็นแหล่งสำคัญในการถ่ายทอดธรรมประเพณีเกี่ยวกับพระราชกิจต่างๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่ออิสราเอล ประชากรของพระองค์ (ดู ฉธบ 6:20-25)

h “ทำพันธสัญญากับรูปเคารพ” แปลตามตัวอักษรว่า “วางมือของตนในมือของรูปเคารพ”

พระนางเอสเธอร์ทรงเข้าเฝ้าโดยไม่มีรับสั่ง

5 1วันที่สามa เมื่อพระนางทรงอธิษฐานภาวนาจบแล้ว ทรงถอดเสื้อผ้าไว้ทุกข์ออก แล้วทรงฉลองพระองค์เต็มยศพระราชินี (1A)เมื่อทรงแต่งองค์สง่างามเช่นนี้แล้ว พระนางทูลขอพระเจ้าผู้ทรงดูแลทุกคน และทรงช่วยทุกคนให้รอดพ้น แล้วเสด็จไปกับหญิงรับใช้สองคน ทรงพิงพระวรกายที่บอบบางกับหญิงรับใช้คนหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งเชิญชายฉลองพระองค์ (1B)พระนางมีพระพักตร์งดงามเป็นสีชมพู สดชื่นน่ารัก แต่พระทัยหดหู่ด้วยความหวาดกลัว (1C)พระนางเสด็จผ่านประตูต่างๆ เข้าไปจนประทับยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์กษัตริย์ พระองค์ประทับบนพระบัลลังก์ ทรงฉลองพระองค์เต็มยศ ประดับด้วยทองคำและเพชรมณีมีค่า พระพักตร์น่าเกรงขาม (1D)เมื่อกษัตริย์ทรงเงยพระพักตร์ที่สง่างามขึ้นทอดพระเนตรด้วยความกริ้ว พระราชินีทรงซวนเซจะล้มลง สีพระพักตร์เปลี่ยนเป็นซีดเผือด ทรงอิงพระเศียรลงบนบ่าของหญิงรับใช้ที่ตามเสด็จ (1E)แต่พระเจ้าทรงบันดาลให้พระทัยของกษัตริย์อ่อนโยน ทรงเป็นห่วงพระนาง รีบเสด็จลงจากพระบัลลังก์ ทรงประคองพระนางไว้ในพระพาหาจนพระนางได้พระสติ ตรัสปลอบโยนพระนางอย่างนุ่มนวลว่า (1F)“เป็นอะไรไป เอสเธอร์ ฉันเป็นพี่ที่รักของเธอ ทำใจให้ดีไว้ เธอจะไม่ต้องตาย เพราะกฎเกณฑ์ของเราใช้สำหรับสามัญชนเท่านั้น จงเข้ามาใกล้ๆ เถิด” 2แล้วกษัตริย์ทรงยกพระคทาทองคำสัมผัสพระศอพระนาง ทรงกอดพระนางไว้แล้วตรัสว่า “จงพูดกับฉันซิ” (2A)พระนางทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ หม่อมฉันเห็นพระองค์เหมือนได้เห็นทูตสวรรค์ของพระเจ้า ใจของหม่อมฉันวุ่นวายเพราะกลัวพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ พระองค์ทรงสง่างามอย่างน่าอัศจรรย์ พระพักตร์มีเสน่ห์น่าชมยิ่งนัก” (2B)ขณะที่กำลังตรัสเช่นนี้ พระนางก็ทรงเป็นลมไป กษัตริย์ทรงวุ่นวายพระทัย ข้าราชบริพารที่อยู่กับพระองค์ก็พยายามช่วยให้พระนางฟื้นขึ้น

 3กษัตริย์ตรัสถามพระนางว่า “เรื่องอะไรกัน เอสเธอร์ราชินีของฉัน เธอต้องการสิ่งใด แม้เธอจะขอครึ่งหนึ่งของราชอาณาจักร ฉันก็จะประทานให้” 4พระนางเอสเธอร์ทูลว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย โปรดเสด็จมาพร้อมกับฮามานในวันนี้เพื่อเสวยพระกระยาหารที่หม่อมฉันเตรียมไว้” 5กษัตริย์รับสั่งว่า “จงไปบอกฮามานให้รีบมาทำตามที่พระนางเอสเธอร์ทรงปรารถนา”

กษัตริย์จึงเสด็จกับฮามานไปในการเลี้ยงซึ่งพระนางเอสเธอร์ทรงเตรียมไว้ 6ขณะที่เสวยเหล้าองุ่น กษัตริย์ตรัสถามพระนางเอสเธอร์ว่า “เธอจะขอสิ่งใด เราก็จะให้ แม้เธอจะขอครึ่งหนึ่งของราชอาณาจักรของเรา เราก็จะให้” 7พระนางเอสเธอร์ทูลตอบว่า “คำร้องขอและความปรารถนาของหม่อมฉันคือ 8ถ้าหม่อมฉันเป็นที่โปรดปรานเฉพาะพระพักตร์ และพระองค์พอพระทัยที่จะประทานตามคำขอร้องและตอบสนองความปรารถนาของหม่อมฉัน ขอพระองค์เสด็จมาพรุ่งนี้พร้อมกับฮามานในการเลี้ยงซึ่งหม่อมฉันจะเตรียมไว้ และหม่อมฉันจะตอบตามที่พระองค์ทรงถาม”

9วันนั้นฮามานออกมาจากพระราชวังด้วยจิตใจชื่นบานและยินดี แต่เมื่อเขาเห็นโมรเดคัยที่ประตูพระราชวัง ไม่ยืนขึ้นหรือเคลื่อนไหวต่อหน้าเขา เขาก็โกรธโมรเดคัยอย่างยิ่ง 10แต่ฮามานก็อดกลั้นไว้ กลับไปบ้าน ส่งคนไปเรียกเพื่อนๆ และเศเรชภรรยาของตน 11ฮามานเล่าให้เขาฟังถึงทรัพย์สมบัติมากมายที่ตนมี เล่าถึงบุตรจำนวนมากของตน เล่าถึงเกียรติยศที่กษัตริย์ประทานให้ตนมีตำแหน่งสูงกว่าเจ้านายและข้าราชบริพารคนอื่นๆ ของพระองค์ 12แล้วยังพูดเสริมว่า “แม้พระราชินีเอสเธอร์ก็ไม่เคยทรงเชิญผู้ใดนอกจากข้าพเจ้าไปในการเลี้ยงพร้อมกับกษัตริย์ และพรุ่งนี้พระนางยังเชิญข้าพเจ้ากับกษัตริย์อีก 13แต่ทั้งหมดนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่พอใจ ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเห็นโมรเดคัยชาวยิวนั่งอยู่ที่ประตูพระราชวัง” 14เศเรชภรรยาของเขาและเพื่อนๆ ทุกคนจึงพูดว่า “จงเตรียมตะแลงแกงสูงห้าสิบศอกไว้ พรุ่งนี้เช้า จงทูลขอกษัตริย์ให้แขวนคอโมรเดคัยที่นั่น แล้วจงไปกินเลี้ยงกับกษัตริย์ด้วยจิตใจชื่นบานเถิด” ฮามานพอใจคำแนะนำนี้ จึงสั่งให้เตรียมตะแลงแกงไว้

 

5 a ตัวบทภาษาฮีบรูของข้อ 1-2 สั้นกว่าตัวบทภาษากรีกมาก มีข้อความดังต่อไปนี้ (1) วันที่สาม พระนางเอสเธอร์ทรงฉลองพระองค์เต็มยศพระราชินีและประทับยืนในลานพระราชฐานชั้นใน หน้าท้องพระโรงของกษัตริย์ กษัตริย์ประทับนั่งบนพระบัลลังก์ภายในท้องพระโรงตรงกับทางเข้าพระราชวัง (2) เมื่อกษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นพระราชินีเอสเธอร์ประทับยืนในลานพระราชฐานชั้นใน พระนางเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ กษัตริย์จึงทรงยื่นพระคทาทองคำที่ทรงถืออยู่มาทางพระนางเอสเธอร์ พระนางก็เสด็จเข้ามาสัมผัสปลายพระคทา” ส่วนข้อ 3 และข้อต่อไปตัวบทเหมือนกันทั้งภาษาฮีบรูและภาษากรีก

IV. ชาวยิวพ้นอันตราย

 

ฮามานต้องแสดงความเคารพต่อโมรเดคัย a

6 1คืนนั้นกษัตริย์บรรทมไม่หลับ จึงรับสั่งให้นำหนังสือพงศาวดารที่บันทึกเหตุการณ์น่าจดจำมาอ่านถวาย 2ข้อความที่อ่านกล่าวถึงการที่โมรเดคัยกราบทูลเรื่องบิกธานและเทเรช ขันทีสองคนผู้เฝ้าประตูพระราชวังพยายามจะปลงพระชนม์กษัตริย์อาหสุเอรัส 3กษัตริย์ตรัสถามว่า “เราได้ทำอะไรบ้างเพื่อให้เกียรติและตำแหน่งแก่โมรเดคัยเพราะเรื่องนี้” ข้าราชบริพารทูลตอบว่า “ยังไม่มีใครทำอะไรเลย พะย่ะค่ะ”b 4กษัตริย์ตรัสว่า “มีใครบ้างอยู่ที่ลานพระราชวัง” เวลานั้นฮามานเข้ามาในพระลานชั้นนอกของพระราชวังไม่นานนักก่อนหน้านั้น เพื่อทูลกษัตริย์ว่าตนจะขออนุญาตแขวนคอโมรเดคัยที่ตะแลงแกงซึ่งได้เตรียมไว้แล้ว 5บรรดาข้าราชบริพารจึงทูลกษัตริย์ว่า “ฮามานกำลังยืนอยู่ในลานพระราชวัง พะย่ะค่ะ” กษัตริย์รับสั่งว่า “ให้เขาเข้ามาที่นี่ซิ” 6ฮามานจึงเข้ามา กษัตริย์ตรัสถามเขาว่า “ถ้าเราต้องการให้เกียรติแก่ใครคนหนึ่ง เราควรจะทำอย่างไรแก่เขา” ฮามานคิดในใจว่า “มีใครเล่าที่กษัตริย์ทรงประสงค์จะประทานเกียรติยศให้มากกว่าเรา” 7ฮามานจึงทูลตอบว่า “ถ้าพระราชาทรงประสงค์จะประทานเกียรติแก่ผู้ใด 8ขอพระองค์ทรงมอบฉลองพระองค์และม้าทรงมีผ้าโพกประดับศีรษะให้เขา 9ข้าราชบริพารตำแหน่งสูงสุดคนหนึ่งจะนำฉลองพระองค์มาให้ผู้ที่พระราชาทรงประสงค์จะประทานเกียรติยศเป็นรางวัล เขาจะให้ผู้นั้นขึ้นบนม้าทรง และจูงม้าไปตามถนนสำคัญของเมือง ร้องประกาศว่า ‘กษัตริย์ทรงทำเช่นนี้แก่บุคคลที่ทรงประสงค์จะประทานเกียรติยศ’” 10กษัตริย์จึงตรัสสั่งฮามานว่า “รีบเข้าเถอะ จงเอาเสื้อและม้าอย่างที่ท่านว่า และทำเช่นนั้นแก่โมรเดคัยชาวยิวซึ่งนั่งที่ประตูพระราชวัง อย่าละเว้นสิ่งใดที่ท่านเสนอมานั้นเลย”

11ฮามานจึงนำฉลองพระองค์กับม้าทรงมาให้โมรเดคัย ให้เขาสวมฉลองพระองค์และขึ้นม้าทรง แล้วจูงม้าไปตามถนนในเมือง ร้องประกาศว่า “กษัตริย์ทรงทำเช่นนี้แก่บุคคลที่ทรงประสงค์จะประทานเกียรติยศ” 12แล้วโมรเดคัยก็กลับมาที่ประตูพระราชวัง แต่ฮามานรีบกลับไปบ้าน คลุมศีรษะด้วยความอับอาย 13เขาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นแก่เศเรชภรรยาและแก่บรรดามิตรสหาย ที่ปรึกษาcและเศเรชภรรยาของเขาบอกเขาว่า “ถ้าท่านเริ่มตกต่ำต่อหน้าโมรเดคัยซึ่งเป็นชาวยิว ท่านจะไม่มีวันชนะเขาได้ ท่านจะพ่ายแพ้เขาแน่นอน”d

 

ฮามานร่วมงานเลี้ยงอาหารที่พระนางเอสเธอร์ทรงจัด

            14ขณะที่เขาทั้งหลายกำลังพูดกับฮามานอยู่ ขันทีของกษัตริย์ก็มาถึง รีบนำฮามานไปร่วมการเลี้ยงอาหารซึ่งพระนางเอสเธอร์ทรงจัดไว้

 

6 a ต้นฉบับภาษากรีกฉบับคัดลอกของลูเซียน ขยายข้อความของบทที่ 6 และ 7 ให้ยาวขึ้น เป็นการยกย่องโมรเดคัยและเยาะเย้ยฮามาน

b ผู้เขียนต้นฉบับภาษาฮีบรูไม่รู้ว่าต้นฉบับภาษากรีกเล่าไว้แล้วว่า กษัตริย์ได้ประทานเกียรติยศเป็นบำเหน็จแก่โมรเดคัยแล้ว (ข้อ 1Q)

c “ที่ปรึกษา” ต้นฉบับภาษากรีกว่า “มิตรสหาย”

d ต้นฉบับภาษาฮีบรูเพียงแต่กล่าวถึงความพ่ายแพ้ของฮามานที่จะเกิดขึ้นโดยไม่กล่าวอะไรถึงพระเจ้า แต่ต้นฉบับภาษากรีกอธิบายอย่างชัดเจนว่าเรื่องนี้เกิดขึ้น “เพราะพระเจ้าผู้ทรงชีวิตทรงอยู่กับเขา”

7 1กษัตริย์จึงเสด็จพร้อมกับฮามานไปในงานเลี้ยงอาหารกับพระราชินีเอสเธอร์ 2วันที่สอง ขณะที่กำลังเสวยเหล้าองุ่นอยู่ กษัตริย์ตรัสถามพระนางเอสเธอร์อีกว่า “พระราชินีเอสเธอร์ เธอจะขอสิ่งใด เราก็จะให้ แม้เธอจะขอครึ่งหนึ่งของอาณาจักร เราก็จะให้” 3พระราชินีเอสเธอร์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระราชา ถ้าหม่อมฉันเป็นที่โปรดปรานเฉพาะพระพักตร์และพระองค์พอพระทัย หม่อมฉันขอชีวิตของหม่อมฉันและขอพระองค์ทรงไว้ชีวิตประชากรของหม่อมฉัน 4เพราะหม่อมฉันและประชากรของหม่อมฉันถูกขายให้ถูกทำลาย ให้ถูกสังหาร และให้ถูกล้างผลาญ ถ้าพวกเราทั้งชายและหญิงถูกขายเพียงให้เป็นทาส หม่อมฉันก็จะไม่พูดเลย แต่ศัตรูของเราต้องการกำจัดพวกเราทุกคนให้หมดสิ้น”a 5กษัตริย์อาหสุเอรัสจึงตรัสถามพระราชินีเอสเธอร์ว่า “ผู้นั้นเป็นใคร ผู้บังอาจคิดกระทำเช่นนี้อยู่ที่ไหน” 6พระนางเอสเธอร์ทูลตอบว่า “คู่อริและศัตรูคือฮามานคนชั่วร้ายผู้นี้เพคะ” ฮามานกลัวตัวสั่นอยู่เฉพาะพระพักตร์กษัตริย์และพระราชินี 7กษัตริย์ทรงพระพิโรธ ทรงลุกขึ้นจากงานเลี้ยง เสด็จเข้าไปในพระราชอุทยาน แต่ฮามานยังอยู่ที่นั่นเพื่อทูลขอชีวิตจากพระราชินีเอสเธอร์ เพราะเห็นว่ากษัตริย์จะทรงลงโทษตนแน่นอน 8เมื่อกษัตริย์เสด็จกลับจากพระราชอุทยานมายังสถานที่จัดงานเลี้ยง ฮามานกำลังก้มตัวอยู่ที่พระแท่นซึ่งพระนางเอสเธอร์ประทับอยู่ จึงตรัสว่า “มันยังจะข่มขืนพระราชินีต่อหน้าต่อตาเราในบ้านของเราเทียวหรือ” เมื่อพระวาจาหลุดจากพระโอษฐ์ บรรดาขันทีก็นำผ้ามาคลุมหน้าฮามานไว้b 9ฮารโบนา ขันทีคนหนึ่งที่รับใช้กษัตริย์ทูลว่า “มีตะแลงแกงสูงห้าสิบศอกซึ่งฮามานเตรียมไว้สำหรับโมรเดคัย ผู้เคยทูลรายงานเพื่อพระราชา ตั้งอยู่ที่บ้านของฮามานแล้ว พะย่ะค่ะ” กษัตริย์จึงรับสั่งว่า “เอามันไปแขวนคอไว้บนนั้นเถอะ”c 10ฮามานจึงถูกแขวนคอบนตะแลงแกงที่เขาเตรียมไว้สำหรับโมรเดคัย แล้วพระพิโรธของกษัตริย์ก็สงบลง

 

7 a แปลโดยคาดคะเน แปลตามตัวอักษรว่า “แต่ความทุกข์ของเราเทียบไม่ได้กับความเสียหายของพระราชา” ซึ่งน่าจะหมายความว่าฮามานเคยเสนอจะนำเงินหนัก 340 ตันมาถวายเมื่อทำลายชนชาติยิวแล้ว (ดู 3:8-9) แต่พระนางเอสเธอร์ทูลว่าเงินจำนวนนี้ไม่คุ้มกับความเสียหายที่กษัตริย์จะทรงรับเมื่อไม่มีชาวยิวทำงานเพื่อบ้านเมือง

b “นำผ้ามาคลุมหน้าฮามานไว้” เป็นการกระทำที่แสดงว่าผู้นั้นถูกโทษประหารชีวิตแล้ว นักโทษที่จะถูกแขวนคอจึงถูกเอาผ้าคลุมศีรษะก่อนนำไปประหารชีวิต

c “เอามันไปแขวนคอไว้บนนั้นเถอะ” คำกล่าวนี้คล้ายกับสุภาษิตที่ว่า “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว” ความคิดเช่นนี้พบได้บ่อยๆในพระคัมภีร์ในวลีที่ว่า “ขอให้เขาตกในหลุมที่เขาขุดไว้ดักผู้อื่น” (เทียบ สดด 7:16; 9:16; 35:7-8; 57:6; สภษ 26:27; 28:10; ปญจ 10:8; บสร 27:26)

ชาวยิวกลับได้รับความโปรดปรานจากกษัตริย์

8 1วันนั้น กษัตริย์อาหสุเอรัสประทานบ้านของฮามานศัตรูของชาวยิวให้แก่พระราชินีเอสเธอร์ โมรเดคัยเข้าเฝ้ากษัตริย์ เพราะพระนางเอสเธอร์ทูลว่าเขาเป็นพระประยูรญาติกับพระนาง 2กษัตริย์จึงทรงนำพระธำมรงค์ตราที่ทรงมอบให้ฮามานมาประทานแก่โมรเดคัย พระนางเอสเธอร์ก็ทรงตั้งโมรเดคัยให้ดูแลบ้านที่เคยเป็นของฮามาน

          3พระนางเอสเธอร์ยังทรงกราบทูลกษัตริย์อีก พระนางทรงกราบพระบาท หลั่งพระอัสสุชลวอนพระองค์ทรงช่วยชาวยิวให้พ้นจากแผนการร้ายของฮามานชาวอากัก และจากการปองร้ายที่เขาคิดร้ายต่อชาวยิว 4กษัตริย์จึงทรงยื่นพระคทาทองคำไปสัมผัสพระนางเอสเธอร์ พระนางก็ทรงลุกขึ้นประทับยืนเฉพาะพระพักตร์ 5ทูลว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย และถ้าหม่อมฉันเป็นที่โปรดปรานเฉพาะพระพักตร์ ถ้าทรงเห็นว่าคำขอของหม่อมฉันถูกต้องและหม่อมฉันเป็นที่โปรดปรานเฉพาะพระพักตร์ ขอทรงมีพระอักษรรับสั่งให้ยกเลิกจดหมายที่ฮามานบุตรฮัมเมดาธาชาวอากักได้คิดขึ้น สั่งให้ทำลายชาวยิวทุกคนที่อยู่ในแคว้นต่างๆ ของพระราชา 6หม่อมฉันจะทนดูหายนะของประชากรของหม่อมฉันได้อย่างไร หม่อมฉันจะทนดูการทำลายล้างพี่น้องร่วมชาติของหม่อมฉันได้อย่างไร”

7กษัตริย์อาหสุเอรัสตรัสกับพระราชินีเอสเธอร์และโมรเดคัยชาวยิวว่า “เราให้บ้านของฮามานแก่พระนางเอสเธอร์แล้ว เขาถูกแขวนคอบนตะแลงแกงเพราะเขาต้องการทำลายชาวยิว 8จงเขียนเพื่อช่วยชาวยิวตามที่ท่านเห็นควรในนามของเรา และประทับตราด้วยแหวนตราของเรา เพราะพระราชกฤษฎีกาที่เขียนในนามของเราและประทับตราด้วยแหวนตราของเราจะยกเลิกไม่ได้”a 9ในวันที่ยี่สิบสามเดือนสาม คือเดือนสิวันb โมรเดคัยเรียกอาลักษณ์เข้ามา สั่งให้เขียนพระราชกฤษฎีกาถึงชาวยิว ถึงผู้ว่าราชการภาค ผู้ว่าราชการแคว้น และเจ้านายของทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเจ็ดแคว้น ตั้งแต่อินเดียจนถึงเอธิโอเปีย พระราชกฤษฎีกาเขียนถึงแต่ละแคว้นด้วยอักษรเป็นภาษาของชนชาตินั้นๆ และถึงชาวยิวด้วยอักษรเป็นภาษาของเขา 10อาลักษณ์จึงเขียนพระราชกฤษฎีกาในพระนามของกษัตริย์อาหสุเอรัส ประทับตราด้วยพระธำมรงค์ตราของพระองค์ และส่งไปโดยผู้ถือสารขี่ม้าเร็วพันธุ์ดีของกษัตริย์ 11ตามพระราชกฤษฎีกานี้ กษัตริย์ทรงอนุญาตให้ชาวยิวที่อยู่ในแต่ละเมืองชุมนุมกันและป้องกันชีวิตของตน ให้ทำลาย ให้สังหาร และให้ล้างผลาญกำลังพลของประชาชนหรือแคว้นใดๆ ซึ่งจะมาทำร้ายตน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก และให้ปล้นข้าวของของเขาได้ 12พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลใช้ในวันเดียวทั่วทุกแคว้นของกษัตริย์อาหสุเอรัส คือวันที่สิบสามเดือนสิบสอง หรือเดือนอาดาร์

พระราชกฤษฎีกาคืนสิทธิแก่ชาวยิว

          (12A) สำเนาของพระราชสาสน์มีว่าดังนี้

 

          (12B)“กษัตริย์อาหสุเอรัสผู้ยิ่งใหญ่ขอส่งความสุขถึงผู้ว่าราชการของทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเจ็ดแคว้นตั้งแต่อินเดียจนถึงเอธิโอเปีย และถึงทุกคนที่ดูแลผลประโยชน์ของเรา

          (12C)หลายคนยิ่งได้รับบุญคุณจากผู้มีพระคุณซึ่งมีใจเอื้อเฟื้อ ยิ่งมีความหยิ่งผยองมากขึ้น เขาพยายามทำร้ายผู้อยู่ใต้ปกครองของเขา และวางแผนร้ายต่อผู้มีพระคุณต่อตน เพราะเขาควบคุมความหยิ่งจองหองของตนไม่ได้เลย (12D)เขาลบล้างความกตัญญูรู้คุณจากใจมนุษย์ คิดว่าจะหนีพระเจ้าผู้ทรงเห็นทุกสิ่ง และจะหลบหนีความยุติธรรมของพระองค์ผู้ทรงเกลียดความชั่วร้ายได้ เพราะความหยิ่งยโสโอ้อวดที่ไม่รู้บุญคุณ (12E)ผู้มีอำนาจปกครองมักจะต้องกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการฆ่าคนบริสุทธิ์ และก่อเหตุร้ายที่แก้ไขไม่ได้ เพราะได้รับอิทธิพลจากเพื่อนที่เขาไว้ใจมอบอำนาจปกครองบ้านเมืองให้ (12F)คนเหล่านี้มักจะหลอกลวงเจตนาบริสุทธิ์ของผู้ปกครองบ้านเมืองด้วยการใส่ร้าย (12G)ความจริงข้อนี้พิสูจน์ได้จากเรื่องราวต่างๆ ที่ตกทอดมาแต่สมัยโบราณ และยังเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นจากการทำชั่วร้ายของผู้ที่ใช้อำนาจปกครองอย่างไม่เหมาะสม (12H)ในอนาคต เราจะใช้วิธีการทุกอย่างเพื่อให้พลเมืองในอาณาจักรของเราอยู่อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน (12I)เราจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จำเป็น และจะตัดสินอย่างยุติธรรมทุกเรื่องที่มีผู้นำเสนอ

            (12K)เช่นเรื่องฮามานบุตรของฮัมเมดาธาชาวมาซิโดเนียc โดยแท้จริงแล้ว เขาไม่มีสายเลือดเป็นชาวเปอร์เซีย และไม่มีใจกว้างเหมือนพวกเรา เราต้อนรับเขาอย่างดี (12L)เขาได้รับความเมตตากรุณาที่เรามีต่อชนทุกชาติ จนได้รับเกียรติได้ชื่อว่า ‘บิดาของราชอาณาจักร’ ทุกคนต้องก้มกราบให้เกียรติเขาที่มีตำแหน่งเป็นที่สองรองจากกษัตริย์ (12M)แต่ความทะเยอทะยานของเขาไม่มีขอบเขต เขาพยายามแย่งอำนาจจากเรา รวมทั้งแย่งชีวิตของเราด้วย (12N)เขาใช้เล่ห์เหลี่ยมและอ้างเหตุผลหลอกลวงเราให้ประหารชีวิตโมรเดคัยผู้ช่วยชีวิตเราและมีบุญคุณต่อเราตลอดมา และยังต้องการประหารชีวิตพระนางเอสเธอร์ ชายาผู้ไม่มีความผิดของเรา พร้อมกับชนชาติทั้งหมดของพระนางด้วย (12O)ด้วยวิธีนี้ เขาคิดจะทำให้เราต้องอยู่โดดเดี่ยวไม่มีผู้ช่วยเหลือ แล้วจะได้มอบอาณาจักรเปอร์เซียให้แก่ชาวมาซิโดเนีย

            (12P)แต่แล้วเราก็พบว่าชาวยิวเหล่านี้ที่อาชญากรชั่วร้ายที่สุดผู้นี้ต้องการทำลายล้างไม่ใช่อาชญากรเลย แต่เป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ชอบธรรม (12Q)เขาเป็นบุตรของพระเจ้าสูงสุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และทรงชีวิต พระองค์ทรงนำอาณาจักรของเราให้อยู่ในสภาพรุ่งเรืองที่สุดเพื่อพวกเราตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาแล้ว (12R)ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงยกเลิกพระราชสาสน์ที่ฮามานบุตรของฮัมเมดาธาส่งมา เพราะผู้ที่ได้ทำความชั่วเหล่านี้ถูกแขวนคอพร้อมกับครอบครัวทั้งหมดของเขาแล้วที่ประตูนครสุสา พระเจ้าผู้ทรงปกครองทุกสิ่ง ทรงลงโทษเขาอย่างเหมาะสมโดยไม่รอช้า (12S)ท่านทั้งหลายจงประกาศสำเนาพระราชสาสน์ฉบับนี้ตามที่สาธารณะทุกแห่ง จงปล่อยให้ชาวยิวดำเนินชีวิตเป็นอิสระตามกฎหมายของตน และจงช่วยเหลือเขาให้ป้องกันตนเองจากผู้ต้องการโจมตีเขาในวันที่กำหนดไว้เพื่อเบียดเบียนเขา คือวันที่สิบสามเดือนสิบสอง หรือเดือนอาดาร์ (12T)วันนั้น แทนที่จะเป็นวันหายนะของชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรร พระเจ้าผู้ทรงปกครองทุกสิ่งได้ทรงเปลี่ยนให้เป็นวันชื่นชมยินดี (12U)ส่วนท่านทั้งหลายที่เป็นชาวยิว จงจัดวันสำคัญนี้ให้เป็นวันฉลองวันหนึ่งของท่าน ที่ท่านจะต้องฉลองด้วยงานเลี้ยงน่ายินดีเหมือนวันฉลองอื่นๆ ที่กำหนดไว้ เพื่อทั้งในเวลานี้และในภายหน้าจะได้เป็นวันฉลองชัยชนะของพวกเราและของบรรดามิตรสหายชาวเปอร์เซีย และเป็นการเตือนให้ระลึกถึงความพินาศของผู้ที่วางแผนร้ายต่อพวกเรา”

            (12V)เมืองใดหรือหมู่บ้านใดที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชสาสน์ จะถูกเผาทำลายสิ้น เป็นการลงโทษทั้งมนุษย์ สัตว์ป่าและนกจะเข้ามาอาศัยอยู่ไม่ได้ตลอดไป”

          13สำเนาของพระราชกฤษฎีกาจะต้องประกาศเป็นกฎหมายในแต่ละแคว้น ให้ชนทุกชาติรู้ ชาวยิวจะได้เตรียมพร้อมเพื่อป้องกันตนเองจากศัตรูในวันที่กำหนด 14ผู้ถือสารขี่ม้าเร็วของกษัตริย์รีบปฏิบัติตามพระบัญชา พระราชกฤษฎีกาออกประกาศในนครสุสาทันที 15โมรเดคัยออกจากพระราชวัง สวมอาภรณ์สีม่วงแดงและสีขาวของกษัตริย์ ประดับศีรษะด้วยผ้าโพกผืนใหญ่สีทองและสวมเสื้อคลุมผ้าป่านสีม่วงแดง ชาวนครสุสาก็โห่ร้องด้วยความยินดี 16ชาวยิวมีความสุข ความยินดี ความชื่นบานและเกียรติยศ 17ทุกแคว้นทุกเมือง ไม่ว่าที่ใดที่พระบัญชาของกษัตริย์และพระราชกฤษฎีกามาถึง ชาวยิวมีความยินดีและความชื่นบาน จัดงานเลี้ยงเป็นวันฉลอง คนต่างชาติจำนวนมากที่อยู่ในแผ่นดินประกาศตนเป็นยิว เพราะเขากลัวชาวยิว

 

8 a “จะยกเลิกไม่ได้” ข้อความนี้ตรงกับที่กล่าวถึงพระราชกฤษฎีกาที่ทรงให้ฮามานเขียนในพระนามพระองค์ (เทียบ 3:12) แสดงว่าแต่ก่อนพระองค์เคยทรงไว้วางพระทัยต่อฮามานอย่างไร บัดนี้ก็ทรงไว้วางพระทัยต่อโมรเดคัยด้วยเช่นเดียวกัน

b “เดือนสาม คือเดือนสิวัน” ต้นฉบับภาษากรีกว่า “เดือนสาม คือเดือนนิสาน”

c “ชาวมาซิโดเนีย” การกล่าวถึงชาวมาซิโดเนียที่นี่นับว่าแปลกมาก เพราะตามประวัติศาสตร์ ชาวเปอร์เซียในสมัยนั้น (ศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ.) ช่วงชิงอำนาจกับชาวมีเดีย ไม่ใช่กับชาวมาซิโดเนีย (ซึ่งจะมาสู้รบกับชาวเปอร์เซียในศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ.)

ชาวยิวทำลายล้างศัตรู

9 1วันที่สิบสามเดือนสิบสอง หรือเดือนอาดาร์ เมื่อจะต้องปฏิบัติตามพระบัญชาของกษัตริย์ และพระราชกฤษฎีกาจะมีผลใช้บังคับ วันที่ศัตรูของชาวยิวหวังจะปราบเขา เหตุการณ์ตรงกันข้ามก็เกิดขึ้น ชาวยิวกลับปราบพวกที่เกลียดชังเขา 2ชาวยิวชุมนุมกันตามเมืองต่างๆ ในทุกแคว้นของกษัตริย์อาหสุเอรัสเพื่อจะทำลายผู้พยายามทำร้ายเขา ไม่มีผู้ใดต่อต้านเขาได้ เพราะประชาชนทั้งหลายกลัวชาวยิว 3บรรดาเจ้านายผู้ปกครองแคว้นต่างๆ บรรดาผู้ว่าราชการแคว้น ผู้ว่าราชการภาคและข้าราชการอื่นๆ ก็ช่วยชาวยิวด้วย เพราะกลัวโมรเดคัย 4โมรเดคัยมีอำนาจยิ่งใหญ่ในราชสำนักและชื่อเสียงของเขาเลื่องลือไปทั่วทุกแคว้น เขามีอำนาจมากยิ่งขึ้นทุกที

          5ชาวยิวใช้ดาบฆ่าฟันทำลายศัตรูทุกคน เขาทำแก่ผู้ที่เกลียดชังเขาตามใจชอบa 6ในนครสุสาชาวยิวฆ่าและทำลายล้างศัตรูห้าร้อยคน 7ฆ่าปารชันดาธา ดาลโฟน อัสปาธา 8โปราธา อาดัลยา อารีดาธา 9ปารมัชทา อารีสัย อารีดัย และไวซาธา 10คนเหล่านี้ทั้งสิบคนเป็นบุตรชายของฮามานบุตรของฮัมเมดาธา ศัตรูของชาวยิว แต่ชาวยิวไม่ได้ปล้นทรัพย์สินของผู้ใด

          11วันนั้นมีผู้ไปทูลกษัตริย์ให้ทรงทราบจำนวนคนที่ถูกฆ่าในนครสุสา 12กษัตริย์จึงตรัสกับพระราชินีเอสเธอร์ว่า “ในนครสุสา ชาวยิวฆ่าและทำลายศัตรูถึงห้าร้อยคน ฆ่าบุตรชายทั้งสิบคนของฮามานด้วย แล้วในแคว้นอื่นๆ ในอาณาจักร เขาคงจะได้ฆ่าอีกจำนวนมาก บัดนี้ เธอจะขออะไรอีก เราก็จะให้ เธอจะขออะไร เราก็จะทำ” 13พระนางเอสเธอร์จึงทูลว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย ขอให้ชาวยิวในนครสุสาได้รับอนุญาตให้ทำตามพระราชกฤษฎีกาของวันนี้ในวันพรุ่งนี้อีก และขอให้ศพบุตรชายทั้งสิบคนของฮามานถูกแขวนไว้บนตะแลงแกง” 14กษัตริย์ทรงบัญชาให้ทำเช่นนั้น พระราชกฤษฎีกาถูกประกาศในนครสุสา ศพของบุตรชายทั้งสิบคนของฮามานจึงถูกแขวนบนตะแลงแกง 15ชาวยิวที่อยู่ในนครสุสามาชุมนุมกันอีกในวันที่สิบสี่เดือนอาดาร์ และฆ่าศัตรูสามร้อยคนในนครสุสา แต่ไม่ได้ปล้นทรัพย์สินของเขา

          16ชาวยิวอื่นๆ ซึ่งอยู่ในแคว้นต่างๆ ของกษัตริย์ก็ชุมนุมกันป้องกันชีวิตของตน และมีความปลอดภัยจากศัตรู เขาฆ่าผู้ที่เกลียดชังเขาจำนวนเจ็ดหมื่นห้าพันคนb แต่ไม่ได้ปล้นทรัพย์สิน 17เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นวันที่สิบสามเดือนอาดาร์ และวันที่สิบสี่เขาก็หยุดฆ่า และทำวันนั้นให้เป็นวันกินเลี้ยงและยินดี 18แต่ชาวยิวในนครสุสาชุมนุมกันฆ่าศัตรูในวันที่สิบสามและวันที่สิบสี่ แล้วหยุดฆ่าในวันที่สิบห้า ทำให้วันนั้นเป็นวันกินเลี้ยงและยินดีc 19ดังนั้น ชาวยิวในชนบท ซึ่งอยู่ตามหัวเมืองที่ไม่มีกำแพงล้อมถือวันที่สิบสี่เดือนอาดาร์เป็นวันยินดีจัดงานเลี้ยงและเป็นวันฉลอง เป็นวันที่เขาส่งอาหารเป็นของขวัญให้แก่กัน (19A)ส่วนชาวยิวซึ่งอยู่ในเมืองใหญ่ทำให้วันที่สิบห้าเดือนอาดาร์เป็นวันยินดีและวันฉลอง เป็นวันที่เขาส่งอาหารเป็นของขวัญให้แก่กัน

V. วันฉลองปูริม

 

การตั้งวันฉลองปูริมเป็นทางการ

            20โมรเดคัยบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ และส่งจดหมายไปยังชาวยิวทั้งหลายที่อยู่ในแคว้นต่างๆ ของกษัตริย์อาหสุเอรัสทั้งใกล้และไกล 21สั่งเขาทั้งหลายให้ถือวันที่สิบสี่และวันที่สิบห้าเดือนอาดาร์เป็นวันฉลองทุกๆ ปี 22เพราะเป็นวันที่ชาวยิวปลอดภัยจากศัตรู และเป็นเดือนที่ความเศร้าโศกเปลี่ยนเป็นความยินดี และวันไว้ทุกข์เปลี่ยนเป็นวันฉลอง ทุกคนจะต้องยินดีจัดงานเลี้ยงและส่งอาหารเป็นของขวัญให้แก่กัน และให้ทานแก่คนยากจน

          23ชาวยิวจึงปฏิบัติธรรมเนียมที่เริ่มนี้ต่อไปตามที่โมรเดคัยเขียนไปถึงเขา 24ว่า “ฮามาน บุตรของฮัมเมดาธาชาวอากัก ศัตรูของชาวยิวทั้งหลายปองร้ายต่อชาวยิวเพื่อทำลายล้างเขา ฮามานได้จับ ‘ปูร์’ คือ ‘สลาก’ เพื่อกำหนดวันที่จะต้องล้างผลาญและทำลายเขา 25แต่เมื่อพระนางเอสเธอร์ทรงเข้าเฝ้ากษัตริย์ พระองค์รับสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้แผนการมุ่งร้ายของฮามาน ซึ่งเขาคิดทำกับชาวยิวกลับตกลงบนศีรษะของเขาd และรับสั่งให้ฮามานกับบุตรถูกแขวนบนตะแลงแกง 26ดังนั้น วันเหล่านี้จึงได้ชื่อว่า ‘ปูริม’ จากคำว่า ‘ปูร์’ ซึ่งแปลว่า ‘สลาก’ เพราะข้อความที่เขียนไว้ในจดหมายนี้ และจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น 27ชาวยิวจึงกำหนดเป็นข้อปฏิบัติสำหรับตนเอง สำหรับลูกหลานและทุกคนที่เข้ามารับนับถือลัทธิยิวe ว่าจะต้องฉลองทั้งสองวันนี้อย่างเคร่งครัดทุกปีมิได้ขาด ตามข้อกำหนด และตามเวลาที่เขียนไว้ 28ชาวยิวทุกครอบครัว ทุกสมัย จะต้องระลึกถึงและฉลองวันเหล่านี้ในทุกแคว้นและทุกเมือง เขาจะต้องไม่เลิกฉลองวันปูริมนี้ และลูกหลานของเขาจะต้องระลึกถึงวันเหล่านี้ตลอดไป”

          29พระราชินีเอสเธอร์ธิดาของอาบีฮาอิลทรงพระอักษรอีกฉบับหนึ่ง พร้อมกับจดหมายของโมรเดคัยชาวยิวf เพื่อรับรองวันฉลองปูริมนี้ด้วย 30โมรเดคัยส่งจดหมายทั้งสองฉบับไปถึงชาวยิวซึ่งอยู่ในหนึ่งร้อยยี่สิบเจ็ดแคว้นของอาณาจักรของกษัตริย์อาหสุเอรัส อวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข 31และให้ฉลองวันปูริมเหล่านี้ในเวลากำหนด ตามคำสั่งของโมรเดคัยชาวยิว และตามพระเสาวนีย์ของพระราชินีเอสเธอร์ และตามที่ชาวยิวเคยวางกฎไว้สำหรับตนเองและลูกหลานเกี่ยวกับวันจำศีลอดอาหารและวันไว้ทุกข์g 32พระเสาวนีย์ของพระราชินีเอสเธอร์กำหนดระเบียบการฉลองวันปูริมและบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

 

9 a เรื่องที่เล่านี้คงไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ (ดู “ความรู้ฯ”) และมิได้มีเจตนาจะสนับสนุนการเข่นฆ่าแก้แค้นศัตรู แต่ต้องการเพียงแสดงว่าพระเจ้าจะทรงบันดาลให้ผู้ข่มเหงผู้อื่นต้องถูกลงโทษ และผู้ถูกข่มเหงกลับได้รับอิสรภาพ ผู้เขียนจึงเล่าถึงเหตุการณ์โดยใช้รายละเอียดเกินความจริง เขายังมีทัศนคติที่พบได้ในพันธสัญญาเดิม ที่กล่าวถึงสงครามกับศัตรูของชาวอิสราเอล คือศัตรูต้องถูกลงโทษอย่างสาสมกับความผิดที่เขาได้ทำต่อประชากรของพระเจ้า

b “เจ็ดหมื่นห้าพันคน” ต้นฉบับภาษากรีกว่า “หนึ่งหมื่นห้าพันคน”

c “วันกินเลี้ยงและยินดี” วันฉลอง “ปูริม” ซึ่งระลึกถึงเหตุการณ์นี้ ต่อมาในภายหลังจะเป็นวันกินเลี้ยงสนุกสนานรื่นเริงมากกว่าที่จะเป็นวันฉลองทางศาสนา (เทียบ เทศกาล “คาร์นิวัล” ของชาวคริสตชนในยุโรปและอเมริกา)

d “เมื่อพระนางเอสเธอร์ทรงเข้าเฝ้ากษัตริย์...บนศีรษะของเขา” ต้นฉบับภาษากรีกว่า “เมื่อเขา (= ฮามาน) เข้าเฝ้ากษัตริย์เพื่อขออนุญาตแขวนคอโมรเดคัย แผนการร้ายที่เขาคิดต่อชาวยิวกลับตกลงบนศีรษะของเขา”

e “ทุกคนที่เข้ามารับนับถือลัทธิยิว” เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ปลุกความรักชาติของชาวยิวเท่านั้น ยังมีเจตนาเชิญชวนคนต่างชาติให้เข้ามารับนับถือลัทธิยิวและร่วมฉลองชัยชนะของชาวยิวด้วย

f “โมรเดคัยชาวยิว” วลี “ชาวยิว” ที่นี่เป็นเสมือนนามเฉพาะเมื่อกล่าวถึงโมรเดคัย (เทียบ 8:7)

g “วันจำศีลอดอาหารและวันไว้ทุกข์” กิจกรรมทั้งสองอย่างนี้ชวนให้คิดถึง 4:16 และมีส่วนทำให้พระเจ้าทรงช่วยชาวยิวให้พ้นภัย แต่ในสมัยต่อมาวันฉลอง “ปูริม” จะกลายเป็นวันรื่นเริงเท่านั้น ไม่มีความหมายทางศาสนาเหลืออยู่อีก

โมรเดคัยได้รับเกียรติ

10 1กษัตริย์อาหสุเอรัสมีรับสั่งให้เก็บภาษีทั่วราชอาณาจักร ทั้งบนแผ่นดินและตามเกาะในทะเล 2หนังสือพงศาวดารของกษัตริย์แห่งมีเดียและเปอร์เซียบันทึกพระราชกิจทั้งหมดซึ่งแสดงพระอำนาจและพระอานุภาพของพระองค์ รวมทั้งเรื่องราวละเอียดกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของโมรเดคัยa ซึ่งพระองค์ทรงเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น 3โมรเดคัยชาวยิวมีตำแหน่งรองจากกษัตริย์อาหสุเอรัส และเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในหมู่ชาวยิว เป็นที่รักของพี่น้องร่วมชาติทุกคน เขาแสวงหาความสุขให้ชนชาติของตน ก่อให้เกิดสันติแก่ลูกหลานอยู่เสมอb

          (3A)โมรเดคัยพูดว่า “เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นพระราชกิจของพระเจ้า (3B)ข้าพเจ้าจำได้ว่าเคยฝันถึงเรื่องเหล่านี้ และเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นจริงตามความฝันทุกประการ (3C)พุน้ำเล็กๆ กลายเป็นแม่น้ำ มีแสงสว่าง มีดวงอาทิตย์และน้ำมากมาย แม่น้ำได้แก่พระนางเอสเธอร์ซึ่งกษัตริย์ทรงอภิเษกสมรสและทรงแต่งตั้งขึ้นเป็นพระราชินี (3D)มังกรสองตัวได้แก่ข้าพเจ้าและฮามาน (3E)ชนชาติต่างๆ ได้แก่ผู้ที่รวมกันจะทำลายชาวยิวให้สิ้นชื่อ (3F)ผู้ที่ร้องทูลพระเจ้าและพระองค์ทรงช่วยให้รอดพ้นคืออิสราเอลประชากรของข้าพเจ้า ใช่แล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้น องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปลดปล่อยพวกเราให้พ้นจากภัยพิบัติเหล่านี้ทั้งหมด พระเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์และปาฏิหาริย์ยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาในหมู่ชนชาติทั้งหลาย (3G)พระองค์จึงทรงจัดให้มีชะตากรรมสองแบบ แบบหนึ่งสำหรับประชากรของพระเจ้า อีกแบบหนึ่งสำหรับชนชาติอื่นๆ ทั้งหมด (3H)ชะตากรรมทั้งสองแบบนี้เป็นความจริงในวันเวลาที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ เพื่อทรงพิพากษาชนชาติทั้งหลาย (3I)พระเจ้าทรงระลึกถึงประชากรของพระองค์ และประกาศความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เป็นส่วนมรดกของพระองค์c (3K)วันเหล่านี้ คือวันที่สิบสี่และสิบห้าของเดือนอาดาร์เป็นวันฉลองที่ชาวอิสราเอลทุกคนจะมาชุมนุมด้วยความยินดีและความสุขเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป”

 

หมายเหตุท้ายคำแปลฉบับภาษากรีก d

(3L)ปีที่สี่ในรัชสมัยของกษัตริย์โทเลมีและพระราชินีเคลโอพัตรา โดสิเทอัสซึ่งอ้างว่าเป็นสมณะชาวเลวี พร้อมกับโทเลมีบุตรชาย นำจดหมายฉบับนี้เรื่องวันฉลอง “ปูริม” เข้ามาในอียิปต์ เขาทั้งสองคนรับรองว่าจดหมายนี้เป็นฉบับแปลตรงกับต้นฉบับ ลีซิมาคัสบุตรของโทเลมีชาวกรุงเยรูซาเล็มเป็นผู้แปล

 

10 a “รวมทั้ง...โมรเดคัย” ต้นฉบับภาษากรีกละข้อความนี้

b ต้นฉบับภาษาฮีบรูของหนังสือเอสเธอร์จบตรงนี้ ข้อความต่อไปแปลจากต้นฉบับภาษากรีก ซึ่งเน้นบทบาทของโมรเดคัยมากจนน่าจะเรียกหนังสือฉบับนี้ว่า “หนังสือโมรเดคัย” แทนที่จะเรียกว่า “หนังสือเอสเธอร์” (ดู 9:4) พระเจ้าทรงดลใจเขาให้จัดการทุกอย่าง เขาเป็นผู้สมจะได้ชื่อว่า “ชาวยิว” เช่นเดียวกับนางยูดิธซึ่งเป็นหญิงสมกับชื่อ “หญิงชาวยิว” วันฉลอง “ปูริม” แต่ก่อนยังได้ชื่อว่า “วันของโมรเดคัย” (ดู 2 มคบ 15:36)

c ต้นฉบับภาษากรีกฉบับคัดลอกของลูเซียนเสริมคำภาวนาขอบพระคุณสั้นๆ ว่า “ประชาชนทุกคนร้องตะโกนเสียงดังว่า ‘ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอพระองค์ทรงได้รับพระพร เพราะพระองค์ทรงระลึกถึงพันธสัญญาที่ทรงกระทำไว้กับบรรพบุรุษของข้าพเจ้าทั้งหลาย อาเมน’”

d จากหมายเหตุนี้เรารู้ว่าชาวยิวในอียิปต์ได้รับหนังสือเอสเธอร์จากชาวยิวในปาเลสไตน์ (ดู 2 มคบ 2:14-15) กษัตริย์โทเลมีในข้อนี้คงจะเป็นกษัตริย์โทเลมีที่ 8 ซึ่งมีพระนางเคลโอพัตราเป็นมเหสี ปีที่ 4 ในรัชกาลนี้จึงตรงกับปี 114 ก่อน ค.ศ.

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก