“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

III. การกลับคืนชีพของผู้ตายa

ข้อเท็จจริงเรื่องการกลับคืนชีพ

15 1พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอเตือนท่านให้คำนึงถึงข่าวดีที่ข้าพเจ้าประกาศแก่ท่าน ท่านได้รับไว้แล้วและยังคงเชื่อมั่นในข่าวดีนี้ 2ท่านกำลังรับความรอดพ้นอาศัยข่าวดีนี้ ถ้าท่านยังยึดมั่นตามที่ข้าพเจ้าประกาศ แต่ถ้าท่านไม่ยึดมั่น ความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์ 3ข้าพเจ้ามอบธรรมประเพณีสำคัญที่สุดให้ท่าน เป็นธรรมประเพณีที่ข้าพเจ้าได้รับมาอีกทอดหนึ่งb คือพระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราc ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ 4และทรงถูกฝังไว้ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์d 5และทรงแสดงพระองค์แก่เคฟาส แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน 6หลังจากนั้นทรงแสดงพระองค์แก่พี่น้องมากกว่าห้าร้อยคนในคราวเดียว คนส่วนมากในจำนวนนี้ยังมีชีวิตอยู่e แม้ว่าบางคนล่วงหลับไปแล้วf 7ต่อมาพระองค์ทรงแสดงพระองค์แก่ยากอบ แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกทุกคนg 8ในที่สุด ทรงแสดงพระองค์แก่ข้าพเจ้า ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนดhด้วย

9ข้าพเจ้าเป็นผู้น้อยที่สุดในบรรดาอัครสาวก และไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นอัครสาวก เพราะข้าพเจ้าเคยเบียดเบียนพระศาสนจักรของพระเจ้า 10แต่ข้าพเจ้าเป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้ด้วยเดชะพระหรรษทานของพระเจ้า และพระหรรษทานของพระองค์ที่ประทานแก่ข้าพเจ้าไม่ไร้ประโยชน์ ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าทำงานหนักกว่าคนอื่น แต่มิใช่ข้าพเจ้า เป็นเพราะพระหรรษทานของพระเจ้าซึ่งอยู่กับข้าพเจ้าที่ทำงาน 11ดังนั้น ทั้งข้าพเจ้าและเขาเหล่านั้นเทศน์สอนเช่นนี้ ท่านทั้งหลายก็เชื่อเช่นนี้ด้วย

12ถ้าเราประกาศว่า พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว เพราะเหตุใดบางท่านจึงพูดว่าบรรดาผู้ตายจะไม่กลับคืนชีพ 13ถ้าผู้ตายไม่กลับคืนชีพ พระคริสตเจ้าก็มิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพด้วยเช่นเดียวกันi 14ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์j และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน 15ยิ่งกว่านั้น เรากลายเป็นพยานเท็จถึงพระเจ้า เพราะเรายืนยันว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้ากลับคืนพระชนมชีพ ซึ่งพระองค์มิได้ทรงกระทำ ถ้าบรรดาผู้ตายไม่กลับคืนชีพ

16ถ้าผู้ตายไม่กลับคืนชีพ พระคริสตเจ้าก็มิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพด้วย 17ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ความเชื่อของท่านก็ไร้ความหมายและท่านก็ยังคงอยู่ในบาปk 18เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ล่วงหลับไปในพระคริสตเจ้าก็พินาศไปด้วย 19ถ้าเรามีความหวังในพระคริสตเจ้าlเพียงเพื่อชีวิตนี้เท่านั้น เราก็เป็นมนุษย์ที่น่าสงสารที่สุด

20ความจริง พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เป็นผลแรกของบรรดาผู้ล่วงหลับไปแล้ว 21ความตายมาจากมนุษย์คนหนึ่งฉันใด การกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตายก็มาจากมนุษย์คนหนึ่งฉันนั้น 22มนุษย์ทุกคนตายเพราะอาดัมฉันใด มนุษย์ทุกคนก็จะกลับมีชีวิตเพราะพระคริสตเจ้าฉันนั้นm 23แต่จะเป็นไปตามลำดับของแต่ละคน พระคริสตเจ้าทรงเป็นผลแรก ต่อไปก็คือผู้ที่เป็นของพระคริสตเจ้าn เมื่อพระองค์จะเสด็จมาo 24แล้วจะถึงวาระสุดท้าย เวลานั้นพระองค์จะทรงมอบพระอาณาจักรให้แก่พระเจ้าพระบิดา หลังจากทรงทำลายการปกครอง อำนาจและอานุภาพทั้งหลายp 25เพราะพระคริสตเจ้าจะต้องทรงครองราชย์จนกว่าพระเจ้าจะทรงปราบศัตรูทั้งมวลให้อยู่ใต้พระบาทของพระองค์ 26ศัตรูสุดท้ายที่จะถูกทำลายคือความตาย เพราะพระเจ้าทรงปราบทุกสิ่งให้อยู่ใต้พระบาทของพระองค์ 27เมื่อพระคัมภีร์กล่าวว่าq ทุกสิ่งถูกปราบอยู่ใต้อำนาจ ก็เป็นที่แน่ชัดว่า “ทุกสิ่ง” ในที่นี้ มิได้รวมพระเจ้าผู้ทรงปราบทุกสิ่งให้อยู่ใต้อำนาจของพระคริสตเจ้า 28เมื่อทุกสิ่งถูกปราบอยู่ใต้อำนาจของพระคริสตเจ้าแล้ว พระบุตรก็จะทรงอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้า ผู้ทรงปราบทุกสิ่งให้อยู่ใต้อำนาจของพระองค์ เพื่อพระเจ้าจะได้ทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน

29บางท่านรับศีลล้างบาปเพื่อผู้ตายr ถ้าผู้ตายไม่กลับคืนชีพ จะมีประโยชน์ใดที่จะรับศีลล้างบาปเพื่อเขาเหล่านั้น 30ถ้าไม่มีการกลับคืนชีพ ทำไมเราจึงเสี่ยงอันตรายอยู่ตลอดเวลา 31พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าเสี่ยงชีวิตอยู่ทุกวันเช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าภูมิใจท่านในพระคริสตเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา 32ข้าพเจ้าจะได้สิ่งใด ถ้าข้าพเจ้าต่อสู้กับสัตว์ร้ายที่เมืองเอเฟซัสsเพื่อประโยชน์ในชีวิตนี้เท่านั้น ถ้าผู้ตายไม่กลับคืนชีพ เราก็จงกินและดื่มเถิด เพราะพรุ่งนี้เราก็จะตายแล้วt 33อย่าให้ผู้ใดหลอกลวงท่าน “การคบคนพาลทำให้เสียคน”u 34จงกลับมาดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง อย่าทำบาปอีก บางท่านดำเนินชีวิตโดยไม่รู้จักพระเจ้า ข้าพเจ้าพูดเช่นนี้ เพื่อให้ท่านมีความละอายใจ

สภาพร่างกายของผู้กลับคืนชีพ

35บางคนอาจถามว่า คนตายจะกลับคืนชีพได้อย่างไร เขาจะกลับมีร่างกายแบบใด 36ช่างโง่จริง เมล็ดที่ท่านหว่านลงไปนั้นจะมีชีวิตใหม่ได้อย่างไรถ้าไม่ตายเสียก่อน 37เมล็ดข้าวสาลีหรือเมล็ดพืชอย่างอื่นที่ท่านหว่านลงไปนั้นเป็นเพียงเมล็ดมิใช่ลำต้นที่จะงอกขึ้น 38พระเจ้าประทานลำต้นแบบต่างๆ ตามพระประสงค์vให้เมล็ด เมล็ดแต่ละชนิดจึงมีลำต้นตามชนิดของมัน

39ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่เหมือนกัน ธรรมชาติมนุษย์เป็นอย่างหนึ่ง ธรรมชาติสัตว์เป็นอีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาตินกเป็นอย่างหนึ่ง ธรรมชาติปลาเป็นอีกอย่างหนึ่ง 40มีวัตถุบนท้องฟ้าและวัตถุบนแผ่นดิน วัตถุบนท้องฟ้าและวัตถุบนแผ่นดินมีความสุกใสแตกต่างกัน 41ความสุกใสของดวงอาทิตย์เป็นแบบหนึ่ง ความสุกใสของดวงจันทร์เป็นอีกแบบหนึ่ง และความสุกใสของดวงดาวก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ดวงดาวทั้งหลายมีความสุกใสแตกต่างกัน 42การกลับคืนชีพของผู้ตายก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่หว่านลงไปนั้นเน่าเปื่อย แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อยอีก 43สิ่งที่หว่านลงไปนั้นไม่มีเกียรติ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นมีความรุ่งเรือง สิ่งที่หว่านลงไปนั้นอ่อนแอ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นมีอานุภาพ 44สิ่งที่หว่านลงไปเป็นร่างกายตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่กลับคืนชีพเป็นร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิตw

ถ้ามีร่างกายตามธรรมชาติ ก็มีร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิตด้วย 45ดังที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า อาดัมมนุษย์คนแรกถูกสร้างขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิตx อาดัมคนสุดท้ายเป็นจิตซึ่งประทานชีวิต 46สิ่งที่มาก่อนมิใช่กายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต แต่เป็นกายตามธรรมชาติ ภายหลังจึงเป็นกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต 47มนุษย์คนแรกมาจากดิน เป็นมนุษย์ดิน มนุษย์คนที่สองมาจากสวรรค์ 48มนุษย์ดินคนนั้นเป็นอย่างไร มนุษย์ดินคนอื่นๆ ก็เป็นอย่างนั้น มนุษย์สวรรค์คนนั้นเป็นอย่างไร มนุษย์สวรรค์คนอื่นๆ ก็เป็นอย่างนั้น 49เราเกิดมามีลักษณะเหมือนมนุษย์ดินฉันใด เราก็จะมีลักษณะเหมือนมนุษย์สวรรค์ฉันนั้นy

50พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอบอกว่า มนุษย์ตามธรรมชาติรับพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดกไม่ได้ สิ่งที่เน่าเปื่อยได้รับสภาพไม่เน่าเปื่อยเป็นมรดกไม่ได้ 51โปรดฟังเถิด ข้าพเจ้ามีธรรมล้ำลึกข้อหนึ่งจะบอกท่าน เราทุกคนจะไม่ตาย แต่เราทุกคนจะเปลี่ยนแปลง 52ทันทีทันใด ชั่วพริบตา เมื่อเป่าแตรครั้งสุดท้ายz เสียงแตรจะดังขึ้น แล้วผู้ตายจะกลับคืนชีพอย่างไม่เน่าเปื่อย และเราจะเปลี่ยนแปลงaa 53เพราะร่างกายที่เน่าเปื่อยได้นี้ จะต้องสวมใส่ความไม่เน่าเปื่อย และร่างกายที่ต้องตายนี้ จะต้องสวมใส่ความไม่รู้จักตาย

บทเพลงฉลองชัย

54เมื่อร่างกายที่เน่าเปื่อยนี้จะสวมใส่ความไม่เน่าเปื่อยbb และเมื่อร่างกายที่ต้องตายนี้จะสวมใส่ความไม่รู้จักตายแล้ว ก็จะเป็นจริงตามคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่าccความตายถูกชัยชนะกลืน 55ความตายเอ๋ย ชัยชนะของเจ้าอยู่ไหน ความตายเอ๋ย พิษของเจ้าอยู่ไหน56พิษของความตายคือบาป ธรรมบัญญัติคือddสิ่งแสดงฤทธิ์อำนาจของบาป 57ขอบพระคุณพระเจ้า ผู้ประทานชัยชนะให้เราเดชะพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

58พี่น้องที่รักทั้งหลาย จงมั่นคง อย่าหวั่นไหว จงออกแรงทำงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้มากยิ่งขึ้นเสมอ ท่านรู้อยู่แล้วว่า งานหนักของท่านไม่สูญเปล่าสำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้าee

 

15 a คริสตชนชาวโครินธ์บางคนปฏิเสธเรื่องการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย (ข้อ 12 ) ชาวกรีกคิดว่าการกลับคืนชีพเป็นความคิดทางวัตถุนิยมไม่คู่ควรกับจิตของมนุษย์ (กจ 17:32 เชิงอรรถ y) ชาวยิวเข้าใจความจริงข้อนี้ทีละเล็กทีละน้อย (โยบ 19:25 เชิงอรรถ g; สดด 16:10; อสค 37:10 เชิงอรรถ d ) ต่อมาในภายหลังได้สอนเรื่องนี้อย่างชัดเจน (2 มคบ 7:9 เชิงอรรถ c; ดนล 12:2,3 เชิงอรรถ c) เพื่อแก้ความเข้าใจผิดของชาวโครินธ์ เปาโลเริ่มต้นจากการยืนยันความจริงพื้นฐานของการประกาศข่าวดี คือ ธรรมล้ำลึกปัสกาเรื่องการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า (ข้อ 3-4 เทียบ รม 1:4; กท 1:2-4; 1 ธส 1:10) เปาโลได้ขยายความข่าวดีนี้ โดยพูดถึงการสำแดงพระองค์ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ (ข้อ 5-11 ดู กจ 1:8 เชิงอรรถ k) จากข้อเท็จจริงนี้ เปาโลชี้ให้เห็นว่าความคิดเห็นของชาวโครินธ์ไม่ถูกต้อง (ข้อ 12-34 ดู ข้อ 13 เชิงอรรถ i) พระคริสตเจ้าทรงเป็นผลแรกและเป็นเหตุที่บันดาลให้บรรดาผู้ตายกลับคืนชีพ (ข้อ 20-28 ดู รม 8:11 เชิงอรรถ g) ในที่สุด เปาโลได้ตอบข้อโต้แย้งเกี่ยวกับวิธีการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย (ข้อ 35-53) และจบลงด้วยบทเพลงขอบพระคุณ (ข้อ 54-57)

b สำนวน “รับมา” “รักษาไว้” “มอบต่อมา…” “สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับการสั่งสอนมา” เป็นสำนวนของรับบีที่เปาโลนำมาใช้ (เทียบ 11:23) แต่ข่าวดีมิใช่เป็นเพียงคำสอนที่ได้รับมอบมาและส่งต่อไปเหมือนกับธรรมประเพณีของพวกรับบีเท่านั้น แต่เป็นข่าวดีที่ต้องประกาศ (1-2) (ข้อ 11 เทียบ มธ 4:23; ฯลฯ) เป็นความจริงที่ต้องเชื่อ (1 คร 15:2, 11 เทียบ มก 1:15) เป็นข่าวที่นำความรอดพ้น (1 คร 15:2; เทียบ กจ 11:14; 16:17) คำศัพท์และลีลาการเขียนในข้อต่อๆ ไปไม่ใช่ของเปาโล ทำให้คิดว่าเปาโลยกข้อความเหล่านี้มาจากธรรมประเพณีโบราณของพระศาสนจักร เรื่องการสำแดงพระองค์ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพเป็นสูตรที่คริสตชนใหม่ต้องเรียนรู้ (เทียบ 11:23 เชิงอรรถ d)

c คำสอนที่ว่าการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นการชดเชยบาปของมนุษยชาติ เป็นการประกาศข่าวดีก่อนที่เปาโลจะกลับใจเสียด้วย (เทียบ รม 6:3)

d ข้อความทั้งสามประโยคนี้ดูเหมือนว่าเป็นสูตรตายตัวแล้วในสมัยของเปาโล ต่อมาในภายหลังจะเป็นส่วนหนึ่งของ “บทข้าพเจ้าเชื่อ

e เปาโลชี้ให้เห็นว่าคนเหล่านี้เป็นพยานยืนยันสิ่งที่เขาได้เห็น ดังนั้น ความเชื่อในการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าจึงมีหลักฐานแน่นอน

f “ล่วงหลับ” ความเชื่อของคริสตชนถือว่า ความตายเป็นการหลับพักผ่อนในพระคริสตเจ้า เปาโลใช้สำนวนนี้บ่อยๆ (ข้อ 18, 20, 51; 1 ธส 4:13 เชิงอรรถ g)

g “อัครสาวกทุกคน” ในที่นี้หมายถึงกลุ่มที่ใหญ่กว่ากลุ่มของอัครสาวกสิบสององค์ในข้อ 5

h เป็นการกล่าวพาดพิงถึงการที่เปาโลเข้าเป็นสมาชิกในคณะอัครสาวกโดยวิธีไม่ธรรมดาอย่างกระทันหัน เปาโลไม่เห็นว่าการสำแดงพระองค์ของพระคริสตเจ้าแก่ตนขณะที่เดินทางไปสู่เมืองดามัสกัส มีความแตกต่างจากการสำแดงพระองค์ในช่วงเวลาระหว่างการกลับคืนพระชนมชีพกับการเสด็จสู่สวรรค์ของพระองค์

i การไม่ยอมรับว่าผู้ตายจะกลับคืนชีพ หมายความว่าการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นกรณีพิเศษก็เป็นไปไม่ได้ด้วย หรืออีกนัยหนึ่งการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าไร้ความหมาย ถ้าไม่ใช่กรณีแรกของการกลับคืนชีพของมนุษย์ทั่วไป แต่ความคิดนี้จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่ในข้อ 20

j คำสอนและความเชื่อของคริสตชนจะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพเท่านั้น ถ้าเหตุการณ์นี้ไม่มีจริง ทุกสิ่งทุกอย่างก็หมดความหมายโดยสิ้นเชิง

k สิ่งที่ทำให้บาปหายไป คือ ชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นการร่วมชีวิตกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ (ดู รม 6:8-10; 8:2 เชิงอรรถ b)

l หรือ “ถ้าเรามีเพียงความหวังในพระคริสตเจ้าในชีวิตนี้เท่านั้น”

m ชาวยิวร่วมสมัยกับเปาโลพูดถึงอาดัมสองคน คนแรกเป็นอาดัมตามอุดมการณ์ในสวรรค์ คนที่สองเป็นอาดัมในโลกตามประวัติศาสตร์ที่ทำบาป เปาโลได้คิดกลับกัน อาดัมตามประวัติศาสตร์มาก่อน ส่วนพระคริสตเจ้าผู้เริ่มต้นมนุษยชาติใหม่เป็นอาดัมที่มาภายหลัง เป็นอาดัมซึ่งมาจากสวรรค์ตามอุดมการณ์ พระองค์ทรงบันดาลให้อาดัมตามอุดมการณ์เป็นจริงโดยสมบูรณ์ (ดู รม 5:12 เชิงอรรถ f, h; ฟป 2:6 เชิงอรรถ d)

n “ผู้ที่เป็นของพระคริสตเจ้า” ในที่นี้ เปาโลพูดถึงเฉพาะแต่การกลับคืนชีพของผู้มีความเชื่อเท่านั้น ไม่รวมถึงการกลับคืนชีพของคนบาปที่จะต้องพินาศ ไม่เหมือนกับใน ยน 5:29; กจ 24:15 เทียบ ดนล 12:2

o การเสด็จมา (parousia) คำกรีกที่คริสตชนนำมาใช้ เพื่อหมายถึงการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าใน “วัน” ของพระองค์ (1:8 เชิงอรรถ e) ในวาระสุดท้าย (มธ 24:3 เชิงอรรถ b; ดู 1 ธส 2:19; 3:13; 4:15; 5:23; 2 ธส 2:1; ยก 5:7, 8; 2 ปต 1:16; 3:4,12; 1 ยน 2:28) ใน 2 ธส 2:8, 9 คำเดียวกันถูกนำมาใช้เพื่อหมายถึงการปรากฏมาของมนุษย์ชั่วร้าย ยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียง เช่น “การเปิดเผย” (1 คร 1:7 เชิงอรรถ c) และ “การปรากฏองค์” (1 ทธ 6:14 เชิงอรรถ f)

 

p หมายถึง อำนาจทั้งสิ้นที่เป็นศัตรูกับพระเดชานุภาพของพระเจ้า (2:6; อฟ 1:21; คส 1:16; 2:15; 1 ปต 3:22)

q เมื่อจักรวาลทั้งหมดอยู่ใต้อำนาจพระคริสตเจ้าแล้ว พระองค์จะตรัสกับพระบิดาว่างานของพระองค์นั้นสำเร็จแล้ว

r เราไม่รู้ว่าการรับศีลล้างบาปสำหรับผู้ตายนั้นคืออะไร ในที่นี้ เปาโลมิได้สนับสนุนหรือห้าม ท่านเพียงแต่พูดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลถ้าผู้ตายไม่กลับคืนชีพ

s สัตว์ร้ายนี้อาจเป็นการเปรียบเทียบ เราไม่รู้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับการต่อสู้ครั้งนี้ แต่ดู 2 คร 11:23-26

t เทียบ ปญจ 9:7-10 เป็นไปได้ที่จะสละความสุขทางประสาทเพื่อผลประโยชน์ในชีวิตปัจจุบันเท่านั้น เปาโลเองได้แสดงความคิดเช่นนี้ใน 9:25

u อ้างอิงจากบทประพันธ์ของ Menander เรื่อง Thais ข้อความนี้อาจเป็นคำพังเพยที่คุ้นเคยในสมัยของเปาโล

v คนโบราณทั่วไปมักจะคิดว่าการงอกของเมล็ดพืชเป็นกระบวนการที่ขึ้นกับพระประสงค์ดีของเทพเจ้ามากกว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ (เทียบ 2 มคบ 7:22-23) เปาโลเน้นความแตกต่างระหว่างร่างกายในปัจจุบันกับร่างกายที่จะกลับคืนชีพมากกว่าความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เปาโลต้องการตอบข้อโต้แย้งของบางคน (ข้อ 35 ) ที่ไม่ยอมรับว่าผู้ตายจะกลับคืนชีพโดยมีร่างกายเดิมดังที่ประกาศกเอเสเคียลพูดไว้ใน อสค 37:1-10, 10 เชิงอรรถ d

w ในข้อเขียนของเปาโลและในพันธสัญญาเดิม psyche (ภาษาฮีบรู nephesh เทียบ ปฐก 2:7) เป็นสิ่งที่ให้ชีวิตแก่สัตว์ แก่ร่างกายมนุษย์ (1 คร 15:45) หรือเป็น “ชีวิต” ของร่างกาย (รม 16:4; ฟป 2:30; 1 ธส 2:8; เทียบ มธ 2:20; มก 3:4; ลก 12:20; ยน 10:11; กจ 20:10; ฯลฯ) เป็น “วิญญาณที่ให้ชีวิต” แก่ร่างกาย (2 คร 1:23) คำนี้อาจหมายถึง “มนุษย์” ทั่วๆ ไป (รม 2:9; 13:1; 2 คร 12:15; ฯลฯ) เนื่องจากว่า psyche” ให้เพียงชีวิตตามธรรมชาติ (2:14; เทียบ ยด 19) จึงมีความสำคัญน้อยกว่า pneuma ซึ่งให้ชีวิตพระแก่มนุษย์ ชีวิตพระนี้เป็นกระบวนการที่เริ่มต้นจากพระพรของพระจิตเจ้า (รม 5:5 เชิงอรรถ e ดู รม 1:9 เชิงอรรถ e ) และจะสมบูรณ์หลังจากความตาย นักปรัชญากรีกคิดถึงวิญญาณที่สูงกว่าคือ nous ซึ่งหนีจาก “ร่างกาย” เพื่อจะได้ดำรงอยู่โดยไม่รู้จักตาย คริสตชนคิดว่าความไม่รู้จักตายเป็นการรื้อฟื้นมนุษย์ทั้งร่างกายและวิญญาณ โดยให้ร่างกายกลับคืนชีพเดชะพระจิตเจ้าซึ่งเป็นของประทาน ร่างกายที่พระเจ้าทรงเอาคืนไปเมื่อมนุษย์ทำบาป (ปฐก 6:3) แต่ได้ประทานให้แก่ทุกคนที่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ (รม 1:4 เชิงอรรถ c; 8:11) พระคริสตเจ้าทรงเป็นมนุษย์ "จากสวรรค์" และจิตที่ประทานชีวิต (1 คร 15:45-49) “ร่างกาย” จึงไม่เป็นเพียง psychikon หรือ “ตามธรรมชาติ” อีกต่อไป แต่จะเป็น pneumatikon” หรือ “มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” ร่างกายเช่นนี้ไม่เปื่อยเน่า ไม่เสื่อมสลาย ไม่รู้จักตาย (ข้อ 53) แต่มีความรุ่งเรือง (ข้อ 43) เทียบ รม 8:18; 2 คร 4:17; ฟป 3:21; คส 3:4) ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎของสสาร (ยน 20:19, 26) ไม่มีลักษณะเป็นสสารอีกต่อไป (ลก 24:16) Psyche อาจนำมาใช้ในความหมายที่กว้างกว่าโดยหมายถึงบุคคล ซึ่งเป็นผู้กระทำและมีความรู้สึก (อฟ 6:6; ฟป 1:27; คส 3:23; ดู มธ 22:37//; 26:38//; ลก 1:46; ยน 12:27; กจ 4:32; 1 ปต 2:11; ฯลฯ) บางครั้ง psyche ยังหมายถึงวิญญาณที่เป็นจิต และไม่รู้จักตายได้ด้วย (มธ 10:28, 39//; กจ 2:27; ยก 1:21; 5:20; 1 ปต 1:9; วว 6:9; ฯลฯ)

x เพราะมี psyche ซึ่งให้ชีวิตตามธรรมชาติเท่านั้น ชีวิตตามธรรมชาตินี้จะต้องเปื่อยเน่าเสื่อมสลาย

y บางฉบับว่า “เราจงมีภาพลักษณ์”

z ตั้งแต่สมัยอพยพ เมื่อชาวอิสราเอลอยู่ที่ภูเขาซีนาย (อพย 19:16, 19) เสียงแตรเป็นสัญลักษณ์ประการหนึ่งแสดงถึงการเสด็จมาของพระเจ้า (มธ 24:31; 1 ธส 4:16 เชิงอรรถ j) เสียงแตรจะเป็นการบอกขั้นตอนต่างๆ ของแผนการของพระเจ้าเรื่องวาระสุดท้าย เทียบ แตรเจ็ดคันใน วว 8:6-11:19

aa หมายถึง ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ ซึ่งอาจจะมีเปาโลรวมอยู่ด้วย (ดู 1 ธส 5:1 เชิงอรรถ a)

bb สำเนาบางฉบับไม่มีข้อความว่า “เมื่อร่างกายที่เน่าเปื่อยนี้จะสวมใส่ความไม่เน่าเปื่อย”

cc เป็นการอ้างตามความหมาย ไม่ใช่อ้างตรงตามตัวอักษร

dd เปาโลได้ขยายความคิดรวบยอดของประโยคนี้ ใน รม 5-7

ee ข้อนี้เป็นการจบคำสั่งสอนซึ่งเริ่มต้นในข้อ 14 ผู้มีความเชื่อมีพลังจะก้าวหน้าในชีวิตเพราะมีความมั่นใจว่าจะได้ชัยชนะ เปาโลคิดว่าความเชื่อจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีความก้าวหน้าในชีวิต

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก