“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

IV. ประมวลกฎหมายเรื่องความศักดิ์สิทธิ์a

 

การฆ่าสัตว์เพื่อถวายบูชา

17 1พระยาห์เวห์ตรัสสั่งโมเสส

          2ให้บอกอาโรน บรรดาบุตร และชาวอิสราเอลทั้งหลายว่า

          พระยาห์เวห์ทรงบัญชาดังต่อไปนี้

          3“ถ้าชาวอิสราเอลผู้ใดต้องการฆ่าโค แกะหรือแพะ ไม่ว่าในหรือนอกค่าย 4เขาจะต้องจูงสัตว์มาที่ทางเข้ากระโจมนัดพบ เพื่อถวายแด่พระยาห์เวห์เบื้องหน้าที่ประทับของพระองค์ มิฉะนั้น เขาจะมีความผิดฐานทำให้โลหิตตกb คือเขาได้ทำให้โลหิตตกอย่างไม่ถูกต้อง จึงต้องถูกขับไล่ออกจากประชากร 5ข้อกำหนดนี้สั่งชาวอิสราเอลมิให้ฆ่าสัตว์ที่จะเป็นเครื่องบูชาในทุ่งนาอย่างที่เคยทำมาแต่ก่อน แต่จะต้องนำสัตว์นั้นมามอบให้สมณะที่ทางเข้ากระโจมนัดพบ เพื่อถวายเป็นศานติบูชาแด่พระยาห์เวห์ 6สมณะจะเอาเลือดประพรมพระแท่นบูชาของพระยาห์เวห์ที่ทางเข้ากระโจมนัดพบ และจะเผาไขมันของสัตว์มีกลิ่นหอมเป็นที่พอพระทัยพระยาห์เวห์ 7ประชากรอิสราเอลจะต้องไม่ถวายเครื่องบูชาแด่รูปเคารพร่างแพะc ซึ่งครั้งหนึ่งเขาทั้งหลายเคยนมัสการเหมือนหญิงแพศยาขายตัวd นี่เป็นข้อกำหนดสำหรับเขาทั้งหลายและลูกหลานตลอดไป”

          8ท่านจะต้องบอกเขาทั้งหลายอีกว่า “ถ้าชาวอิสราเอลคนใดหรือคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่กับเขา ถวายเครื่องเผาบูชาหรือเครื่องบูชาอื่นๆ 9เขาจะต้องจูงสัตว์ที่จะถวายบูชามาที่ทางเข้ากระโจมนัดพบเพื่อถวายแด่พระยาห์เวห์ มิฉะนั้นเขาจะต้องถูกขับไล่ออกจากประชากรของตน”

          10“ถ้าชาวอิสราเอลคนใดหรือคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่กับเขากินเนื้อที่ยังมีเลือดสดๆ ติดอยู่ เราจะเมินหน้าไปจากเขาและจะขับไล่เขาออกจากประชากรของเขา 11เพราะชีวิตของสัตว์อยู่ในเลือด และเรายอมให้ท่านพรมเลือดบนพระแท่นเป็นพิธีชดเชยยบาปเพื่อให้ท่านมีชีวิตe เพราะเลือดเป็นชีวิต ทำให้ท่านชดเชยบาปได้ 12ดังนั้น เราจึงบอกชาวอิสราเอลว่า อย่าให้ท่านคนใดรวมทั้งคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่กับท่านกินเนื้อที่ยังมีเลือดสดๆ ติดอยู่”

          13“ถ้าชาวอิสราเอลคนใดหรือคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่กับเขาไปล่าสัตว์ และจับสัตว์หรือนกที่กินได้ เขาจะปล่อยให้เลือดไหลลงบนพื้นดินจนหมด และเอาดินกลบไว้ 14เพราะชีวิตของสัตว์อยู่ในเลือด เราจึงบอกชาวอิสราเอลว่า ท่านทั้งหลายต้องไม่กินเนื้อที่ยังมีเลือดสดๆ ติดอยู่ เพราะชีวิตของสัตว์อยู่ในเลือด และผู้ที่กินเนื้อที่ยังมีเลือดสดๆ ติดอยู่จะต้องถูกขับไล่”

          15“ผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าชาวอิสราเอลหรือคนต่างด้าว ซึ่งกินเนื้อสัตว์ที่ตายตามธรรมชาติหรือถูกสัตว์ร้ายกัดตาย จะต้องซักเสื้อผ้าที่สวมอยู่และอาบน้ำ เขาจะมีมลทินจนถึงเวลาเย็น แล้วจึงจะพ้นมลทิน 16ถ้าเขาไม่ซักเสื้อผ้าและอาบน้ำ เขาจะต้องได้รับโทษเพราะความผิดนั้น”

 

17 a “ประมวลกฎหมายเรื่องความศักดิ์สิทธิ์” ในบทที่ 17-26 ส่วนใหญ่มาจากตำนานสงฆ์ ดูเหมือนจะเรียบเรียงขึ้นในสำนวนที่เรามีในปัจจุบันนี้ตั้งแต่ปลายสมัยมีกษัตริย์ปกครองและสะท้อนธรรมเนียมปฏิบัติกันในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ข้อกำหนดเหล่านี้มีความละม้ายคล้ายกับความคิดในหนังสือของประกาศกเอเสเคียล ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผลงานของขบวนการสงฆ์ก่อนเนรเทศ “ความศักดิ์สิทธิ์” เป็นคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของพระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งอิสราเอล (ดู 11:44-45; 19:2; 20:7, 26; 21:8; 22:32ฯ) ความหมายดั้งเดิมของ “ความศักดิ์สิทธิ์” คือ การที่พระเจ้าทรงอยู่ต่างหากแยกจากโลก มนุษย์เข้าถึงพระองค์ไม่ได้ พระองค์ทรงอยู่เหนือสิ่งสร้างทั้งมวล (โลกุตร) ทำให้มนุษย์รู้สึกหวั่นเกรง (อพย 33:20 เชิงอรรถ i) พระเจ้าทรงถ่ายทอดความศักดิ์สิทธิ์แก่ทุกคนและทุกสิ่งที่เข้ามาอยู่ใกล้พระองค์ หรือมอบถวายแด่พระองค์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ (อพย 19:12 เชิงอรรถ e) เทศกาล (อพย 16:23; ลนต 23:4) หีบพันธสัญญา (2 ซมอ 6:7 เชิงอรรถ f) ประชากรอิสราเอล (อพย 19:3 เชิงอรรถ c, 6) โดยเฉพาะบรรดาสมณะ (ลนต 21:6) สิ่งของต่างๆ (อพย 30:29; กดว 18:9 ฯลฯ) เรายังเข้าใจความศักดิ์สิทธิ์นี้ในความสัมพันธ์กับคารวกิจด้วย ความคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์จึงละม้ายคล้ายกับความคิดเรื่อง “ความไม่มีมลทิน” เพื่อร่วมศาสนพิธี เพราะฉะนั้น “ประมวลกฎหมายเรื่องความศักดิ์สิทธิ์” จึงเป็น “ประมวลกฎหมายเรื่องสิ่งที่มีมลทินและไม่มีมลทิน” อีกด้วย แต่พระเจ้าแห่งอิสราเอลทรงเรียกร้องให้มนุษย์ประพฤติตามหลักศีลธรรม เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์จึงได้รับความหมายเพิ่มเติม คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่มีมลทินไม่ให้เข้าร่วมศาสนพิธีกลายเป็นการละเว้นไม่ทำบาป และการไม่มีมลทินเข้าร่วมศาสนพิธีได้ก็พัฒนามาเป็นการไม่มีมลทินในมโนธรรม (ดู นิมิตเริ่มภารกิจของประกาศกอิสยาห์ อสย 6:3 เชิงอรรถ g; ดู เชิงอรรถ ลนต 1:1 และ 11:1)

b ดู 1:5 เชิงอรรถ c ข้อความนี้เป็นการนำข้อกำหนดที่จะบังคับใช้ในภายหลังตาม ฉธบ 12:1-12 ที่ให้มีสักการสถานเพียงแห่งเดียวมาเป็นข้อกำหนดในสมัยอพยพ สัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชาจะต้องฆ่าเพียงแห่งเดียวที่ทางเข้ากระโจมนัดพบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดนี้ยังไม่คำนึงถึงการฆ่าสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารตามธรรมดา แยกจากการฆ่าสัตว์ที่ใช้ในศาสนพิธี (ฉธบ 12:15-16) ข้อกำหนดนี้จึงเป็นการรักษาประเพณีโบราณไว้ (17:12; 19:26; 1 ซมอ 14:32ฯ; กจ 15:29)

c คำภาษาฮีบรูแปลว่า “มีขน” หมายถึง “แพะ” (ดู ลนต 16) และยังหมายถึงปีศาจชนิดหนึ่งซึ่งคิดกันว่าอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารและตามสิ่งปรักหักพัง (อสย 13:21; 34:14) ชาวอิสราเอลคิดว่าอาซาเซลเป็นปีศาจจำพวกนี้ (16:8 เชิงอรรถ b) ในที่นี้ และใน 2 พศด 11:15 คำนี้ถูกนำมาใช้เรียกพระเท็จเทียมอย่างประชดประชัน

d การที่ชาวอิสราเอลไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์ไปนับถือพระเท็จเทียม เปรียบได้กับหญิงแพศยาที่ขายตัว (ดู ฮชย 1-3; 1:2 เชิงอรรถ b)

e เป็นคำแปลแบบคาดคะเน เพราะต้นฉบับภาษาฮีบรูคลุมเครือ

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก