“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

ง. นครเยรูซาเล็มในอนาคต

นครเยรูซาเล็มในสวรรค์a

21 1แล้วข้าพเจ้าเห็นฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่b เพราะฟ้าและแผ่นดินเดิมสูญหายไป ไม่มีทะเลcอีกต่อไป 2ข้าพเจ้าเห็นนครศักดิ์สิทธิ์ คือนครเยรูซาเล็มใหม่ลงมาจากสวรรค์ ลงมาจากพระเจ้า เตรียมพร้อมเหมือนกับเจ้าสาวที่แต่งตัวรอเจ้าบ่าวd 3ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังจากพระบัลลังก์ว่า “นี่คือที่พำนักของพระเจ้าในหมู่มนุษย์ พระองค์จะทรงพำนักอยู่ในหมู่เขา เขาจะเป็นประชากรของพระองค์ และพระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าของเขา ทรงเป็น “พระเจ้าสถิตกับเขาe 4พระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากนัยน์ตาของเขา จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการไว้ทุกข์ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป เพราะโลกเดิมผ่านพ้นไปแล้ว

5พระองค์ผู้ประทับบนพระบัลลังก์ตรัสว่า “ดูซิ เราทำทุกสิ่งขึ้นใหม่ และทรงเสริมว่า จงบันทึกลงไปว่า ‘ถ้อยคำเหล่านี้สัตย์จริงและน่าเชื่อถือ’ 6แล้วพระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าอีกว่า ‘สำเร็จแล้ว เราคืออัลฟาและโอเมก้า เป็นปฐมเหตุและอวสาน ผู้ใดกระหายf เราจะให้ผู้นั้นดื่มจากธารน้ำแห่งชีวิตโดยไม่คิดราคา’ 7ผู้ใดมีชัยชนะจะได้รับสิ่งเหล่านี้เป็นมรดก และเราจะเป็นพระเจ้าของเขา เขาจะเป็นบุตรของเราg 8ส่วนคนขลาด คนไม่มีความเชื่อ คนที่ประพฤติเสื่อมทราม ฆาตกร คนล่วงประเวณี คนใช้เวทมนตร์คาถา คนกราบไหว้รูปเคารพ และคนพูดเท็จทั้งหลาย มรดกของเขาอยู่ในทะเลที่ลุกเป็นไฟ มีกำมะถันเป็นเชื้อเพลิง นี่คือความตายครั้งที่สอง”h

นครเยรูซาเล็มของพระเมสสิยาห์i

9ทูตสวรรค์องค์หนึ่งในเจ็ดองค์ซึ่งถือขันเจ็ดใบบรรจุภัยพิบัติสุดท้ายทั้งเจ็ดประการมาและกล่าวกับข้าพเจ้าว่า “มาเถิด ข้าพเจ้าจะให้ดูสตรีที่เป็นเจ้าสาวของลูกแกะ” 10ทูตสวรรค์นำข้าพเจ้าเดชะพระจิตเจ้าไปบนภูเขาสูงใหญ่ลูกหนึ่ง ชี้ให้ข้าพเจ้าเห็นกรุงเยรูซาเล็มนครศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งกำลังลงมาจากสวรรค์ มาจากพระเจ้า 11นครนี้มีพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า มีความสุกใสเหมือนเพชรพลอยล้ำค่า คล้ายแก้วมณีโชติช่วงเป็นผลึกสดใส 12มีกำแพงสูงใหญ่ ประตูสิบสองประตู แต่ละประตูมีทูตสวรรค์ประจำอยู่และมีชื่อจารึกไว้ คือชื่อตระกูลอิสราเอลสิบสองตระกูล 13ทางทิศตะวันออกมีสามประตู ทางทิศเหนือมีสามประตู ทางทิศใต้มีสามประตูและทางทิศตะวันตกมีสามประตู 14กำแพงเมืองตั้งอยู่บนฐานศิลาสิบสองฐาน บนฐานศิลานั้นมีชื่อของบรรดาอัครสาวกทั้งสิบสององค์ของลูกแกะj

15ทูตสวรรค์ที่พูดกับข้าพเจ้าถือไม้รังวัดทองคำเพื่อจะใช้วัดนคร ประตูและกำแพง 16นครนี้มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวเท่ากันk ทูตสวรรค์ใช้ไม้วัดนครได้หนึ่งหมื่นสองพันสตาดีอาl กว้างยาวและสูงเท่ากัน 17ทูตสวรรค์วัดกำแพงได้หนึ่งร้อยสี่สิบสี่ศอก ตามมาตราวัดของมนุษย์ที่ทูตสวรรค์ใช้ 18กำแพงนี้สร้างด้วยแก้วมณีและนครนี้เป็นทองคำบริสุทธิ์เหมือนแก้วผลึกสุกใส 19ฐานของกำแพงประดับด้วยรัตนชาติมีค่าทุกชนิดm ฐานที่หนึ่งเป็นเพชร ฐานที่สองเป็นไพลิน ฐานที่สามเป็นรัตนชาติสีคราม ฐานที่สี่เป็นมรกต 20ฐานที่ห้าเป็นโกเมน ฐานที่หกเป็นทับทิม ฐานที่เจ็ดเป็นไพฑูรย์ ฐานที่แปดเป็นเพทาย ฐานที่เก้าเป็นบุษราคัม ฐานที่สิบเป็นหยก ฐานที่สิบเอ็ดเป็นนิล และฐานที่สิบสองเป็นพลอยสีม่วง 21ประตูทั้งสิบสองประตูเป็นไข่มุกสิบสองเม็ด แต่ละประตูเป็นไข่มุกเม็ดเดียว ลานเมืองเป็นทองคำบริสุทธิ์ สุกใสเหมือนแก้ว 22ข้าพเจ้าไม่เห็นพระวิหารใดในนครนี้n เพราะพระเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพและลูกแกะทรงเป็นพระวิหารของนครนี้ 23นครนี้ไม่ต้องการดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์เพื่อส่องสว่าง เพราะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าส่องแสงเหนือนคร และลูกแกะทรงเป็นตะเกียงของนคร 24นานาชาติจะดำเนินในแสงสว่างของนคร บรรดากษัตริย์ของแผ่นดินจะนำความรุ่งเรืองของตนมาสู่นครนี้ 25ประตูของนครจะไม่ปิดในเวลากลางวัน และจะไม่มีกลางคืนในนครนี้อีกเลยo 26นานาชาติจะนำความรุ่งโรจน์และเกียรติมาสู่นครนี้ 27สิ่งที่เป็นมลทินหรือผู้ที่มีความประพฤติน่ารังเกียจหรือผู้พูดเท็จจะเข้าในนครนี้ไม่ได้ จะเข้าไปได้ก็เฉพาะผู้มีชื่อบันทึกไว้ในหนังสือแห่งชีวิตของลูกแกะเท่านั้น

 

21 a นครเยรูซาเล็ม นครของบรรดาผู้เลือกสรร เป็นของประทานจากพระเจ้าต่างกับนครบาบิโลน (บทที่ 17) อย่างสิ้นเชิง ยน บรรยายถึงนครนี้โดยกล่าวถึงลักษณะความเป็นจริงในสวรรค์ เช่นเดียวกับใน 7:15-17; - บทที่ 21 นี้เริ่มโดยใช้ข้อความจาก อสย (โดยเฉพาะบทที่ 51 และ 65) นครเยรูซาเล็มเป็นราชธานีของกษัตริย์ดาวิด เป็นศูนย์กลางทั้งทางการเมืองและศาสนาของอิสราเอล (2 ซมอ 5:9 เชิงอรรถ f; 24:25; 1 พกษ 6:2; สดด 122) เป็นนครของพระเจ้า (สดด 46:4) เป็นนครศักดิ์สิทธิ์ (อสย 52:1; ดนล 9:24; มธ 4:5) หัวใจของนครนี้คือภูเขา (สดด 2:6 เชิงอรรถ b) อันเป็นที่ตั้งของพระวิหาร (ฉธบ 12:2-3 เชิงอรรถ b) ชาวอิสราเอลคิดว่านครนี้จะต้องเป็นราชธานีของประชากรของพระเมสสิยาห์ (สดด 87:1 เชิงอรรถ a; 122; อสย 2:1-5; 54:11 เชิงอรรถ d; 60; ยรม 3:17; ลก 2:38 เชิงอรรถ o) ที่นครเยรูซาเล็มนี้เองพระจิตเจ้าได้ทรงสถาปนาพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้าขึ้น (กจ 1:4,8 เชิงอรรถ j; 2; 8:1-4) ในข้อความตอนนี้นครเยรูซาเล็มถูกย้ายไปอยู่ในสวรรค์ที่แผนการไถ่กู้ของพระเจ้าจะสำเร็จเป็นจริง (3:12; 11:1; 20:9; 22:19; ดู กจ 2:22-24 เชิงอรรถ o; กท 4:26; ฟป 3:20) เมื่อจะมีการเฉลิมฉลองงานวิวาหมงคลของลูกแกะ (วว 19:7-8 เชิงอรรถ c; เทียบ อสย 61:10; 62:4-5; ฮชย 1:2 เชิงอรรถ b; 2:16)

b “ฟ้าใหม่แผ่นดินใหม่” ใน อสย 65:17; 66:22 เป็นสัญลักษณ์หมายถึง ยุคใหม่ของพระเมสสิยาห์ ซึ่งบรรดาประกาศกในภายหลังปรารถนาให้เกิดขึ้น สำหรับเปาโล อนาคตที่จะมาถึงมีลักษณะชัดเจนมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ สิ่งสร้างทั้งมวลจะได้รับการปลดปล่อยให้พ้นจากความเสื่อมสลายและจะเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง (รม 8:19 เชิงอรรถ j)

c ทะเลซึ่งเป็นถิ่นพำนักของมังกร สัญลักษณ์ของความชั่ว (ดู โยบ 7:12 เชิงอรรถ f) จะสูญหายไปเช่นเดียวกับในสมัยอพยพ แต่ครั้งนี้จะสูญหายตลอดไปต่อหน้าอิสราเอลใหม่ ประชากรของพระเจ้าผู้ทรงชัย (เทียบ โยบ 26:12-13; สดด 74:13, 14; อสย 27:1; 51:9-10)

d งานวิวาหมงคลครั้งใหม่น่าชื่นชมยินดีของนครเยรูซาเล็มกับพระเจ้าก็ได้เกิดขึ้นแล้ว (เทียบ อสย 61:10; 62,4-5; 65:18) บรรดาประกาศกเคยเปรียบเทียบการอพยพเป็นเสมือนการที่พระเจ้าทรงนำอิสราเอลเจ้าสาวของพระองค์ไปอยู่ด้วยกันในถิ่นทุรกันดาร (ดู ฮชย 2:16 เชิงอรรถ p)

e สำเนาโบราณบางฉบับว่า "และพระเจ้าจะทรงเป็นพระเจ้าของเขา" หรือ "และพระเจ้าพระองค์เองจะประทับอยู่กับเขา" วลีเช่นนี้เป็นสูตรของพันธสัญญา (ปฐก 17:8; ลนต 26:11-12; ยรม 31:33; อสค 37:27; เทียบ 2 คร 6:16) การที่พระเจ้าประทับอยู่อย่างใกล้ชิดเป็นเครื่องหมายของพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ (ดู อพย 25:8 เชิงอรรถ d; และ ยน 1:14 เชิงอรรถ m) ความสัมพันธ์เช่นนี้จะสมบูรณ์เมื่อสิ้นพิภพ (เทียบ อสย 12:6; ยอล 4:17,21; ศฟย 3:15-17; ศคย 2:14)

f ในพันธสัญญาเดิม น้ำจืดเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตสดชื่น และเป็นลักษณะหนึ่งของยุคพระเมสสิยาห์ ในพันธสัญญาใหม่ น้ำเป็นสัญลักษณ์ หมายถึง พระจิตเจ้า (ดู ยน 4:1 เชิงอรรถ a)

g ในพิธีราชาภิเษก กษัตริย์ในราชวงศ์ดาวิดได้รับเจิมเป็นกษัตริย์จึงเป็นรูปหมายของพระเมสสิยาห์ กษัตริย์ และได้รับสมญาว่า “บุตรของพระเจ้า” (2 ซมอ 7:14 เชิงอรรถ e) ดังนั้น พระเจ้าจึงทรงประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น "บุตรของพระเจ้า" เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพ (กจ 2:36 เชิงอรรถ w; รม 1:4 เชิงอรรถ c) และ พระเยซูเจ้าจะประทานสมญานี้ให้แก่ทุกคนที่เชื่อในพระองค์ (ยน 1:12 เชิงอรรถ j)

h “ความตายครั้งที่สอง” หมายถึง ความตายนิรันดร ไฟ เช่นเดียวกับน้ำในข้อ 6 เป็นเพียงสัญลักษณ์

i นครเยรูซาเล็มของพระเมสสิยาห์ หมายถึง ประชากรของพระเจ้าบนแผ่นดินนี้ เพราะยังมีชนต่างศาสนาอยู่อีก (21:24) ซึ่งกลับใจมาหาพระเจ้าเที่ยงแท้ได้ (22:2) แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นนครที่อยู่ในสวรรค์ หมายความว่าประชากรของพระเจ้ากำลังรอคอยความสมบูรณ์ซึ่งจะคงอยู่ตลอดนิรันดร รายละเอียดที่บรรยายถึงนครเยรูซาเล็มในที่นี้ยกมาจาก อสค 40-48 เป็นส่วนใหญ่

j เลข 12 และตัวคูณเป็นสัญลักษณ์ หมายถึง ความครบบริบูรณ์ ประชากรใหม่ของพระเจ้ามีความสมบูรณ์เช่นเดียวกับประชากรในพันธสัญญาเดิม อัครสาวกสิบสององค์ (ดู มธ 19:28ฯ; มก 3:14ฯ; อฟ 2:20) ตรงกับสิบสองตระกูลของอิสราเอล (วว 7:4-8)

k สี่เหลี่ยมจตุรัสเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ (ในโลก)

l 12,000 เป็นจำนวนสัญลักษณ์ 12 (หมายถึง อิสราเอลใหม่) คูณด้วย 1000 (หมายถึง ความยิ่งใหญ่) “สตาดิออน” เป็นมาตราวัดความยาวเท่ากับประมาณ 185 เมตร (“สตาดีอา” เป็นรูปพหูพจน์) 12,000 สตาดีอา จึงเท่ากับความยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร

m เพชรพลอยเหล่านี้ซึ่งมีสีต่างๆ เป็นรายละเอียดที่ผู้เขียนใช้บรรยายถึงนครเยรูซาเล็มในสวรรค์ เพื่อแสดงความมั่นคงและความสง่างาม ซึ่งสะท้อนพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า (ดู 2 คร 3:18 เทียบ อสย 54:11-12; อสค 28:13) เพชรพลอยเหล่านี้ชวนให้คิดถึงเครื่องประดับหน้าอกของมหาสมณะ (อพย 28:17-21; 39:10-14)

n พระวิหารซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าซึ่งเป็นศูนย์กลางของนครเยรูซาเล็มบนแผ่นดินนี้ได้สูญหายไปแล้ว (11:19; 14:15-17; 15:5-16:1) บัดนี้ ประชากรของพระเจ้าจะนมัสการพระองค์เดชะพระจิตเจ้าในสถานที่ใหม่คือ พระวรกายที่ถูกประหารชีวิตและกลับคืนชีพแล้วของพระคริสตเจ้า (ดู ยน 2:19-22 เชิงอรรถ i; 4:23-24; รม 12:1 เชิงอรรถ a)

o พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพส่องแสงแห่งความศักดิ์สิทธิ์ (ข้อ 27) แก่ชนทุกชาติที่มาประชุมกัน (22:5; เทียบ ยน 8:12 เชิงอรรถ b; 2 คร 4:6)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก