“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

ข้อสังเกตเรื่องวันอาทิตย์พระวาจาของพระเจ้า Nota sulla Domenica della Parola di Dio.
ข้อสังเกตเรื่องวันอาทิตย์พระวาจาของพระเจ้า
Nota sulla Domenica della Parola di Dio.

            วันอาทิตย์พระวาจาของพระเจ้า ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงกำหนดให้ตกในวันอาทิตย์ที่ 3 ของเทศกาลธรรมดา เตือนเราทุกคน ทั้งผู้อภิบาลและสัตบุรุษ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของพระคัมภีร์สำหรับชีวิตคริสตชน เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจาของพระเจ้ากับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์: “ในฐานะคริสตชน พวกเราล้วนเป็นประชากรหนึ่งเดียวซึ่งกำลังเดินทางผ่านประวัติศาสตร์โดยได้รับพลังขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ประทับอยู่ในหมู่เรา ตรัสกับเรา และหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา. วันที่กำหนดไว้ให้เป็น “วันพระคัมภีร์” จึงต้องไม่เป็นเพียง “ครั้งเดียวในรอบปี”, แต่เป็น “ครั้งเดียวสำหรับตลอดทั้งปี”, เพราะเราจำเป็นต้องคุ้นเคยกับและเข้าใจพระวาจาของพระเจ้าและพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น พระองค์ไม่ทรงหยุดยั้งที่จะแบ่งปันพระวาจาและบิขนมปังเป็นอาหารในการชุมนุมของบรรดาผู้มีความเชื่อ. เพราะเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลากับพระคัมภีร์ มิฉะนั้น จิตใจของเราก็จะเย็นเฉยและนัยน์ตาของเราก็จะปิดอยู่ประหนึ่งมืดบอดในหลายรูปแบบ.

            เพราะฉะนั้น วันอาทิตย์นี้จึงเป็นโอกาสดีที่พวกเราจะกลับไปอ่านเอกสารบางฉบับของพระศาสนจักร และโดยเฉพาะอารัมภบทของหนังสือประมวลบทอ่านสำหรับพิธีมิสซา (Ordo Lectionum Missae) ซึ่งเสนอให้เราเห็นการสังเคราะห์หลักเกณฑ์ทางเทววิทยา ทางพิธีกรรมและงานอภิบาลเกี่ยวกับพระวาจาของพระเจ้าที่มีการประกาศในพิธีบูชามิสซา แต่ก็ยังใช้ได้กับการประกอบพิธีกรรมอย่างอื่นด้วย (เช่นการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งคล้ายศีลต่างๆ และพิธีกรรมทำวัตร).

 

             1) โดยบทอ่านจากพระคัมภีร์ที่ได้รับการประกาศในพิธีกรรม พระเจ้าตรัสกับประชากรของพระองค์ และพระคริสตเจ้าเองก็ประกาศข่าวดีของพระองค์, พระคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางและความสมบูรณ์ของพระคัมภีร์ทั้งหมด ทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่. การฟังพระวรสาร ซึ่งเป็นจุดยอดของวจนพิธีกรรม จึงมีลักษณะการแสดงความเคารพเป็นพิเศษ ซึ่งแสดงออกไม่เพียงแต่ด้วยกิริยาท่าทางและการประกาศเท่านั้น แต่ยังแสดงออกโดยหนังสือพระวรสาร (Evangeliarium) เองด้วย. พิธีพิเศษที่เหมาะกับวันอาทิตย์นี้น่าจะเป็นขบวนแห่เข้านำโดยหนังสือพระวรสาร หรืออย่างน้อย ถ้าไม่มีขบวนแห่เข้า ก็โดยวางหนังสือพระวรสารไว้บนพระแท่นบูชา.

 

             2) การจัดบทอ่านจากพระคัมภีร์ตามที่พระศาสนจักรกำหนดไว้ในหนังสือประมวลบทอ่านเปิดทางให้เรารู้จักพระวาจาทั้งหมดของพระเจ้า. เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความเคารพแก่บทอ่านที่กำหนดไว้ โดยไม่ไปนำเอาบทความอื่นมาใช้ทดแทนหรือยกเลิกบทอ่านที่กำหนดไว้, และยังต้องใช้คำแปลพระคัมภีร์ฉบับที่ได้รับการรับรองสำหรับใช้ในพิธีกรรมด้วย. การประกาศข้อความของหนังสือบทอ่านแสดงให้เห็นความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันของสัตบุรุษทุกคนที่กำลังฟังพระวาจาอยู่. การเข้าใจโครงสร้างและจุดประสงค์ของวจนพิธีกรรมย่อมช่วยให้ชุมชนผู้มีความเชื่อได้รับจากพระเจ้าซึ่งพระวาจาที่ช่วยให้รอดพ้น.

 

             3) ควรส่งเสริมสนับสนุนการขับร้องบทเพลงสดุดีตอบรับ (Psalmus responsorialis) ซึ่งเป็นการตอบรับของพระศาสนจักรผู้อธิษฐานภาวนา ดังนั้น บทบาทของผู้ขับร้องบทเพลงสดุดีจึงควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมในทุกชุมชน.

 

             4) ในการเทศน์อธิบายพระคัมภีร์ (homily) พระธรรมล้ำลึกของความเชื่อและกฎเกณฑ์ของชีวิตคริสตชนได้รับการอธิบายตลอดปีพิธีกรรม. “ก่อนอื่นใดทั้งหมด บรรดาผู้อภิบาลจำเป็นต้องรับผิดชอบที่จะอธิบายช่วยให้ทุกคนเข้าใจพระคัมภีร์. เพราะพระคัมภีร์เป็นหนังสือสำหรับประชาชน และผู้ที่ได้รับเรียกมาให้เป็นศาสนบริกรแห่งพระวาจาของพระเจ้าต้องรู้สำนึกถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ชุมชนของตนเข้าถึงพระวาจานั้น”. บรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกรจึงต้องรู้สึกว่าตนมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติพันธกิจประการนี้เป็นพิเศษ โดยใช้ขุมทรัพย์ที่พระศาสนจักรเสนอไว้นี้เป็นเครื่องมือ.

 

             5) ความเงียบซึ่งช่วยให้รำพึงถึงพระวาจามีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะทำให้พระวาจาของพระเจ้าซึมซาบเข้าไปในใจของผู้ฟังได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น.

 

             6) พระศาสนจักรเอาใจใส่เป็นพิเศษอยู่เสมอต่อผู้มีหน้าที่ประกาศพระวาจาในที่ประชุม ซึ่งได้แก่พระสงฆ์ สังฆานุกร และผู้อ่านพระคัมภีร์. ศาสนบริการนี้เรียกร้องให้มีการเตรียมตัวทั้งภายในและภายนอก คือความคุ้นเคยกับตัวบทพระวาจาที่จะต้องประกาศ และการเตรียมตัวฝึกฝนเป็นอย่างดีที่จะประกาศพระวาจาอย่างชัดเจน โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการประกาศพระวาจาโดยฉับพลันไม่ทันจะเตรียมตัวไว้ก่อน. อาจมีการกล่าวนำอย่างสั้นๆก่อนที่จะอ่านบทอ่านแต่ละบทก็ได้.



             7) เพื่อแสดงความสำคัญของพระวาจา พระศาสนจักรเชิญเราให้เอาใจใส่เป็นพิเศษต่อบรรณฐาน (Ambo) ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ประกาศพระวาจา. บรรณฐานนี้ไม่ควรเป็นเพียงเครื่องประดับที่ใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น แต่ควรเป็นสถานที่มีเกียรติซึ่งสอดคล้องกับศักดิ์ศรีของพระวาจา ควบคู่กับพระแท่นบูชาด้วย. อันที่จริง เมื่อกล่าวพาดพิงถึงบรรณฐานและพระแท่นบูชา เรากล่าวถึง “โต๊ะ” แห่งพระวาจาและ “โต๊ะ” แห่งพระกายของพระคริสตเจ้า. บรรณฐานมีไว้สำหรับอ่านพระวาจา ขับร้องสร้อยเพลงสดุดีตอบรับและบทขับร้องเพลงประกาศสมโภชปัสกา (Praeconium Paschale). ยังอาจกล่าวบทเทศน์และเจตนาในบทภาวนาของมวลชนที่บรรณฐานนี้ได้ด้วย. แต่ไม่ควรใช้บรรณฐานเป็นสถานที่เพื่ออธิบายขั้นตอนของพิธีกรรมหรือเพื่อควบคุมการขับร้องของสัตบุรุษ.

 

            8) หนังสือที่บรรจุบทอ่านจากพระคัมภีร์ปลุกเร้าให้ผู้ฟังได้มีความเคารพฟังพระธรรมล้ำลึกที่พระเจ้าตรัสกับประชากรของพระองค์ เพราะเหตุนี้จึงเรียกร้องให้เอาใจใส่ต่อการที่หนังสือบทอ่านต้องเป็นหนังสือซึ่งพิมพ์ด้วยวัสดุที่มีคุณภาพและใช้หนังสือเหล่านี้เป็นอย่างดี. ไม่สมควรเลยที่จะใช้บทอ่านพระคัมภีร์ที่พิมพ์ขึ้นชั่วคราวออกมาเป็นแผ่นๆ แทนหนังสือบทอ่านที่พิมพ์เป็นเล่มสำหรับพิธีกรรมโดยเฉพาะ.

 

            9) ก่อนจะถึง หรือในวันหลังจากวันอาทิตย์พระวาจา ควรจะจัดให้มีการประชุมเพื่อย้ำถึงความสำคัญของพระคัมภีร์ในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์. การทำเช่นนี้อาจเป็นโอกาสให้ทุกคนได้รู้ดียิ่งขึ้นว่าพระศาสนจักรอ่านพระคัมภีร์อย่างไรเมื่ออธิษฐานภาวนา – เป็นการอ่านแบบต่อเนื่อง แบบกึ่งต่อเนื่อง หรือเป็นการอ่านที่เข้าใจว่าพันธสัญญาเดิมเป็น “รูปแบบ” (type) ของพันธสัญญาใหม่ – และเพื่ออธิบายว่าพระศาสนจักรใช้มาตรการอย่างไรในการใช้หนังสือฉบับต่างๆของพระคัมภีร์ในแต่ละช่วงเวลาของปีและในเทศกาลต่างๆ – รวมทั้งโครงสร้างของบทอ่านในพิธีบูชามิสซาสำหรับวันอาทิตย์และสำหรับวันธรรมดา.

 

          10) วันอาทิตย์พระวาจายังเป็นโอกาสเหมาะเพื่อจะเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระคัมภีร์กับพิธีกรรมทำวัตร คำอธิษฐานภาวนาของบทเพลงสดุดี บทเพลงสรรเสริญของพิธีทำวัตร บทอ่านจากพระคัมภีร์ โดยส่งเสริมให้มีการประกอบพิธีทำวัตรเช้าและวัตรเย็นสำหรับบรรดาสัตบุรุษเป็นส่วนรวมด้วย.

 

              ในบรรดานักบุญชายหญิงจำนวนมาก ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นพยานถึงข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้า เราอาจเสนอแบบอย่างของท่านนักบุญเยโรมสำหรับความรักยิ่งใหญ่ที่ท่านมีต่อพระวาจาของพระเจ้า. ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ตรัสเมื่อไม่นานมานี้ว่า ท่านเป็น “ผู้ศึกษาพระคัมภีร์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้แปลพระคัมภีร์ เป็นผู้อธิบายพระคัมภีร์ เป็นผู้รู้พระคัมภีร์อย่างลึกซึ้ง และประกาศพระคัมภีร์ด้วยใจรัก (.....) เมื่อตั้งใจฟังพระคัมภีร์ ท่านนักบุญเยโรมก็รู้จักตนเอง และพบพระพักตร์ของพระเจ้าและใบหน้าของบรรดาพี่น้อง ทำให้ท่านมีความรักมากยิ่งขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ”.

 

              ข้อสังเกตฉบับนี้มีเจตนาที่จะช่วยปลุกสำนึกถึงความสำคัญของพระคัมภีร์ ในโอกาสที่จะถึงวันอาทิตย์แห่งพระวาจา สำหรับชีวิตของพวกเราผู้มีความเชื่อ โดยเริ่มจากเสียงสะท้อนของพิธีกรรมซึ่งทำให้เราสนทนาโต้ตอบกับพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ. “พระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเรารับฟังและเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ ย่อมเป็นอาหารและเสริมสร้างพลังของบรรดาคริสตชนจากภายใน และทำให้ทุกคนเป็นพยานแท้จริงถึงพระวรสารในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ”.

 

ให้ไว้จากสำนักงานสมณกระทรวงเพื่อคารวกิจแด่พระเจ้าและศีลศักดิ์สิทธิ์, วันที่ 17 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2020.

Robert Card. Sarah
สมณมนตรี


+ Arthur Roche
พระอัครสังฆราช เลขาธิการ.


ทัศไนย์ คมกฤส แปลจากต้นฉบับภาษาอิตาเลียนและอังกฤษ.
บ้านอับราฮัม สามพราน – 28 ธันวาคม 2020.

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก