“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงเรียนคำอุปมาเรื่องต้นมะเดื่อเทศเถิด”

70. เวลาแห่งการเสด็จมาของบุตรแห่งมนุษย์ (มก 13:28-32)
           13 28“จงเรียนคำอุปมาเรื่องต้นมะเดื่อเทศเถิด เมื่อมันแตกกิ่งอ่อนและผลิใบ ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่าฤดูร้อนใกล้เข้ามาแล้ว 29ท่านก็เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จงรู้เถิดว่าพระองค์ทรงอยู่ใกล้ อยู่ที่ประตูแล้ว 30เราบอกความจริงแก่ท่านว่า คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไปก่อนที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น 31ฟ้าดินจะสูญสิ้นไป แต่วาจาของเราจะไม่สูญสิ้นไปเลย
32“ส่วนเรื่องวันและเวลานั้น ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียว


อธิบายความหมาย
             ข้อความนี้ต่อเนื่องมาจากคำปราศรัยเรื่องอันตวิทยาที่เริ่มต้นตั้งแต่ข้อ 5 และมีจุดประสงค์ต้องการชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้จะเกิดขึ้นในไม่ช้า อุปมาเรื่องต้นมะเดื่อเทศมีความหมายชัดเจนเพราะเป็นต้นไม้ที่ให้ผลผลิตช้า แต่การแตกกิ่งอ่อนและผลิใบใหม่เป็นเครื่องหมายแน่นอนว่าฤดูร้อนใกล้มาถึง นี่เป็นอุปมาเรื่องการวินิจฉัยว่าวันสิ้นพิภพใกล้เข้ามาแล้ว อย่างไรก็ตาม ความแน่ใจว่าประวัติศาสตร์มนุษย์ใกล้สิ้นสุดไม่สามารถลบล้างความไม่รู้เรื่องวันเวลาเฉพาะเจาะจงที่จะมาถึง

- จงเรียนคำอุปมาเรื่องต้นมะเดื่อเทศเถิด เมื่อมันแตกกิ่งอ่อนและผลิใบ ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่าฤดูร้อนใกล้เข้ามาแล้ว อุปมาในที่นี้ไม่มีความหมายเจาะจงว่าเป็นนิทานเปรียบเทียบที่มีการสั่งสอนทางศีลธรรม แต่มีความหมายกว้าง ๆ คือ เป็นการเปรียบเทียบความเหมือนระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งทุกคนในปาเลสไตน์เข้าใจง่าย เพราะในที่นี้ ต้นมะเดื่อเทศจะผลิใบอ่อนเพียงเมื่อมีอุณหภูมิสูงพอสมควร จึงเป็นที่เข้าใจอย่างแน่นอนว่าฤดูร้อนใกล้มาถึงแล้ว

- ท่านก็เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จงรู้เถิดว่าพระองค์ทรงอยู่ใกล้ อยู่ที่ประตูแล้ว โดยแท้จริงแล้ว ประโยคที่ว่า “พระองค์ทรงอยู่ใกล้ อยู่ที่ประตูแล้ว” ในต้นฉบับภาษากรีกไม่มีประธาน ดังนั้น บางคนจึงคิดว่าคำที่ละเว้นไว้ในที่นี้คือ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ดังที่เราพบในข้อความที่คล้ายคลึงกันในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (เทียบ ลก 21:31) อีกบางคนคิดว่า ประธานของประโยคคือ “บุตรแห่งมนุษย์ที่เสด็จมา” (มก 13:26) และอีกบางคนอ่านประโยคนี้ว่า “การสิ้นพิภพอยู่ใกล้” ดังนั้น การเลือกคำใดเป็นประธานของประโยคขึ้นอยู่กับการตีความหมายของคำปราศรัยทั้งหมด ดังนั้น การแปลของพระคัมภีร์คาทอลิกจึงเสริมคำว่า “พระองค์” เพราะชวนให้คิดถึงการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า อย่างไรก็ตาม ประโยคนี้เป็นคำตอบของพระเยซูเจ้าที่ทรงตอบคำถามของบรรดาศิษย์เกี่ยวกับเครื่องหมายที่บ่งบอกว่าทุกสิ่งจะถูกทำลาย (เทียบ 13:4)

- เราบอกความจริงแก่ท่านว่า คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไปก่อนที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น “คนในชั่วอายุนี้” อาจมีความหมายสองประการ ประการที่ 1 หมายถึงมนุษยชาติ อีกประการหนึ่งหมายถึงมนุษย์ในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ในช่วงเวลาที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย ดังที่นักพระคัมภีร์สมัยใหม่ส่วนใหญ่คิดกัน แต่เราต้องยอมรับว่าผู้ตีความหมายพระคัมภีร์ทุกคนจนถึงศตวรรษที่ 16 ล้วนยอมรับความหมายประการแรกเท่านั้น คือมนุษยชาติ พระเยซูเจ้าเคยตรัสแล้วว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า บางท่านที่ยืนอยู่ที่นี่จะไม่ลิ้มรสความตาย จนกว่าจะเห็นพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงพร้อมด้วยพระอานุภาพ” ( มก 9:1)

- ฟ้าดินจะสูญสิ้นไป แต่วาจาของเราจะไม่สูญสิ้นไปเลย พระวาจานี้ใช้ภาษาของบรรดาประกาศก (เทียบ อสย 40:8; 51:6) พระเยซูเจ้าคงจะตรัสพระวาจานี้อีกหลายครั้ง (เทียบ มธ 5:18; ลก 16:17) และในที่นี้ พระองค์คงจะใช้เพื่อรับรองว่า ความจริงที่เพิ่งประกาศในข้อ 30 นั้นจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

- “ส่วนเรื่องวันและเวลานั้น หมายถึง “วันของพระยาห์เวห์” ดังที่เราพบในข้อเขียนของบรรดาประกาศก (เทียบ อสย 2:12; ยรม 46:10; ศฟย 1:7; ศคย 14:1)

- ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียว ดูเหมือนว่าข้อความนี้ลดความครบครับแห่งความรู้ของพระเยซูเจ้า ซึ่งขัดแย้งกับคำยืนยันของนักบุญเปาโลที่ว่า “ในองค์พระคริสตเจ้า มีพระปรีชาญาณและความรอบรู้ซ่อนอยู่เป็นขุมทรัพย์ล้ำค่า” (คส 2:3) จึงคงได้สร้างปัญหาให้แก่ความเชื่อของคริสตชนในสมัยแรก ๆ ดังที่เราสังเกตว่า นักบุญลูกาพยายามละเว้นข้อความนี้และหลายคนที่คัดลอกพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกก็ได้ละเว้นข้อความนี้เช่นกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้พิสูจน์ว่า นี่เป็นพระวาจาแท้จริงของพระเยซูเจ้า เพราะไม่มีผู้คัดลอกคนใดจะเขียนขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อสร้างปัญหา ตรงกันข้าม อาจละเว้นข้อความที่สร้างปัญหามากกว่า ในที่นี้ เช่นเดียวกับในสถานการณ์อื่น ๆ พระเยซูเจ้าทรงชี้แจงสิทธิพิเศษของพระบิดาเจ้า เช่น พระองค์เคยตรัสกับยากอบและยอห์นว่า “การที่จะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายของเรานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะให้ แต่สงวนไว้สำหรับผู้ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้” (10:40) และพระองค์ยังตรัสกับบรรดาศิษย์ก่อนที่จะเสด็จสู่สวรรค์ว่า “ไม่ใช่ธุระของท่านที่จะรู้วันเวลาที่พระบิดาทรงกำหนดไว้โดยอำนาจของพระองค์” (กจ 1:7) ดังนั้น คำยืนยันของพระเยซูเจ้านี้ต้องการเน้นความเป็นมนุษย์ของพระองค์ และนักบุญมาระโกได้พบเหตุผลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งต่อต้านการคาดคะเนของประชาชนเกี่ยวกับวันเวลาแห่งการสิ้นพิภพ น่าสังเกตว่า ในที่นี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่า “พระบุตร” ไม่ใช่ “บุตรแห่งมนุษย์” เพื่อแสดงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพระองค์กับพระบิดาอย่างตรงไปตรงมา นี่เป็นครั้งเดียวในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกพระองค์เองเช่นนี้

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก