“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“เขาตรึงพระองค์บนไม้กางเขน”  
83. พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน (มก 15:22-28)

1522บรรดาทหารนำพระองค์มาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า“กลโกธา” แปลว่า “เนินหัวกะโหลก” 23ทหารนำน้ำองุ่นเปรี้ยวผสมมดยอบให้พระองค์ดื่ม แต่พระองค์ไม่ทรงดื่ม 24เขาตรึงพระองค์บนไม้กางเขน แล้วแบ่งฉลองพระองค์กันโดยจับสลากว่าใครจะได้สิ่งใด 25ขณะที่เขาตรึงพระองค์นั้นเป็นเวลาประมาณเก้านาฬิกา 26มีป้ายบอกข้อกล่าวหาพระองค์เขียนไว้ว่า “กษัตริย์ของชาวยิว” 27เขายังตรึงโจรสองคนพร้อมกับพระองค์ด้วย คนหนึ่งอยู่ข้างขวา อีกคนหนึ่งอยู่ข้างซ้าย (28และข้อความในพระคัมภีร์ก็เป็นความจริงตามที่กล่าวว่า “เขานับว่าพระองค์เป็นอาชญากรคนหนึ่ง”)
       เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นวันที่หกของสัปดาห์ เป็นวันที่พระเจ้าทรงสร้างอาดัม กษัตริย์ของสิ่งสร้างทั้งมวล ไม้กางเขนซึ่งเป็นตะแลงแกงสำหรับประหารชีวิตทาสผู้เป็นกบฏ ตกเป็นชะตากรรมของพระบุตร คืออาดัมคนใหม่ผู้ทรงนอบน้อมเชื่อฟังพระเจ้า พระองค์ทรงทำให้ไม้กางเขนเป็นพระบัลลังก์ และจากพระบัลลังก์นี้ทรงนำความรอดพ้นแก่มนุษยชาติ

- บรรดาทหารนำพระองค์มาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า“กลโกธา” แปลว่า “เนินหัวกะโหลก” คำว่า “กลโกธา” มาจากคำว่า “กุลกุธา” ในภาษาอาราเมอิกหมายถึงหัวกะโหลก ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า “กัลวารีโอ” ในภาษาละติน โดยแท้จริงแล้ว ต้นฉบับของพระวรสารทั้งสี่ฉบับไม่มีคำว่า”เนิน” เลย แต่คำว่า “หัวกะโหลก” ชวนให้คิดถึงภาพของก้อนหินที่ซ้อนกันเป็นเหมือนเนิน สถานที่นี้เคยอยู่นอกกำแพงเมืองเพราะเป็นที่สำหรับประหารชีวิตนักโทษ และทุกวันนี้ยังเป็นสถานที่ของวัดโบราณที่ใช้ฝังศพของพระเยซูเจ้า ตำนานโบราณเล่าว่าบริเวณนี้มีหัวกะโหลกของอาดัมฝังอยู่ด้วย แต่ในศตวรรษที่ 4 นักบุญเยโรมปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องนี้ และคิดว่าเป็นเพียงเรื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ท่านอธิบายว่าชื่อ กลโกธา มาจากสถานที่นั้นซึ่งใช้สำหรับตัดศีรษะนักโทษ สมัยนี้ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์คิดว่าชื่อนี้มาจากรูปภาพของสถานที่ ซึ่งมีรูปหัวกะโหลก จักรพรรดิคอนสแตนติน มหาราช ทรงสร้างอาสนวิหารยิ่งใหญ่ในสถานที่แห่งนี้ ซึ่งรวมทั้งที่ฝังพระศพของพระเยซูเจ้าและเนินหัวกะโหลกอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน

- ทหารนำน้ำองุ่นเปรี้ยวผสมมดยอบให้พระองค์ดื่ม แต่พระองค์ไม่ทรงดื่ม ตามธรรมเนียมของชาวยิว (เทียบ สภษ 31:6) สตรีใจเมตตาชาวกรุงเยรูซาเล็มมักเตรียมเหล้าองุ่นผสมกับเม็ดกำยานเพื่อเป็นเครื่องดื่มบรรเทาความเจ็บปวด ให้แก่ผู้ที่จะถูกประหารชีวิต (เทียบ สดด 69:22) การใช้มดยอบซึ่งเป็นยางไม้ที่มีกลิ่นหอมก็มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเช่นกัน พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวบันทึกว่า “ทหารนำเหล้าองุ่นผสมดีมาให้พระองค์ดื่ม พระองค์ทรงชิมแล้ว ไม่ยอมดื่ม” (มธ 27:34) “ดี” เป็นยาบรรเทาความเจ็บปวดด้วยเช่นกัน แต่ดีทำให้เหล้าองุ่นนั้นขมมากจนดื่มไม่ได้ การที่พระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธไม่ยอมดื่มเหล้าองุ่น คงเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระองค์จงพระทัยที่จะมีประสบการณ์การรับทรมานอย่างเต็มเปี่ยม

- เขาตรึงพระองค์บนไม้กางเขน น่าสังเกตว่า พระวรสารกล่าวถึงการรับทรมานของพระเยซูเจ้าอย่างแสนสาหัสเช่นนี้ โดยใช้ถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ ไม่ต้องการเน้นความทุกข์ทรมานทางร่างกายซึ่งคงจะน่ากลัวมาก แต่ต้องการเน้นความทุกข์ทรมานฝ่ายจิตใจมากกว่า จากหนังสือของนักเขียนชาวโรมัน เรารู้ว่าการประหารชีวิตนักโทษโดยการตรึงบนไม้กางเขน เป็นวิธีของชาวแอฟริกาเหนือ ซึ่งเคยเรียนรู้มาจากชาวอัสซีเรีย ซิเซโรนักเขียนชาวโรมันคิดว่า การประหารชีวิตเช่นนี้เป็นวิธีโหดร้ายที่สุด และกฎหมายโรมันห้ามใช้เพื่อประหารชีวิตพลเมืองชาวโรมัน

- แล้วแบ่งฉลองพระองค์กัน การแบ่งเสื้อผ้าคงเป็นการปฏิบัติปกติของกลุ่มทหารที่ได้รับมอบหมายให้ประหารชีวิตนักโทษ และต่อจากนั้น ต้องยืนอยู่ที่เชิงไม้กางเขนเพื่อห้ามไม่ให้ผู้ใดมาใกล้นักโทษ แต่ในที่นี้อธิบายว่าเป็นผลสำเร็จตามความจริงที่เพลงสดุดีบทที่ 22 ข้อ 19 ได้ประกาศไว้ล่วงหน้า

- โดยจับสลากว่าใครจะได้สิ่งใด พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นเพิ่มรายละเอียดว่า “เมื่อบรรดาทหารตรึงพระเยซูเจ้าแล้ว ก็นำฉลองพระองค์มาแบ่งออกเป็นสี่ส่วน นำไปคนละส่วน ส่วนเสื้อยาวของพระองค์นั้นไม่มีตะเข็บ ทอเป็นผืนเดียวตลอดตั้งแต่คอจนถึงชายเสื้อ เขาจึงพูดกันว่า ‘เราอย่าแบ่งเสื้อตัวนี้เลย เราจับสลากกันเถิด ดูว่าใครจะได้’” (ยน 19:23-24)

- ขณะที่เขาตรึงพระองค์นั้นเป็นเวลาประมาณเก้านาฬิกา แปลตามตัวอักษร “สามโมงเช้า” หมายถึงเวลาระหว่างเก้าโมงเช้าถึงเที่ยง นักบุญมาระโกเท่านั้นจดบันทึกเวลาเหตุการณ์การรับทรมานของพระเยซูเจ้าอย่างละเอียดคือเวลาสามโมงเช้า (เก้าโมง) เป็นเวลาตรึงพระองค์บนไม้กางเขน เวลาหกโมงเช้า (เที่ยง) เกิดความมืดทั่วแผ่นดิน (ข้อ 33) เวลาเก้าโมง (บ่ายสามโมง) พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ (ข้อ34.37) การอ้างเวลาเช่นนี้ เป็นข้อมูลทางพิธีกรรมมากกว่าทางกาลเวลา ซึ่งสอดคล้องกับเวรการอธิษฐานภาวนาของชาวยิว ที่คริสตชนสมัยแรกได้นำมาปฏิบัติ (เทียบ กจ 2:46; 3:1;10:9)

- มีป้ายบอกข้อกล่าวหาพระองค์เขียนไว้ว่า รายละเอียดนี้สอดคล้องกับธรรมเนียมโบราณ สเวโทเนียส นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันบันทึกว่า ผู้ถูกประหารชีวิตแต่ละคนต้องถือป้ายหรือมีคนอื่นถือให้ โดยบอกเหตุผลที่ถูกประหาร เมื่อถูกประหารแล้วก็นำป้ายนี้ไปติดไว้บนไม้กางเขน

- “กษัตริย์ของชาวยิว” ผู้ว่าราชการปีลาต คงจะได้กำหนดข้อความนี้เพื่อเยาะเย้ยชาวยิว ดังที่พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นบันทึกว่า “ปีลาตเขียนป้ายประกาศ... ‘เยซู ชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว… ป้ายประกาศนั้นเขียนไว้เป็นภาษาฮีบรู ละติน และกรีก’” (ยน 19:19-22) แล้วเกิดการโต้เถียงกันเรื่องป้ายนี้ระหว่างปีลาตกับหัวหน้าสมณะ

- เขายังตรึงโจรสองคนพร้อมกับพระองค์ด้วย เหตุการณ์นี้มีบันทึกไว้ในพระวรสารทั้งสี่ฉบับ ทั้ง ๆ ที่ธรรมประเพณีของชาวยิวห้ามประหารชีวิตนักโทษหลายคนในวันเดียวกัน แต่ชาวโรมันไม่สนใจธรรมประเพณีนี้ของชาวยิว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดูเหมือนว่าปีลาตชอบทำทุกอย่างที่ขัดใจชาวยิว

- คนหนึ่งอยู่ข้างขวา อีกคนหนึ่งอยู่ข้างซ้าย น่าสังเกตว่า ยากอบและยอห์นเคยต้องการให้คนหนึ่งอยู่ข้างขวา อีกคนหนึ่งอยู่ข้างซ้ายของพระเยซูเจ้า และอัครสาวกอื่น ๆ ก็โต้เถียงเรื่องนี้เช่นกัน (เทียบ 10:37-41) แต่ที่ทั้งสองแห่งนี้ถูกสงวนไว้สำหรับโจรผู้ร้ายสองคนเท่านั้น

- และข้อความในพระคัมภีร์ก็เป็นความจริงตามที่กล่าวว่า “เขานับว่าพระองค์เป็นอาชญากรคนหนึ่ง” ข้อนี้มีบันทึกเพียงในต้นฉบับบางเล่มเท่านั้น และไม่ค่อยสอดคล้องกับลีลาการเขียนของนักบุญมาระโกเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ทุกคนยอมรับข้อนี้เพราะชวนให้ระลึกถึงข้อความของประกาศกอิสยาห์ เกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ ผู้เสียชีวิตสำหรับคนอื่นและจะได้รับชัยชนะ (เทียบ อสย 53:12) นักบุญลูกกายังอ้างข้อความนี้ในบริบทอื่น คือเมื่อพระเยซูเจ้าทรงแจ้งให้บรรดาศิษย์รู้ว่า ในไม่ช้าพระองค์จะทรงถูกจับกุม (เทียบ ลก 22:37)

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก