“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนที่ท่านกำลังพูดถึง”  
79. เปโตรปฏิเสธพระเยซูเจ้า (มก 14:66-72)
      1466ขณะที่เปโตรอยู่ที่ลานข้างล่าง หญิงรับใช้คนหนึ่งของมหาสมณะมาที่นั่น 67เมื่อเห็นเปโตรกำลังนั่งผิงไฟอยู่ ก็จ้องมองเขาและพูดว่า “ท่านอยู่กับเยซู ชาวนาซาเร็ธด้วย” 68แต่เปโตรปฏิเสธว่า “ฉันไม่รู้ และไม่เข้าใจว่าท่านพูดเรื่องอะไร” แล้วจึงเดินไปที่ทางเข้า ไก่ก็ขัน 69หญิงรับใช้ยังคงเห็นเปโตรจึงบอกคนที่ยืนอยู่ที่นั่นว่า “คนนี้เป็นคนหนึ่งในพวกของเขาด้วย” 70แต่เปโตรปฏิเสธอีก ต่อมาไม่นาน คนที่ยืนอยู่ที่นั่นกล่าวกับเปโตรว่า “ท่านเป็นคนหนึ่งในพวกเขาแน่ๆ เพราะท่านเป็นชาวกาลิลี” 71แต่เปโตรเริ่มสบถสาบานอย่างแข็งขันว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนที่ท่านกำลังพูดถึง” 72ทันใดนั้นไก่ก็ขันเป็นครั้งที่สอง เปโตรจึงระลึกถึงคำที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้แก่ตนว่า “ก่อนไก่จะขันสองครั้ง ท่านจะปฏิเสธเราสามครั้ง” แล้วเขาก็ร้องไห้

         เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในคืนวันพฤหัสฯ ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นวันที่หกของสัปดาห์ แต่ชาวยิวนับว่าเป็นวันศุกร์แล้ว นักบุญมาระโกได้จัดเตรียมเหตุการณ์นี้ โดยเล่าว่าพระเยซูเจ้าทรงทำนายถึงการทรยศของยูดาส ขณะที่ทรงรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (14:17-21) และเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงทำนายการปฏิเสธของนักบุญเปโตร (14:30) น่าสังเกตว่า นี่เป็นเหตุการณ์สุดท้ายที่นักบุญมาระโกเล่าถึงศิษย์คนหนึ่งของพระเยซูเจ้าในเรื่องการรับทรมานของพระองค์

- ขณะที่เปโตรอยู่ที่ลานข้างล่าง หญิงรับใช้คนหนึ่งของมหาสมณะมาที่นั่น ในข้อ 54 นักบุญมาระโกเคยเล่ารายละเอียดบ้านของมหาสมณะคายาฟาสว่า มีลานข้างล่าง ดังนั้น บ้านหลังนี้จึงเป็นบ้านสองชั้น มีลานกลางแจ้งเป็นศูนย์กลาง และมีระเบียงเป็นทางเข้า  

-เมื่อเห็นเปโตรกำลังนั่งผิงไฟอยู่ ก็จ้องมองเขาและพูดว่า “ท่านอยู่กับเยซู ชาวนาซาเร็ธด้วย” นักบุญมาระโกเคยเรียกพระเยซูเจ้า บ่อย ๆ ว่า เป็นชาวนาซาเร็ธ (เทียบ 1:24;10:47; 16:6) เพราะประชาชนรู้กันว่าพระองค์เป็นชาวเมืองนาซาเร็ธ (เทียบ 1:9)

-โตรปฏิเสธว่า “ฉันไม่รู้ และไม่เข้าใจว่าท่านพูดเรื่องอะไร” สำนวนนี้เป็นสูตรที่บรรดาธรรมาจารย์เคยใช้ในการสาบาน จึงแสดงว่าเปโตรอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก เพราะต้องคำถามที่ไม่คาดคิดมาก่อน เขาพยายามหลีกเลี่ยงคำตอบเพราะมีความกลัว ซึ่งนำเขาให้ปฏิเสธพระเยซูเจ้ามากยิ่งขึ้น

-แล้วจึงเดินไปที่ทางเข้า ไก่ก็ขัน เสียงไก่ขันครั้งแรกไม่ทำให้เปโตรรู้สึกตัว น่าสังเกตว่า พระวรสารอีกสามฉบับอ้างว่า ไก่ขันเพียงครั้งเดียว และในที่นี้ นักบุญลูกาไม่กล่าวถึงการออกไปข้างนอกของนักบุญเปโตรเลย

-หญิงรับใช้ยังคงเห็นเปโตรจึงบอกคนที่ยืนอยู่ที่นั่นว่า “คนนี้เป็นคนหนึ่งในพวกของเขาด้วย” พระวรสารอีกสามฉบับเล่าว่า ผู้ถามนักบุญเปโตรเป็นครั้งที่สองก็เป็นหญิงรับใช้อีกคนหนึ่งหรืออีกหลายคน

-แต่เปโตรปฏิเสธอีก คำกริยาในภาษากรีกที่แปลกันว่า “ปฏิเสธ” ยังเป็นคำกริยาเดียวกันที่นักบุญมาระโกใช้ในการปฏิเสธครั้งแรก แต่ใช้ในรูปแบบกาลไม่สมบูรณ์ ซึ่งหมายความว่าเป็นการกระทำที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นักบุญมัทธิวเน้นคำพูดของนักบุญเปโตรมากยิ่งขึ้น โดยบอกว่าท่านตอบด้วยการสาบาน (เทียบ มธ 26:72)

-ต่อมาไม่นาน คนที่ยืนอยู่ที่นั่นกล่าวกับเปโตร ว่า “ท่านเป็นคนหนึ่งในพวกเขาแน่ ๆ เพราะท่านเป็นชาวกาลิลี” ผู้คนที่อาศัยในแคว้นกาลิลีมักจะพูดภาษาฮีบรู โดยมีพยัญชนะทุกตัวที่นิ่มนวล ไม่มีเสียงพยัญชนะที่ออกจากลำคอ เหมือนที่ชาวยิวโดยทั่วไปใช้กัน ดังนั้น  จากเสียงพูดทุกคนจึงจำชาวกาลิลีได้ง่าย

-แต่เปโตรเริ่มสบถสาบานอย่างแข็งขันว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนที่ท่านกำลังพูดถึง” การปฏิเสธครั้งที่สามของนักบุญเปโตรหนักแน่นมากที่สุด เพราะทุกคนที่อยู่ที่นั่นได้ถามเขา และเขาปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่รู้จักพระเยซูเจ้า โดยหลีกเลี่ยงที่จะออกพระนามของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น เขา “สบถสาบาน” หมายความว่า เขาเรียกพระเจ้าให้ทรงเป็นพยาน และให้ทรงลงโทษตนถ้าพูดมุสา

-ทันใดนั้นไก่ก็ขันเป็นครั้งที่สอง นักบุญมาระโกกล่าวถึงเรื่องไก่ขันทั้งสองครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับคำทำนายของพระเยซูเจ้าในข้อ 30

-เปโตรจึงระลึกถึงคำที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้แก่ตนว่า “ก่อนไก่จะขันสองครั้ง ท่านจะปฏิเสธเราสามครั้ง” ข้อความนี้มีความสำคัญ เพราะเน้นว่าบรรดาคริสตชนสมัยแรก ๆ ถือว่าการระลึกถึงพระวาจาคือข่าวดีของพระเยซูเจ้ามีบทบาทสำคัญในชีวิต

-แล้วเขาก็ร้องไห้ นักบุญมาระโกต้องการแสดงให้เห็นว่า นักบุญเปโตรชดเชยความผิดของตนทันที โดยสำนึกผิดอย่างจริงใจและลึกซึ้ง ดังที่แสดงออกโดยการร้องไห้อย่างขมขื่น

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก