“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

การอธิบายความหมายพระคัมภีร์ในพระศาสนจักร


พระศาสนจักรคือภูมิหลังดั้งเดิมของการอธิบายความหมายพระคัมภีร์

29.      หัวข้อสำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งถกเถียงกันในที่ประชุมสมัชชา และข้าพเจ้าใคร่จะเชิญชวนให้คิดถึง คือเรื่องการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ในพระศาสนจักร ความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่พระวาจามีต่อความเชื่อทำให้เห็นได้ชัดว่า การอธิบายความหมายพระคัมภีร์ที่ถูกต้องจะมีไม่ได้นอกจากในความเชื่อของพระศาสนจักรเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างการที่พระแม่มารีย์ตอบรับพระประสงค์ของพระเจ้า นักบุญโบนาเวนตูรากล่าวว่าถ้าไม่มีความเชื่อ เราก็ไม่มีกุญแจไขเข้าไปหาตัวบทพระคัมภีร์ได้ "นี่คือความรู้เรื่องพระเยซูคริสตเจ้าซึ่งเป็นต้นกำเนิดและที่มาของความแน่ใจและความเข้าใจถึงพระคัมภีร์ทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ใครคนหนึ่งจะเข้าไปรู้ความจริงนั้นได้ ถ้าเขาไม่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าฝังอยู่ในใจแล้วเป็นประหนึ่งตะเกียงที่ส่องสว่างพระคัมภีร์ทั้งหมด หรือเป็นดังประตูและพื้นฐานของพระคัมภีร์ด้วย"[1] นักบุญโทมัสยังอ้างถึงคำสอนของนักบุญออกัสตินและเน้นว่า "ตัวอักษรอาจฆ่าได้ แม้กระทั่งตัวอักษรของพระวรสารด้วย ถ้าภายในใจไม่มีความเชื่อที่คอยเยียวยารักษา"[2]

นี่จึงเป็นโอกาสให้เราระลึกถึงมาตรการพื้นฐานของการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ :ชีวิตของพระศาสนจักรคือภูมิหลังดั้งเดิมของการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ ข้อความนี้มิได้บอกว่าการชี้นำของพระศาสนจักรเป็นมาตรการภายนอก ที่ผู้อธิบายความหมายพระคัมภีร์จะต้องยอมรับ แต่เป็นมาตรการที่ธรรมชาติของพระคัมภีร์และวิธีการที่พระคัมภีร์ค่อยๆถือกำเนิดขึ้นในกาลเวลาจะต้องคำนึงถึง "ธรรมประเพณีความเชื่อนับเป็นสภาพแวดล้อมมีชีวิตที่ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์สอดแทรกผลงานวรรณกรรมของตนเข้ามา การสอดแทรกนี้ยังรวมความไปถึงการมีส่วนร่วมในชีวิตพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และชีวิตทั่วไปของชุมชน กิจกรรมทางความคิด ทางวัฒนธรรม และเหตุการณ์ต่างๆทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้นการอธิบายความหมายพระคัมภีร์จึงเรียกร้อง ให้ผู้อธิบายรู้จักและเข้าถึงชีวิตและความเชื่อทั้งหมดของชุมชนที่มีความเชื่อในสมัยนั้นด้วยเช่นเดียวกัน"[3] ดังนั้น "เนื่องจากว่าเราต้องอ่านและเข้าใจพระคัมภีร์อาศัยพระจิตเจ้าองค์เดียวกันกับที่ทรงดลใจให้เขียน"[4] ผู้อธิบายความหมายพระคัมภีร์ นักเทววิทยา และประชากรทั้งมวลของพระเจ้าจึงต้องเข้าไปหาพระคัมภีร์อย่างที่เป็นจริงๆ คือเป็นพระวาจาของพระเจ้าผู้ทรงใช้คำพูดของมนุษย์ตรัสกับเรา (เทียบ 1 ธส 2:13) นี่คือข้อมูลที่คงอยู่เสมอและซ่อนอยู่ในพระคัมภีร์ "การตีความถ้อยคำของบรรดาประกาศกในพระคัมภีร์ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล เพราะไม่เคยมีถ้อยคำใดของบรรดาประกาศกที่มาจากเจตนารมณ์ของมนุษย์ แต่มนุษย์กล่าวถ้อยคำซึ่งมาจากพระเจ้าตามที่พระจิตเจ้าทรงดลใจ" (2 ปต 1:20-21) นอกจากนั้น ความเชื่อของพระศาสนจักรคือผู้ที่รับรู้พระวาจาของพระเจ้าในพระคัมภีร์ ดังที่นักบุญออกัสตินกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า "ข้าพเจ้าคงไม่เชื่อพระวรสาร ถ้าอำนาจของพระศาสนจักรคาทอลิกไม่ชักนำให้ข้าพเจ้าทำเช่นนั้น"[5] พระจิตเจ้าซึ่งประทานชีวิตแก่พระศาสนจักรทรงบันดาลให้เราอธิบายความหมายพระคัมภีร์ได้อย่างถูกต้อง พระคัมภีร์เป็นหนังสือของพระศาสนจักร และการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ได้อย่างถูกต้องก็มาจากการที่พระคัมภีร์คงอยู่ในชีวิตของพระศาสนจักร

30.      นักบุญเยโรมเตือนเราอย่างชาญฉลาดว่า เราไม่อาจอ่านพระคัมภีร์ตามใจของแต่ละคนได้เลย เรามักพบอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงพระคัมภีร์และอาจหลงผิดไปได้ง่ายๆ พระคัมภีร์เขียนขึ้นโดยประชากรของพระเจ้าสำหรับประชากรของพระเจ้าโดยที่พระจิตเจ้าทรงดลใจ การมีความสัมพันธ์เช่นนี้กับประชากรของพระเจ้าเท่านั้น "เรา" จึงอาจรวมกันเข้าถึงแก่นความจริงที่พระเจ้าทรงปรารถนาจะตรัสกับพวกเราได้[6] นักบุญเยโรมผู้กล่าวว่า "การไม่รู้จักพระคัมภีร์คือการไม่รู้จักพระคริสตเจ้า"[7] ย้ำว่าการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ตามท่าทีของพระศาสนจักรไม่ใช่การเรียกร้องที่เพิ่มเข้ามาจากภายนอก หนังสือพระคัมภีร์เป็นเสียงของประชากรของพระเจ้าที่กำลังเดินทาง และเราอาจกล่าวได้ว่า อาศัยความเชื่อของประชากรนี้เท่านั้นเราจึงอยู่ในแนวทางถูกต้องเพื่อเข้าใจพระคัมภีร์ได้ การอธิบายความหมายพระคัมภีร์อย่างถูกต้องจึงต้องสอดคล้องกับความเชื่อของพระศาสนจักรคาทอลิก นักบุญเยโรมจึงเตือนพระสงฆ์องค์หนึ่งว่า "ท่านจงยึดมั่นในคำสอนที่ท่านได้เรียนรู้และรับมอบหมายต่อกันมา เพื่อจะตักเตือนตามคำสอนที่ถูกต้อง และตอบโต้คำสอนที่ผิดได้"[8]

การอ่านตัวบทศักดิ์สิทธิ์โดยไม่คำนึงถึงความเชื่ออาจมีความสำคัญอยู่บ้าง เมื่อคำนึงถึงโครงสร้างและรูปแบบของตัวบท ถึงกระนั้นความพยายามเช่นนี้ก็เป็นได้เพียงการเกริ่นนำเรื่องโครงสร้าง แต่ยังไม่สมบูรณ์. คณะกรรมาธิการพระคัมภีร์ของพระศาสนจักรจึงสะท้อนและยอมรับหลักเกณฑ์การอธิบายความหมายพระคัมภีร์ในปัจจุบันเมื่อยืนยันว่า "ผู้จะเข้าใจตัวบทพระคัมภีร์อย่างถูกต้องได้จะต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ตัวบทพูดด้วยเท่านั้น"[9] เท่าที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ชีวิตจิตกับการอธิบายความหมายพระคัมภีร์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด "เมื่อผู้อ่านพระคัมภีร์พัฒนาชีวิตจิตยิ่งขึ้น เขาก็ยิ่งเข้าใจเรื่องราวที่พระคัมภีร์กล่าวถึงได้ดียิ่งขึ้นด้วย"[10] ความเข้มข้นของการมีประสบการณ์ในพระศาสนจักรอย่างแท้จริงย่อมจะต้องนำเราให้มีความเข้าใจพระวาจาของพระเจ้ายิ่งขึ้นในความเชื่อที่ถูกต้องด้วย ในทางกลับกันจะต้องกล่าวด้วยว่า การอ่านพระคัมภีร์ด้วยความเชื่อย่อมทำให้ชีวิตจิตในพระศาสนจักรเติบโตขึ้นด้วย เราจึงเข้าใจความหมายของถ้อยคำของนักบุญเกรโกรีผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทุกคนรู้จักดีได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ท่านกล่าวไว้ว่า "พระวาจาของพระเจ้าเจริญเติบโตขึ้นพร้อมกับผู้อ่าน"[11] การฟังพระวาจาของพระเจ้าจึงนำเราให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นภายในพระศาสนจักรกับทุกคนที่ดำเนินชีวิตในความเชื่อ



[1] Breviloquium, Prol., Opera omnia, V, Quaracchi 1891, p.201-202.

[2] Summa Theologiae, Ia-IIae, q. 106, art.2.

[3] Pontificia Commissio Biblica, L'interpretazione della Bibbia nella Chiesa (15 Aprilis 1993), III,A.3: Ench.Vat. 13, n.3035.

[4] Conc.Oecum. Vat.II, Const.dogm.de divina Revelatione Dei Verbum, 12.

[5] Contra epistolam Manichaei quam vocant fundamenti, V, 6: PL 42,176.

[6] Cfr Benedictus XVI, Audientia Generalis (14 Novembris 2007): Insegnamenti III,2(2007),586-591.

[7] Commentariorum in Isaiam libri, Prol.: PL 24, 17.

[8] Epistula 52,7; CSEL 54, p.426.

[9] Pontificia Commissio Biblica, L'interpretazione della Bibbia nella Chiesa (15 Aprilis 1993),II, A.2: Ench.Vat.13, n.2988.

[10] Ibid., II, A.2: Ench.Vat. 13, n.2991.

[11] Homilia in Ezechielem I,VII, 8: PL 76,843 D.

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก