“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

III. พันธสัญญาที่ภูเขาซีนายa

ก. พันธสัญญาและบทบัญญัติสิบประการ

 

ชาวอิสราเอลมาถึงภูเขาซีนาย

19 1วันแรกของเดือนที่สามหลังจากที่ชาวอิสราเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์ เขามาถึงถิ่นทุรกันดารซีนาย 2ชาวอิสราเอลออกเดินทางจากเรฟีดิมมาถึงถิ่นทุรกันดารซีนาย ตั้งค่ายอยู่ในถิ่นทุรกันดารด้านหน้าภูเขาb

 

พระยาห์เวห์ทรงสัญญาจะประทานพันธสัญญาc

3โมเสสขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าบนภูเขา พระยาห์เวห์ตรัสเรียกเขาจากภูเขาว่า “จงบอกชาวอิสราเอลลูกหลานของยาโคบว่าดังนี้ 4ท่านทั้งหลายเห็นแล้วว่า เราได้ทำต่อชาวอียิปต์อย่างไร และเรานำท่านมาหาเราที่นี่เหมือนนกอินทรีที่พยุงลูกอ่อนขึ้นไว้บนปีก 5แผ่นดินทั้งหมดเป็นของเรา บัดนี้ถ้าท่านเชื่อฟังเราและรักษาพันธสัญญาของเราไว้ ในบรรดาประชาชาติทั้งมวล ท่านจะเป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของเรา 6ท่านจะเป็นอาณาจักรสมณะ เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา ท่านต้องบอกชาวอิสราเอลเช่นนี้” 7โมเสสจึงไปเรียกประชุมบรรดาผู้อาวุโสของประชากร บอกให้เขารู้ตามที่พระยาห์เวห์ทรงบัญชาทุกประการ 8แล้วประชากรทั้งหมดก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เราจะทำทุกสิ่งตามที่พระยาห์เวห์ตรัส” โมเสสก็กลับไปทูลพระยาห์เวห์ตามที่ประชากรได้พูดตอบ

 

ชาวอิสราเอลเตรียมทำพันธสัญญากับพระเจ้า

9พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า “บัดนี้ เรากำลังจะมาหาท่านในเมฆหนาทึบ เพื่อประชากรจะได้ยินเราพูดกับท่าน และเชื่อท่านตลอดไป” โมเสสจึงทูลพระยาห์เวห์ตามที่ประชากรได้พูดตอบd

10พระยาห์เวห์ตรัสกับโมเสสว่า “จงไปบอกประชากร ให้ชำระตนให้บริสุทธิ์ในวันนี้และพรุ่งนี้ ให้ซักเสื้อผ้าให้สะอาด 11เตรียมให้พร้อมสำหรับวันมะรืนนี้ เพราะในวันนั้น พระยาห์เวห์จะเสด็จลงมาบนภูเขาซีนาย ให้ประชากรทั้งปวงได้เห็น 12ท่านต้องกำหนดเขตรอบภูเขาeนี้ กันประชากรออกไป บอกเขาว่า จงระวังอย่าขึ้นไปบนภูเขาหรือแตะต้องบริเวณเชิงเขา ถ้าผู้ใดแตะต้องภูเขา ผู้นั้นจะต้องถูกประหารชีวิต 13ไม่ว่าคนหรือสัตว์ จะต้องถูกประหารชีวิตโดยเอาก้อนหินขว้างให้ตายหรือใช้ธนูยิง แต่อย่าให้ใครแตะต้องตัวเขาเลย เมื่อได้ยินเสียงเป่าเขาสัตว์ดังขึ้น ประชากรจึงจะขึ้นไปบนภูเขาได้” 14โมเสสลงจากภูเขามาพบประชากร บอกให้ทุกคนชำระตนให้บริสุทธิ์และซักเสื้อผ้า 15แล้วโมเสสสั่งประชากรว่า “จงเตรียมให้พร้อมสำหรับวันมะรืนนี้ อย่ามีเพศสัมพันธ์เลย”f

 

พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ที่ภูเขาซีนายg

16รุ่งเช้าวันที่สาม มีเสียงฟ้าร้องคำราม ฟ้าแลบแปลบปลาบ เมฆหนาทึบปกคลุมภูเขา เสียงเป่าเขาสัตว์ดังก้องไปทั่ว ประชากรในค่ายตัวสั่นด้วยความกลัว 17โมเสสนำประชากรออกมานอกค่ายเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้า เขาทั้งหลายยืนอยู่ที่เชิงเขา 18ทั่วภูเขาซีนายมีควันปกคลุมเนื่องจากพระยาห์เวห์เสด็จลงมาบนภูเขานั้น ควันไฟพลุ่งขึ้นเหมือนควันจากเตาไฟใหญ่ ภูเขาทั้งลูกสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง 19เสียงเป่าเขาสัตว์ดังยิ่งขึ้นทุกที โมเสสทูลพระเจ้า พระเจ้าก็ตรัสตอบเป็นเสียงฟ้าร้องh 20พระยาห์เวห์เสด็จลงมาบนยอดภูเขาซีนาย ทรงเรียกโมเสสให้ขึ้นไปบนยอดภูเขา โมเสสก็ขึ้นไป 21พระยาห์เวห์ตรัสสั่งโมเสสว่าi “จงลงไปและเตือนประชากรอย่าให้ข้ามเขตมาดูพระยาห์เวห์ มิฉะนั้นเขาหลายคนจะตาย 22แม้แต่สมณะที่เข้าพบพระยาห์เวห์ ก็จะต้องชำระตนให้บริสุทธิ์เสียก่อน มิฉะนั้นพระยาห์เวห์จะทรงลงโทษเขา” 23โมเสสทูลพระยาห์เวห์ว่า “ประชากรขึ้นบนภูเขาไม่ได้ เพราะพระองค์ทรงเตือนพวกเราไว้แล้วว่า จงกำหนดเขตรอบภูเขา กันไว้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์” 24พระยาห์เวห์ตรัสกับเขาว่า “บัดนี้ จงลงไปพาอาโรนขึ้นมากับท่านด้วย แต่อย่าให้สมณะและประชากรข้ามเขตขึ้นมาพบพระยาห์เวห์ มิฉะนั้น พระองค์จะทรงลงโทษเขา” 25โมเสสก็ลงไปบอกประชากรj

19 a ภาคสุดท้ายของหนังสืออพยพนี้ ส่วนใหญ่มาจากตำนานสงฆ์ (19:1-2ก; 24:15ข-31:18ก; และ 34:29-40:38) ข้อความใน 20:22-23:33 เป็นประมวลกฎหมายพันธสัญญาซึ่งมาจากธรรมประเพณีอีกสายหนึ่ง ที่เอามารวมกับเรื่องราวที่ภูเขาซีนายในภายหลัง ส่วนข้อความที่เหลือมาจากแหล่งข้อมูลโบราณซึ่งแยกไม่ออกว่า เป็นตำนานยาห์วิสต์หรือเอโลฮิสต์ ในรูปแบบปัจจุบัน พันธสัญญาสมัยโมเสสนี้รับรองว่าพระเจ้าทรงเลือกประชากรอิสราเอลและพระสัญญาที่ทรงให้ไว้ (6:6-8) เป็นความจริงแล้ว เช่นเดียวกับที่พันธสัญญาที่ทรงทำกับอับราฮัม ดังที่กล่าวถึงใน 6:5 รับรองว่าพระสัญญาที่ทรงให้ไว้ก่อนนั้นเป็นความจริง (ปฐก 17) แต่พันธสัญญากับอับราฮัมเป็นพันธสัญญากับคนคนเดียว (แม้จะรวมถึงลูกหลานของเขาก็ตาม) และมีเงื่อนไขประการเดียวคือให้เข้าสุหนัต แต่ตรงกันข้าม พันธสัญญาที่ภูเขาซีนายจะผูกมัดคนทั้งชาติซึ่งได้รับธรรมบัญญัติซึ่งประกอบด้วยบทบัญญัติสิบประการและประมวลกฎหมายพันธสัญญา ธรรมบัญญัตินี้จะรับการเพิ่มเติมในภายหลัง และจะเป็นกฎบัตรสำหรับศาสนายิว บสร 24:9-27 เรียกธรรมบัญญัตินี้ว่าเป็นพระปรีชาญาณของพระเจ้า แต่ธรรมบัญญัตินี้ยังเป็น “พยานกล่าวโทษชนชาติอิสราเอลด้วย” (ฉธบ 31:26) เพราะการละเมิดธรรมบัญญัติจะทำให้พระสัญญาเป็นโมฆะ และชวนให้พระเจ้าทรงลงโทษอิสราเอล ต่อมาในภายหลัง เปาโลจะอธิบายบทบาทของธรรมบัญญัติว่าเป็นทั้งคำสั่งสอนและการขู่สำทับ เพื่อเตรียมจิตใจประชากรอิสราเอลให้รับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกระทำพันธสัญญาใหม่ (รม 7; กท 3)

b จนกระทั่งบัดนี้ เรายังไม่รู้แน่ว่าภูเขาซีนายอยู่ที่ไหน ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่สี่ ธรรมประเพณีของคริสตชนกำหนดว่าภูเขาซีนายอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรซีนาย คือภูเขาที่เรียกว่า “เยเบลมูสา” (สูง 2,245 เมตร) ในปัจจุบันมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่ใช้ข้อมูลจากการบรรยายถึงลักษณะของภูเขาเมื่อพระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ว่าเป็นภูเขาไฟ (19:16 เชิงอรรถ g) และข้อมูลของเส้นทางเดินใน กดว 33 (ดู กดว 33:1 เชิงอรรถ a) สรุปว่า ภูเขาซีนายคงต้องอยู่ในแคว้นอาราเบีย เพราะที่นั่นเคยมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ในอดีต แต่เหตุผลดังกล่าวนี้ยังไม่พอจะให้ข้อยุติ ข้อความตอนอื่นในพระคัมภีร์เสนอแนะว่า ภูเขาซีนายน่าจะอยู่ใกล้อียิปต์ และอยู่ทางใต้ของปาเลสไตน์ ดังนั้น จึงมีอีกทฤษฎีหนึ่งระบุว่าภูเขาซีนายคงอยู่ใกล้กับคาเดช เพราะมีข้อความที่รวมเสอีร์ เอโดมและภูเขาปารานกับการสำแดงองค์ของพระเจ้า (ฉธบ 33:2; วนฉ 5:4; ฮบก 3:3) กระนั้นก็ดี ไม่มีข้อความใดเลยบอกว่า คาเดชอยู่ใกล้กับถิ่นทุรกันดารซีนาย ตรงข้ามมีข้อความบางตอนบอกอย่างชัดเจนว่าซีนายอยู่ห่างจากคาเดชมาก (กดว 11-13; ฉธบ 1:2,19) สรุปแล้ว ภูเขาซีนายน่าจะตั้งอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรซีนายดังกล่าวแล้ว (ความเห็นแรก) แม้เหตุการณ์ที่ภูเขาซีนายมีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์และประมวลกฎหมาย (3:1-4:17; 18:19-40; กดว 1-10) ชาวอิสราเอลดูเหมือนจะลืมอย่างรวดเร็วว่าภูเขาซีนายอยู่ที่ไหนกันแน่ เรื่องราวของเอลียาห์ (1 พกษ 19 ดู บสร 48:7) เป็นกรณีเดียวที่กล่าวว่ามีคนเดินทางไปถึงภูเขาซีนายอีก

c พันธสัญญาจะทำให้อิสราเอลเป็นกรรมสิทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าโดยเฉพาะ (ยรม 2:3) เป็นประชากรที่พระเจ้าทรงเจิมไว้ (ฉธบ 7:6; 26:19) หรือ “ศักดิ์สิทธิ์” (คำในภาษาฮีบรูรวมความหมายทั้งสองนี้) เพราะพระเจ้าของเขาทรงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ (ลนต 19:2 ดู ลนต 11:44ฯ; 20:7, 26) และเป็นอาณาจักรสมณะ (ดู อสย 61:6) เพราะสิ่งใดศักดิ์สิทธิ์ก็เพราะมีความสัมพันธ์กับศาสนพิธีนั่นเอง

d ประโยคนี้ซ้ำประโยคสุดท้ายในข้อ 8 เป็นสะพานเชื่อมไปสู่ตอนต่อไป

e ความศักดิ์สิทธิ์ หมายความว่า พระเจ้าทรงอยู่เหนือและแตกต่างจากสิ่งสร้างทั้งมวล ดังนั้น สถานที่ที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์จึงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเขตหวงห้าม (3:5; 40:35; ปฐก 28:16-17; ลนต 16:2; กดว 1:51; 18:22) ในทำนองเดียวกัน จึงมีข้อห้ามแตะต้องหีบพันธสัญญา (2 ซมอ 6:7) ความคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้เป็นความคิดที่มีมาแต่โบราณ แต่ยังมีบทสอนที่มีคุณค่าตลอดไปว่า มนุษย์เราไม่อาจเข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าได้ และพระเดชานุภาพของพระองค์เรียกร้องความยำเกรงจากมนุษย์

f คนโบราณเชื่อกันว่า เพศสัมพันธ์ทำให้มนุษย์เราไม่เหมาะสมจะร่วมศาสนพิธีในวันนั้น (ดู 1 ซมอ 21:5)

g พระคัมภีร์บรรยายถึงการที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ที่ภูเขาซีนาย เป็นภาพภูเขาไฟระเบิดในตำนานยาห์วิสต์ (19:18) ตำนานสงฆ์ (24:15ข-17) และตำนานเฉลยธรรมบัญญัติ (ฉธบ 4:11ข-12ก; 5:23-24; 9:15) ส่วนตำนานเอโลฮิสต์ใช้ภาพของพายุ (19:16 ดู ข้อ 19) ภาพทั้งสองนี้ สะท้อนปรากฏการณ์น่าประทับใจจากการระเบิดของภูเขาไฟกับปรากฏการณ์ที่ชาวอิสราเอลอาจได้ยินได้ฟังจากคนต่างด้าวที่มาจากอาราเบียเหนือ หรือเป็นปรากฏการณ์ที่เขาได้เห็นในสมัยของกษัตริย์ซาโลมอน (เมื่อทรงส่งคนไปยังดินแดนโอฟีร์) ชาวอิสราเอลยังคงได้เห็นพายุบนภูเขาในแคว้นกาลิลีหรือที่ภูเขาเฮอร์โมน ภาพภูเขาไฟระเบิดอาจมาจากผู้เขียนตำนานยาห์วิสต์ ซึ่งเป็นคนใต้ ส่วนภาพพายุบนภูเขาอาจมาจากผู้เขียนตำนานเอโลฮิสต์ ซึ่งเป็นคนเหนือโดยกำเนิด ภาพทั้งสองนี้ใช้แสดงพระเดชานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์ (ดู 24:16 เชิงอรรถ f) และแสดงว่าพระองค์ทรงอยู่เหนือสิ่งสร้างทั้งมวล ทำให้มนุษย์มีความยำเกรงต่อพระองค์ (ดู วนฉ 5:4ฯ; สดด 29; 68:8; 77:17-18; 97:3-5; ฮบก 3:3-15)

h แปลตามตัวอักษรว่า “เป็นเสียง” ในภาษาฮีบรูคำว่า “เสียง” ถ้าใช้พหูพจน์หมายถึงเสียงฟ้าร้องเสมอ (ดู ข้อ 16) แต่ถ้าเป็นเอกพจน์เหมือนในข้อนี้อาจหมายถึงฟ้าร้องก็ได้ หรืออาจหมายถึงเสียงตรัสที่โมเสสเข้าใจได้ด้วย

i ข้อ 21-24 เป็นข้อความที่เพิ่มเติมในภายหลัง กล่าวพาดพิงถึงข้อ 12-13 การพูดถึงสมณะในที่นี้ เป็นรายละเอียดที่เป็นไปไม่ได้ในสมัยนั้น เพราะชาวอิสราเอลยังไม่มีสมณะ

j ประโยคนี้ดูเหมือนไม่สมบูรณ์ เพราะเรื่องเล่าจะดำเนินต่อไปใน 20:18 มีบทบัญญัติสิบประการแทรกเข้ามา

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก