“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

พุ่มไม้ลุกเป็นไฟa

3 1โมเสสเลี้ยงฝูงแพะแกะของเยโธรผู้เป็นพ่อตาและสมณะแห่งมีเดียน วันหนึ่งเขาต้อนฝูงแพะแกะข้ามถิ่นทุรกันดารไปถึงโฮเรบb ภูเขาของพระเจ้า 2ทูตสวรรค์ของพระยาห์เวห์cมาปรากฏแก่เขาเป็นเปลวไฟลุกอยู่กลางพุ่มไม้ โมเสสมองดูก็เห็นว่าพุ่มไม้นั้นลุกเป็นไฟ แต่ไม่มอดไหม้ 3จึงคิดว่า “ฉันจะเข้าไปดูเหตุการณ์แปลกประหลาดนี้ใกล้ๆ ทำไมพุ่มไม้นั้นไม่มอดไหม้” 4พระยาห์เวห์ทอดพระเนตรเห็นเขาเข้ามาดูใกล้ๆ จึงตรัสเรียกเขาจากกลางพุ่มไม้ว่า “โมเสส โมเสส” เขาตอบว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่” 5พระองค์ตรัสห้ามว่า “อย่าเข้ามาใกล้กว่านี้ จงถอดรองเท้าออก เพราะสถานที่ที่ท่านยืนอยู่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์” 6พระองค์ยังตรัสอีกว่า “เราเป็นพระเจ้าของบรรพบุรุษของท่าน เป็นพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ” โมเสสยกมือขึ้นปิดหน้า ไม่กล้ามองดูพระเจ้าd

 

พระเจ้าทรงมอบภารกิจให้โมเสส

7พระยาห์เวห์ตรัสว่า “เราสังเกตเห็นความทุกข์ยากของประชากรของเราในอียิปต์ เราได้ยินเสียงร้องเพราะความทารุณของนายงาน เรารู้ดีถึงความทุกข์ทรมานของเขา 8เราลงมาช่วยเขาให้พ้นมือชาวอียิปต์ และนำเขาออกจากแผ่นดินนั้น ไปสู่แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ ไปยังแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์e ไปยังที่อาศัยของชาวคานาอัน ชาวฮิตไทต์ ชาวอาโมไรต์ ชาวเปริสซี ชาวฮีไวต์ และชาวเยบุส 9เราได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญของชาวอิสราเอล และเห็นเขาถูกชาวอียิปต์ข่มเหงอย่างทารุณ 10บัดนี้ เราจะส่งท่านไปเฝ้ากษัตริย์ฟาโรห์ เพื่อนำชาวอิสราเอลประชากรของเราออกจากอียิปต์

          11โมเสสทูลพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้ใดที่จะไปเฝ้ากษัตริย์ฟาโรห์ และนำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์” 12พระองค์ตรัสว่า “เราจะอยู่กับท่าน และเครื่องหมายfแสดงว่าเราส่งท่านไปก็คือ เมื่อท่านนำประชากรออกจากอียิปต์แล้ว ท่านทั้งหลายจะมานมัสการพระเจ้าบนภูเขานี้”

 

พระเจ้าทรงเปิดเผยพระนามg

13โมเสสทูลพระเจ้าว่า “เมื่อข้าพเจ้าไปหาชาวอิสราเอลแล้วบอกเขาว่า พระเจ้าของบรรพบุรุษของท่านทรงส่งข้าพเจ้ามาหาท่าน ถ้าเขาถามข้าพเจ้าว่า ‘พระองค์ทรงพระนามว่าอะไร’ ข้าพเจ้าจะตอบเขาอย่างไร” 14พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “เราเป็นผู้ที่เราเป็น” แล้วตรัสต่อไปว่า “ท่านต้องบอกชาวอิสราเอลดังนี้ว่า ‘เราเป็น’ ทรงส่งข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย” 15พระเจ้าตรัสกับโมเสสอีกว่า ท่านต้องบอกชาวอิสราเอลดังนี้ว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าของบรรพบุรุษของท่าน พระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ ทรงส่งข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย นามนี้จะเป็นนามของเราตลอดไป ชนรุ่นต่อๆ ไปจะต้องเรียกเราด้วยนามนี้”

 

พระเจ้าทรงอธิบายภารกิจที่ต้องทำให้โมเสส

16จงไปเรียกประชุมบรรดาผู้อาวุโสของอิสราเอล แล้วบอกเขาว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าของบรรพบุรุษของท่านทั้งหลาย พระเจ้าของอับราฮัม ของอิสอัคและของยาโคบ ทรงสำแดงพระองค์แก่ข้าพเจ้า ตรัสว่า เราได้มาเยี่ยมท่านทั้งหลายแล้วh และได้เห็นสิ่งที่ชาวอียิปต์ทำกับท่าน 17เราตกลงใจจะนำท่านให้พ้นจากความทุกข์ยากในอียิปต์ที่ท่านถูกข่มเหง ไปยังแผ่นดินของชาวคานาอัน ชาวฮิตไทต์ ชาวอาโมไรต์ ชาวเปริสซี ชาวฮีไวต์ และชาวเยบุส ไปยังแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์ 18เขาเหล่านั้นจะฟังท่าน แล้วท่านกับผู้อาวุโสชาวอิสราเอลจงไปเฝ้ากษัตริย์อียิปต์ ทูลพระองค์ว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าของชาวฮีบรูเสด็จมาหาพวกเรา ขอพระองค์ทรงอนุญาตให้พวกเราออกเดินทางไปในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสามวัน เพื่อถวายบูชาแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของเรา” 19เรารู้ดีว่า กษัตริย์อียิปต์จะไม่ทรงยอมให้ท่านทั้งหลายไปนอกจากพระองค์จะทรงถูกบังคับด้วยมืออันทรงอานุภาพของเราเท่านั้น 20เราจะเหยียดมือของเราเฆี่ยนตีชาวอียิปต์ ปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่เราจะทำในหมู่พวกเขา จะทำให้กษัตริย์อียิปต์ปล่อยท่านทั้งหลายไป

 

ชาวอิสราเอลจะริบทรัพย์ชาวอียิปต์

21“เราจะบันดาลให้ชาวอียิปต์เห็นอกเห็นใจประชากรนี้ เมื่อท่านทั้งหลายออกมาจะไม่ได้ออกมามือเปล่า 22หญิงชาวอิสราเอลแต่ละคนจะขอเครื่องเงิน เครื่องทอง และเสื้อผ้าจากหญิงที่อยู่บ้านเดียวกันและจากเพื่อนบ้าน เอามาแต่งกายให้บุตรชายบุตรหญิง ด้วยวิธีนี้ ท่านทั้งหลายจะริบเอาสิ่งเหล่านี้จากชาวอียิปต์”

 

3 a พระคัมภีร์เล่าเรื่องพระเจ้าทรงเรียกโมเสสสองครั้ง ครั้งแรก บทที่ 3-4 รวมตำนานยาห์วิสต์ (3:1-5, 7-8, 16-20 การที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์และทรงมอบภารกิจให้โมเสส) กับตำนานเอโลฮิสต์ (3:6, 9-15 พระเจ้าทรงเปิดเผยพระนาม) การเล่าครั้งที่สองมาจากตำนานสงฆ์ กล่าวถึงการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระนามและทรงมอบภารกิจแก่โมเสสอีกในอียิปต์ จะพบในบทที่ 6:2-13 และ 6:28-7:7

b โฮเรบเป็นชื่อของเทือกเขาซีนายในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติและในหนังสือประวัติศาสตร์ตามแนวเฉลยธรรมบัญญัติ เช่น หนังสือพงศ์กษัตริย์ แต่ในที่นี้ “โฮเรบ” อาจเป็นเพียงคำอธิบายของผู้คัดลอก เช่นเดียวกับใน 17:6

c “ทูตสวรรค์ของพระยาห์เวห์” หมายถึง พระเจ้าผู้ทรงสำแดงพระองค์แก่มนุษย์ (ดู ปฐก 16:7 เชิงอรรถ c)

d มนุษย์ไม่อาจมองดูพระมหิทธานุภาพของพระเจ้า และมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

e วลีนี้เป็นสูตรบรรยายความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินแห่งพระสัญญา พบบ่อยๆ ในหนังสือปัญจบรรพ

f ไม่ชัดว่า “เครื่องหมาย” นี้คืออะไร อาจหมายถึงการที่ชาวอิสราเอลจะมานมัสการพระยาห์เวห์ที่นี่ ดังที่กล่าวต่อไปในข้อนี้ หรืออาจเป็นเครื่องหมายเช่นเดียวกับใน 4:1-9 แต่ไม่บอก

g ตำนานยาห์วิสต์เล่าว่ามนุษย์นมัสการพระยาห์เวห์มาตั้งแต่ต้น (ปฐก 4:26) และเรียกพระเจ้าด้วยพระนาม “ยาห์เวห์” นี้ตลอดมาในการเล่าเรื่องบรรดาบรรพบุรุษของชนอิสราเอล แต่ตามตำนานเอโลฮิสต์ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้ พระเจ้าทรงเปิดเผยพระนามของพระองค์ ซึ่งเป็นพระเจ้าของบรรดาบรรพบุรุษว่า “ยาห์เวห์” แก่โมเสสเป็นครั้งแรก ตำนานสงฆ์ใน อพย 6:2-3 ก็ตรงกับตำนานเอโลฮิสต์นี้ด้วย แต่ยังเพิ่มเติมว่า พระนามของพระเจ้าของบรรดาบรรพบุรุษแต่เดิมคือ “เอล ชัดดาย” (ดู ปฐก 17:1 เชิงอรรถ b) เรื่องเล่าตอนนี้ซึ่งเป็นข้อความสำคัญยิ่งตอนหนึ่งในพันธสัญญาเดิม มีปัญหาอยู่ 2 ประการ ปัญหาประการแรกเป็นปัญหาทางนิรุกติศาสตร์เกี่ยวกับรากศัพท์ของพระนาม “ยาห์เวห์” ส่วนปัญหาประการที่สองเป็นปัญหาทางเทววิทยา เกี่ยวกับการอธิบายความหมายของเรื่องเล่าตอนนี้ทั้งตอน และความหมายของการเปิดเผยพระนามนี้ให้เรารู้ (1) รากศัพท์ นักวิชาการพยายามอธิบายความหมายของพระนาม “ยาห์เวห์” โดยใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาฮีบรู หรือพยายามเสาะหาความหมายจากรากคำต่างๆ ภาษาฮีบรู อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดว่าพระนาม “ยาห์เวห์” เป็นรูปโบราณรูปหนึ่งของกริยา “เป็น” (to be) ในภาษาฮีบรู นักวิชาการบางคนเข้าใจว่าเป็นรูปบอกสาเหตุ (causative form) ของกริยานี้ จึงมีความหมายว่า “พระองค์ทรงบันดาลให้เป็น” “พระองค์ทรงให้ความเป็นอยู่” แต่ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นรูปของกริยาในนิเทศมาลา ปัจจุบันกาล (present indicative) หมายความว่า “พระองค์ทรงเป็นอยู่” (He is) (2) การอธิบายความหมายของพระนามยาห์เวห์ ความหมายของพระนามมีอธิบายในข้อ 14 คำอธิบายนี้ถูกเพิ่มไว้ตรงนี้ตั้งแต่โบราณจากตำนานเดียวกัน คืออธิบายพระนาม “ยาห์เวห์” ว่ามาจากวลีว่า ’ehyeh ’asher ’ehyeh (เราเป็นผู้ซึ่งเป็น) แต่ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่าวลีนี้มีความหมายอย่างไรแน่ พระเจ้าทรงกล่าวถึงพระองค์เองโดยใช้กริยาในบุรุษที่หนึ่งเอกพจน์ ซึ่งอาจหมายความว่า “เราคือเราไงล่ะ” คือพระองค์ไม่ทรงต้องการจะเปิดเผยพระนามให้รู้ แต่การเข้าใจเช่นนี้ใช้ไม่ได้ที่นี่ เพราะพระองค์ทรงต้องการบอกให้โมเสสรู้จักพระนาม ซึ่งตามความคิดของชาวเซมิติกต้องอธิบายลักษณะพระองค์บ้างด้วย วลีภาษาฮีบรูนี้ยังแปลได้อีกว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเป็น” จึงมีความหมายว่า “เราเป็นผู้มีความเป็นอยู่” ผู้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษากรีกก็ดูเหมือนจะเข้าใจเช่นนี้ จึงแปลว่า ‘ego eimi ho on’ พระเจ้าเท่านั้นทรงเป็นผู้ที่ทรงมี “ความเป็นอยู่” อย่างแท้จริง ซึ่งหมายความว่า พระองค์ทรงมีความเป็นอยู่เหนือทุกสิ่ง และทรงเป็นความลึกลับอยู่เสมอสำหรับมนุษย์ นอกจากนั้น ตามความเข้าใจของชาวเซมิติกความเป็นอยู่จะต้องมี “ผู้อยู่ด้วย” เสมอ “ผู้มีความเป็นอยู่” ในที่นี้จึงมีความหมายว่าพระองค์ทรงอยู่กับชาวอิสราเอล และยังทรงกระทำกิจการในประวัติศาสตร์ของประชากรของพระองค์ และในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยทรงเป็นผู้นำประวัติศาสตร์ดังกล่าวไปสู่จุดหมาย ในสาระสำคัญ ข้อความตอนนี้จึงรวมเอาความคิดที่จะพัฒนาในภายหลัง (วว 1:8) รวมเข้ามาด้วย “พระผู้ทรงสรรพานุภาพ ผู้ทรงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ทรงดำรงอยู่ในอดีต และจะเสด็จมาในอนาคต”

h คำว่า “เยี่ยม” เมื่อใช้กับพระเจ้า หมายถึง สิทธิสมบูรณ์ของพระองค์ในการตรวจสอบ พิพากษาและลงโทษ การที่พระเจ้าทรงเข้าแทรกแซงในความเป็นอยู่ของปัจเจกบุคคลหรือชนชาติหนึ่ง ก็เพื่อนำบุคคลเหล่านั้นไปสู่ความสุขความเจริญ (4:31; ปฐก 21:1; 50:24-25; สดด 65:9; 80:14; ปชญ 3:7-13; ยรม 29:10; ดู ลก 1:68 เชิงอรรถ gg) หรือเป็นการลงโทษ (1 ซมอ 15:2; ปชญ 14:11; 19:15; ยรม 6:15; 23:24; อมส 3:2)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก