ข้าราชการของกษัตริย์ซาโลมอน

4 1กษัตริย์ซาโลมอนทรงเป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอลทั้งหมด 2ข้าราชการระดับสูงของพระองค์มีดังนี้a

3อาซาริยาห์บุตรของศาโดกเป็นสมณะ

เอลีโฮเรฟและอาคิยาห์บุตรของชิชา เป็นราชเลขา

เยโฮชาฟัทบุตรของอาคิลูด เป็นเจ้ากรมสารบรรณ

4เบไนยาห์บุตรของเยโฮยาดา เป็นผู้บัญชาการกองทัพ

ศาโดกและอาบียาธาร์เป็นสมณะb

5อาซาริยาห์บุตรของนาธัน เป็นหัวหน้าผู้ว่าราชการ

ศบุดบุตรของนาธันเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของกษัตริย์c

6อาคิชาร์เป็นหัวหน้าผู้ดูแลสำนักพระราชวังd

อาโดนีรัมบุตรของอับดาเป็นผู้ควบคุมงานโยธา

7กษัตริย์ซาโลมอนทรงมีผู้ว่าราชการสิบสองคนeปกครองอิสราเอลทั้งหมด เขามีหน้าที่จัดหาเสบียงอาหารสำหรับกษัตริย์และราชวงศ์ แต่ละคนต้องจัดหาเสบียงสำหรับหนึ่งเดือนในรอบปี 8รายนามของผู้ว่าราชการมีดังต่อไปนี้

บุตรของfคูร์ปกครองดินแดนแถบภูเขาเอฟราอิม

9บุตรของเดเคร์ปกครองเมืองมาคาส ชาอัลบิม เบธเชเมช อัยยาโลน และเบธคานัน

10บุตรของเคเสดปกครองเมืองอารุบโบท โสโคห์ และแผ่นดินเคเฟร์ทั้งหมด

11บุตรของอาบีนาดับปกครองบริเวณที่ลาดเชิงเขาโดร์ ภรรยาของเขาคือทาฟัทพระธิดาของกษัตริย์ซาโลมอน

12บาอานาบุตรของอาคิลูดปกครองเมืองทาอานาคและเมกิดโดจนถึงเมืองโยกเมอัม และเขตแดนเมืองเบธชานทางใต้ของเมืองยิสเรเอล ตั้งแต่เมืองเบธชานลงไปจนถึงเมืองอาเบลเมโฮลาห์ใกล้เมืองศาเรธานg

13บุตรของเกเบร์ปกครองเมืองราโมทกิเลอาดและหมู่บ้านของยาอีร์ บุตรของมนัสเสห์ในแคว้นกิเลอาด รวมทั้งดินแดนเมืองอารโกบในแคว้นบาชาน เมืองใหญ่หกสิบเมือง มีกำแพงล้อมและมีประตูลั่นดาลทองสัมฤทธิ์

14อาคินาดับบุตรของอิดโดปกครองเมืองมาหะนาอิม

15อาคิมาอัสปกครองเขตแดนนัฟทาลี เขาแต่งงานกับพระธิดาของกษัตริย์ซาโลมอนชื่อบาเสมัท

16บาอานาบุตรของคุชัยปกครองเขตแดนอาเชอร์และเบอาโลทh

17เยโฮชาฟัทบุตรของปารูอาห์ปกครองเขตแดนอิสสาคาร์

18ชิเมอีบุตรของเอลาปกครองเขตแดนเบนยามิน

19เกเบร์บุตรของอุรีปกครองดินแดนกิเลอาด ดินแดนของสิโหนกษัตริย์ชาวอาโมไรต์ และของโอกกษัตริย์แห่งบาชาน

ผู้ว่าราชการอีกคนหนึ่งปกครองเขตแดนยูดาห์i

 

4 a เราไม่ทราบชัดเจนว่าหน้าที่ของข้าราชการเหล่านี้คืออะไร เช่น “เจ้ากรมสารบรรณ” (แปลตามตัวอักษรว่า “ผู้เตือนความจำ”) อาจมีหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศและการแถลงข่าวแก่ประชาชน * “ผู้ดูแลสำนักพระราชวัง” มีหน้าที่คล้ายกับนายกรัฐมนตรีในสมัยนี้ หรือ “มุขมนตรี” ในประเทศมุสลิม * ตำแหน่ง “ที่ปรึกษาส่วนพระองค์” อาจเป็นเพียงตำแหน่งเกียรติยศ ไม่มีหน้าที่ในการปกครอง * “สมณะ” ในที่นี้อาจหมายถึง “มหาสมณะ” ซึ่งเป็นผู้นำสมณะทั้งหมด นับเป็นตำแหน่งราชการด้วย * กษัตริย์ซาโลมอนยังทรงให้เยโฮซาฟัทดำรงตำแหน่งเจ้ากรมสารบรรณที่ได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์ดาวิด แต่แต่งตั้งอาซาริยาห์บุตรของศาโดกสมณะในสมัยกษัตริย์ดาวิด ให้เป็นสมณะแทนบิดา และทรงแต่งตั้งเอลีโฮเรฟและอาหิยาห์บุตรของชิชาราชเลขาในสมัยกษัตริย์ดาวิดให้เป็นราชเลขาแทนบิดา (2 ซมอ 8:16ฯ; 20:23ฯ)

b บางคนคิดว่าข้อ 4 นี้เป็นคำอธิบายเพิ่มเติมของผู้คัดลอก เพราะข้อความเกี่ยวกับสมณะขัดกับข้อความในข้อ 2 และ 2:26ฯ

c แปลตามต้นฉบับภาษากรีกและละตินโบราณ (Vetus Latina) ต้นฉบับภาษาฮีบรูเพิ่ม “สมณะ” ก่อน “ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของกษัตริย์”

d ต้นฉบับภาษากรีกเสริมว่า “เอลีอับบุตรของโยอาบ เป็นผู้บัญชาการกองทัพ”

e “ผู้ว่าราชการ” เป็นตำแหน่งที่กษัตริย์ซาโลมอนทรงแต่งตั้งเพื่อควบคุมงานโยธาและเก็บภาษีเพื่อบำรุงบริการสาธารณะ ผู้ว่าราชการทั้ง 12 เขตแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกรวมเขตแดนเอฟราอิมและมนัสเสห์บุตรของโยเซฟ (ข้อ 8) กับเมืองของชาวคานาอันที่ยึดมาได้ (ข้อ 9-12) กับดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน (ข้อ 13-14) กลุ่มที่สองรวมเผ่าทางเหนือทุกเผ่า (ข้อ 15-17) และกลุ่มที่สามคือเผ่าเบนยามิน (ข้อ 18) และกาด (ข้อ 19) ส่วนเผ่ายูดาห์มีการปกครองพิเศษ (ข้อ 19 เชิงอรรถ l)

f “บุตรของ...” รายชื่อที่มีแต่นามของบิดาเช่นนี้ (ข้อ 8,9,10,11,13) คงหมายความว่าตำแหน่งผู้ว่าราชการดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่สืบทอดต่อกันมาในตระกูล จึงไม่ออกชื่อของบุคคลโดยเฉพาะ บางคนคิดว่าเอกสารที่แสดงรายชื่อเหล่านี้ชำรุดที่ขอบจึงทำให้ชื่อของบางคนหายไป คงอยู่แต่ชื่อของบิดา

g ในการแปลมีการเรียงลำดับชื่อเมืองตามความเป็นไปได้ทางภูมิศาสตร์ ต้นฉบับสับสน

h “เบอาโลท” ต้นฉบับภาษากรีกว่า “บนที่ราบสูง” ซึ่งอาจจะเป็นดินแดนระหว่างเมืองอัคโคและไทระ

i “เขตแดนยูดาห์” ต้นฉบับภาษาฮีบรูละคำ “ยูดาห์” คำว่า “เขตแดน” (หรือ “แผ่นดิน”) โดยไม่มีการเจาะจงอย่างอื่นมักจะหมายถึงเขตแดนของกษัตริย์ยูดาห์ เพื่อให้แตกต่างจากเขตปกครองของอิสราเอล คือเผ่าทางเหนือ ดังนั้น ยูดาห์จึงมีการปกครองพิเศษ