“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

ข. กาลอวสาน และการเสด็จมาครั้งที่สองa

บทนำ

24 1ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงออกจากพระวิหาร บรรดาศิษย์เข้ามาใกล้ ชี้ให้พระองค์ทอดพระเนตรอาคารต่างๆ ของพระวิหาร 2พระองค์ตรัสแก่เขาว่า “ท่านทั้งหลายเห็นสิ่งเหล่านี้ไหม เราบอกความจริงแก่ท่านว่า จะไม่มีก้อนหินเหลือซ้อนกันอยู่เลย ทุกสิ่งจะถูกทำลาย” 3เมื่อพระองค์ประทับบนภูเขามะกอกเทศ บรรดาศิษย์เข้ามาเฝ้า ทูลถามเป็นการส่วนตัวว่า “โปรดบอกเราเถิดว่า เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อใด และจะมีเครื่องหมายใดบอกให้รู้ถึงการเสด็จมาของพระองค์bและการสิ้นพิภพ”

ความทุกข์เริ่มต้น

4พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “จงระวังอย่าให้ใครหลอกลวงท่านได้ 5หลายคนจะอ้างนามของเรา กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นพระคริสต์’c และจะหลอกลวงคนจำนวนมากให้หลงผิด 6ท่านทั้งหลายจะได้ยินข่าวลือเรื่องสงครามทั้งใกล้และไกล จงระมัดระวัง อย่าตกใจ เหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่ยังไม่ถึงวาระสุดท้าย 7ชนชาติหนึ่งจะลุกขึ้นต่อสู้กับอีกชนชาติหนึ่ง อาณาจักรหนึ่งจะลุกขึ้นต่อสู้กับอีกอาณาจักรหนึ่ง ความอดอยากdและแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นหลายแห่งe 8ทั้งหมดนี้จะเปรียบเหมือนความทุกข์ที่เริ่มต้นในการคลอดบุตรf

9ต่อจากนั้น ท่านจะถูกจับไปทรมานและถูกประหารชีวิต ชนทุกชาติจะเกลียดชังท่านเพราะนามของเรา 10ในเวลานั้น หลายคนจะละทิ้งความเชื่อ จะทรยศและเกลียดชังกัน 11ประกาศกเทียมจำนวนมากจะต้องเกิด และจะหลอกลวงคนมากมาย 12เพราะความอธรรมจะเพิ่มมากขึ้น ความรักของคนจำนวนมากจะเย็นลง 13แต่ผู้ใดยืนหยัดอยู่จนถึงวาระสุดท้าย ผู้นั้นก็จะรอดพ้น

14ข่าวดีเรื่องพระอาณาจักรนี้จะประกาศไปทั่วโลกg เพื่อเป็นพยานสำหรับนานาชาติ เมื่อนั้น วาระสุดท้ายhจะมาถึง”

ความทุกขเวทนาอย่างใหญ่หลวงของกรุงเยรูซาเล็ม

15“เมื่อใดที่ท่านทั้งหลายเห็นผู้ทำลายที่น่ารังเกียจยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามที่ประกาศกดาเนียลได้กล่าวไว้i –ให้ผู้อ่านเข้าใจเถิด- 16เมื่อนั้น ผู้ที่อยู่ในแคว้นยูเดีย จงหนีไปยังภูเขา 17ผู้ที่อยู่บนดาดฟ้า ก็อย่าลงมาเก็บข้าวของในบ้าน 18ผู้ที่อยู่ในทุ่งนา จงอย่ากลับไปเอาเสื้อคลุมที่บ้าน 19น่าสงสารหญิงมีครรภ์และหญิงแม่ลูกอ่อนในวันนั้น 20จงอธิษฐานภาวนาอย่าให้ท่านต้องหนีในฤดูหนาว หรือในวันสับบาโต 21เพราะในเวลานั้น จะมีทุกขเวทนาใหญ่หลวงอย่างที่ไม่เคยมีตั้งแต่พระเจ้าทรงสร้างโลกจนบัดนี้ และจะไม่มีต่อไปอีกเลยj 22ถ้าพระเจ้ามิได้ทรงให้วันเหล่านั้นสั้นลง เพราะทรงเห็นแก่ผู้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้”k

23“เวลานั้น ถ้าผู้ใดบอกท่านว่า ‘พระคริสต์อยู่ที่นี่’ หรือ ‘พระคริสต์อยู่ที่นั่น’ จงอย่าเชื่อ 24เพราะจะมีพระคริสต์เทียม และประกาศกเทียมหลายคนเกิดขึ้น จะทำเครื่องหมายและปาฏิหาริย์ยิ่งใหญ่ ถ้าเป็นไปได้จะหลอกลวงแม้แต่ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้ 25ท่านทั้งหลายจงฟังเถิด เราได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ให้ฟังไว้ก่อนแล้ว”

การเสด็จมาของบุตรแห่งมนุษย์

26“ดังนั้น ถ้าใครบอกท่านว่า ‘ดูซิ พระคริสต์อยู่ในถิ่นทุรกันดาร’ ท่านอย่าไปที่นั่น ถ้าผู้ใดบอกว่า ‘ดูซิ พระคริสต์ซ่อนอยู่ที่นี่’ ท่านก็อย่าเชื่อ 27สายฟ้าแลบจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกฉันใดl บุตรแห่งมนุษย์ก็จะเสด็จมาฉันนั้น 28ที่ใดมีซากศพ ที่นั่นบรรดาแร้งกาก็จะมาชุมนุมกัน”m

การเสด็จมาของบุตรแห่งมนุษย์มีความหมายสำหรับทุกคน

29“เมื่อความทุกขเวทนาในวันเหล่านั้นผ่านพ้นไปแล้วn ดวงอาทิตย์จะมืดทันที ดวงจันทร์จะไม่ส่องแสง ดวงดาวจะตกจากท้องฟ้า และอานุภาพบนท้องฟ้าจะสั่นสะเทือนo 30เวลานั้น เครื่องหมายของบุตรแห่งมนุษย์จะปรากฏบนท้องฟ้าp มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์บนแผ่นดินจะ
ข้อน-อก และจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในเมฆบนท้องฟ้า ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่q 31พระองค์จะทรงใช้บรรดาทูตสวรรค์ให้เป่าแตรเสียงดังr รวบรวมผู้ที่ทรงเลือกสรรจากทั้งสี่ทิศ จากปลายหนึ่งจนถึงอีกปลายหนึ่งของท้องฟ้า”s

เวลาแห่งการเสด็จมาของบุตรแห่งมนุษย์

32“จงเรียนอุปมาเรื่องต้นมะเดื่อเทศเถิด เมื่อต้นมะเดื่อเทศแตกกิ่งอ่อนและผลิใบ ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่า ฤดูร้อนใกล้เข้ามาแล้ว 33เช่นเดียวกัน เมื่อท่านเห็นสิ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้น ก็จงรู้เถิดว่าพระองค์ทรงเข้ามาใกล้tจนถึงประตูแล้ว 34เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไป ก่อนที่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นu 35ฟ้าดินจะสูญสิ้นไป แต่วาจาของเราจะไม่สูญสิ้นไปเลย”

36“ส่วนเรื่องวันและเวลานั้นไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์และแม้แต่พระบุตรv นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น”

จงมีความระมัดระวังและเตรียมพร้อม

37“สมัยของโนอาห์เป็นเช่นไร เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาก็จะเป็นเช่นนั้น 38ในสมัยก่อนน้ำวินาศนั้น ผู้คนกิน ดื่ม แต่งงานกันจนถึงวันที่โนอาห์เข้าไปในเรือ 39ไม่มีใครนึกระแวงว่าจะเกิดอะไรขึ้นจนกระทั่งน้ำวินาศมากวาดพวกเขาไปหมดสิ้น เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาก็จะเป็นเช่นนั้นด้วย 40เวลานั้น คนสองคนอยู่ในทุ่งนา คนหนึ่งจะถูกรับไป อีกคนหนึ่งจะถูกทิ้งไว้ 41หญิงสองคนที่กำลังโม่แป้งอยู่ คนหนึ่งจะถูกรับไป อีกคนหนึ่งจะถูกทิ้งไว้”

42“จงตื่นเฝ้าระวังเถิด เพราะท่านไม่รู้ว่านายของท่านจะมาเมื่อไร 43พึงรู้ไว้เถิด ถ้าเจ้าบ้านรู้ว่าขโมยจะมาในยามใด เขาคงจะตื่นเฝ้าไม่ปล่อยให้ขโมยงัดแงะบ้านของตนได้ 44ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน จงเตรียมพร้อมไว้ เพราะว่าบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย”

อุปมาเรื่องผู้รับใช้ที่รับผิดชอบw

45“ใครเล่าเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์และรอบคอบซึ่งนายแต่งตั้งให้ดูแลผู้รับใช้ เพื่อแจกจ่ายอาหารให้ตามเวลาที่กำหนด 46ผู้รับใช้นั้นย่อมเป็นสุข เมื่อนายกลับมาพบเขากำลังทำเช่นนี้ 47เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สินทั้งปวงของตน 48แต่ถ้าผู้รับใช้นั้นคิดว่า ‘นายจะมาช้า’ 49แล้วเขาก็เริ่มตบตีเพื่อนผู้รับใช้ กินดื่มกับพวกขี้เมา 50นายของผู้รับใช้นั้นจะกลับมาในวันที่เขามิได้คาดหมาย ในเวลาที่เขาไม่รู้ 51นายก็จะแยกเขาออกxให้ไปอยู่กับพวกหน้าซื่อใจคด ที่นั่นจะมีแต่การร่ำไห้คร่ำครวญ และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง”

 

24 a ตามความคิดของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ คำปราศรัยเรื่องอันตวิทยาใน มธ บทนี้รวมคำปราศรัยเรื่องการทำลายกรุงเยรูซาเล็มเข้ากับคำปราศรัยเรื่องสิ้นพิภพ ดังนั้น คำปราศรัยใน มก ซึ่งกล่าวถึงการทำลายกรุงเยรูซาเล็มเท่านั้นได้รับการเสริมเพิ่มเติมสามวิธีด้วยกัน คือ (1) เพิ่มข้อ 26-28, 40-41 ซึ่งนำมาจากคำปราศรัยเรื่อง “วันของบุตรแห่งมนุษย์” ที่ ลก ก็ใช้ด้วย (ลก 17:22-37) (2) มีการดัดแปลงถ้อยคำของ มก เพื่อเป็นการเกริ่นเรื่องการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ (parousia) ข้อ 3, 27, 37, 39 ซึ่งไม่ปรากฏในพระวรสารอื่นเลย (ดู 24:3 เชิงอรรถ b; 1 คร 15:23 เชิงอรรถ n) และเกริ่นเรื่อง “วันสิ้นพิภพ” (ข้อ 3 เทียบ 13:39, 40, 49) และ “เครื่องหมายของบุตรแห่งมนุษย์” ซึ่งมีผลกระทบต่อชนทุกชาติในโลก (ข้อ 30) (3) โดยเพิ่มอุปมาหลายเรื่องในตอนสุดท้ายของคำปราศรัยเพื่อเตือนให้ระวังตัวรอคอยเตรียมพร้อม (24:42-25:30) ไว้รับเสด็จพระคริสตเจ้า และสำหรับการพิพากษาสุดท้าย (25:31-46) การผสมผสานเช่นนี้แสดงความจริงด้านเทววิทยา คือเหตุการณ์ทั้งสองนี้ แม้จะต่างเวลากัน แต่แยกจากกันได้เพราะการทำลายกรุงเยรูซาเล็มมาก่อน และเป็นรูปแบบของการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า การทำลายกรุงเยรูซาเล็มเป็นจุดจบแห่งพันธสัญญาเดิม พระคริสตเจ้าได้เสด็จมาแล้วอย่างเปิดเผยเพื่อเริ่มการปกครองเป็นกษัตริย์ของพระองค์ จะไม่มีเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นที่มีความสำคัญเช่นนี้เกิดขึ้นอีกจนกว่าจะสิ้นพิภพ เมื่อพระเจ้าจะทรงพิพากษามนุษยชาติทั้งสิ้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงเลือกไว้ในองค์พระคริสตเจ้า ดังที่พระองค์ได้ทรงพิพากษาลงโทษกรุงเยรูซาเล็มในปี ค.ศ.70

b “การเสด็จมา” คำกรีกคือ parousia หมายความว่า “การปรากฏองค์” เป็นคำที่ชาวกรีกและโรมันใช้ เพื่อหมายถึงการที่พระจักรพรรดิหรือกษัตริย์เสด็จมาเยือนอย่างเป็นทางการ คริสตชนใช้คำนี้ในความหมายเฉพาะ หมายถึงการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า (ดู 1 คร 15:23 เชิงอรรถ n) “การเสด็จมา” นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการเสด็จมาในวันสุดท้าย อาจจะหมายถึงพระอานุภาพที่พระองค์ทรงแสดงเมื่อมาสถาปนาพระอาณาจักรแห่งพระเมสสิยาห์ (หรือพระศาสนจักร - ดู 16:27-28) ในข้อความนี้มัทธิวรวมความคิดทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน

c ก่อนปี ค.ศ.70 หลายคนอ้างตนเป็นพระเมสสิยาห์ มาหลอกลวงประชาชน

d สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “โรคระบาด” (เทียบ ลก 21:11)

e เทียบ 2 พศด 15:6; อสย 8:21ฯ; 13:13; 19:2; ยรม 21:9; 34:17; อสค 5:12; อมส 4:6-11

f เทียบ อสย 13:8; 26:17; 66:7; ยรม 6:24; 13:21; ฮชย 13:13; มคา 4:9-10 วรรณกรรมของชาวยิวใช้ภาพเปรียบเทียบนี้แสดงว่าอาณาจักรแห่งพระเมสสิยาห์กำลังจะมาถึง

g “โลก” ภาษากรีก oikoumene หมายถึงดินแดนซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่ ได้แก่ดินแดนที่อารยธรรมกรีก-โรมันแผ่ไปถึง ชาวยิวทุกคนในจักรวรรดิโรมันจะต้องได้ยินข่าวดีก่อนที่อิสราเอลจะถูกลงโทษ (ดู รม 10:18) การที่มนุษย์ทุกคนได้ยินข่าวดีที่มีผู้ประกาศนี้แสดงว่าชาวยิวบางคนไม่ยอมเชื่อจึงต้องรับโทษ (เทียบ 10:18) ก่อนปี ค.ศ.70 คริสตชนได้ประกาศข่าวดีเข้าไปถึงจักรวรรดิโรมันส่วนใหญ่แล้ว (เทียบ รม 1:5, 8 คส 1:6, 23; 1 ธส 1:8)

h “วาระสุดท้าย” หมายถึงกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย

i ประกาศกดาเนียลกล่าวถึง “ผู้ทำลายที่น่ารังเกียจ” ซึ่งอาจหมายถึงรูปปั้นของเทพซุสที่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสได้ตั้งขึ้นในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มในปี 167 ก่อน ค.ศ. (ดู 1 มคบ 1:54 เชิงอรรถ r) ข้อความนี้นำมาใช้กล่าวถึงการที่กองทัพโรมันมาล้อมและยึดกรุงเยรูซาเล็ม (เทียบ ลก 21:20)

j เทียบ อพย 10:14; 11:6; 1มคบ 9:27; ยรม 30:7; บรค 2:2; ดนล 12:1; ยอล 2:2; วว 16:18

k “ผู้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้” หมายถึงชาวยิวที่ได้รับเรียกให้เข้าพระอาณาจักรของพระเจ้า คือ “ชนที่เหลือรอดชีวิตอยู่” (ดู อสย 4:3 เชิงอรรถ c; รม 11:5-7)

l การเสด็จมาของพระเมสสิยาห์จะชัดเจนเหมือนสายฟ้าแลบ พระคัมภีร์ใช้สายฟ้าแลบเป็นเครื่องหมายกล่าวถึงการที่พระเจ้าเสด็จมาพิพากษา (ดู สดด 97:4; อสย 29:6; 30:30; ศคย 9:14)

m สุภาษิตนี้หมายถึงเหตุการณ์แน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย แม้จะมองไม่เห็น เช่น เมื่อเห็นฝูงแร้งบินวนเหนือทะเลทราย เราก็แน่ใจว่าที่นั่นมีซากศพ ทั้งๆ ที่ยังมองไม่เห็น

n ข้อ 29 ต่อจากข้อ 25 ข้อ 26-28 เป็นข้อความที่แทรกเข้ามา

o เทียบ ยรม 4:23-26; อสค 32:7ฯ; ยอล 2:10; 3:4; 4:15; อมส 8:9; มคา 1:3-4 โดยเฉพาะ อสย 13:9-10; 34:4 ข้อความนี้ซ้ำถ้อยคำของ อสย

          “อานุภาพบนท้องฟ้า” หมายถึง ดวงดาวและพลังอื่นๆ ทั้งหลายในท้องฟ้า

p พระคริสตเจ้าทรงใช้ภาษาของวรรณกรรมแบบวิวรณ์ เพื่อสอนว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าจะมาถึงอย่างแน่นอน แม้จะมีการเบียดเบียนและอุปสรรคมากมาย เราจึงไม่ต้องคิดว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นตรงตามรายละเอียดที่บรรยายไว้

q ดาเนียลใช้ถ้อยคำเช่นนี้กล่าวถึงการสถาปนาพระอาณาจักรของพระเมสสิยาห์ในฐานะที่ทรงเป็นบุตรแห่งมนุษย์ที่จะเสด็จมาบนเมฆ  ทั้งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ เมฆเป็นสัญลักษณ์ของการที่พระเจ้าทรงสำแดงองค์ (อพย 13:22 เชิงอรรถ h; 19:16 เชิงอรรถ g; 34:5; ลนต 16:2; 1 พกษ 8:10-11; 2 มคบ 2:8; สดด 18:11; 97:2; 104:3; อสย 19:1; ยรม 4:13; อสค 1:4; 10:3ฯ; ในพันธสัญญาใหม่ ดู มธ 17:5; กจ 1:9, 11; 1 ธส 4:17; วว 1:7; 14:14)

r แปลตามตัวอักษร “พร้อมกับแตรใหญ่” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “พร้อมกับแตรและเสียงใหญ่”

s ข้อความนี้นำมาจาก ฉธบ 30:4 กับ ศคย 2:10 ซึ่งกล่าวถึงการรวบรวมชาวอิสราเอลที่กระจัดกระจายไป (เทียบ นหม 1:9 และ อสค 37:9 - ดู อสย 27:13) ดังนั้น ในที่นี้ เช่นเดียวกับในข้อ 22 และ 24 “ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร” นั้นคือชาวยิวที่พระยาห์เวห์จะทรงช่วยให้รอดพ้นจากความพินาศของประเทศชาติ เพื่อต้อนรับพวกเขาเข้าในพระอาณาจักรของพระองค์พร้อมกับคนต่างศาสนา (ข้อ 30)

t หมายถึง บุตรแห่งมนุษย์ซึ่งเสด็จมาสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์

u “เหตุการณ์ทั้งหมดนี้” หมายถึงการทำลายกรุงเยรูซาเล็ม ไม่ใช่การสิ้นพิภพ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน พระองค์คงได้ทรงแยกสองเรื่องนี้ให้เห็นชัดเจนกว่านี้ (ดู 16:28 เชิงอรรถ n และ 24:1 เชิงอรรถ a)

v สำเนาโบราณหลายฉบับละ “และแม้แต่พระบุตร” เพราะผู้คัดลอกคิดว่าพระเยซูเจ้าในฐานะที่เป็นพระบุตรทรงทราบทุกอย่างแล้ว แต่อันที่จริงในฐานะที่ทรงเป็นมนุษย์ พระเยซูเจ้าไม่ทรงทราบถึงเหตุการณ์ในอนาคตอย่างละเอียด ผู้นิพนธ์พระวรสารมักเล่าถึงเหตุการณ์ในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าว่า ทรงมีลักษณะรุ่งโรจน์ในฐานะที่เป็นพระเจ้า ซึ่งบรรดาสาวกได้เรียนรู้หลังจากที่ได้รับพระจิตเจ้าแล้ว (ดู ยน 1:48 เชิงอรรถ dd; มธ 8:20 เชิงอรรถ h; 16:16 เชิงอรรถ d) แนวโน้มเช่นนี้แสดงให้เห็นในการเพิ่มรายละเอียดแก่คำทำนายถึงอนาคตของพระเยซูเจ้าให้ชัดเจนขึ้น เช่น ในการทำนายอย่างละเอียดทั้งสามครั้งถึงการรับทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพ (มก 8:31; 9:31-32; 10:32-34//) ถ้าพระองค์ทรงทำนายล่วงหน้าชัดเจนเช่นนี้จริงแล้ว ทำไมบรรดาศิษย์จึงไม่เข้าใจและละทิ้งพระองค์ไป เมื่อทรงอยู่ในสวนเกทเสมนี (มก 14:33//; มก 14:50//; มธ 26:31 เชิงอรรถ l) ความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ของพระเยซูเจ้า (ฟป 2:7 เชิงอรรถ g) เรียกร้องให้พระองค์ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ (ลก 2:52) และบางครั้งพระองค์ก็ไม่ทราบบางเรื่องด้วย (เทียบ 26:39 เชิงอรรถ o)

w หลังจากพระเยซูเจ้าทรงกล่าวล่วงหน้าถึงการทำลายกรุงเยรูซาเล็มและพระอาณาจักรของพระเมสสิยาห์ซึ่งจะมาถึงอย่างเปิดเผย มัทธิวเล่าอุปมา 3 เรื่องเกี่ยวกับชะตากรรมสุดท้ายของมนุษย์แต่ละคน เรื่องแรกกล่าวถึงผู้รับใช้ของพระคริสตเจ้า ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจให้ทำเช่นเดียวกับบรรดาอัครสาวก เขาก็จะถูกตัดสินตามการปฏิบัติหน้าที่ของเขา

x “แยกเขาออก” เป็นคำที่มีความหมายไม่ชัดเจน อาจแปลว่า “ผ่าเป็นสองซีก” หรืออาจจะใช้อย่างเปรียบเทียบในความหมายว่า “แยกออกจากหมู่คณะ” คือ “ถูกขับไล่” (เทียบ 18:17)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก