“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

การประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม

2 1สิบสี่ปีต่อมาa ข้าพเจ้าขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มอีกพร้อมกับบารนาบัส และพาทิตัสไปด้วย
2ข้าพเจ้าไปตามที่พระเจ้าทรงเปิดเผย ชี้แจงให้บรรดาพี่น้องที่นั่นรู้ข่าวดีที่ข้าพเจ้าประกาศแก่คนต่างศาสนา เล่าให้คนสำคัญฟังเป็นการส่วนตัว เพื่อข้าพเจ้าจะไม่วิ่งโดยไร้ประโยชน์b 3แม้ทิตัสที่อยู่กับข้าพเจ้าจะเป็นชาวกรีก เขาก็ไม่ถูกบังคับให้ต้องเข้าสุหนัตc 4แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะบางคนที่เสแสร้งเป็นพี่น้องแฝงเข้ามาคอยจับผิดและจำกัดอิสรภาพที่เรามีในพระคริสตเยซู เพื่อทำให้เราเป็นทาส 5พวกเราไม่ยอมคล้อยตามdพวกนี้แม้แต่น้อย เพื่อรักษาความหมายแท้จริงของข่าวดีให้คงอยู่กับท่านทั้งหลายต่อไป 6แต่ผู้ที่เป็นบุคคลสำคัญก็มิได้เพิ่มเติมเรื่องใดอีกe ข้าพเจ้าไม่สนใจว่าบุคคลสำคัญเหล่านั้นเป็นใคร เพราะพระเจ้าไม่ทรงเห็นแก่หน้ามนุษย์ 7ยิ่งกว่านั้น บุคคลสำคัญเหล่านี้เห็นว่าข้าพเจ้าได้รับมอบหน้าที่ให้ประกาศข่าวดีแก่ผู้ที่ไม่ได้เข้าสุหนัต เช่นเดียวกับเปโตรได้รับมอบหน้าที่ให้ประกาศแก่ผู้ที่เข้าสุหนัตแล้ว 8เพราะพระเจ้าผู้ทรงบันดาลให้เปโตรเป็นธรรมทูตไปพบผู้ที่เข้าสุหนัตแล้ว ก็ทรงบันดาลให้ข้าพเจ้าไปพบคนต่างศาสนาเช่นเดียวกัน 9ดังนั้น เมื่อยากอบ เคฟาสและยอห์นf ซึ่งได้รับความนับถือว่าเป็นหลัก รู้เรื่องพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานแก่ข้าพเจ้าแล้วก็จับมือกับข้าพเจ้าและบารนาบัส แสดงความเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ตกลงกันว่า เราจะไปพบคนต่างศาสนา ส่วนพวกเขาจะไปพบผู้ที่เข้าสุหนัตแล้วg 10เขาเหล่านี้ขอเพียงแต่ไม่ให้เราลืมคนยากจน คำขอนี้เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะทำอยู่แล้ว

เปโตรและเปาโลที่เมืองอันทิโอก

11เมื่อเคฟาสมาที่เมืองอันทิโอก ข้าพเจ้าคัดค้านเขาซึ่งๆ หน้า เพราะเขาเป็นฝ่ายผิดh 12ก่อนที่คนของยากอบจะมา เคฟาสกินอาหารร่วมกับคนต่างชาติi แต่ครั้นพวกนั้นมา เขาก็ปลีกตัวและแยกออกมา เพราะกลัวพวกที่เข้าสุหนัต 13ชาวยิวคนอื่นจึงแสร้งทำตามเขาบ้าง แม้กระทั่งบารนาบัสเองก็หลงแสร้งทำตามพวกเขาไปด้วย

14เมื่อข้าพเจ้าเห็นว่าเขาเหล่านั้นประพฤติตนไม่ถูกต้องตามความหมายแท้จริงของข่าวดี ข้าพเจ้าจึงพูดกับเคฟาสต่อหน้าทุกคนว่า “ท่านเป็นชาวยิว ยังประพฤติตนอย่างคนต่างชาติ มิใช่อย่างชาวยิว แล้วเหตุไฉนท่านจึงบังคับคนต่างชาติให้ประพฤติตนอย่างชาวยิวเล่า”

ข่าวดีที่เปาโลประกาศj

15เราเกิดเป็นชาวยิว ไม่ใช่เป็นคนบาปต่างศาสนาk 16แต่เรารู้ว่า มนุษย์มิได้เป็นผู้ชอบธรรมจากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ แต่เป็นผู้ชอบธรรมจากความเชื่อในพระคริสตเยซูเท่านั้น เรามีความเชื่อในพระคริสตเยซูเพื่อจะได้เป็นผู้ชอบธรรมโดยอาศัยความเชื่อในพระคริสตเจ้า มิใช่จากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ เพราะไม่มีมนุษย์คนใดเป็นผู้ชอบธรรมจากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ 17ถ้าเราผู้แสวงหาความชอบธรรมในพระคริสตเจ้า ยังคงเป็นคนบาป หมายความว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้รับใช้บาปกระนั้นหรือ เป็นไปไม่ได้ 18เพราะถ้าเวลานี้ข้าพเจ้าสร้างสิ่งที่ทำลายแล้วขึ้นใหม่ ก็แสดงว่าข้าพเจ้าทำผิดมาก่อน 19เพราะอาศัยธรรมบัญญัตินั่นแหละข้าพเจ้าจึงได้ตายไปจากธรรมบัญญัติlแล้ว เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่สำหรับพระเจ้า 20ข้าพเจ้าถูกตรึงกางเขนกับพระคริสตเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้าm ชีวิตที่ข้าพเจ้ากำลังดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตในความเชื่อnถึงพระบุตรoของพระเจ้า ผู้ทรงรักข้าพเจ้าและทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า 21ข้าพเจ้ามิได้ทำให้พระหรรษทานของพระเจ้าต้องไร้ผลp ถ้าเรารับความชอบธรรมโดยปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ พระคริสตเจ้าก็คงสิ้นพระชนม์โดยเปล่าประโยชน์

 

2 a น่าจะนับจากการกลับใจของเปาโล มากกว่านับจากการพบกับเปโตรครั้งสุดท้าย "สามปี" ใน 1:18 อาจหมายถึงปีเศษๆ และ "สิบสี่ปี” ของ 2:1 อาจหมายถึงสิบสองปีเศษๆ เช่นเดียวกัน เพราะคนสมัยนั้นมักจะนับเศษของปีเป็นปีเต็มๆ

b แปลตามตัวอักษรได้ว่า "เกรงว่าข้าพเจ้ากำลังวิ่งหรือได้วิ่งไปโดยเปล่าประโยชน์" เปาโลไม่ได้สงสัยในความจริงของข่าวดีที่ตนประกาศ แต่รู้ว่าการตั้งพระศาสนจักรต่างๆ จะต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับพระศาสนจักรแม่ ในที่นี้ "ตัวแทนพระศาสนจักรแม่ ก็คือ ผู้นำทางการทั้งสามคน" ซึ่งเป็น "หลัก" (ข้อ 9) ดังนั้น เปาโลจึงรู้สึกว่า การเรี่ยไรเพื่อช่วยเหลือ "คนจน” ในกรุงเยรูซาเล็มเป็นเรื่องสำคัญ (1 คร 16:1 เชิงอรรถ a; ดูข้อ 10 ด้วย)

c ในกรณีอื่น เปาโลได้ให้ทิโมธีเข้าสุหนัต เพราะมารดาเขาเป็นชาวยิว ดังนั้นตามหลักการ ทิโมธีจึงเป็นชาวยิวด้วย (ดู กจ 16:3; เทียบ 1 คร 9:20)

d ที่นี่ เปาโลละประโยคสำคัญไว้ เพราะเป็นปัญหาที่ชาวกาลาเทียรู้ดีอยู่แล้ว คือคริสตชนนิยมลัทธิยิวบางคน เรียกร้องให้คริสตชนที่ไม่ใช่ยิวต้องเข้าสุหนัตเสียก่อน

e "มิได้เพิ่มเติมเรื่องใดอีก" แปลตามตัวอักษรว่า "ไม่ได้กำหนดอะไรอื่นแก่ข้าพเจ้า"

f "ยากอบ เคฟาสและยอห์น" บางฉบับว่า "ยากอบ เปโตรและยอห์น" หรือ "เปโตร ยากอบและยอห์น" หรือ "ยากอบและยอห์น"

g ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ แต่หมายถึงการแบ่งเขตตามเขตภูมิศาสตร์ "ผู้ที่เข้าสุหนัตแล้ว" (ตามตัวอักษร "การเข้าสุหนัต") หมายถึง ชาวยิวในปาเลสไตน์ ส่วนในเขตของ "คนต่างศาสนา" คือนอกปาเลสไตน์ เปาโลก็ไปเทศน์แก่ชาวยิวก่อนที่จะไปหาคนต่างศาสนา (กจ 13:5 เชิงอรรถ e)

h พฤติกรรมของเปโตรในตัวเองก็สมเหตุสมผล เปาโลจะทำเช่นเดียวกันในโอกาสอื่น (กจ 16:3; 21:26; 1 คร 8:13; รม 14:21; เทียบ 1 คร 9:20) แต่ในสถานการณ์ที่กำลังพูดถึงนี้ การกระทำเช่นนี้ส่อให้เห็นว่าเฉพาะชาวยิวที่กลับใจซึ่งถือตามธรรมบัญญัติเท่านั้นเป็นคริสตชนที่แท้จริง หลักการเช่นนี้เป็นการแบ่งแยกคริสตชนออกเป็นสองกลุ่ม ซึ่งรวมกันไม่ได้ในพิธีบูชาขอบพระคุณ ยิ่งกว่านั้น การกระทำของเปโตรแสดงถึง "ความไม่จริงใจ" (ข้อ 13) ในเมื่อเขาจะต้องยึดมั่นในหลักการอย่างชัดเจน

i หมายถึง ผู้กลับใจมาจากศาสนาอื่นนอกเหนือไปจากศาสนายิว เช่นเดียวกับข้อ 14 ซึ่งต่างกับผู้ที่เข้าสุหนัตของข้อ 12 และชาวยิวในข้อ 13 ซึ่งหมายถึงผู้กลับใจจากศาสนายิว

j ย่อหน้านี้พูดต่อไปถึงการประณามการกระทำของเปโตร แต่มุ่งให้คริสตชนผู้นิยมลัทธิยิวทุกคนได้รับรู้ โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในแคว้นกาลาเทีย

k "คนบาปต่างศาสนา" เป็นศัพท์เฉพาะ อาจจะใช้เป็นการประชดประชันอยู่บ้าง เปาโลไม่เคยสงสัยว่าอิสราเอลมีสิทธิพิเศษ (รม 1:16; 3:1; 9:4-5) แม้พวกเขาจะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าอยู่ระยะหนึ่งก็ตาม (รม 11:12ฯ)

l ประโยคนี้สั้นมากจนความหมายไม่ชัดเจนว่าเปาโลต้องการพูดอะไร อาจเข้าใจได้สองแบบคือ (1) คริสตชนถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระคริสตเจ้าและตายพร้อมกับพระองค์ ดังนั้น เช่นเดียวกับที่พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์ไปจากธรรมบัญญัติของโมเสส (ดู รม 7:1ฯ) (อันที่จริงพระองค์สิ้นพระชนม์เพราะธรรมบัญญัตินั้น 3:13) คริสตชนจึงมีส่วนร่วมในชีวิตของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพด้วย (รม 6:4-10; 7:4-6 พร้อมเชิงอรรถ) (2) คริสตชนตายจากธรรมบัญญัติของโมเสสในเมื่อเชื่อฟังบทบัญญัติที่เหนือกว่าเท่านั้น นั่นคือเชื่อฟังบทบัญญัติแห่งความเชื่อและของพระจิตเจ้า (รม 8:2)

m โดยทางความเชื่อ (รม 1:16) ในแง่หนึ่งถือได้ว่า พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้กระทำกิจการดีทุกอย่างที่คริสตชนทำ (รม 8:2, 10-11, 10 เชิงอรรถ f; ฟป 1:21; เทียบ คส 3:3)

n แม้คริสตชนยังดำเนินชีวิตในร่างกายอยู่ เขาก็มีชีวิตของพระจิตเจ้าอยู่ในตัวแล้ว (รม 7:5 เชิงอรรถ c; เทียบ อฟ 3:17) เกี่ยวกับเรื่องที่ดูขัดแย้งกันนี้ ดู รม 8:18-27

o สำเนาโบราณบางฉบับว่า "ความเชื่อถึงพระเจ้าและถึงพระคริสตเจ้า"

p โดยกลับไปปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอีก (ดู 3:17)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก