“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย

คำขึ้นต้นa

1 1จากเปาโล ผู้เป็นอัครสาวกโดยได้รับแต่งตั้งจากพระเยซูคริสตเจ้า และจากพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย มิใช่เป็นอัครสาวกโดยอำนาจของมนุษย์หรือโดยการแต่งตั้งจากมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่ง 2และจากพี่น้องทุกคนที่อยู่กับข้าพเจ้า

ถึงพระศาสนจักรต่างๆ ในแคว้นกาลาเทีย 3ขอพระหรรษทานและสันติจากพระเจ้าพระบิดา และจากพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราสถิตกับท่านทั้งหลายเถิด 4พระเยซูคริสตเจ้าทรงมอบพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นจากบาป และเพื่อช่วยเราให้พ้นจากความชั่วร้ายในโลกปัจจุบันb ตามพระประสงค์ของพระเจ้าพระบิดาของเรา

5ขอพระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระองค์ตลอดนิรันดร อาเมน

คำเตือนc

6ข้าพเจ้าประหลาดใจที่ท่านทั้งหลายหันเหอย่างรวดเร็วจากพระบิดาผู้ทรงเรียกท่านด้วยพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ไปเชื่อข่าวดีอื่น 7อันที่จริงแล้ว ข่าวดีอื่นdนั้นไม่มี แต่มีบางคนก่อความวุ่นวายในหมู่ท่านทั้งหลาย และประสงค์จะบิดเบือนข่าวดีของพระคริสตเจ้า 8แต่ถ้าเราหรือทูตสวรรค์ประกาศข่าวดีขัดแย้งกับที่เราเคยประกาศแก่ท่าน ขอให้ผู้นั้นถูกสาปแช่งeเถิด 9บัดนี้ ข้าพเจ้าขอพูดย้ำสิ่งที่ข้าพเจ้าเคยพูดไว้ก่อนอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าใครประกาศข่าวดีแก่ท่านขัดแย้งกับข่าวดีที่ท่านเคยรับไว้ ก็ขอให้ผู้นั้นถูกสาปแช่งเถิด 10บัดนี้ ข้าพเจ้ากำลังเอาใจมนุษย์หรือพระเจ้าf ข้าพเจ้าพยายามเอาใจมนุษย์กระนั้นหรือ หากข้าพเจ้ายังเอาใจมนุษย์g ข้าพเจ้าก็คงไม่เป็นผู้รับใช้ของพระคริสตเจ้า

I. เปาโลป้องกันตนเอง

พระเจ้าทรงเรียกเปาโล

11พี่น้อง ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านทั้งหลายรู้ว่า ข่าวดีที่ข้าพเจ้าประกาศไปแล้วนั้น มิใช่ข่าวที่มาจากมนุษย์h 12เพราะข้าพเจ้าไม่ได้รับมาจากมนุษย์ มิได้เรียนรู้จากมนุษย์ แต่ได้รับจากการเปิดเผยของพระเยซูคริสตเจ้าi 13ท่านทั้งหลายต้องเคยได้ยินเรื่องความประพฤติในอดีตของข้าพเจ้า เมื่อยังยึดถือลัทธิยิวว่า ข้าพเจ้าเคยเบียดเบียนพระศาสนจักรของพระเจ้าอย่างรุนแรง และพยายามทำลายด้วย 14ข้าพเจ้าเคร่งครัดในลัทธิยิวมากกว่าเพื่อนชาวยิวรุ่นเดียวกันหลายคน และมีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งในการรักษาประเพณีของบรรพบุรุษ 15แต่พระเจ้าผู้ทรงเลือกสรรข้าพเจ้าไว้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ก็ทรงเรียกข้าพเจ้าเดชะพระหรรษทานของพระองค์ 16และพอพระทัยที่จะสำแดงพระบุตรของพระองค์ในตัวข้าพเจ้าj เพื่อข้าพเจ้าจะได้ประกาศข่าวดีถึงพระบุตรแก่บรรดาคนต่างศาสนา ข้าพเจ้าไม่ได้ปรึกษามนุษย์ผู้ใดเลย 17และไม่ได้ขึ้นไปkกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อพบกับผู้เป็นอัครสาวกก่อนข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าออกเดินทางไปยังอาราเบียl และกลับมายังเมืองดามัสกัสอีก 18สามปีต่อมา ข้าพเจ้าขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อทำความรู้จักกับเคฟาส และพักอยู่กับเขาเป็นเวลาสิบห้าวัน 19ข้าพเจ้าไม่พบอัครสาวกอื่นๆ นอกจากยากอบm ผู้เป็นน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้า 20ข้าพเจ้าขอสาบานเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนนี้มิใช่ความเท็จ 21หลังจากนั้น ข้าพเจ้าไปในดินแดนแคว้นซีเรียและซีลีเซีย 22พระศาสนจักรต่างๆ ในแคว้นยูเดียยังไม่เคยรู้จักหน้าข้าพเจ้าเลย 23เขาเหล่านั้นเคยแต่ได้ยินว่า “ผู้ที่เคยข่มเหงพวกเรา บัดนี้กลับมาประกาศความเชื่อที่เขาเคยพยายามจะทำลาย” 24เขาเหล่านั้นจึงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเพราะข้าพเจ้า

 

1 a คำขึ้นต้นจดหมายฉบับนี้ห้วนสั้นและใช้ถ้อยคำที่ไม่สู้เป็นมิตร ผิดกับจดหมายฉบับอื่นๆ ทั้งหมด ไม่มีคำยกย่องชาวกาลาเทียแม้แต่คำเดียว ในข้อ 1 และ 4 เปาโลระบุสองหัวข้อที่จะเป็นเนื้อหาสาระสำคัญของจดหมาย คือ (1) ท่านเป็นอัครสาวกจริง (บทที่ 1-2) และ (2) ท่านเป็นผู้นำข่าวดีที่เราได้รับความรอดพ้นอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า และดังนั้นคริสตชนจึงเป็นคนอิสระ (บทที่ 3-5)

b "โลกปัจจุบัน" มีความหมายตรงข้ามกับ "โลกที่จะมาถึง" ของยุคพระเมสสิยาห์ โลกปัจจุบันนี้ตรงกับการปกครองของซาตาน (กจ 26:18) "เทพเจ้าของโลกนี้" (2 คร 4:4; เทียบ ยน 8:12; 12:31 เชิงอรรถ i; อฟ 2:2; 6:12) และตรงกับการปกครองของบาปและบทบัญญัติ (กท 3:19) โดยการสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ พระคริสตเจ้าทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระพ้นจากอำนาจเหล่านี้ ทำให้เรากลับเป็นประชากรในพระอาณาจักรของพระองค์ คือ ในพระอาณาจักรของพระเจ้า (รม 14:17; อฟ 5:5; คส 1:13) แม้ว่าเราจะยังไม่เป็นอิสระอย่างสมบูรณ์จนกว่าเราจะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย เมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง (ดู รม 5-8)

c คำเตือนนี้เข้ามาแทนการขอบพระคุณ ซึ่งตามปกติเปาโลเขียนไว้ตอนต้นของจดหมายทุกฉบับ (รม 1:1 เชิงอรรถ a)

d ข่าวดีนั้นมีอยู่ข่าวเดียว (2 คร 11:4) เป็นข่าวดีที่อัครสาวกทุกคนเป็นผู้ประกาศ (1 คร 15:11) และพระเจ้าทรงเลือกเปาโลให้มารับใช้ข่าวดีนี้ (รม 1:1; 1 คร 1:17; เทียบ กท 1:15, 16) เช่นเดียวกับในหนังสือพระวรสาร (มก 1:1 เชิงอรรถ a; และ กจ 5:42 เชิงอรรถ q) ข่าวดีนี้เป็นเรื่องที่บอกเล่าและฟังต่อกันมา เนื้อหาสาระของข่าวดีนี้คือการเปิดเผยถึงพระบุตร พระเยซูคริสตเจ้า (รม 1:1-4) ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย (1 คร 15:1-5; 2 ทธ 1:10) หลังจากที่ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน (1 คร 2:2) การเปิดเผยเช่นนี้เป็นการเริ่มต้นยุคของการบันดาลให้เป็นผู้ชอบธรรม (รม 1:16 เชิงอรรถ h) และยุคแห่งความรอดพ้น (อฟ 1:13) ตามที่บรรดาประกาศกได้ประกาศไว้เพื่อประโยชน์ของคนบาปทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือไม่ก็ตาม (รม 3:22-24) เป็นศักราชของการบันดาลให้เป็นผู้ชอบธรรม (รม 16:25-26; 1 ปต 1:10) "พระวรสาร" หรือ "ข่าวดี" อาจจะหมายความได้ถึงการที่พระเจ้าทรงเรียกเปาโล หรือสารที่เขาประกาศ (2 คร 2:12; 8:18; ฟป 1:5, 12; 4:3, 15; 1 ธส 3:2; ฟม 13) การประกาศเช่นนี้เกิดผลเพราะพระอานุภาพของพระเจ้า (1 ธส 1:3; ดู 2:13 ด้วย) ข่าวดีนี้เป็นพระวาจาแห่งความจริง ซึ่งแสดงให้เห็นพระหรรษทานของพระเจ้า (กจ 14:3; 20:24, 32; 2 คร 6:1; อฟ 1:13; คส 1:5, 6) และนำความรอดพ้นให้แก่ผู้ที่รับไว้ด้วยความเชื่อ (รม 1:16, 17 เชิงอรรถ k; 3:22; 10:14, 15; ฟป 1:28) และเชื่อฟังพระวาจา (รม 1:5; 10:16; 2 ธส 1:8) ข่าวดีนี้บังเกิดผลและแพร่ขยายไป (คส 1:6) และหน้าที่ของเปาโลก็คือ "ประกาศข่าวดีอย่างครบถ้วน" (รม 15:19) ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดสำคัญของความหวังทั้งหมดของคริสตชน (คส 1:23)

e ตามตัวอักษรคือคำว่า anathema หมายถึง สิ่งหรือมนุษย์ที่ถูกสาปแช่งให้ทำลายเสียให้หมด (ดู รม 9:3 เชิงอรรถ b) ในบริบทนี้ แปลว่า ถูกสาปแช่ง (ดู ฉธบ 7:26; 1 คร 5:5 เชิงอรรถ d)

f ดูเหมือนว่า กลุ่มผู้นิยมลัทธิยิวกล่าวหาเปาโลว่าพยายามเอาใจคนต่างศาสนาให้กลับใจโดยไม่ต้องเข้าสุหนัต ในโอกาสนี้ เปาโลตอบโต้อย่างไม่ประนีประนอมเลย

g "ยังเอาใจมนุษย์" หมายถึง การเทศน์ถึงความจำเป็นจะต้องเข้าสุหนัตดังที่เปาโลเคยทำก่อนจะกลับใจ

h "ที่มาจากมนุษย์" แปลตามตัวอักษร "ตามประสามนุษย์”

i พระเยซูเจ้าเป็นทั้งผู้เปิดเผยและเป็นเรื่องราวที่ถูกเปิดเผย (ข้อ 16) เปาโลไม่ได้หมายความว่าเขารู้ทุกอย่างมาจากการเปิดเผยโดยตรง หรือเรียนรู้ทุกอย่างโดยทันทีเมื่อเดินทางไปเมืองดามัสกัส แต่หมายถึงคำสอนเรื่องความรอดพ้นที่มาจากความเชื่อ ไม่ใช่ผลของการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ ความจริงข้อนี้เท่านั้น ที่เปาโลยืนยันว่าได้รับจากการเปิดเผยจากพระคริสตเจ้า

j บางคนแปลว่า "สำแดงพระบุตรของพระองค์แก่ข้าพเจ้า" เปาโลไม่ปฏิเสธว่านิมิตที่เขาเห็นนี้ไม่เป็นความจริง (1 คร 9:1; 15:8 ดู กจ 9:17; 22:14; 26:16) แต่เน้นว่าเป็นการเปิดเผยส่วนตัว และถือว่านิมิตนี้เป็นการเรียกตนให้เป็นอัครสาวกผู้ประกาศข่าวดีแก่คนต่างศาสนา (2:8, 9; รม 1:1 เชิงอรรถ b; อฟ 3:2-3; 1 ทธ 2:7)

k "ขึ้นไป" บางฉบับว่า "ออกเดินทางไป"

l บางทีอาจจะหมายถึงอาณาจักรของพวกอาหรับนาบาเทียน ทางตอนใต้ของเมืองดามัสกัส (1 มคบ 5:25 เชิงอรรถ h) ที่เปาโลหลบหนีจากกษัตริย์อาเรทัสไปพำนักอยู่ (2 คร 11:32)

m เปาโลเรียกยากอบเป็นอัครสาวกคนหนึ่ง ทั้งที่ไม่มีชื่อในรายชื่ออัครสาวกสิบสององค์ เป็นการใช้คำ "อัครสาวก" ในความหมายกว้างๆ (ดู รม 1:1 เชิงอรรถ b)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก