“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

เปาโลห่วงใยความเชื่อของชาวโคโลสี

2 1ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านทั้งหลายรู้ว่า ข้าพเจ้าต้องต่อสู้อย่างหนักเพียงใดเพื่อท่าน เพื่อชาวเลาดีเซีย และเพื่อทุกคนที่ไม่เคยเห็นหน้าข้าพเจ้าเลย 2เขาจะได้รับกำลังใจ มีความรักความสนิทสนมกันยิ่งขึ้น จะได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างซาบซึ้งในธรรมล้ำลึกของพระเจ้าaซึ่งหมายถึงพระคริสตเจ้า 3ในองค์พระคริสตเจ้าbมีพระปรีชาญาณและความรอบรู้ซ่อนอยู่เป็นขุมทรัพย์ล้ำค่า

4ข้าพเจ้าพูดเช่นนี้ก็เพื่อมิให้ผู้ใดใช้ถ้อยคำไพเราะหลอกลวงท่านได้c 5แม้ว่ากายข้าพเจ้าอยู่ห่างไกลจากท่าน แต่ใจนั้นอยู่ใกล้ท่าน ข้าพเจ้าดีใจที่เห็นว่าท่านทั้งหลายประพฤติเรียบร้อย และยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อต่อองค์พระคริสตเจ้า

II. คำเตือนให้ระวังความหลงผิด

จงดำเนินชีวิตตามความเชื่อแท้จริงในพระคริสตเจ้า ไม่ใช่ตามคำสอนที่ไม่ถูกต้อง

6เมื่อท่านได้รับองค์พระเยซูคริสตเจ้าแล้ว จงดำเนินชีวิตในพระองค์ต่อไป

7จงฝังรากลึก และเสริมสร้างขึ้นในพระองค์ จงมีความเชื่ออย่างมั่นคงดังที่ท่านได้รับคำสั่งสอนมา จงเต็มเปี่ยมไปด้วยการขอบพระคุณพระเจ้า

8จงระวังอย่าให้ผู้ใดใช้ปรัชญาหรือเล่ห์กลไร้แก่นสารหลอกลวงท่านdตามขนบประเพณีของมนุษย์ หรือตามจิตที่ควบคุมโลก ไม่ใช่ตามพระคริสตเจ้า

พระคริสตเจ้าเพียงพระองค์เดียวทรงเป็นประมุขของมนุษยชาติและของทูตสวรรค์

9ในองค์พระคริสตเจ้านั้น พระเทวภาพบริบูรณ์eดำรงอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้ 10และท่านได้รับความบริบูรณ์ในพระองค์ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งบรรดาเทพผู้ทรงเดชานุภาพและเทพผู้ทรงอำนาจทั้งสิ้นf

11ในองค์พระคริสตเจ้า ท่านเข้าสุหนัตอย่างแท้จริงมิใช่จากการกระทำของมนุษย์g โดยตัดส่วนหนึ่งของร่างกายทิ้ง แต่เป็นการเข้าสุหนัตที่มาจากพระคริสตเจ้าh 12เมื่อรับศีลล้างบาป ท่านทั้งหลายถูกฝังพร้อมกับพระคริสตเจ้าและกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ด้วยความเชื่อในพระเดชานุภาพของพระเจ้า ผู้ทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้ากลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย 13ในอดีตท่านตายแล้วเพราะการล่วงละเมิดและไม่ได้เข้าสุหนัตทางกาย แต่พระเจ้าiโปรดให้ท่านjมีชีวิตพร้อมกับพระคริสตเจ้าโดยทรงให้อภัยการล่วงละเมิดทั้งหลายของเราk

14พระองค์ทรงยกเลิกหนี้สินที่เรามีต่อบทบัญญัติซึ่งกล่าวหาเรา โดยทรงยกหนี้สินนั้นไปจากเรา และตรึงไว้กับไม้กางเขนl 15พระองค์ยังทรงปลดอำนาจของเทพนิกรนายผู้ทรงเดชานุภาพ และเทพนิกรอำนาจลง และทรงบังคับให้เทพเหล่านั้นเข้าขบวนแห่เฉลิมฉลองชัยชนะของพระคริสตเจ้าmต่อหน้ามหาชน

การบำเพ็ญพรตที่ไม่ถูกต้องโดยขึ้นกับ “จิตที่ควบคุมโลก”

16อย่าให้ใครตัดสินกล่าวโทษท่านในเรื่องการกินการดื่ม การถือวันฉลอง ถือวันขึ้นหนึ่งค่ำและวันสับบาโต 17สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของความเป็นจริงที่จะต้องมาถึงในอนาคต ความเป็นจริงนี้คือพระคริสตเจ้าnนั่นเอง 18อย่าให้ผู้ที่ชอบถ่อมตนกราบไหว้ทูตสวรรค์pตัดสินกล่าวโทษท่านo คนเช่นนี้มักพรรณนาสิ่งที่เขาอ้างว่าได้เห็นqอย่างละเอียด และจิตใจที่ยังคิดตามธรรมชาติมนุษย์ก็มีความหยิ่งผยองอย่างไร้ประโยชน์ 19คนเช่นนี้ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับพระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะr จากศีรษะนี้ร่างกายทั้งหมดรับทุกสิ่งที่จำเป็น มีข้อต่อและเส้นเอ็นยึดเข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว จะได้เจริญเติบโตขึ้นตามพระประสงค์ของพระเจ้า

20ถ้าท่านทั้งหลายตายพร้อมกับพระคริสตเจ้าและเป็นอิสระจากจิตที่ควบคุมโลกแล้ว ทำไมท่านจึงยังมีชีวิตอยู่ในโลกโดยยอมอ่อนน้อมต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ อีก 21เช่น “อย่าหยิบ อย่าชิม อย่าแตะต้อง” 22กฎเหล่านี้จะต้องเลิกใช้ในที่สุด เพราะเป็นกฎเกณฑ์และคำสอนที่มนุษย์คิดขึ้นเท่านั้น 23กฎเกณฑ์เหล่านี้ดูประหนึ่งว่ามีปรีชาในการปฏิบัติศาสนกิจ ในการแสดงความถ่อมตนและในการบำเพ็ญพรต แต่ที่จริงแล้ว กฎเกณฑ์ก็ไม่มีประโยชน์แต่ประการใดนอกจากส่งเสริมความพอใจของตนเองs

 

2 a สำเนาโบราณบางฉบับว่า ธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า (เทียบ 4:3; อฟ 3:4) หรือบางฉบับว่า ธรรมล้ำลึกของพระบิดาเรื่องพระคริสตเจ้า หรือ ธรรมล้ำลึกของพระเจ้าพระบิดา และของพระคริสตเจ้า ฯลฯ

b ธรรมล้ำลึกที่ซ่อนอยู่และถูกเปิดเผย ในองค์พระคริสตเจ้า คือ พระปรีชาญาณไม่มีขอบเขต ของพระเจ้า (ดู รม 16:25 เชิงอรรถ l; 1 ทธ 3:16 เชิงอรรถ e) เป็นความจริงว่าพระคริสตเจ้าผู้ถูกเปิดเผยออกมาในธรรมล้ำลึกนี้ (1:27) พระองค์ยังทรงเป็นปรีชาญาณของพระเจ้า (1 คร 1:24, 30) และพระองค์เองก็ทรงเป็นธรรมล้ำลึก (1 คร 2:7) เป็นธรรมล้ำลึกที่เข้าใจได้ยาก (อฟ 3:8, 19)

c เรื่องนี้จะขยายความต่อไปในข้อ 8ฯ

d บางคนแปลว่า หลอกลวงท่านให้กลับเป็นทาสอีก เพราะการปฏิเสธพระคริสตเจ้าหลังจากที่พระองค์ได้ทรงปลดปล่อยเขาจากอำนาจกดขี่ของ ความมืด (1:13ฯ) และหวนกลับไปหลงผิด นับได้ว่าเป็นการกลับเป็นทาสอีกครั้งหนึ่ง (เทียบ กท 4:8ฯ; 5:1)

e ในที่นี้ความหมายของคำว่า บริบูรณ์ ชัดเจนขึ้นจากคำขยายว่า สภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้ และ พระเทวภาพ ในพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ คุณลักษณะของพระเจ้าที่พระคริสตเจ้าทรงมีอยู่แล้วอย่างรุ่งโรจน์ก่อนกาลเวลา จะรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับโลกที่ถูกสร้างขึ้นทั้งหมดที่ได้ทรงรับเข้ามาโดยตรง (คือธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์) และโดยทางอ้อม (คือจักรวาลทั้งสิ้น) เมื่อทรงบังเกิดเป็นมนุษย์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังนี้ พระองค์เองจึงทรงเป็น ความบริบูรณ์ ของทุกสิ่งที่มีความเป็นอยู่

f คริสตชนได้เข้าร่วมในความบริบูรณ์ของพระคริสตเจ้าโดยเป็นส่วนหนึ่งของความบริบูรณ์นั้น นั่นคือเป็นส่วนหนึ่งของพระกายของพระคริสตเจ้า (ดู ทั้งตัวบทและเชิงอรรถ 1:19; อฟ 1:23; 3:19; 4:12-13) และดังนี้ คริสตชนจึงมีความสัมพันธ์กับประมุขของอำนาจต่างๆ ในสวรรค์ อยู่เหนืออำนาจเหล่านี้ทั้งหมด ในข้อต่อๆ ไปจะเป็นการพัฒนาความคิดสองประการนี้ คือ (1) ศิษย์ของพระคริสตเจ้ามีส่วนร่วมในชัยชนะของพระองค์ (ข้อ 11-13) และ (2) แม้กระทั่งอำนาจสวรรค์ก็ยังต้องสยบต่อชัยชนะของพระองค์ (ข้อ 14-15)

g การเข้าสุหนัตที่มือมนุษย์กระทำเป็นเพียงการขริบหนังส่วนหนึ่งออกไปเท่านั้น

h การเข้าสุหนัต ที่พระคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้น หมายถึง ศีลล้างบาป

i หมายถึง พระบิดา (เทียบ 1:22)

j ท่าน สำเนาโบราณบางฉบับว่า เรา

k เรา สำเนาโบราณบางฉบับว่า ท่าน

l ธรรมบัญญัติไม่ช่วยอะไรคนบาปได้เลย นอกจากตัดสินลงโทษให้ตาย (รม 7:7 เชิงอรรถ d) พระเจ้าได้ทรงยกเลิกการตัดสินลงโทษให้ต้องตายนี้ โดยการสิ้นพระชนม์ของพระบุตร และเพราะเหตุนี้เองพระบุตรของพระเจ้า ทรงกลับเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาป (2 คร 5:21ฯ) ทรงยอมอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ (กท 4:4) และ ทรงถูกธรรมบัญญัติสาปแช่ง (กท 3:13) เมื่อพระเจ้าทรงอนุญาตให้พระบุตรถูกประหารชีวิต พระองค์ทรงตรึงและทำลายบัญชีหนี้สินนี้ที่ตัดสินลงโทษเรา

m ธรรมประเพณีของชาวยิวถือว่า ทูตสวรรค์เป็นผู้นำธรรมบัญญัติมาประทานให้แก่โมเสส (กท 3:19 เชิงอรรถ k) และการให้ความเคารพแก่ทูตสวรรค์เหล่านี้ในฐานะเป็นผู้ประทานธรรมบัญญัติให้ (ดู คส 2:18) ทำให้ประชากรอิสราเอลสนใจต่อพระผู้สร้างที่แท้จริงน้อยลงไป แต่บัดนี้พระเจ้าได้ทรงยกเลิกระบบธรรมบัญญัตินี้ อาศัยการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าบนไม้กางเขน ดังนั้น ทูตสวรรค์เหล่านี้จึงสูญเสียอำนาจของระบบธรรมบัญญัติ และต้องยอมรับว่า พระคริสตเจ้าทรงได้ชัยชนะแล้ว

n แปลตามตัวอักษรได้ว่า แต่ร่างกายคือพระคริสตเจ้า เป็นการเล่นคำว่า soma (ร่างกาย) ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เป็นจริงมากกว่าเป็นเงาหรือภาพสะท้อน และยังหมายถึงพระวรกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ซึ่งเป็นความเป็นจริงสำคัญที่สุดของยุคสุดท้าย และเป็นเสมือนต้นกำเนิดของจักรวาลใหม่

p การถือกฎเกณฑ์เรื่องอาหารและศาสนพิธีต่างๆ (ข้อ 16) เป็นการให้ความสำคัญมากเกินไปแก่วัตถุ และดังนั้นจึงให้ความสำคัญแก่ จิตหรือทูตสวรรค์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ควบคุมวัตถุเหล่านั้น (เทียบ กท 4:3ฯ)

o หรือ อย่าให้ผู้ใดมาฉกชิงรางวัลของท่านไปได้

q สำเนาโบราณบางฉบับว่า ที่เขาไม่ได้เห็น เปาโลกำลังอธิบายความคิดผิดๆ ของอาจารย์ที่เมืองโคโลสี พวกนี้คิดไม่ถูกเพราะให้ความสำคัญมากเกินไปแก่ ภาพนิมิต ที่พวกเขาเห็น หรือเพราะพวกเขาถือว่าศาสนาเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่แลเห็นได้เท่านั้น

r หมายถึง พระคริสตเจ้า (อฟ 4:15)

s วลีนี้อาจหมายความว่า สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถปราบความโน้มเอียงที่จะทำตามความพึงพอใจของตนเอง หรืออาจจะหมายความว่า ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากที่จะสนองความพึงพอใจต่อตนเองเท่านั้น

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก