“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

อานาเนียและสัปฟีราผู้ไม่ซื่อตรง

5 1ชายคนหนึ่งชื่ออานาเนีย มีภรรยาชื่อสัปฟีราขายที่ดินของตน 2เขาแอบเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้โดยที่ภรรยาเห็นด้วย แล้วจึงนำเงินส่วนที่เหลือมอบให้บรรดาอัครสาวก 3เปโตรจึงถามว่า “อานาเนีย ทำไมซาตานเข้าสิงในใจของท่านให้กล่าวมุสาต่อพระจิตเจ้า และแอบเก็บเงินจากราคาที่ดินไว้ส่วนหนึ่งเล่า 4ที่ดินเป็นของท่านอยู่ก่อนที่จะขายมิใช่หรือ และเมื่อขายแล้ว ท่านมีสิทธิ์ที่จะเก็บเงินไว้ใช้ตามใจมิใช่หรือ ท่านคิดจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร ท่านมิได้กล่าวมุสาต่อมนุษย์ แต่กล่าวมุสาต่อพระเจ้า” 5เมื่ออานาเนียฟังถ้อยคำเหล่านี้ ก็ล้มลงสิ้นใจ ทุกคนที่รู้เรื่องนี้ต่างมีความกลัวอย่างยิ่ง 6คนหนุ่มบางคนจัดการห่อศพของเขาและนำไปฝัง

7หลังจากนั้นประมาณสามชั่วโมง ภรรยาของเขาก็มาถึงโดยไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้น 8เปโตรจึงถามนางว่า “บอกเราตามตรงนะ ท่านทั้งสองคนขายที่ดินได้เงินเท่านี้จริงหรือ” นางตอบว่า “ถูกแล้ว ได้เท่านี้” 9เปโตรจึงพูดว่า “ทำไมท่านทั้งสองคนจึงตกลงกันที่จะทดลองพระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า ฟังซิ เท้าของผู้ที่ฝังสามีของท่านอยู่ที่ประตูแล้ว เขาจะนำท่านไปฝังด้วย”

10ทันใดนั้นเอง นางก็ล้มลงแทบเท้าของเปโตรและสิ้นใจ เมื่อพวกคนหนุ่มเข้ามาก็พบว่านางตายแล้ว จึงนำศพของนางไปฝังไว้เคียงข้างสามีa 11bพระศาสนจักรทั้งหมด รวมทั้งทุกคนที่รู้เรื่องนี้มีความกลัวอย่างยิ่ง

สถานการณ์ทั่วไปc

12บรรดาอัครสาวกทำเครื่องหมายอัศจรรย์และปาฏิหาริย์หลายประการในหมู่ประชาชน ผู้มีความเชื่อทุกคนdมักจะมาชุมนุมกันที่เฉลียงซาโลมอน 13ไม่มีผู้อื่นกล้าเข้ามารวมกลุ่มกับเขา แต่ประชาชนต่างยกย่องเขาอย่างมาก 14ผู้มีความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆe ทั้งชายและหญิง 15ประชาชนนำผู้ป่วยมาที่ลานสาธารณะ วางไว้บนที่นอนและแคร่ อย่างน้อยเพื่อให้เงาของเปโตรที่เดินผ่านมาทอดปกคลุมผู้ป่วยบางคน 16ประชาชนจากเมืองต่างๆ รอบกรุงเยรูซาเล็มมาชุมนุมกัน นำผู้ป่วยและผู้ที่ถูกปีศาจชั่วร้ายทรมานมาที่นั่นด้วย ทุกคนได้รับการรักษาให้หาย

บรรดาอัครสาวกถูกจับและได้รับการปลดปล่อยอย่างอัศจรรย์

17มหาสมณะfและทุกคนที่อยู่กับเขาคือกลุ่มชาวสะดูสี มีความอิจฉาอย่างยิ่ง 18จึงจับกุมบรรดาอัครสาวกและจองจำไว้ในคุกสาธารณะ

19เวลากลางคืน ทูตสวรรค์องค์หนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้าเปิดประตูคุก นำบรรดาอัครสาวกออกไป สั่งว่า 20“ท่านทั้งหลายจงไปที่พระวิหาร ประกาศพระวาจาเกี่ยวกับวิถีชีวิตใหม่นี้gให้ประชาชนฟังเถิด” 21เมื่อบรรดาอัครสาวกได้ฟังดังนั้น ก็เข้าไปในพระวิหารตั้งแต่เช้าตรู่และเริ่มสั่งสอนที่นั่น

บรรดาอัครสาวกถูกนำตัวไปที่สภาซันเฮดริน

เมื่อมหาสมณะและทุกคนที่อยู่กับเขามาถึง ก็เรียกประชุมสภาซันเฮดรินและบรรดาผู้อาวุโสทุกคนของอิสราเอลh แล้วให้พนักงานไปที่คุกนำตัวบรรดาอัครสาวกออกมา 22แต่เมื่อพนักงานไปถึง ก็ไม่พบบรรดาอัครสาวกอยู่ในคุกแล้ว จึงกลับมารายงานว่า 23“พวกเราพบคุกปิดไว้อย่างแน่นหนาและคนเฝ้าก็ยืนรักษาการณ์อยู่ที่ประตู แต่เมื่อเราเปิดประตูเข้าไปก็ไม่พบผู้ใดเลยสักคน” 24เมื่อนายทหารรักษาพระวิหารและบรรดาหัวหน้าสมณะได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ ต่างรู้สึกสับสนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น 25ขณะนั้นเอง มีคนหนึ่งมาบอกว่า “ดูซิ คนเหล่านั้นที่ท่านทั้งหลายจองจำไว้ในคุก กำลังยืนสั่งสอนประชาชนอยู่ในพระวิหาร” 26นายทหารรักษาพระวิหารพร้อมกับนายทหารยามจึงไปนำบรรดาอัครสาวกมาโดยไม่ใช้กำลัง เพราะเกรงประชาชนจะขว้างด้วยก้อนหิน

27เขานำบรรดาอัครสาวกมายังสภาซันเฮดริน มหาสมณะจึงกล่าวหาว่า 28“เรากำชับท่านทั้งหลายอย่างแข็งขันแล้ว ไม่ให้สอนโดยออกนามนี้i แต่ท่านยังขืนนำคำสอนของตนมาแพร่ไปทั่วกรุงเยรูซาเล็ม และต้องการให้โลหิตของคนคนนี้ตกอยู่กับเรา” 29เปโตรและบรรดาอัครสาวกตอบว่า “เราต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์ 30พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของเราทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้าที่ท่านทั้งหลายประหารชีวิตโดยตรึงบนไม้กางเขนjนั้นกลับคืนพระชนมชีพ 31พระเจ้าทรงยกพระองค์ท่านขึ้นประทับเบื้องขวาในฐานะเป็นหัวหน้าและผู้กอบกู้k เพื่อให้อิสราเอลกลับใจและรับการอภัยบาป 32เราทั้งหลายเป็นพยานในเรื่องนี้ และพระจิตเจ้าlซึ่งพระเจ้าประทานแก่ผู้ที่เชื่อฟังพระองค์ก็ทรงเป็นพยานด้วย” 33เมื่อได้ฟังดังนี้ ทุกคนในสภาซันเฮดรินรู้สึกโกรธเคืองอย่างมาก อยากจะฆ่าบรรดาอัครสาวก

กามาลิเอลเสนอความคิดเห็น

34ขณะนั้น อาจารย์กฎหมายชาวฟาริสีคนหนึ่งชื่อกามาลิเอล เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนm ยืนขึ้นในสภาซันเฮดรินและขอให้นำบรรดาอัครสาวกออกไปข้างนอกสักครู่หนึ่ง 35แล้วจึงกล่าวแก่บรรดาสมาชิกสภาว่า “ชาวอิสราเอลทั้งหลาย ท่านจะทำอะไรกับคนเหล่านี้ ก็จงคิดให้ดีเสียก่อน 36เมื่อไม่นานมานี้ คนคนหนึ่งชื่อเทวดัสตั้งตนเป็นผู้วิเศษ คนประมาณสี่ร้อยคนติดตามเขา แต่เมื่อเขาถูกฆ่า ทุกคนที่ติดตามเขาก็กระจัดกระจายไปจนหมดสิ้น

37หลังจากนั้น ในสมัยสำรวจจำนวนประชาชน ก็มียูดาสชาวกาลิลีชักจูงประชาชนให้มาติดตามตน แต่เขาก็ถูกฆ่าด้วย ทุกคนที่ติดตามเขาก็กระจัดกระจายไปn 38บัดนี้ข้าพเจ้าขอบอกท่านทั้งหลายว่า จงเลิกสนใจคนเหล่านี้และปล่อยเขาไปเถิด เพราะถ้าแผนการและกิจการของเขามาจากมนุษย์ แผนการและกิจการนั้นก็จะสลายไปเอง 39แต่ถ้ามาจากพระเจ้า ท่านทั้งหลายจะทำลายเขาไม่ได้o ยิ่งกว่านั้น ท่านจะกลับเป็นผู้ต่อสู้กับพระเจ้าเสียเอง”

ทุกคนเห็นด้วยกับกามาลิเอล 40จึงส่งคนไปเรียกบรรดาอัครสาวกเข้ามา สั่งให้เฆี่ยนและกำชับมิให้พูดในพระนามพระเยซูเจ้า แล้วปล่อยตัวไป 41บรรดาอัครสาวกออกจากสภาซันเฮดริน มีความยินดีที่ได้รับเกียรติที่ถูกสบประมาทเพราะพระนามพระเยซูเจ้าp

42ทุกๆ วัน เขาทั้งหลายสั่งสอนและประกาศข่าวดีqอย่างต่อเนื่องทั้งในพระวิหารและตามบ้านว่าพระเยซูเป็นพระคริสตเจ้า

 

5 a ความผิดของอานาเนียและสัปฟีราคือความโลภ ทำให้กล่าวมุสาต่อบรรดาอัครสาวก และต่อพระจิตเจ้าผู้สถิตในบรรดาอัครสาวกและพี่น้องคริสตชนทุกคน จุดประสงค์ของเรื่องเศร้าเรื่องนี้คงจะเป็นการแสดงอำนาจของเปโตรในการอ่านใจของสมาชิกในกลุ่มคริสตชน (เทียบ 2 พกษ 2:23-24)

b “พระศาสนจักร” (ekklesia) เป็นคำที่ยกมาจากพันธสัญญาเดิม (เทียบ 7:38) หมายถึง กลุ่มผู้ติดตามพระเมสสิยาห์ (มธ 16:18 เชิงอรรถ g) ความหมายของคำนี้ยังพัฒนาต่อไปควบคู่กับการขยายตัวของกลุ่มคริสตชน แต่เดิมหมายถึงพระศาสนจักรแม่ในกรุงเยรูซาเล็ม (8:1; 11:22) ต่อมาหมายถึงกลุ่มคริสตชนแต่ละแห่งทั่วแคว้นยูเดีย (กท 1:22; 1 ธส 2:14; เทียบ กจ 9:31) และกลุ่มคริสตชนท่ามกลางคนต่างศาสนา (กจ 13:1; 14:23; 15:41; 16:5; รม 16:1, 4; 1 คร 1:2 เชิงอรรถ a; ยก 5:14; 3 ยน 9; วว 1:4; 2:1) หมายถึงการชุมนุมกันของคริสตชน (1 คร 11:18; 14:23, 34; เทียบ กจ 19:32; ฟม 2) หรือหมายถึงสถานที่หรืออาณาบริเวณที่คริสตชนอาศัยอยู่ (รม 16:5; 1 คร 16:19; คส 4:15) และในที่สุดยังหมายถึงพระศาสนจักรที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะมีพระเจ้าเป็นผู้ปกครอง (20:28; 1 คร 10:32; 12:27-28) เพราะพระศาสนจักรเป็นพระวรกายและเจ้าสาวของพระคริสตเจ้า (อฟ 5:23-32; คส 1:18 เชิงอรรถ e) และพระศาสนจักรในฐานะที่รวมจักรวาลทั้งหมดไว้ด้วยกัน (อฟ 1:22-23, 23 เชิงอรรถ t)

c “การสรุป” ครั้งที่สามนี้ เน้นถึงอำนาจการทำอัศจรรย์ของบรรดาอัครสาวก (เทียบ 2:43; 4:33) แต่ข้อ 12ข-14 ดูเหมือนจะเป็นข้อความที่แทรกเข้ามา ทำให้ความคิดเรื่องอัศจรรย์นี้ขาดความต่อเนื่องไป

d แปลตามตัวอักษร “เขาทุกคน”

e ยังแปลได้อีกว่า “คนจำนวนมากทั้งชายและหญิงได้เพิ่มเข้ามาเป็นผู้เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (เทียบ 11:24)

f สำเนาโบราณบางฉบับว่า “อันนาสผู้เป็นมหาสมณะ” (เทียบ 4:6)

g แปลตามตัวอักษรว่า “ถ้อยคำทั้งหมด (เทียบ 10:37) ของชีวิตนี้” มีความหมายเช่นเดียวกันกับ “ข่าวสารแห่งความรอดพ้น” (13:26)  จุดประสงค์ของการเทศน์สอนของคริสตชนคือ “ความรอดพ้น” (ดู 4:12; 11:14; 15:11; 16:17, 30-31) และ “ชีวิต” (ดู 3:15; 11:18; 13:46, 48) ซึ่งพระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้แก่ “ผู้ที่เรียกขานพระนามองค์พระผู้เป็นเจ้า” (2:21, 40, 47; 4:12)

h คำว่า “สภาซันเฮดริน” และ “ผู้อาวุโส” มีความหมายเดียวกันกับ “สภาซันเฮดรินยิ่งใหญ่ที่กรุงเยรูซาเล็ม” (ดู ลก 22:66 เชิงอรรถ t) แนวความคิดเรื่องการปลดปล่อยจากคุกอย่างอัศจรรย์ที่พบบ่อยๆ ทั้งใน กจ 12:6-11; 16:26-27 และในวรรณกรรมของชาวยิว เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการปกป้องคุ้มครองอย่างพิเศษของพระเจ้า

i สำเนาโบราณบางฉบับทำให้ประโยคนี้เป็นคำถาม “เราได้กำชับ…มิใช่หรือ” “เราได้ห้ามอย่างชัดแจ้งมิให้ท่านสั่งสอนในนามนั้นหรือ และบัดนี้…” เปโตรจึงตอบว่า “เราต้องเชื่อฟังใคร พระเจ้าหรือมนุษย์” มหาสมณะตอบว่า “พระเจ้า” เปโตรจึงกล่าวว่า “พระเจ้าของบรรพบุรุษของเรา…”

j “ประหารชีวิตโดยตรึงบนไม้กางเขน” วลีนี้มีซ้ำอีกใน 10:39 (ดู 13:29) ชวนให้คิดถึง ฉธบ 21:22-23 ซึ่งเปาโลอ้างถึงใน กท 3:13; (ดู 1 ปต 2:24)

k “หัวหน้าและผู้กอบกู้” มีความหมายคล้ายกับ “เจ้าแห่งชีวิต” (3:15 เชิงอรรถ k) และยังสะท้อนตำแหน่ง “ผู้นำและผู้ไถ่กู้” ของโมเสส ซึ่งเป็นรูปแบบล่วงหน้าของพระคริสตเจ้า (7:35 เทียบ 7:25 ดู ฮบ 2:10; 12:2 ด้วย)

l เทียบ 1:8; มธ 10:20//; ยน 15:26-27

m กามาลิเอลคนนี้เป็นอาจารย์ของเปาโล (22:3) มีความคิดตรงกับสำนักฮิลเลลซึ่งสนับสนุนการตีความธรรมบัญญัติอย่างอิสระและมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ นโยบายที่เขาเสนอแนะนี้สอดคล้องกับความคิดของชาวฟาริสี (ดู 4:1 เชิงอรรถ a)

n โยเซฟุสกล่าวถึงการกบฏของเทวดัสและยูดาสชาวกาลิลี ราวปี ค.ศ. 44-46 แต่วันเวลาที่เขาให้ ดูจะไม่น่าเชื่อถือ กบฏทั้งสองครั้งนี้ต้องเกิดขึ้นใกล้เคียงกับการประสูติของพระเยซูเจ้า

o สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “ทั้งท่านทั้งหลาย กษัตริย์และผู้มีอำนาจ จงอยู่ห่างจากคนเหล่านี้เถิด มิฉะนั้น…”

p พระนามที่ทำให้บรรดาอัครสาวกยอมทนทุกข์ทรมาน (เทียบ 21:13; 1 ปต 4:14; 3 ยน 7) พระนามที่บรรดาอัครสาวกเทศน์สอน (4:10, 12, 17, 18; 5:28, 40; เทียบ 3:6, 16; 8:12, 16; 9:15, 16, 27, 28) และพระนามที่บรรดาคริสตชนเรียกขาน (2:21; 4:12; 9:14, 21; 22:16) คือพระนาม “เยซู” (พระนามหมายถึงพระบุคคล) (3:16 เชิงอรรถ l) พระองค์ทรงได้รับพระนามเมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพ (2:36 เชิงอรรถ w) เป็นพระนามซึ่งอยู่เหนือนามอื่นใด พระนามนี้คือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งจนบัดนี้เป็นพระนามที่สงวนไว้สำหรับ “พระเจ้า” เท่านั้น (ฟป 2:9-11, 11 เชิงอรรถ p)

q ข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร (มก 1:1 เชิงอรรถ a) ที่บรรดาอัครสาวกเทศน์สอน (กจ 8:4, 25, 40; 14:7, 15, 21; 16:10) หรือ “พระวรสาร” (15:7; 20:24) เป็นรูปธรรมในพระบุคคลของพระเยซูเจ้าสำหรับคริสตชนในสมัยแรก (8:35) พระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ (13:32ฯ; 17:18; ดู 2:23 เชิงอรรถ p; 9:20) เป็นพระบุตรของพระเจ้าในพระอานุภาพ (ดู รม 1:1 เชิงอรรถ b) เป็นพระคริสตเจ้า (5:42; 8:12; เทียบ 9:22) และทรงเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (10:36; 11:20; 15:35; ดู 2:36 เชิงอรรถ w)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก