“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

5 1เรารู้ว่าa เมื่อกระโจมที่เราอาศัยอยู่ในโลกนี้ถูกเก็บไปแล้ว เรายังมีบ้านซึ่งพระเจ้าทรงสร้างไว้สำหรับเรา เป็นบ้านที่ไม่ได้สร้างด้วยมือมนุษย์ แต่เป็นบ้านถาวรนิรันดรอยู่ในสวรรค์ 2ตราบใดที่เราอยู่ตามสภาพปัจจุบัน เราก็คร่ำครวญปรารถนาอย่างยิ่งที่จะสวมใส่ร่างกายที่มาจากสวรรค์ 3ขณะที่ยังสวมร่างกายนี้อยู่ เราไม่เปลือยเปล่าb 4โดยแท้จริงแล้ว ขณะที่เรายังอยู่ในร่างกายนี้ เรากำลังคร่ำครวญเพราะต้องแบกภาระหนัก เราไม่ปรารถนาจะถูกปลดเปลื้องจากร่างกายปัจจุบันนี้ แต่ต้องการสวมใส่ร่างกายจากสวรรค์ เพื่อสิ่งที่ตายได้จะถูกชีวิตกลืนเข้าไป 5พระเจ้าทรงสร้างเรามาเพื่อจุดประสงค์นี้ และประทานพระจิตเจ้าเป็นเครื่องประกันให้เรา

6เรามีความมั่นใจอยู่เสมอและรู้ว่า เมื่อเรามีชีวิตอยู่ในร่างกาย เราก็ถูกเนรเทศห่างจากองค์พระผู้เป็นเจ้า 7เราดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ มิใช่ตามที่มองเห็นc 8เรามีความมั่นใจและปรารถนาที่จะถูกเนรเทศจากร่างกายมากกว่า เพื่อไปอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้าd 9ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในร่างกายหรือถูกเนรเทศจากร่างกาย เราก็มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เป็นที่พอพระทัย 10เพราะเราทุกคนจะต้องปรากฏเฉพาะพระบัลลังก์ของพระคริสตเจ้า เพื่อแต่ละคนจะได้รับสิ่งตอบแทนสมกับที่ได้ทำเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในร่างกาย ขึ้นอยู่กับการกระทำนั้นว่าจะดีหรือชั่ว

งานธรรมทูตของเปาโล

11ดังนั้น เราจึงรู้ว่าความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าคืออะไร และพยายามชักชวนบุคคลทั้งหลายให้เห็นความจริง เราไม่มีสิ่งใดต้องปิดบังพระเจ้า และเราหวังว่าไม่มีสิ่งใดปิดบังมโนธรรมของท่านด้วย 12เรามิได้รับรองตนเองแก่ท่าน แต่ต้องการให้ท่านมีโอกาสที่จะภูมิใจในเรา เพื่อท่านจะตอบผู้ที่โอ้อวดตนเองในสิ่งที่ปรากฏภายนอกได้ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงที่อยู่ภายใน 13ถ้าเราเสียสติไปบ้าง เราก็เสียสติเพื่อพระเจ้า ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราก็มีสติเพื่อท่านทั้งหลายe 14เพราะความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา เราแน่ใจว่า ถ้าคนหนึ่งตายเพื่อทุกคน ก็เหมือนกับว่าทุกคนได้ตายด้วยf 15พระองค์สิ้นพระชนม์แทนทุกคน เพื่อผู้ที่มีชีวิตจะได้ไม่มีชีวิตเพื่อตนเองอีกต่อไป แต่มีชีวิตเพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์ และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อเขา

16ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่พิจารณาผู้ใดตามมาตรฐานมนุษย์อีก แม้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยพิจารณาพระคริสตเจ้าตามมาตรฐานมนุษย์ แต่บัดนี้เราไม่พิจารณาพระองค์ตามมาตรฐานนี้อีกต่อไปg 17ดังนั้น ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสตเจ้า ผู้นั้นก็เป็นสิ่งสร้างใหม่h สภาพเก่าผ่านพ้นไป สภาพใหม่เกิดขึ้นแล้วI 18ทุกสิ่งมาจากพระเจ้า พระองค์ทรงทำให้เราคืนดีกับพระองค์เดชะพระคริสตเจ้า และทรงมอบภารกิจการคืนดีนี้ให้เรา 19กล่าวคือ พระเจ้าทรงทำให้โลกคืนดีกับพระองค์ในองค์พระคริสตเจ้า พระองค์มิได้ทรงเอาผิดกับมนุษย์ แต่ทรงมอบให้เราประกาศสารแห่งการคืนดีนี้

20ดังนั้น เราจึงเป็นทูตแทนพระคริสตเจ้า ประหนึ่งว่าพระเจ้าทรงใช้เราให้เชิญชวนท่านทั้งหลาย เราจึงขอร้องแทนพระคริสตเจ้าว่า จงยอมคืนดีกับพระเจ้าเถิด 21เพราะเห็นแก่เรา พระเจ้าจึงทรงทำให้พระองค์ผู้ไม่รู้จักบาปเป็นผู้รับบาปj เพื่อว่าในพระองค์เราจะได้กลายเป็นผู้ชอบธรรมของพระเจ้า

 

5 a 5:1-10 เป็นความคิดต่อเนื่องต่อจาก 4:16-18 เปาโลเปรียบเทียบธรรมชาติภายนอกของมนุษย์ที่เสื่อมสลายได้ กับธรรมชาติภายในซึ่งพัฒนายิ่งๆ ขึ้น (ข้อ 16 ดู รม 7:22 เชิงอรรถ j) ธรรมชาติภายในนี้เป็นสิ่งเดียวกับมนุษยชาติใหม่ (คส 3:10 เชิงอรรถ e) เป็นมัดจำของพระจิตเจ้า (2 คร 5:5; เทียบ รม 8:23) ธรรมชาติภายในนี้จะสมบูรณ์ในวันกลับคืนชีพ เมื่อผู้มีความเชื่อจะสวมใส่ร่างกายจากสวรรค์ (2 คร 5:2) คือร่างกายที่พระจิตเจ้าประทานชีวิตให้ (เทียบ 1 คร 15:44) ดังนั้น เปาโลจึงปรารถนาอย่างยิ่ง (5:2) ที่จะบรรลุถึงความสมบูรณ์นี้ โดยที่ความตายก่อนการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าจะไม่ทำให้ท่านต้องอยู่เปลือยเปล่า ปราศจากร่างกายนี้แม้เพียงชั่วขณะ (5:4) เปาโลจึงหวังว่าตนยังมีชีวิตอยู่ขณะที่พระคริสตเจ้าจะเสด็จมา (แต่ดู 5:8 เชิงอรรถ d)

b หมายความว่าเรายังไม่ตายเมื่อพระคริสตเจ้าจะเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ เปาโลต้องการเป็นคนหนึ่งในพวกที่ยังมีชีวิตอยู่และเห็นการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า แล้วร่างกายจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องตาย เขา "สวมใส่" "ร่างกายที่พระจิตเจ้าทรงทำให้มีชีวิต" ทับบนร่างกายตามธรรมชาติ (1 คร 15:44, 53, 54) คำแปลอีกแบบหนึ่งคือ "เมื่อได้สวมใส่ร่างกายนั้นแล้ว เราจะไม่เปลือยเปล่า"

c เทียบ 1 คร 13:12 เปาโลเปรียบเทียบว่าความเชื่อเป็นการแลเห็นที่ยังไม่สมบูรณ์ ข้อความตอนนี้สำคัญเพราะเน้นว่าความรู้เป็นลักษณะหนึ่งของความเชื่อ

d ที่นี่และใน ฟป 1:23 เปาโลคิดถึงความชิดสนิทเป็นหนึ่งเดียวของคริสตชนกับพระคริสตเจ้าเมื่อแต่ละคนสิ้นใจ ความคิดนี้ไม่ขัดกับคำสอนของพันธสัญญาเดิมเรื่องการกลับคืนชีพของมนุษย์ทุกคนในวันสุดท้าย (รม 2:6 เชิงอรรถ b; 1 คร 15:44 เชิงอรรถ w) การคาดว่าวิญญาณของแต่ละคนจะได้รับความสุขเมื่อออกจากร่างกาย แสดงให้เห็นอิทธิพลของความคิดกรีกซึ่งมีอยู่ในลัทธิยิวแล้ว (เทียบ ลก 16:22; 23:43; 1 ปต 3:19 เชิงอรรถ h) แต่ให้ดูข้อความที่พูดถึงสภาพของผู้เข้าฌานเมื่อวิญญาณ "อยู่นอกร่างกาย" (12:2ฯ เทียบ วว 1:10; 4:2; 17:3; 21:10 ด้วย)

e เป็นการพูดพาดพิงถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น เปาโล "เสียสติไป" เมื่อเขียนจดหมาย "ด้วยน้ำตานองหน้า" (2:4) แต่เขาได้ทำไป "เพื่อพระเจ้า" คือชี้ให้เห็นว่าข้อเรียกร้องของพระเจ้าไม่มีการประนีประนอม ถ้าเปาโล "มีสติสัมปชัญญะก็ทำไปเพื่อท่านทั้งหลาย" คือเพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่านในความปรารถนาที่จะ "ชักชวนผู้คนให้เห็นความจริง" ในทั้งสองกรณี เปาโล "รู้สึกว่าความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันตนอยู่" (5:14)

f พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพื่อทุกคน คือในนามของทุกคน ในฐานะเป็นหัวหน้าแทนมนุษยชาติ แต่การสิ้นพระชนม์นี้มีคุณค่าก็เพราะพระคริสตเจ้าทรงแสดงความนอบน้อมเชื่อฟังด้วยความรัก ยอมสิ้นพระชนม์ มอบชีวิตทั้งหมดเป็นเครื่องบูชา (รม 5:19 เชิงอรรถ l; ฟป 2:8; เทียบ ลก 22:42//; ยน 15:13; ฮบ 10:9-10) ผู้มีความเชื่อมีส่วนร่วมในการสิ้นพระชนม์นี้อาศัยศีลล้างบาป (รม 6:3-6) และจะต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับการถวายองค์ของพระคริสตเจ้าด้วย (2 คร 5:15 และ รม 6:8-11)

g เปาโลไม่ได้อ้างว่าเคยรู้จักพระเยซูเจ้าเป็นการส่วนตัว เขายืนยันว่า ไม่มีใครแม้กระทั่งผู้ที่เคยรู้จักพระองค์ อาจจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ "ตามมาตรฐานมนุษย์" เช่น ความสัมพันธ์ทางครอบครัว ความคุ้นเคย เชื้อชาติ (ดู มก 3:31-35//) บางคนอธิบายว่าเปาโลกำลังเปรียบเทียบความรู้เกี่ยวกับพระคริสตเจ้าที่ตนมีในปัจจุบัน ในฐานะที่พระคริสตเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ กับความรู้ที่เคยมีก่อนกลับใจ เมื่อเปาโลคิดว่าพระคริสตเจ้าเป็นศัตรูของตน

h พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งโดยทางพระคริสตเจ้า (เทียบ ยน 1:3) ทรงปรับปรุงผลงานของพระองค์ที่บาปได้ทำให้บกพร่องไป โดยทรงสร้างขึ้นใหม่ในพระคริสตเจ้า (คส 1:15-20 เชิงอรรถ d) สิ่งที่อยู่เป็นศูนย์กลางของ "การสร้างใหม่" นี้ (ที่นี่และ กท 6:15) ซึ่งแผ่รวมจักรวาลทั้งหมด (คส 1:19 เชิงอรรถ f; เทียบ 2 ปต 3:13; วว 21:1) คือ "มนุษยชาติใหม่" ที่ถูกสร้างขึ้นในพระคริสตเจ้า (อฟ 2:15 เชิงอรรถ n) เพื่อดำเนินชีวิตแบบใหม่ (รม 6:4) มีคุณธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ (อฟ 2:10; 4:24 เชิงอรรถ k; คส 3:10 เชิงอรรถ e) เทียบ "การเกิดใหม่" เมื่อรับศีลล้างบาป (รม 6:4 เชิงอรรถ a)

I สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ทุกสิ่งเป็นของใหม่”

j พระเจ้าทรงทำให้พระคริสตเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษยชาติที่ทำบาป เพื่อทำให้มนุษยชาติเป็นหนึ่งเดียวกับความนอบน้อมเชื่อฟัง และความเที่ยงธรรมของพระองค์ (ดู 5:14 เชิงอรรถ e; รม 5:19 เชิงอรรถ l) คำว่า "ผู้รับบาป" ในต้นฉบับมีเพียงคำว่า "บาป" แต่ในภาษาฮีบรูใช้คำว่า hatta't มีความหมายได้ทั้งสองอย่าง (ดู ลนต 4:1-5:13)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก