“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

พระพรพิเศษจากพระจิตเจ้าa

12 1พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้ท่านขาดความรู้เรื่องพระพรจากพระจิตเจ้า 2ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าเมื่อยังเป็นคนต่างศาสนา ท่านยอมถูกชักจูงไปกราบไหว้รูปเคารพที่พูดไม่ได้b 3ข้าพเจ้าขอยืนยันให้ท่านรู้ว่า ไม่มีผู้ใดพูดโดยพระจิตเจ้าทรงดลใจว่า “พระเยซูจงถูกสาปแช่ง” และหากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจ ก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า “พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า”

จุดประสงค์เดียวกันของพระพรพิเศษ

4พระพรพิเศษมีหลายประการ แต่มีพระจิตเจ้าพระองค์เดียว 5มีหน้าที่หลายอย่างต่างกัน แต่มีองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว 6กิจการมีหลายอย่าง แต่มีพระเจ้าพระองค์เดียวผู้ทรงกระทำทุกอย่างในทุกคนc 7พระจิตเจ้าทรงแสดงพระองค์ในแต่ละคนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 8พระจิตเจ้าประทานถ้อยคำที่ปรีชาdแก่คนหนึ่ง พระจิตเจ้าพระองค์เดียวกันประทานถ้อยคำที่รอบรู้eแก่อีกคนหนึ่ง พระจิตเจ้าพระองค์เดียวกัน 9ประทานความเชื่อfแก่อีกคนหนึ่ง พระจิตเจ้าพระองค์เดียวกันประทานพระพรบำบัดรักษาโรค 10ประทานอำนาจทำอัศจรรย์ให้อีกคนหนึ่ง ประทานให้อีกคนหนึ่งประกาศพระวาจา ให้อีกคนหนึ่งรู้จักจำแนกจิตต่างๆg ให้อีกคนหนึ่งพูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจh และให้อีกคนหนึ่งตีความอธิบายความหมายของภาษานั้นได้ 11พระพรพิเศษทั้งมวลเป็นผลงานจากพระจิตเจ้าพระองค์เดียว ผู้ทรงแจกจ่ายพระพรต่างๆ ให้แต่ละคนตามที่พอพระทัย

การเปรียบเทียบกับร่างกายi

12แม้ร่างกายเป็นร่างกายเดียว แต่ก็มีอวัยวะหลายส่วน อวัยวะต่างๆ เหล่านี้แม้จะมีหลายส่วนก็ร่วมเป็นร่างกายเดียวกันฉันใด พระคริสตเจ้าjก็ฉันนั้น 13เดชะพระจิตเจ้าพระองค์เดียว เราทุกคนจึงได้รับการล้างมารวมเข้าเป็นร่างกายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่ว่าจะเป็นทาสหรือเป็นไทยก็ตาม เราทุกคนต่างได้รับพระจิตเจ้าพระองค์เดียวกัน 14ร่างกายไม่ได้ประกอบด้วยอวัยวะส่วนเดียว แต่มีอวัยวะหลายส่วน 15ถ้าเท้าจะพูดว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่มือ จึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย” แต่เท้าไม่ได้เป็นอวัยวะของร่างกายน้อยกว่าอวัยวะส่วนอื่น เพราะเป็นเพียงเท้า 16หรือถ้าหูจะพูดว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่ดวงตา จึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของร่างกาย” แต่ก็ไม่ได้ทำให้หูไม่เป็นอวัยวะของร่างกายเลย 17ถ้าร่างกายทั้งหมดเป็นดวงตา แล้วจะได้ยินได้อย่างไร ถ้าร่างกายทั้งหมดเป็นหู แล้วจะได้กลิ่นได้อย่างไร

18โดยแท้จริงแล้ว พระเจ้าทรงจัดอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้อยู่ในที่ที่ทรงพระประสงค์ 19ถ้าร่างกายทุกส่วนเป็นอวัยวะเดียวแล้ว ร่างกายจะอยู่ที่ไหน 20เท่าที่เป็นอยู่ มีอวัยวะหลายส่วน แต่มีร่างกายเดียว 21ดวงตาพูดกับมือไม่ได้ว่า “เราไม่ต้องการเจ้า” และศีรษะก็พูดกับเท้าไม่ได้ว่า “เราไม่ต้องการเจ้า”

22ตรงกันข้าม ส่วนที่เราคิดว่าเป็นอวัยวะที่อ่อนแอของร่างกายกลับเป็นอวัยวะที่จำเป็นมากกว่า 23อวัยวะส่วนที่เราคิดว่าไม่มีเกียรติในร่างกาย เรากลับทะนุถนอมด้วยความเคารพเป็นพิเศษ และอวัยวะที่น่าอับอายของเรากลับได้รับการตกแต่งให้งดงามมากกว่าส่วนอื่น 24อวัยวะที่น่าดูอยู่แล้วไม่ต้องการตกแต่งอะไรอีก พระเจ้าทรงประกอบร่างกายขึ้น โดยให้เกียรติแก่อวัยวะที่ไม่มีเกียรติมากกว่าอวัยวะอื่นๆ 25เพื่อร่างกายจะได้ไม่มีการแตกแยกใดๆ ตรงกันข้าม อวัยวะแต่ละส่วนจะเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน 26ถ้าอวัยวะหนึ่งเป็นทุกข์ อวัยวะอื่นๆ ทุกส่วนก็ร่วมเป็นทุกข์ด้วย ถ้าอวัยวะหนึ่งได้รับเกียรติ อวัยวะอื่นๆ ทุกส่วนก็ร่วมยินดีด้วยเช่นเดียวกัน

27ท่านทั้งหลายเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า แต่ละคนต่างก็เป็นอวัยวะของพระกายนั้น 28พระเจ้าทรงแต่งตั้งบางคนให้ทำหน้าที่ต่างๆ ในพระศาสนจักร คือ หนึ่งให้เป็นอัครสาวก สองให้เป็นประกาศก และสามให้เป็นครูอาจารย์k ต่อจากนั้น คือผู้มีอำนาจทำอัศจรรย์ ผู้รักษาโรค ผู้ช่วยเหลือl ผู้ปกครองm และผู้พูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ 29ทุกคนเป็นอัครสาวกหรือ ทุกคนเป็นประกาศกหรือ ทุกคนเป็นครูอาจารย์หรือ ทุกคนเป็นผู้ทำอัศจรรย์หรือ 30ทุกคนได้รับพระพรพิเศษให้บำบัดโรคได้หรือ ทุกคนพูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจได้หรือ ทุกคนเป็นผู้ตีความอธิบายความหมายของภาษานั้นหรือ

พระพรพิเศษของพระจิตเจ้าตามลำดับความสำคัญ บทเพลงสรรเสริญความรักn

31ท่านทั้งหลายจงพยายามแสวงหาพระพรพิเศษที่ประเสริฐยิ่งกว่านี้เถิด ข้าพเจ้าจะขอชี้ทางที่ดีที่สุดให้ท่าน

 

12 a บทที่ 12 ถึงบทที่ 14 กล่าวถึงการใช้พระพรพิเศษของพระจิตเจ้าอย่างถูกต้อง พระพรพิเศษเหล่านี้พระจิตเจ้าประทานให้แก่กลุ่มคริสตชนเพื่อเป็นหลักฐานที่แลเห็นได้ว่าพระจิตเจ้าประทับอยู่ด้วย และเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคริสตชนใหม่ๆ ให้ก้าวหน้าในความเชื่อ เพราะเขายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวความคิดเก่าๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ก่อนจะมารับความเชื่อ คริสตชนชาวโครินธ์มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญและพัฒนาพระพรพิเศษที่ดึงดูดความสนใจ และใช้พระพรพิเศษเหล่านี้เมื่อมาชุมนุมกันโดยขาดระเบียบวินัยดังที่เคยปฏิบัติในพิธีกรรมของคนต่างศาสนาบางพวก เปาโลตอบว่า พระพรพิเศษมีไว้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคริสตชนเป็นส่วนรวม จึงต้องไม่ก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกแข่งขันกันอย่างเด็ดขาด (บทที่ 12) ในความเป็นจริง ความรักแบบคริสตชนเป็นสิ่งที่ดีกว่าพระพรพิเศษทั้งหลาย (บทที่ 13) ในที่สุดเปาโลอธิบายว่า พระพรพิเศษเหล่านี้มีความสำคัญมากหรือน้อยตามที่พระพรพิเศษเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างกลุ่มคริสตชนได้มากน้อยเพียงไร (บทที่ 14)

b ข้อความนี้ อาจหมายถึงการชุมนุมที่ไร้ระเบียบของคนต่างศาสนาบางกลุ่ม ซึ่งถือว่าการแสดงออกภายนอกเช่นนี้มีความสำคัญมากกว่าคำสั่งสอน ส่วนการชุมนุมของคริสตชนเน้นการเทศน์สอนและการประกาศพระวาจาว่าเป็นเครื่องหมายของพระพรพิเศษจากพระจิตเจ้า

c ให้สังเกตถึงวิธีกล่าวถึงพระตรีเอกภาพ (เทียบ 6:11; 2 คร 13:13 เชิงอรรถ e)

d คงจะหมายถึงพระพรให้เทศน์สอนความจริงลึกซึ้งในคริสตศาสนาเรื่องพระเจ้า และชีวิตพระเจ้าในตัวเรา นี่คือ “คำสั่งสอนที่สมบูรณ์” ใน ฮบ 6:1; ดู 2 คร 2:6-16

e หมายถึง พระพรที่จะเทศน์สอนความจริงเบื้องต้นของคริสตศาสนา “คำสอนเบื้องต้นเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า” ใน ฮบ 6:1

f หมายถึง ความเชื่อที่เข้มข้นกว่าปกติ (เทียบ 13:2)

g หมายถึง พระพรที่จะจำแนกว่าพรนั้นมาจากพระจิตเจ้า หรือเป็นพรตามธรรมชาติ หรือเป็นการกระทำของจิตชั่ว

h ผู้ที่รับพระพรให้พูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจสามารถอธิษฐานภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสรรเสริญพระเจ้าเมื่อพระจิตเจ้าทรงดลใจให้เข้าฌาน โดยเปล่งเสียงที่ฟังแล้วไม่มีใครเข้าใจ เปาโลเรียกพระพรเช่นนี้ว่าเป็น “การพูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ” (14:5, 6, 18, 23, 39;14:2, 4, 9, 13, 14, 19, 26, 27) พระพรนี้เป็นผลแรกที่แลเห็นได้เมื่อพระจิตเจ้าเสด็จลงมาในพระศาสนจักรสมัยแรก (ดู กจ 2:3-4; 10:44-46; 11:15; 19:6)

i เปาโลใช้การเปรียบเทียบสังคมกับร่างกายที่เป็นหนึ่งเดียวแต่มีองค์ประกอบหลายส่วนอย่างที่คนโบราณนิยมใช้ แต่ความคิดของเปาโลเรื่องพระกายของพระคริสตเจ้า มีต้นกำเนิดมาจากการระลึกถึงการกลับใจของตน (ดู กจ 9:4ฯ; กท 1:15ฯ) เมื่อมาเชื่อว่าพระวรกายของพระคริสตเจ้าได้กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย และได้รับชีวิตจากพระจิตเจ้า (รม 1:4 เชิงอรรถ c) ได้กลายเป็น “ผลแรก” ของสิ่งสร้างใหม่ (1 คร 15:23) พระวาจาที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสเมื่อเปาโลกลับใจว่า “เราคือเยซู ซึ่งเจ้ากำลังเบียดเบียน” ส่อให้เห็นว่า คริสตชนเป็นบุคคลเดียวกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ในจดหมายของเปาโล ร่างกายของคริสตชนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระวรกายที่กลับคืนชีพแล้วของพระคริสตเจ้า (รม 8:11) โดยทางศีลล้างบาป (1 คร 12:13; เทียบ รม 6:4 เชิงอรรถ a ) และศีลมหาสนิท (1 คร 10:16ฯ) ซึ่งทำให้คริสตชนเป็นส่วนของพระวรกายนั้น (1 คร 6:15) คริสตชนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า จนกลายเป็นพระวรกายเดียวของพระองค์ (ซึ่งเวลานี้เรียกว่า “พระกายทิพย์” 1 คร 12:27; รม 12:4ฯ) ในภายหลังเปาโลจะพัฒนาคำสอนที่เป็นรูปธรรม ใน 1 คร นี้ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในจดหมายที่เขียนขึ้นระหว่างถูกจองจำ ในจดหมายเหล่านี้ความคิดพื้นฐานยังคงเหมือนเดิม คือมนุษย์ได้รับการคืนดีกับพระเจ้าโดยกลายเป็นส่วนของพระวรกายของพระคริสตเจ้า (อฟ 5:30) พระกายนี้ได้สิ้นพระชนม์แล้ว แต่บัดนี้กลับมีชีวิตอยู่เดชะพระจิตเจ้า (อฟ 2:14-18; คส 1:22) อย่างไรก็ตาม เปาโลเน้นถึงความเป็นหนึ่งเดียวของพระกายซึ่งนำคริสตชนทุกคนมารวมเป็นหนึ่งเดียวในพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน (อฟ 4:4; คส 3:15) และเน้นว่าพระวรกายนั้น คือ พระศาสนจักรนั่นเอง (อฟ 1:22ฯ; 5:23; คส 1:18, 24) ดังนั้น เมื่อเปาโลเปรียบเทียบพระศาสนจักรกับร่างกายแล้ว (อฟ 4:12ฯ; คส 2:19) ท่านก็ยืนยันว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระวรกายนี้ (อฟ 1:22; 4:15ฯ; 5:23; คส 1:18; 2:19 เทียบ 1 คร 12:21) คำยืนยันนี้อาจพัฒนามาจากแนวความคิดว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นประมุข (ศีรษะ) ของฤทธิ์อำนาจทั้งหลาย (คส 2:10) ในที่สุด เปาโลยังขยายความหมายว่าพระวรกายของพระคริสตเจ้านี้รวมจักรวาลทั้งหมดเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าอีกด้วย (อฟ 1:23 เชิงอรรถ t; ดู ยน 2:21 เชิงอรรถ i)

j ร่างกายมนุษย์รวมอวัยวะหลายส่วนให้เป็นหนึ่งเดียวกันฉันใด พระคริสตเจ้าก็ทรงนำคริสตชนทุกคนเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันในพระวรกายของพระองค์ฉันนั้น และดังนี้พระคริสตเจ้าทรงเป็นที่มาของเอกภาพในพระศาสนจักร

k กลุ่มคริสตชนแต่ละกลุ่มมีครูประจำสำหรับสอนความเชื่อ (ดู กจ 13:1 เชิงอรรถ a)

l แปลตามตัวอักษรว่า “ความช่วยเหลือ” อาจหมายถึงผู้ที่เก็บทานและแจกจ่ายให้แก่คนยากจน หรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้คอยช่วยเหลือในการชุมนุม

m พระพรเพื่อบริหาร และเป็นผู้นำกลุ่มคริสตชน

n บทที่ 13 แบ่งเป็นสามตอน (1) ความสูงส่งของความรัก ข้อ1-3 (2) กิจการของความรัก ข้อ 4-7 (3) ความรักคงอยู่ตลอดไป ข้อ 8-13 ข้อความนี้พูดถึงความรักระหว่างพี่น้องคริสตชน ไม่พูดถึงความรักต่อพระเจ้าโดยตรง แต่พูดเป็นนัยถึงเรื่องความเชื่อและความหวัง โดยเฉพาะในข้อ 13

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก