“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

11 1จงยึดถือข้าพเจ้าเป็นแบบอย่างเหมือนกับที่ข้าพเจ้ายึดถือพระคริสตเจ้าเป็นแบบอย่างเถิด

ค. ระเบียบในศาสนพิธี

การคลุมศีรษะในศาสนพิธี

2ข้าพเจ้าขอชมเชยท่านทั้งหลายที่ยังคงระลึกถึงข้าพเจ้าในทุกโอกาส และยังคงยึดมั่นอย่างเคร่งครัดในธรรมประเพณีที่ข้าพเจ้าได้มอบหมายแก่ท่าน 3ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านรู้ว่า พระคริสตเจ้าทรงเป็นศีรษะของมนุษย์ทุกคน ชายเป็นศีรษะของหญิง และพระเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระคริสตเจ้า 4ชายทุกคนที่อธิษฐานภาวนา หรือประกาศพระวาจาโดยมีผ้าคลุมศีรษะ ก็ลบหลู่ศักดิ์ศรีศีรษะของตนa 5แต่หญิงที่อธิษฐานภาวนา หรือประกาศพระวาจาโดยไม่คลุมศีรษะก็ลบหลู่ศักดิ์ศรีศีรษะของตน เปรียบเทียบกับการโกนผมนั่นเอง 6ดังนั้น ถ้าหญิงใดไม่ยอมใช้ผ้าคลุมศีรษะ ก็ให้นางตัดผมเสียด้วย แต่ถ้านางรู้สึกอับอายที่จะตัดหรือโกนผม ก็ให้นางใช้ผ้าคลุมศีรษะเถิด

7ชายไม่ต้องใช้ผ้าคลุมศีรษะ เพราะเขาเป็นภาพลักษณ์และเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ส่วนหญิงเป็นสิริรุ่งโรจน์ของชาย 8เพราะชายไม่ได้มาจากหญิง แต่หญิงมาจากชาย 9นอกจากนั้น ชายไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อหญิง แต่หญิงถูกสร้างขึ้นเพื่อชาย 10ดังนั้น หญิงจึงต้องสวมเครื่องหมายแสดงอำนาจเหนือเธอไว้บนศีรษะเพราะเคารพทูตสวรรค์b 11ถึงกระนั้น เฉพาะพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้า หญิงอยู่ไม่ได้โดยไม่มีชาย และชายก็อยู่ไม่ได้โดยไม่มีหญิง 12เพราะหญิงมาจากชายฉันใด ชายก็เกิดมาจากหญิงฉันนั้น และทุกสิ่งมาจากพระเจ้า

13ท่านจงตัดสินด้วยตนเองเถิดว่า เป็นการสมควรหรือไม่ที่หญิงจะอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าโดยไม่มีผ้าคลุมศีรษะ 14ธรรมชาติไม่ได้สอนท่านหรือว่า ถ้าชายมีผมยาว ก็เป็นการเสียศักดิ์ศรีสำหรับเขา 15แต่เมื่อหญิงไว้ผมยาว ก็เป็นศักดิ์ศรีของเธอมิใช่หรือ เพราะผมยาวเป็นของประทานให้เธอประหนึ่งเป็นผ้าคลุมศีรษะ

16ถ้าผู้ใดยังต้องการคัดค้านในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอพูดว่า ทั้งเราและพระศาสนจักรอื่นๆ ของพระเจ้าไม่มีธรรมเนียมเป็นอย่างอื่น

งานเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า

17ขณะที่ข้าพเจ้าให้คำแนะนำนี้ ข้าพเจ้าชมเชยท่านไม่ได้ เพราะการชุมนุมของท่านนั้นมีผลร้ายมากกว่าผลดี 18ก่อนอื่น ข้าพเจ้าได้ยินว่าเมื่อท่านทั้งหลายมาร่วมชุมนุมกันนั้น มีการแตกแยก และข้าพเจ้าก็เชื่อเรื่องนี้อยู่บ้าง 19เพราะท่านต้องมีความขัดแย้งกันบ้าง เพื่อคนดีจริงจะได้ปรากฏเด่นชัดในหมู่ท่านทั้งหลาย 20เมื่อท่านมาชุมนุมพร้อมกันนี้ มิได้เป็นการกินเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า 21เพราะขณะที่กิน แต่ละคนก็รีบกินอาหารของตนcก่อนคนอื่น บางคนยังหิวอยู่ แต่อีกคนหนึ่งเมามายไปแล้ว 22ท่านไม่มีบ้านของตนเองสำหรับกินและดื่มหรือ หรือท่านดูหมิ่นการชุมนุมของพระเจ้า ทำให้คนยากจนต้องอับอาย ข้าพเจ้าจะพูดกับท่านอย่างไรดี จะชมเชยท่านหรือ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าไม่ชมเชยท่าน

23ข้าพเจ้าได้รับสิ่งใดมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าd ข้าพเจ้าก็ได้มอบสิ่งนั้นต่อให้ท่าน คือในคืนที่ทรงถูกทรยศนั้นเอง พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงหยิบปัง 24ขอบพระคุณ แล้วทรงบิออก ตรัสว่า “นี่คือกายของเราเพื่อท่านทั้งหลายe จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” 25เช่นเดียวกัน หลังอาหารค่ำ ก็ทรงหยิบถ้วย ตรัสว่า “ถ้วยนี้คือพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเรา ทุกครั้งที่ท่านจะดื่ม จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด”f 26ทุกครั้งที่ท่านกินปังนี้ และดื่มจากถ้วยนี้ ท่านก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจนกว่าพระองค์จะเสด็จมา 27ดังนั้น ผู้ใดที่กินปังหรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่สมควร ก็ผิดต่อพระกายและผิดต่อพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า

28แต่ละคนจงพิจารณาตนเอง แล้วจึงกินปังและดื่มจากถ้วย 29เพราะผู้ใดที่กินและดื่มgโดยไม่ยอมรับรู้พระกายh ก็กินและดื่มการตัดสินลงโทษตนเอง 30เพราะเหตุนี้ ในหมู่ท่านทั้งหลายจึงมีหลายคนอ่อนแอ เจ็บป่วย และบางคนก็ตายไปแล้ว[1] 31ถ้าเราได้พิจารณาตนอย่างละเอียด เราจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ 32แต่เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตัดสินลงโทษเรา พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้เป็นการตักเตือนแก้ไข เพื่อมิให้เราถูกลงโทษพร้อมกับโลกนี้j

33ดังนั้น พี่น้องทั้งหลาย เมื่อท่านมาชุมนุมกันเพื่อกินเลี้ยง จงคอยกัน 34ถ้าผู้ใดหิวก็จงกินที่บ้าน เพื่อพระเจ้าจะได้ไม่ต้องทรงลงโทษท่านเมื่อมาชุมนุมกัน ส่วนเรื่องอื่น ข้าพเจ้าจะจัดระเบียบเมื่อข้าพเจ้ามาถึง

 

11 a นั่นคือ พระคริสตเจ้า ชายผู้คลุมศีรษะของตนก็ซ่อนพระพักตร์ของพระคริสตเจ้าไว้ แทนที่จะ “สะท้อนถึงความสุกใสของพระองค์บนใบหน้าของตนที่ไม่มีผ้าคลุม” (2 คร 3:18) เปาโลกำลังเล่นคำว่า “ศีรษะ” (หัว kephale) ในสองความหมาย “หัว” (ศีรษะ) หรือ “หัวหน้า” (เจ้านาย) เหตุผลของเปาโลตั้งอยู่บนประเพณีที่ท่านคุ้นเคย (ข้อ 16) เราจะเข้าใจข้อสรุปของเปาโลได้ก็ต้องเข้าใจขนบธรรมเนียมเรื่องนี้ด้วย

b ทูตสวรรค์เป็นผู้รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในศาสนพิธีตามที่ชาวยิวบางคน เช่น ที่คุมรานอธิบายความหมายของข้อความใน ฉธบ 23:15 ว่า “ทูตสวรรค์” (แทนพระยาห์เวห์) จะได้ไม่เห็นสิ่งไม่สมควร

c กินอาหาร “ของตน” เน้นความแตกต่างกับการเลี้ยงอาหารค่ำ “ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ในข้อ 20 ซึ่งเรียกร้องให้เป็นการฉลองร่วมกันในความรัก ไม่ใช่เป็นการแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มอย่างเห็นแก่ตัว

d เปาโลรู้ความจริงข้อนี้ไม่ใช่เพราะพระคริสตเจ้าทรงเปิดเผยให้โดยตรง แต่ท่านได้รับมาจากธรรมประเพณีที่ย้อนกลับไปที่พระเยซูเจ้าเอง ในที่นี้เช่นเดียวกับใน 15:3-7 (ดู 15:3 เชิงอรรถ b) เปาโลใช้ศัพท์เทคนิคของพวกรับบี (อาจารย์ของชาวยิว) ในเรื่องเกี่ยวกับการส่งทอดธรรมประเพณีต่อๆ กันมา ดูเหมือนว่าเปาโลกำลังอ้างถึงธรรมประเพณีแรกเริ่มของคริสตชนเรื่องศีลมหาสนิท โดยใช้ถ้อยคำและสำนวนที่ไม่ใช่ของตน

e บางฉบับว่า “นี่เป็นกายของเรา ที่ถูกหักเพื่อท่านทั้งหลาย” หรือ “นี่เป็นกายของเรา ที่มอบให้ท่านทั้งหลาย”

f ข้อความของเปาโลมีความใกล้เคียงกับของลูกา 22:19-20

g บางฉบับเสริมว่า “อย่างไม่สมควร”

h บางฉบับว่า “พระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ข้อนี้โดยทั่วไปจะเข้าใจว่าคริสตชนบางคนไม่ยอมรับรู้ว่าพระคริสตเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิท (เทียบ ข้อ 27) อย่างไรก็ตาม จดหมายฉบับนี้เน้นถึงพระศาสนจักรในฐานะเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า ทำให้เข้าใจว่าในที่นี้เปาโลยังพูดถึงคริสตชนบางคนที่เห็นแก่ตัว ไม่สนใจต่อความต้องการของคริสตชนอื่นๆ ที่ร่วมเป็นกายเดียวกัน (เทียบ ข้อ 11 และ 33)

[1] เปาโลคงคิดว่าโรคภัยไข้เจ็บและความตายของชาวโครินธ์บางคนเป็นการลงโทษที่ไม่เคารพต่อ “พระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า”

j พระเจ้าทรงลงโทษเพื่อสั่งสอนให้คริสตชนกลับใจเปลี่ยนแปลงตนเองก่อนวันพิพากษาครั้งสุดท้าย การลงโทษเช่นนี้ไม่จำเป็น ถ้าผู้ที่ทำผิดได้พิจารณาและแก้ไขตนเอง โดยเฉพาะในโอกาสร่วมรับพระกายของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท (ข้อ 31)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก