(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

คำเตือนและบทเรียนจากอดีตของชาวอิสราเอลa

10 1พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านรู้ว่าบรรพบุรุษทุกคนของเราได้อยู่ใต้เมฆ และทุกคนข้ามทะเลไป 2ทุกคนรับการล้างในเมฆและในทะเลเข้าร่วมกับโมเสส 3ทุกคนกินอาหารฝ่ายจิตอย่างเดียวกัน 4ทุกคนดื่มเครื่องดื่มฝ่ายจิตอย่างเดียวกันb เพราะพวกเขาดื่มน้ำจากศิลาฝ่ายจิตซึ่งติดตามพวกเขาไปc ศิลานั้นคือพระคริสตเจ้า 5แม้กระนั้น พระเจ้าก็มิได้พอพระทัยคนส่วนใหญ่เหล่านั้น พวกเขาล้มตายเกลื่อนกลาดอยู่ในถิ่นทุรกันดาร 6เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างdสำหรับเรา มิให้เราปรารถนาสิ่งชั่วร้ายดังที่เขาปรารถนา 7ท่านทั้งหลายจงอย่านมัสการรูปเคารพดังที่บางคนในพวกนั้นได้ทำ ดังที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ประชาชนนั่งลงเพื่อกินและดื่ม หลังจากนั้นก็เริ่มเล่นสนุกสนาน8เราจงอย่าปล่อยตัวเสเพลในกามกิจดังที่พวกเขาบางคนทำ และล้มตายภายในวันเดียวเป็นจำนวนสองหมื่นสามพันคน 9เราจงอย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้าeดังที่พวกเขาบางคนทำ แล้วถูกงูกัดตาย 10ท่านทั้งหลายจงอย่าบ่นเหมือนที่เขาบางคนบ่นแล้วพินาศไปโดยน้ำมือขององค์ผู้ทำลาย 11เหตุการณ์เหล่านี้บังเกิดขึ้นกับพวกเขาเพื่อเป็นตัวอย่าง และมีบันทึกไว้เพื่อเตือนสติเราซึ่งกำลังเผชิญกับวาระสุดท้ายของยุค 12ดังนั้น ผู้ที่คิดว่าตนยืนหยัดมั่นคงอยู่ พึงระวังอย่าให้ล้ม 13ท่านทั้งหลายไม่เคยเผชิญกับการผจญใดๆ ที่เกินกำลังมนุษย์ พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ พระองค์จะไม่ทรงอนุญาตให้ท่านถูกผจญfเกินกำลังของท่าน แต่เมื่อถูกผจญ พระองค์จะประทานความสามารถให้ท่านยืนหยัดมั่นคงและหาทางออกได้

การเลี้ยงทางศาสนา

14พี่น้องที่รักยิ่ง ท่านจงหลีกเลี่ยงการกราบไหว้รูปเคารพ 15ข้าพเจ้าพูดกับท่านเหมือนพูดกับผู้มีปัญญา ท่านจงพิจารณาตัดสินสิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังจะพูดนี้เถิด 16ถ้วยถวายพระพรgซึ่งเราใช้ขอบพระคุณพระเจ้านั้น มิได้ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระโลหิตของพระคริสตเจ้าหรือ และปังที่เราบินั้น มิได้ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระกายของพระคริสตเจ้าหรือ 17มีปังก้อนเดียว แม้ว่าจะมีหลายคน เราก็เป็นกายเดียวกัน เพราะเราทุกคนมีส่วนร่วมกินปังก้อนเดียวกันh 18จงพิจารณาชาวอิสราเอลในอดีตi ผู้ที่กินเนื้อสัตว์จากของถวายก็มีส่วนร่วมในพระแท่นบูชามิใช่หรือ 19ข้าพเจ้าหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า เนื้อสัตว์ที่ถวายแด่รูปเคารพนั้นมีความสำคัญอะไรหรือ รูปเคารพนั้นมีความสำคัญอะไรหรือ 20เปล่าเลย ข้าพเจ้าหมายความว่าสิ่งที่เขาถวายนั้น เขาถวายแก่ปีศาจ มิใช่ถวายแด่พระเจ้า ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาให้ท่านร่วมกับพวกปีศาจ 21ท่านจะดื่มทั้งจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้า และจากถ้วยของปีศาจไม่ได้ จะร่วมโต๊ะทั้งกับองค์พระผู้เป็นเจ้า และร่วมโต๊ะกับพวกปีศาจjไม่ได้ 22เราจะยั่วยุองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ขุ่นเคืองพระทัยกระนั้นหรือk เรามีกำลังมากกว่าพระองค์หรือ

แนวปฏิบัติในเรื่องเนื้อสัตว์ที่ถวายแด่รูปเคารพ

23ท่านมักพูดว่า “ข้าพเจ้าทำอะไรได้ทุกอย่าง” แต่ข้าพเจ้าขอบอกว่า “ทุกสิ่งมิใช่มีประโยชน์เสมอไป” ข้าพเจ้าทำได้ทุกอย่างก็จริง แต่ทุกอย่างมิใช่ว่าจะเสริมสร้าง 24จงอย่าให้ใครเสาะหาผลประโยชน์ส่วนตน แต่จงเสาะหาผลประโยชน์เพื่อผู้อื่น 25เนื้อสัตว์ทั้งหลายที่มีขายในตลาดนั้น ท่านจงกินโดยไม่ต้องกังวลจนเกิดปัญหาด้านมโนธรรม 26เพราะแผ่นดินและทุกสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินเป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า 27ถ้าคนต่างศาสนาเชิญท่านไปกินอาหารและท่านต้องการไป จงกินอาหารทุกอย่างที่เขานำมาให้โดยไม่ต้องกังวลในมโนธรรม 28แต่ถ้าใครบอกท่านว่า เนื้อสัตว์นี้ได้ถวายแด่รูปเคารพแล้ว จงอย่ากิน เพื่อเห็นแก่ผู้ที่ได้ตักเตือนและเพื่อเห็นแก่มโนธรรม 29ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงมโนธรรมของท่าน แต่หมายถึงมโนธรรมของผู้ที่ตักเตือน บางคนอาจแย้งว่า ทำไมมโนธรรมของเขาจึงจำกัดอิสรภาพของข้าพเจ้าl 30ถ้าข้าพเจ้ากินอาหารโดยขอบพระคุณพระเจ้า ทำไมข้าพเจ้าต้องถูกตำหนิเพราะอาหารที่ข้าพเจ้าขอบพระคุณนั้น 31เมื่อท่านจะกินจะดื่มหรือจะทำอะไรก็ตาม จงทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเถิด 32อย่าทำสิ่งใดให้เป็นที่ขุ่นเคืองใจแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือชาวกรีก หรือชุมชนของพระเจ้า 33ข้าพเจ้าพยายามทำทุกสิ่งเพื่อเป็นที่พอใจของทุกคน มิได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน แต่เห็นแก่ประโยชน์ของทุกคน เพื่อเขาจะได้รับความรอดพ้น

 

10 a ข้อ 1-13 อธิบายเรื่อง “การถูกตัดสิทธิ์เพราะผิดกติกา” ที่กล่าวไว้ในประโยคก่อน ตัวอย่างจากอดีตของชาวอิสราเอลแสดงให้เห็นอันตรายที่จะถูกทอดทิ้ง เหตุผลก็คือ ความหยิ่งยโสและการชะล่าใจ ดังนั้น “คนที่เข้มแข็ง” พึงระวังอย่าให้ตกในบาปทั้งสองนี้

b เปาโลพูดถึงเมฆและการข้ามทะเลกก (หรือทะเลแดง) ซึ่งเป็นรูปแบบของศีลล้างบาป มานนาและน้ำจากศิลาเป็นรูปแบบของศีลมหาสนิท เปาโลใช้เรื่องเหล่านี้เตือนใจชาวโครินธ์ให้มีความรอบคอบและถ่อมตน ชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดารมีสิทธิพิเศษคล้ายกับคริสตชนชาวโครินธ์ ถึงกระนั้น พวกนั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า (ข้อ 5)

c ตามธรรมประเพณีของชาวอิสราเอล ศิลาที่กล่าวถึงใน อพย 17:6 และ กดว 20:8 ได้ติดตามประชาชนขณะเดินทางในถิ่นทุรกันดาร สำหรับเปาโลศิลานี้เป็นสัญลักษณ์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงมีความเป็นอยู่ตั้งแต่นิรันดรและทรงทำงานอยู่ในอดีตของอิสราเอล

d พระเจ้ามีพระประสงค์ให้เหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตของชาวอิสราเอลเป็นรูปแบบของพระพรฝ่ายจิตในยุคพระเมสสิยาห์ (ซึ่งเรียกว่า “ความเป็นจริง” 1 ปต 3:21 แต่ ดู ฮบ 9:24) ความหมายตาม “รูปแบบ” (หรือจะเรียกอย่างไม่ถูกต้องนักว่าความหมายเชิงอุปมานิทัศน์ในรายละเอียด กท 4:24) ในเรื่องเล่าจากพันธสัญญาเดิม แม้ว่าผู้เขียนจะมิได้ตั้งใจโดยตรง แต่ก็ยังเป็นความหมายที่ถูกต้อง และจำเป็นเพื่อจะเข้าใจความหมายที่พระเจ้าผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ทั้งหมดทรงต้องการสื่อให้เรารู้ ความหมายตามรูปแบบของเหตุการณ์ในพันธสัญญาเดิมนี้ ผู้นิพนธ์พันธสัญญาใหม่มักจะเป็นผู้ชี้แจงให้เห็นประหนึ่งว่าจุดประสงค์แต่ประการเดียวของประวัติศาสตร์อิสราเอลที่บันทึกไว้ ก็คือการจัดเตรียมรูปแบบเพื่อสอนคริสตชน เปาโลชี้ให้เห็นความหมายตามรูปแบบนี้ในข้อ 11 และ 9:9; รม 4:23ฯ; 5:14; 15:4; เทียบ 2 ทธ 3:16 หนังสือบางเล่มเช่น ยน และ ฮบ มักจะอธิบายพันธสัญญาเดิมโดยใช้วิธีอธิบายตามรูปแบบนี้

e บางฉบับว่า “พระคริสตเจ้า”

f ในพันธสัญญาใหม่ การถูกผจญมีจุดประสงค์เพื่อจะพบความเป็นจริงซึ่งอยู่เบื้องหลังภาพปรากฏ พระเจ้าทรงรู้ทุกอย่างภายในใจแล้ว พระองค์ยัง “ทรงทดลอง” บางคน (2 พศด 32:31; ยรม 11:20) เพื่อให้โอกาสแก่เขาที่จะแสดงท่าทีภายในออกมา (ปฐก 22:1 เชิงอรรถ a; อพย 16:4; ฉธบ 8:12,16; 13:4; ยดธ 8:25-27) มีบ่อยครั้งที่การทดลองนี้เริ่มต้นจากสภาพแวดล้อมภายนอก หรือจากปีศาจ หรือ “ผู้ล่อลวง” (7:5; โยบ 1:8-12; มธ 4:1 //; 1 ธส 3:5; วว 2:10) หรือจากความโลภ (1 ทธ 6:9; ยก 1:13-14) ปีศาจและความโลภทำให้การทดลองมีความหมายในทำนองของการล่อลวงหรือการชักชวนให้ทำชั่ว แต่คริสตชนเอาชนะได้ด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า (บสร 44:20; มธ 6:13ฯ; 26:41ฯ; ลก 8:13; 1 ปต 1:6-7) พระเยซูเจ้าทรงยอมถูกผจญเพื่อเน้นถึงการยอมเชื่อฟังพระประสงค์ของพระบิดา (มธ 4:1 //; 26:39-41 //; ฮบ 2:18; 4:15) แต่มนุษย์ที่ “ทดลอง” พระเจ้าก็นับได้ว่าสบประมาทพระองค์ (อพย 17:2,7; กจ 15:10 เชิงอรรถ k)

g หมายถึง ถ้วยเหล้าองุ่นซึ่งเราขอบพระคุณพระเจ้า เหมือนกับที่พระคริสตเจ้าได้ทรงกระทำในการเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย

h การร่วมรับพระกายของพระคริสตเจ้าทำให้คริสตชนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าและเป็นหนึ่งเดียวซึ่งกันและกัน ศีลมหาสนิททำให้เอกภาพของพระศาสนจักรในพระคริสตเจ้าเป็นจริงขึ้นมา (ดู 12:12 เชิงอรรถ j)

i อิสราเอลในอดีต (เทียบ รม 7:5) ซึ่งเปาโลนำมาเปรียบเทียบกับชาวอิสราเอล “ของพระเจ้า” (กท 6:16) หรือกับชาวอิสราเอลที่แท้จริงซึ่งหมายถึงคริสตชน

j ในข้อ 16-18 การร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท เปรียบได้กับการกินเลี้ยงเมื่อถวายบูชาในพันธสัญญาเดิม ซึ่งผู้ร่วมโต๊ะนับว่ามีส่วนร่วมกับการถวายบูชาบนพระแท่น ในที่นี้เปาโลเปรียบเทียบการร่วมโต๊ะรับศีลมหาสนิทกับการร่วมโต๊ะกินเลี้ยงเมื่อคนต่างศาสนาถวายบูชา เพราะฉะนั้นสำหรับเปาโลศีลมหาสนิทจึงเป็นการเลี้ยงในการถวายบูชาด้วยอย่างชัดเจน

k “ความหวงแหนของพระเจ้า” “ขุ่นเคืองพระทัย” ตามตัวอักษร (อพย 20:5; ฉธบ 4:24) ซึ่งพันธสัญญาเดิมเปรียบเทียบกับความหึงหวงของสามีที่มีต่อภรรยาของตน (ฮชย 2:21ฯ, 21 เชิงอรรถ u, เชิงอรรถ v) มีกล่าวถึงหลายครั้งในพันธสัญญาใหม่ ในที่นี้ คำว่า “หวงแหน” รวมความหมายสามประการคือ (1) ต้องนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้โดยตัด “ความสัมพันธ์” ทั้งสิ้นกับการกราบไหว้รูปเคารพ (2) ต้องมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้า แม้จะต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง (2 คร 11:2) และ (3) ต้องมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติและประกาศความเชื่อ (กจ 22:3; รม 10:2; กท 1:13-14; ฟป 3:6)

l “โดยไม่ต้องกังวลในมโนธรรม” ในข้อ 25, 26 แปลตามตัวอักษรได้ว่า “โดยไม่สอบสวนเพราะเห็นแก่มโนธรรม” เปาโลสอนว่าเราไม่ควรละเมิดมโนธรรมของผู้อื่น แม้เมื่อมโนธรรมของเขาหลงผิดไปก็ตาม แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ไม่ต้องยอมรับความคิดที่หลงผิดของเขา