(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

หน้าที่ของคริสตชนในชีวิตสมรส

3 1ภรรยาจงอยู่ใต้อำนาจสามี ถ้าสามีบางคนยังไม่มีความเชื่อในพระวาจา ความประพฤติของภรรยาจะชนะใจสามีได้โดยไม่ต้องพูด 2สามีเพียงแต่เห็นการดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์และน่าเคารพของภรรยาเท่านั้น 3ท่านอย่าประดับตนเพียงภายนอก เช่นตกแต่งผมอย่างประณีต สวมสร้อยทองคำหรือเสื้อผ้าหรูหรา 4แต่จงประดับตนในส่วนลึกของจิตใจให้งดงามอย่างถาวรโดยมีใจอ่อนโยนและสงบเสงี่ยม ความงามเช่นนี้มีค่ายิ่งเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า 5ในอดีตบรรดาสตรีศักดิ์สิทธิ์ผู้มีความหวังในพระเจ้าประดับตนเช่นนี้ เธอเหล่านั้นยอมอยู่ใต้อำนาจสามี 6เช่นนางซาราห์เชื่อฟังอับราฮัมและเรียกเขาเป็นนาย ถ้าท่านทำความดีและไม่กลัวความยากลำบากใดๆ ท่านก็เป็นบุตรหญิงของนางซาราห์ด้วย

7เช่นเดียวกัน สามีต้องร่วมชีวิตกับภรรยาโดยคำนึงว่าสตรีเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า จงให้เกียรติภรรยาในฐานะที่เธอร่วมเป็นทายาทaรับชีวิตเป็นของประทานจากพระเจ้า ดังนี้ จะไม่มีอุปสรรคใดขัดขวางมิให้ท่านร่วมกันอธิษฐานภาวนา

จงรักพี่น้อง

8สุดท้ายนี้b ท่านทั้งหลายจงมีความคิดเห็นพ้องต้องกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน รักกันฉันพี่น้อง เห็นใจกันและรู้จักถ่อมตน 9อย่าตอบโต้ความชั่วด้วยความชั่ว อย่าด่าตอบผู้ที่ด่าท่าน แต่ตรงกันข้าม จงอวยพรเขา เพราะพระเจ้าทรงเรียกท่านมาก็เพื่อให้รับพระพร 10ดังที่พระคัมภีร์กล่าวว่า

ผู้ใดรักชีวิต

และปรารถนาจะมีความสุขถาวร

จงบังคับลิ้น ไม่พูดคำเลวร้าย

จงบังคับริมฝีปาก ไม่พูดคำหลอกลวง

11จงหลีกหนีความชั่วและจงทำความดี

จงแสวงหาสันติและยึดไว้ให้ได้

12เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทอดพระเนตรผู้ชอบธรรม

ทรงเอียงพระกรรณสดับเสียงร้องของเขา

แต่พระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้ามึนตึงต่อผู้ที่ทำความชั่ว

การวางตนของคริสตชนเมื่อถูกเบียดเบียน

13ใครจะทำร้ายท่านได้ถ้าท่านมุ่งมั่นในความดี 14ถ้าท่านจะต้องทนทุกข์ทั้งๆ ที่ทำความดีแล้ว ก็จงเป็นสุขเถิด อย่ากลัวเขา อย่าวุ่นวายใจเลยc 15แต่จงนมัสการdองค์พระผู้เป็นเจ้าe คือพระคริสตเจ้าในจิตใจของท่าน จงพร้อมเสมอที่จะให้คำอธิบายแก่ทุกคนที่ต้องการรู้เหตุผลแห่งความหวังของท่าน 16จงอธิบายด้วยความอ่อนโยนและด้วยความเคารพอย่างบริสุทธิ์ใจ เพื่อเมื่อท่านถูกใส่ร้าย ผู้ที่กล่าวร้ายความประพฤติดีของท่านตามคำสอนของพระคริสตเจ้า ก็จะต้องประสบความอับอาย หากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า การทนทุกข์เพราะทำความดีนั้น 17ย่อมดีกว่าการทนทุกข์เพราะทำความชั่ว

การเสด็จสู่แดนผู้ตายและการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าf

18พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพียงครั้งเดียวเพราะบาป พระองค์ผู้ทรงชอบธรรมสิ้นพระชนม์เพื่อคนอธรรม พระองค์จะทรงนำเราไปเฝ้าพระเจ้าg พระองค์ทรงถูกประหารชีวิตในสภาพมนุษย์ แต่พระจิตเจ้าประทานชีวิตให้พระองค์อีก 19พระจิตเจ้ายังทรงนำพระองค์ไปประกาศความรอดพ้นแก่จิตที่ถูกจองจำh 20ในกาลก่อน จิตเหล่านี้ไม่ยอมเชื่อฟังเมื่อพระเจ้าทรงอดทนรอคอย ขณะที่โนอาห์กำลังต่อเรือ ซึ่งช่วยชีวิตคนจำนวนน้อย นั่นคือเพียงแปดชีวิตให้รอดพ้นจากน้ำวินาศ 21น้ำนั้นเป็นรูปแบบiของศีลล้างบาปที่ช่วยท่านให้รอดพ้นในเวลานี้ มิใช่เป็นการชำระล้างมลทินทางร่างกายj แต่เป็นการวอนขอkต่อพระเจ้าด้วยมโนธรรมบริสุทธิ์ เดชะการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า 22ผู้เสด็จสู่สวรรค์และประทับ ณ เบื้องขวาของพระเจ้าโดยมีทูตสวรรค์ทั้งศักดิเทพและอิทธิเทพทั้งหลายอยู่ใต้พระอำนาจของพระองค์l

 

3 a สามีภรรยาได้รับของประทานเดียวกันจากพระเจ้า ซึ่งเรียกร้องให้มีความเคารพและความเอื้ออาทรต่อกันในความรัก (เทียบ อฟ 5:33; คส 3:19) และทั้งสองคนอธิษฐานภาวนาร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

b คำเตือนใจสุดท้ายนี้เป็นการสรุปคำเตือนใจอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความรักฉันพี่น้อง (2:17) ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ดู รม 12:9-13) การให้อภัยศัตรู (มธ 5:44//; รม 12:14,17-21; 1 ธส 5:15)

c สำเนาโบราณบางฉบับละ “อย่าวุ่นวายใจ”

d แปลตามตัวอักษรได้ว่า “ทำให้ศักดิ์สิทธิ์”

e “องค์พระผู้เป็นเจ้า (Kyrios)” สำเนาโบราณบางฉบับว่า “พระเจ้า (Theos)” “ความหวังของท่าน” สำเนาโบราณบางฉบับเสริมว่า “ความหวังและความเชื่อของท่าน” *คริสตชนเป็นพยานถึงความเชื่อในพระคริสตเจ้า (เทียบ ลก 12:11-12; 1 ทธ 6:12-15; 2 ทธ 4:17) ต่อหน้าคนต่างศาสนาที่ไม่มีความหวัง (อฟ 2:12; 1 ธส 4:13) เขามีโอกาสที่จะเป็นพยานเช่นนี้เมื่อถูกเบียดเบียน

f ย่อหน้านี้ตั้งแต่ 3:18-4:6 มีบางข้อเป็นคำประกาศความเชื่อของคริสตชนสมัยแรก คือการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า การเสด็จสู่แดนผู้ตาย การกลับคืนพระชนมชีพ การประทับเบื้องขวาของพระเจ้าและการพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย

g สำเนาโบราณบางฉบับละ “ไปเฝ้าพระเจ้า”

h บางทีข้อนี้อาจหมายถึงการเสด็จของพระคริสตเจ้าสู่แดนผู้ตาย (Hades) หลังจากที่ได้สิ้นพระชนม์และก่อนกลับคืนพระชนมชีพ (มธ 12:40; กจ 2:24,31; รม 10:7; อฟ 4:9; ฮบ 13:20) พระองค์เสด็จไปที่นั่น “โดยมีพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้นำ” หรือ “ด้วยจิต” (รม 1:4 เชิงอรรถ c) “สภาพมนุษย์” (เนื้อหนัง) ของพระองค์สิ้นพระชนม์อยู่บนไม้กางเขน (รม 8:3ฯ) “จิตที่ถูกจองจำ” ที่พระองค์ประกาศความรอดพ้นให้รู้นั้น นักเขียนบางคนคิดว่าหมายถึงปีศาจที่ถูกพันธนาการอยู่ดังที่มีเขียนไว้ในหนังสือเอโนค (สำเนาโบราณบางฉบับใส่ชื่อให้เอโนคเป็นผู้ประกาศความรอดพ้นนี้แทนพระคริสตเจ้า) จิตเหล่านี้จึงถูกนำมาให้อยู่ใต้อำนาจของพระคริสตเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า (Kyrios) (ข้อ 22) (เทียบ อฟ 1:21ฯ; 4:9; ฟป 2:8-10) และการอยู่ใต้อำนาจเช่นนี้จะถูกรับรองอีกในภายหลัง (1 คร 15:24ฯ) แต่นักเขียนอื่นๆ อธิบายว่า จิตเหล่านี้คือวิญญาณของบรรดาผู้ตายซึ่งได้ถูกลงโทษในสมัยน้ำวินาศแล้ว จึงได้รับชีวิตใหม่เพราะความพากเพียรของพระเจ้า (เทียบ 4:6) ในทำนองเดียวกัน มธ 27:52ฯ กล่าวพาดพิงถึงการที่พระคริสตเจ้าหลังจากที่ได้สิ้นพระชนม์และก่อนที่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ ได้ทรงปลดปล่อยบรรดา “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งหมายถึงบรรดาผู้ชอบธรรมที่รอคอยพระองค์อยู่ (เทียบ ฮบ 11:39ฯ; 12:23) เพื่อจะเข้าสู่ “นครศักดิ์สิทธิ์” ในยุคสุดท้าย

i “เหตุการณ์บางประการในพันธสัญญาเดิมเป็นรูปแบบหมายถึงความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในพันธสัญญาใหม่” (ดู 1 คร 10:6 เชิงอรรถ d) ในกรณีนี้ รูปแบบคือการที่โนอาห์รอดพ้นจากน้ำวินาศอาศัยเรือ

j เนื่องจากมีคนจำนวนน้อยมากที่รอดพ้นจากน้ำวินาศ น้ำวินาศจึงถูกนำมาใช้เพื่อหมายถึงพิธีชำระตัวในพันธสัญญาเดิม ซึ่งจำกัดอยู่เพียงแค่การชำระร่างกายภายนอกเป็นส่วนใหญ่ แต่ศีลล้างบาปซึ่งทำให้บุคคลหนึ่งบังเกิดใหม่ มีประสิทธิภาพมิใช่เพียงชำระร่างกายเท่านั้น

k “การวอนขอ” (แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า “คำสัญญา”) ที่คริสตชนทำเมื่อรับศีลล้างบาป

l “ศักดิเทพและอิทธิเทพ” แปลตามตัวอักษรว่า “อำนาจปกครองและพลัง” เป็นคำที่ใช้หมายถึงบุคคลที่มีตำแหน่งปกครองทางบ้านเมือง (ลก 12:11; 20:20; ทต 3:1) ท้องพระโรงของพระเจ้าในสวรรค์เปรียบได้กับท้องพระโรงของพระมหากษัตริย์ในโลกนี้ (อฟ 3:10; คส 2:10) “อำนาจปกครองเหล่านี้” มีหน้าที่ตัดสินความโดยเฉพาะ ทำให้เราเข้าใจถึงบทบาทของซาตานซึ่งเป็นโจทก์กล่าวหามนุษย์เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า (โยบ 1; ศคย 3:1-5; วว 12:7-12) ในทางตรงข้ามพระเยซูเจ้าจะได้รับชื่อว่าเป็น “ทนาย” ผู้แก้ต่างให้เราเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า (1 ยน 2:1-2)