บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

สมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเจ้า
1 มกราคม 2018
บทอ่าน กดว 6:22-27 ; กท 4:4-7 ; ลก 2:16-21
พระมารดาของพระเยซูเจ้า
         
บทอ่านต่างๆ ในเทศกาลพระคริสตสมภพ ทำให้เราสนใจพระนางมารีย์ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น และสนใจประจักษ์พยานชีวิตที่พระนางในฐานะเป็นศิษย์คนแรก มอบให้เรา


บังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง
         นักบุญเปาโลเขียนสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับพระนางมารีย์ แต่ก็มีพลัง ท่านเน้นสภาพแวดล้อมของบุตรพระเจ้า เป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งความเชื่อของเรา ด้วยการเตือนใจเราว่า “พระเจ้าทรงส่ง  พระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง” (กท 4:4) พระองค์จึงเข้ามาในประวัติศาสตร์มนุษย์ และจากหัวใจของประวัติศาสตร์ พระองค์ประกาศความรักของพระเจ้า การเข้ามารับสภาพมนุษย์ของบุตรพระเจ้า อาศัยการตอบรับของพระนางมารีย์ และผ่านทางร่างกายของพระนาง

         บรรดาคนเลี้ยงแกะที่เบธเลเฮมได้พบพระกุมารเยซู ซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้าใกล้พระมารดาและนักบุญโยเซฟ พวกคนเลี้ยงแกะเข้าไปดูพระกุมาร เพราะเหตุที่ “พวกเขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร” (วรรคที่ 17) และพวกเขาเป็นพยานของพระกุมาร สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวกับพระกุมารเป็นเรื่องสำคัญต่อพระมารดา ผู้ “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย” (วรรคที่ 19 และดู 2:51 ด้วย) คำว่า “เรื่องทั้งหมด” หมายถึงคำพยากรณ์ของพระเจ้าซึ่งก็เป็นเหตุการณ์หนึ่ง พระนางมารีย์ทรงไว้ใจพระเจ้า จึงยอมรับเป็นมารดาของพระผู้ไถ่ อย่างไรก็ดี มิได้หมายความว่า พระนางเข้าใจพันธกิจของพระเยซูเจ้าทั้งหมด

          การเชื่อรวมความถึงการก้าวเดินและการแสวงหาอย่างลึกซึ้ง พระนางมารีย์ก็เช่นกันต้องการก้าวเดินเองและนี่เป็นเหตุผลที่พระนางทรงคำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และสิ่งที่มีคนกล่าวถึงในสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบครัวและบรรดาเพื่อนบ้านเจริญชีวิต ดังนั้น ความใกล้ชิดทางฝ่ายร่างกายต่อบุตรในครรภ์ ก็มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพันธกิจที่พระเยซูเจ้าต้องทำให้สำเร็จ สำหรับเราด้วย ความเชื่อเป็นกระบวนการซึ่งเราจะมีทั้งก้าวหน้าและถอยหลัง มีช่วงเวลาแห่งแสงสว่างและความมืด แต่ประจักษ์พยานของพระนางมารีย์แสดงให้เราก้าวหน้าบนหนทางสู่พระเจ้า ความหวังของเรา

พระนาม “เยซู”
          พระเยซูเจ้าทรงบังเกิด “มาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ” (กท 4:4) เมื่อครบกำหนด 8 วัน ถึงเวลาจะต้องทรงเข้าสุหนัต เป็นเครื่องหมายว่าเป็นชาวยิว และรับพระนามว่า “เยซู” ซึ่งหมายความว่า พระผู้ช่วยให้รอด ผู้ทำให้เราได้เรียกพระเจ้าว่า “อับบา พ่อจ๋า” ทำให้เราเป็นบุตรบุญธรรม... เป็นอิสระ สำหรับนักบุญเปาโลและนักบุญยอห์น การเป็นบุตรก็เท่ากับการเป็นอิสระ เป็นทายาท ไม่เป็นทาส (วรรคที่ 6-7)

         ขอบพระคุณพระนางมารีย์ อาศัยพระพักตร์มนุษย์ของพระเยซูเจ้า ชาวนาซาเร็ธ “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงผินพระพักตร์มายังท่านและประทานสันติแก่ท่าน” ตามที่อยู่ในบทอวยพร พระเจ้าต้องการอวยพรประชากร (กดว 6:26) ด้วยการรับสภาพมนุษย์ บุตรพระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงใบหน้ามนุษย์ให้แสดงออกถึงการประทับอยู่ และความต้องการเร่งด่วนของพระเจ้า
ขอให้เราพบพระพักตร์ของพระคริสตเจ้าในใบหน้าที่กำลังทนทุกข์ของคนจน ผู้หิวโหย ตามกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ค.ศ. 2015 ว่า เราทุกคนต้อง “อยู่เคียงข้างคนจน... ถูกละเมิดทางเพศและถูกล่วงละเมิดในรูปแบบอื่นๆ... บุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และคนไร้สัญชาติ” (ย่อหน้า 26-27) ใบหน้าเหล่านี้ทำให้เราซื่อสัตย์ต่อพระวรสาร เมื่อคำนึงถึงคำสอนและกิจการของพระเยซูเจ้าในใจของเรา เหมือนพระนางมารีย์กระทำ จะได้กลายเป็นการเผยแสดงของพระเจ้าแก่เรา

พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Sharing the Word Through the Liturgical Year
โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 33-34.