บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

อาทิตย์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
3 ธันวาคม 2017
บทอ่าน
อสย 63:16-17, 19, 64:2-7 ; 1 คร 1:3-9 ; มก 13:33-37
การทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยความยินดี
        ให้เราเริ่มการเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า พระวรสารนักบุญมาระโกกระตุ้นเราให้สนใจเครื่องหมายแห่งกาลเวลา สนใจประวัติศาสตร์


การพบปะในเวลาที่ไม่รู้
       นักบุญมาระโกเตือนเราตอนเริ่มพระวรสารว่า “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว” (1:15) ท่านพูดถึง Kairos (ไครอส) ภาษากรีกแปลว่า เวลาแห่งพระพร เวลาที่ดี มิได้กำหนดวันเจาะจง เมื่อไรสิ่งสำคัญจะเกิดขึ้น ที่นี่อีก นักบุญมาระโกใช้คำว่า Kairos เพื่อบอกเราว่าเราต้องตื่นเฝ้า และรู้จักพิจารณาดูโอกาสที่พระเจ้าทรงเลือกมาพบปะกับเรา “เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าวันเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร” (13:33)

       แต่บนพื้นฐานสิ่งที่เราถูกล่อลวงให้พิจารณาตามสามัญสำนึก เราอาจค้านว่า เราไม่ควรฉลองคริสต์มาสในวันเดียวกันของปีมิใช่หรือ ในวันอาทิตย์แรกของการเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า พระวรสารนักบุญมาระโกช่วยเราให้เลิกคิดตามลำดับเวลา วันที่ 25 ธันวาคม มาถึงแล้วก็ผ่านไป โดยที่เราไม่ได้พบปะกับพระเยซูเจ้าในชีวิตปัจจุบันของเราและในประวัติศาสตร์ เพราะมีการโฆษณาสิ่งที่ไร้ประโยชน์มากมาย วันฉลองคริสต์มาสของเราจึงไม่เป็นดังสิ่งที่นักบุญเปาโลสอนว่า “ไม่มีที่ติในวันที่พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเสด็จมา” (1 คร 3:8) วันฉลองคริสต์มาสมาถึงและผ่านไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงชีวิต ไม่มี “พยานถึงพระคริสตเจ้า” (ข้อ 6) ช่วยเราให้เข้มแข็งขึ้น

จงปลุกความหวัง
         เพื่อให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เราต้องตื่นเฝ้า ตามที่นักบุญมาระโกกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก “จงตื่นเฝ้า... อย่าหลับใหลในชีวิตคริสตชน” คิดว่าเราได้รับแล้วครั้งเดียวก็พอตลอดไป ในพิธีกรรมของเรามีการตื่นเฝ้า ปัสกาเป็นต้น พร้อมกับมีความหมายทางเทววิทยาลึกซึ้ง เหมือนคนเฝ้าประตู คอยตื่นเฝ้าไว้ (ข้อ 34) เราต้องใส่ใจสิ่งที่พระเยซูเจ้าต้องการเผยแสดงในเหตุการณ์ต่างๆ ในบางประเทศ เราเห็นสถานการณ์แย่ลงๆ ในชีวิตประจำวันของคนจน ความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมทวีมากขึ้น ทั้งเรื่องใหม่ และเรื่องเดิม มีการประกาศเรื่องเดิมๆ ประชาสัมพันธ์ฝ่ายเดียว และหลอกชาวบ้าน ก่อนที่สาเหตุแท้ของสถานการณ์ อยุติธรรมและความตายจะปรากฏ

         หลายครั้งเรารู้สึกว่าประชาชนไม่มีความหวัง การเตรียมรับพระเยซูเจ้าจึงมีความหมายว่าเราปฏิเสธที่จะยอมรับสถานการณ์นั้น จงตื่นเฝ้า จึงรวมถึงการอุทิศตนทำอะไรบางอย่าง มีความหวังไม่ใช่ภาพหลอกๆ สำหรับคนจน ในการต้อนรับเสด็จพระคริสตเจ้า เรามั่นใจว่า “พระเจ้าผู้ซื่อสัตย์มั่นคงในการรักษาคำสัญญา” (1 คร 1:9) เวลาสำหรับการพบปะนี้เป็นแผนการของพระเจ้า แต่ก็เป็นงานของเราด้วย มิใช่แบบโชคชะตาตามลำดับเวลา เพราะดังที่เราได้ฟังในบทอ่านแรก พระเจ้า “เสด็จมาพบผู้ที่ยินดีปฏิบัติความยุติธรรม และระลึกถึงพระองค์โดยเดินตามหนทางของพระองค์” (อสย 64:5)

       ที่จริง เราต้องปฏิบัติความยุติธรรมด้วยความยินดีและความหวัง มิใช่ด้วยความขมขื่นและความท้อใจ ดังนั้นพระเจ้าจะเสด็จมาพบเรา และเราจะฉลองวันพระคริสตสมภพอย่างมีความหมายในชีวิตและในประวัติศาสตร์ของประชาชน (ชาวไทย)

พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Sharing the Word Through the Liturgical Year
โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 4-5.