บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

วันอาทิตย์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา
12 พฤศจิกายน 2017
ความปรารถนาจริงใจฟังคำสอน
อุปมาต่างๆ จากพระวรสารนักบุญบทท้ายๆ ทำให้เราเข้าใจพระเจ้าทรงทำงานในประวัติศาสตร์ พระพรแห่งชีวิตนิรันดรในพระเยซูเจ้าตัดสินชีวิตของเรา

นายเจ้าขา นายเจ้าขา

       อุปมานี้กล่าวถึงพิธีแต่งงานในสมัยพระเยซูเจ้า เมื่อถึงเวลากำหนด เจ้าบ่าวมาถึงพร้อมกับบรรดาแขกรับเชิญทุกคน งานฉลองจึงเริ่ม พระวรสารนักบุญมัทธิวมีประสบการณ์ของพระศาสนจักร นำเสนอชุมชนคริสตชนสมัยนั้นให้เราทราบ ดังเช่นหญิงสาว 10 คน รอรับเจ้าบ่าว มีทั้งคนโง่และคนฉลาด (ข้อ 1-4) ในโอกาสต่างๆ นักบุญมัทธิวชี้ให้เห็นความแตกต่างและแม้การแตกแยกในวัด การมาช้าของเจ้าบ่าวจะเผยแสดงสถานการณ์ ตอนแรก หญิงสาวทุกคนปฏิบัติเหมือนกัน “ทุกคนต่างง่วงและหลับไป” (ข้อ 5) ข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้ถูกตำหนิในตอนนี้ ไม่ใช่จุดโฟกัส สิ่งที่น่าสนใจ คือ หญิงสาวบางคนนำน้ำมันใส่ขวดมาพร้อมกับตะเกียง แต่คนอื่นไม่มี ดังนั้น พวกเธอพบสถานการณ์ที่แตกต่างกันเมื่อเจ้าบ่าวมาถึง (ข้อ 8-9)

      เจ้าบ่าว หมายถึง พระเจ้า การเสด็จมาถึงของพระองค์เป็นการพิพากษา ใครที่ได้ยินข้อความนี้และนำไปปฏิบัติ จะได้เข้าพระอาณาจักร “หญิงสาวที่เตรียมพร้อมจึงเข้าไปในห้องงานแต่งงานพร้อมกับเจ้าบ่าว” (ข้อ 10) ส่วนใครที่มิได้ปฏิบัติตามพระวรสารว่าเป็นกฎเกณฑ์ชีวิต บางทีพูดให้ถูกกว่า คือ ผู้ที่รับเพียงแค่เป็นพิธี พระเจ้าจะตรัสว่า “เราไม่รู้จักท่าน” (ข้อ 12) ความหมายก็คือ ปฏิเสธบรรดาผู้แกล้งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็น ผู้ที่มิได้ดำเนินชีวิตเป็นศิษย์แท้ของพระเยซูเจ้า แล้วกล่าวว่า “นายเจ้าขา นายเจ้าขา เปิดรับพวกเราด้วย” (ข้อ 11) สำนวนนี้ทำให้นึกถึงสิ่งที่สอนใน มธ 7:21 “มิใช่ทุกคนที่กล่าวว่า พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า จะได้เข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ “บรรดาผู้ที่เชื่อแต่ปากเท่านั้น พระเจ้าจะตรัสว่า ‘เราไม่รู้จักท่าน... จงไปให้พ้นหน้าเรา’ ” (7:23)

จงตื่นเฝ้าระวังไว้เถิด

       พระวาจาตอนนี้สรุปด้วยการสอนให้ตื่นเฝ้า สนใจปฏิบัติตามคำสั่งของพระวรสาร (ข้อ 13) ความหวังทำให้เราตื่นเฝ้า นักบุญเปาโลเตือนใจเราว่า พื้นฐานของความหวังนี้ คือ ความมั่นใจว่าพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากความตาย ชีวิตถูกควบคุมด้วยความตาย ทำให้เกิดความโศกเศร้าเสียใจ (1 ธส 4:13) ความหวังทำให้เรากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางนี้ การเชื่อในการกลับคืนชีพทำให้เรามั่นใจ ชีวิตที่รู้ว่าไม่มีข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ หรือเวลาการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู (ข้อ 14) ทำให้เรามีชีวิตในความรักเหมือนที่พระเยซูเจ้าได้ปฏิบัติ พระเจ้าจะทรงนำบรรดาผู้ปฏิบัติเช่นนี้มาหาพระองค์ (ข้อ 14) ชีวิตนิรันดรเริ่มแล้วที่นี่และบัดนี้ มิฉะนั้นก็ไม่ใช่นิรันดร อย่างไรก็ดี ความหวังในชีวิตนิรันดรเป็นพระพรจากพระเจ้า

     พระคัมภีร์เชิญเราให้มีความปรารถนาจริงใจต่อคำสอนนี้ ต่อความรู้เกี่ยวกับพระเจ้า นี่คือ ปรีชาญาณ “ผู้รักปรีชาญาณย่อมปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ ผู้เชื่อฟังธรรมบัญญัติย่อมได้รับการรับรองว่าจะมีชีวิตอมตะ” (ปชญ 6:18) ปรีชาญาณจะ “ทำให้เราอยู่ใกล้ชิดพระเจ้า” (ปชญ 6:19) ปรีชาญาณจะช่วยเราให้ไตร่ตรองสิ่งที่เรียกร้องในพระวรสารนักบุญมัทธิววันนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่กล่าวว่า เราเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าถ้าเราไม่ปฏิบัติตามคำสอนนี้

พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล

จาก Sharing the Word Through the Liturgical Year

โดย Gustavo Gutierrez, หน้า 257-258.