บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์อาทิตย์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา
วันอาทิตย์แพร่ธรรมสากล
18 ตุลาคม 2015
จุดเน้น    ผู้ที่ติดตามพระคริสตเจ้าจะต้องเป็นธรรมทูต


พี่น้องที่รัก  วันอาทิตย์แพร่ธรรมสากลประจำปี 2015  ปีนี้อยู่ในบริบทของปีชีวิตนักบวช  ซึ่งช่วยให้มีการส่งเสริมการสวดภาวนาและการไตร่ตรองเพิ่มมากขึ้น  ถ้าคริสตชนผู้ได้รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนได้รับเรียกให้เป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซูเจ้า  องค์พระผู้เป็นเจ้า  ด้วยการประกาศความเชื่อที่เขาได้รับมาเป็นดั่งพระพร  สิ่งนี้ยิ่งสำคัญสำหรับนักบวชชายและหญิงแต่ละคน  ชีวิตนักบวชกับพันธกิจการแพร่ธรรมนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน  ความปรารถนาที่จะติดตามพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิด  ปรากฏออกมาให้เห็นด้วยชีวิตการเป็นนักบวชในพระศาสนจักร  ด้วยการตอบรับการเรียกของพระองค์ให้แบกกางเขนและติดตามพระองค์  เพื่อกระทำตามแบบอย่างการอุทิศตนของพระองค์แด่พระบิดา  การรับใช้และความรักของพระองค์  ด้วยการยอมสูญเสียชีวิตเพื่อได้รับชีวิต  ทั้งนี้เพราะชีวิตทั้งชีวิตของพระคริสตเจ้ามีลักษณะธรรมทูต  ดังนั้น  ทุกคนที่ติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิดจึงต้องรักษาคุณภาพแห่งการแพร่ธรรมของ พระองค์ไว้ด้วย

การแพร่ธรรมคือความรักผูกพันต่อพระเยซูเจ้า  และในขณะเดียวกันก็เป็นความรักต่อประชากรของพระองค์  เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน  เราได้เห็นความรักอย่างลึกซึ้งของพระองค์ซึ่งมอบศักดิ์ศรีและค้ำจุนเรา  ขณะเดียวกันเราก็ตระหนักดี  ว่าความรักที่หลั่งไหลมาจากดวงพระหฤทัยที่ถูกแทงของพระเยซูเจ้าแผ่ขยายมาโอบ กอดประชากรของพระเจ้าและมวลมนุษยชาติ  เราตระหนักอีกครั้งว่าพระองค์ประสงค์จะใช้เรา  เพื่อพระองค์จะได้ใกล้ชิดกับประชากรที่พระองค์ทรงรักมากยิ่งขึ้น (เทียบ ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร 268)  และทุกคนที่แสวงหาพระองค์ด้วยความจริงใจจากคำสั่งของพระเยซูที่ตรัสว่า “จงไป”   เราเห็นได้ถึงภาพและความท้าทายในปัจจุบันของการแพร่ธรรมในพระศาสนจักร   สมาชิกของพระศาสนจักรทุกคนถูกเรียกให้ประกาศข่าวดีโดยการเป็นประจักษ์พยาน ด้วยการดำเนินชีวิต  ด้วยวิธีการเฉพาะของบรรดานักบวชชายและหญิง  พวกเขาถูกขอให้ฟังเสียงของพระจิตเจ้าซึ่งเรียกให้เขาไปยังสุดเขตแดน ไปยังพื้นที่ซึ่งยังไม่เคยได้รับการประกาศข่าวดี

ปัจจุบัน การแพร่ธรรมของพระศาสนจักรต้องเผชิญกับสิ่งท้าทาย  ด้านความต้องการของผู้คนในการที่จะหันกลับไปยังรากเหง้าของตนเอง  และพิทักษ์รักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ พวกเขานับถือ   ซึ่งหมายความว่าการรู้จักและการนับถือขนบประเพณีที่ผู้อื่นนับถือ  รวมถึงระบบปรัชญาการดำรงชีวิตของผู้อื่น  ตลอดจนการตระหนักว่าผู้คนและวัฒนธรรม  ตลอดจนประเพณีของผู้คนล้วนมีสิทธิและมีส่วนช่วยในการนำความลึกล้ำของปรีชา ญาณของพระเจ้า  เข้าไปในจิตใจจนทำให้พวกเขายอมรับข่าวดีของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นแสงสว่าง และพละกำลังสำหรับทุกวัฒนธรรมได้

ภายใต้พลวัตรที่ซับซ้อนนี้   ให้เราถามตนเองว่า “ใครคือผู้คนกลุ่มแรกที่ข่าวดีควรต้องไปถึง” คำตอบนี้พบได้บ่อยครั้งในพระวรสาร   ซึ่งชัดเจนว่า  เป็นคนยากจน  เด็กๆ  และคนป่วย  คนที่ถูกทอดทิ้งและถูกดูหมิ่น  ตลอดจนคนที่ไม่มีอะไรที่จะตอบแทนเราได้ (เทียบ ลก 14:13-14) การประกาศข่าวดีไปยังคนที่มีน้อยที่สุดก่อนในพวกเรา คือเครื่องหมายแห่งพระอาณาจักรที่พระเยซูเจ้าทรงนำมา “เป็นความสัมพันธ์ที่แยกจากกันไม่ได้  ระหว่างความเชื่อของเราและคนยากจน  จงอย่าทอดทิ้งผู้ยากไร้” (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร 48)

การดำเนินชีวิตคริสตชนที่เป็นประจักษ์พยานและเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก ของพระบิดาในท่ามกลางคนยากจนและคนด้อยโอกาสนั้น  ผู้ปฏิญาณตนได้รับเรียกให้ส่งเสริมการปรากฏอยู่ของฆราวาสผู้มีความเชื่อใน การรับใช้งานแพร่ธรรมของพระศาสนจักร  ดังที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2  ระบุไว้ว่า “ฆราวาสควรร่วมมือในงานการประกาศพระวรสารของ พระศาสนจักร ในฐานะประจักษ์พยาน และในฐานะเครื่องมือที่มีชีวิต พวกเขาสามารถช่วยงานแพร่ธรรมได้” (AG 41)  จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้แพร่ธรรมได้รับการเจิมต้องยินดีต้อนรับคนมีน้ำใจที่มาช่วยงานพวกเขา  แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาที่จำกัดก็ตามเพื่อให้เขาได้มีประสบการณ์ทางด้านนี้ เพราะพวกเขาคือพี่น้องชายหญิงที่ต้องการมีส่วนร่วมในกระแสเรียกการแพร่ธรรม ที่เขาได้รับมาเมื่อรับศีลล้างบาป  บ้านพักและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในงานแพร่ธรรม  คือสถานที่โดยธรรมชาติที่จะต้อนรับพวกเขา  และจัดหาสิ่งที่สนับสนุนเขาทางด้านความเป็นมนุษย์  ด้านจิตวิญญาณและงานอภิบาล

พี่น้องที่รัก  ผู้แพร่ธรรมแท้จริงคือผู้ที่รักข่าวดี  นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “หากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี  ข้าพเจ้าย่อมได้รับความวิบัติ” (1 คร 9:16)   ข่าวดีเป็นแหล่งกำเนิดของความชื่นชมยินดี  อิสรภาพและการไถ่กู้  สำหรับมนุษย์ทั้งปวงทั้งชายและหญิง  พระศาสนจักรตระหนักดีถึงพระพรประการนี้  ดังนั้น  พระศาสนจักรจึงไม่หยุดที่จะประกาศข่าวดีแก่ทุกคน “ซึ่งเป็นอยู่แล้วตั้งแต่แรกเริ่ม  เราได้ฟัง  เราได้เห็นด้วยตาของเรา” (1 ยน 1:1)  พันธกิจของบรรดาผู้รับใช้พระวาจาของพระเจ้า  อันได้แก่  บรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์  นักบวช  และฆราวาส  คือการอนุญาตให้ทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้น ได้เข้าถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระคริสตเจ้าอย่างเต็มที่ในทุกส่วนของ กิจกรรมการแพร่ธรรมของพระศาสนจักร  สัตบุรุษทุกคนได้รับเรียกให้เจริญชีวิตภายใต้ข้อผูกมัดแห่งศีลล้างบาปอย่าง เต็มที่  ทั้งด้วยสวดภาวนา  พลีกรรม  ถวายวัตถุปัจจัย  และดำเนินชีวิตประกาศข่าวดี

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์ 
สรุป
จาก  สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

ในโอกาสวันแพร่ธรรมสากล ประจำปี 2015