บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์อาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
27 กันยายน 2015
บทอ่าน  
 กดว  11:25-29  ;  ยก 5:1–6  ;  มก 9:38–43, 45, 47-48
พระวรสารสัมพันธ์กับ   คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก  (CCC)  1034
จุดเน้น        การกำจัดอุปสรรคต่อความเชื่อ  ช่วยเราเติมเต็มกระแสเรียกแท้จริง


    หัวข้อไตร่ตรองในบทอ่านต่างๆ วันนี้มี 2 ประการ    
ประการแรกจากหนังสือกันดารวิถี  ชายหนุ่มสองคนขอบคุณพระจิตของพระเจ้า  โจชัวคิดว่าโมเสสต้องการห้ามพวกเขา  เพื่อมิให้ประชาชนเริ่มสงสัยหน้าที่เฉพาะของโมเสส  แต่โมเสสมีความสุขที่มีคนอื่นพูดเหมือนประกาศก  โมเสสกล่าวว่า “ให้เขาทุกคนเป็นประกาศกด้วย”  เช่นเดียวกับในพระวรสาร  พระเยซูเจ้าทรงยืนยันกับบรรดาศิษย์ว่า “ไม่มีใครสามารถทำอัศจรรย์ในนามของเรา  แล้วว่าร้ายเราได้”  ผู้ใดไม่ต่อต้านพระองค์  ก็เป็นฝ่ายพระองค์

    หัวข้อที่สองค่อนข้างเป็นลางสังหรณ์
บทอ่านจากจดหมายของนักบุญยอกอบมีบทสอนแรงๆ  สำหรับคนมั่งมีผู้อยู่ในอันตรายที่จะถูกประณามตลอดกาล  พระเยซูเจ้าในพระวรสารก็สอนต่อเช่นกัน  พระองค์ตรัสว่า  ถ้ามือ ถ้าเท้า หรือตา เป็นเหตุให้เราทำบาป  จงควักมันออกเสีย  ดีกว่าถูกโยนลงนรก

    บทสอนทั้ง 2 ประการสำคัญ  ประการแรกสำคัญน่าจำว่า  พระเจ้าทรงปรารถนาให้เราทุกคนเป็นพยานความรักของพระเจ้าต่อโลก   บทอ่านต่างๆ เหล่านี้เตือนใจเราให้ดำเนินชีวิตตามพระกระแสเรียก

    ไม่ว่าในการชี้แนะเพื่อนโดยอาศัยกระดาษปะไม่สวย  หรือการให้กำลังใจใครที่กำลังเศร้าโศกเพราะสูญเสียคนรัก  พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราทุกคนให้ช่วยเยียวยารักษาโลกในนามของพระองค์
    นี่คือเหตุผลสำคัญมาก  ที่เราต้องตระหนักหัวข้อที่สอง กล่าวคือ  สิ่งต่างๆ ที่มี  เราต้องใช้แบบพระคริสตเจ้าเพื่อผู้อื่น  ความมั่งคั่งอาจนำเราไปสู่ความรู้สึกมั่นคงแบบผิดๆ  จนเราอาจคิดว่าเราสามารถทำทุกสิ่งโดยไม่ต้องพึ่งพระเจ้า  ความมั่งคั่ง (ร่ำรวย) อาจทำให้เราไขว้เขวจากข้อเท็จจริงว่า  ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าอาจถูกทำให้เสียไปหรือถูกลดค่า  ในส่วนของเรา  ความร่ำรวยอาจทำให้เราไม่สนใจช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยากขัดสน

    ดังนั้น  เราจำเป็นต้องตระหนักให้ดีในเรื่องนี้ในชีวิต  ซึ่งทำให้เราไม่เป็นแบบอย่างที่ดีถึงความรักของพระคริสตเจ้า  เมื่อเราค้นพบสิ่งต่างๆ ว่ามันกีดกันเรามิให้เป็นแบบอย่างที่ดี  และไม่แบ่งปันความรักของพระคริสตเจ้ากับผู้อื่น  เราต้องกำจัดมัน  เราไม่ควรประนีประนอมกับมัน  เราไม่ควรพอใจกับการแบ่งรับแบ่งสู้  เราต้องต่อสู้  กำจัดสิ่งที่ดึงเราออกจากชีวิตแห่งความเชื่อ  และกิจการที่ดีงาม

    เมื่อเราทำดังนี้  เราจะเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ยิ่งขึ้นต่อพระเยซูเจ้า  และในนามของพระองค์เราสามารถขับไล่จิตชั่วของโลกออกไป เช่น วัตถุนิยม  บริโภคนิยม  และการเห็นแก่ตัว  ทำเช่นนี้เราจะสามารถพูดความจริงแม้เมื่อไม่สะดวก  ปฏิบัติให้ดีที่สุดในฐานะคริสตชนเพื่อสังคมที่ดีกว่าเดิม

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(กรกฎาคม-กันยายน  2015), หน้า 399-400.