บทเทศน์โดยพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์  วีระ  อาภรณ์รัตน์

อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
15  ธันวาคม   2013
บทอ่าน    อสย  35: 1-6ก, 10  ;  ยก  5: 7-10  ;  มธ  11: 2-11
พระวรสารสัมพันธ์กับ    คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก  (CCC)  548, 549, 2443
                                 ประมวลคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  (CSDC)  183
จุดเน้น    ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า  เราคริสตชนต้องพากเพียรรอ  และชื่นชมยินดี  ขณะที่เรารอการเสด็จมาของพระครสิตเจ้า


    สัปดาห์ที่  3  นี้เป็นอาทิตย์ชื่นชมยินดี  เพราะพระคริสตเจ้าอยู่ใกล้แล้ว  เราอยู่ใกล้วันฉลองพระคริสตสมภพมากกว่าคริสต์มาสครั้งแรก  เรารู้สึกด้วยว่าใกล้การเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์  ดังที่เราได้ไตร่ตรองตลอดเทศกาลศักดิ์สิทธิ์นี้เกี่ยวกับวาระสุดท้าย  และการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าในสิริรุ่งโรจน์ฐานะกษัตริย์ของเรา    ในอาทิตย์สีกุหลาบ (เทียนคริสต์มาสหรีดจุดสีชมพูเล่มที่ 3)  เราอธิษฐานขอให้มีประชาชนมากยิ่งๆ ขึ้น  จะมองดูชีวิตและสังคม (โลก) รอบตัว  โดยอาศัยเลนส์ (แว่นตา) แห่งความเชื่อสีกุหลาบ  ช่วยให้พวกเขาสามารถเห็นพระสิริรุ่งโรจน์รอบตัวเราทุกคน

    ประกาศกอิสยาห์ผู้ได้เกิดก่อนพระเยซูเจ้ามากกว่า  700 ปี  ได้พยายามนำความปีติยินดีสู่ชาวอิสราเอล  ระหว่างช่วงเวลาเมื่อพวกเขารู้สึกมีคุณค่ามีเหตุน่าชื่นชมยินดีเล็กน้อย  ระหว่างการเนรเทศไปอัสซีเรีย  อิสยาห์ได้เทศน์ให้กำลังใจและการฟื้นฟูว่าพวกเขาจะกลับสู่มาตุภูมิ  กลับบ้าน  และบูรณะพระวิหาร  อิสยาห์กล่าวว่า “จงมานะเถิด  อย่ากลัวเลย  ดูซิพระเจ้าของท่านทั้งหลายจะเสด็จมา  เพื่อช่วยท่านให้รอดพ้น”  ท่านพูดกับประชาชนที่เคยมีความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า  คิดว่าพระองค์ละทิ้งพวกเขาให้เป็นทาสและได้รับความทุกข์น่าสงสาร

    อิสยาห์ใช้คำว่า    ช่วยให้รอดพ้น  และ  ลงโทษอย่างสาสม  พระเจ้าทรงไถ่ให้มีอิสรภาพ  และ การอภัย แก่ทุกคนที่เชื่อศรัทธาในพระองค์  ประกาศก (อิสยาห์) ได้กล่าวถึงกิจการยิ่งใหญ่และทรงอำนาจ  จะติดตามความรอดของพระเจ้า  กล่าวคือ คนตาบอดมองเห็น  คนหูหนวกได้ยิน  คนง่อยกระโดดได้อย่างกวาง  คนใบ้ร้องตะโกน  และทุกคนเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า  คำสัญญานี้จะช่วยสนับสนุนความเชื่อของอิสราเอล  ระหว่างประสบความทุกข์ลำบากที่สุด
 
ติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับการเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า     บทอ่านจากพันธสัญญาใหม่  จดหมายนักบุญยากอบอัครสาวก  แนะนำให้พากเพียรรอจนกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมา     บรรดาคริสตชนใหม่ในศตวรรษแรกรู้สึกกระวนกระวายใจในการรอการเสด็จกลับมาอีกครั้งของพระเยซูเจ้าในฐานะกษัตริย์    นักบุญยากอบใช้ภาพพจน์ของชาวนา  รอผลมีค่าจากแผ่นดิน  เพื่ออธิบายความเชื่อเช่นกัน  จำเป็นต้องรอและติดตามการมาถึงของอาณาจักรพระเจ้า  ชาวนาต้องทำส่วนของเขา  และเรามั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะทรงทำส่วนที่เหลือ

    นักบุญยากอบใช้คำ  พากเพียรรอ  ถึง  5 ครั้งในข้อความสั้น (4 ประโยค) นี้    คำว่า พากเพียรรอ  Patient  ภาษาอังกฤษมาจากคำภาษาละตินที่หมายถึง  ความทุกข์ (Suffering)    พี่น้องเคยมีประสบการณ์รอใครมาที่บ้านอย่างกระวนกระวายใจ  ที่การรอนั้นเกือบเป็นทุกข์ไหม  นั้นแหละคือ พากเพียรรอ  แบบที่เราควรรอพระคริสตเจ้าเสด็จมา  ให้เรารอด้วยการภาวนาและทำกิจการดีที่เราทำ  เพื่อเราจะได้สัมผัสความยินดีเหมือนอย่างที่เรารอคนนั้นที่เรารักมาถึง

    ในพระวรสาร  นักบุญยอห์น บัปติส  ไม่มีโอกาสรอ   ท่านยอห์นถูกจองจำในคุก  และในไม่ช้าท่านจะถูกประหารชีวิตเพราะกล้าพูดคัดค้านการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องของกษัตริย์ (เฮโรด)  ขณะที่ท่านอยู่ในคุก  ท่านได้ใช้ศิษย์ไปทูลถามพระเยซูเจ้าว่าพระองค์เป็นผู้ที่เรากำลังรอ  หรือต้องรอคอยใครอีกที่จะมาช่วย  พระองค์ตรัสตอบว่าให้ดูกิจการที่พระองค์กระทำ  “คนตาบอดกลับแลเห็น  คนง่อยเดินได้  คนโรคเรื้อนหายจากโรค  คนหูหนวกได้ยิน  คนตายกลับคืนชีพ  คนยากจนได้รับข่าวดี”  คือคำทำนายของประกาศกอิสยาห์  จากบทอ่านที่หนึ่งนั่นเอง

    พระเยซูเจ้า คือ พระพักตร์ของพระเจ้า  ช่วยให้คนตาบอดกลับแลเห็นพระบิดา  คนหูหนวกได้ยินพระวาจา  อาศัยคำพูดภาษามนุษย์ของพระเยซูเจ้า  คนง่อยเดินได้กับพระองค์ไปตามทางแห่งไม้กางเขน  คนโรคเรื้อนมาสัมผัสพระเยซูเจ้าได้  ข่าวดีและความหวังแห่งการกลับคืนพระชนมชีพ  ทำให้เราได้รับกำลังใจ

    พระเยซูเจ้าเป็นของขวัญยิ่งใหญ่แห่งวันคริสต์มาส  พระองค์เสด็จมาดุจทารก และ กษัตริย์  ที่เราพากเพียรรอด้วยความหวัง    ให้เราภาวนาขอพระเจ้าเอาความบอดมืดไป  ช่วยให้เราเห็นสังคม (โลก)   อาศัยเลนส์ (แว่นตา) สีกุหลาบแห่งความเชื่อศรัทธา   ขอให้หัวใจและมือของเราได้รับการรักษาให้พ้นจากความพิการต่างๆ  ช่วยเราให้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า  และประกาศพระวาจาของพระองค์

พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(ตุลาคม – ธันวาคม 2013), หน้า 493-495.