วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน  2012
วันอาทิตย์สมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า (ปี B)
บทอ่าน
: อพย  24: 3-8  ;    ฮบ  9: 11-15  ;    มก  14: 12-16,  22-26
พระวรสารสัมพันธ์กับ         คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก  (CCC)   1328, 1335, 1339, 1403
จุดเน้น พระวรกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า  ฟื้นฟูและสนับสนุนเราในการเดินทางสู่สวรรค์
            ใครที่เคยบริจาคเลือดย่อมรู้กระบวนการเตรียมว่าสำคัญ  ผู้ให้เลือดต้องไม่มีโรคที่อาจเป็นเหตุสร้างปัญหากับผู้รับ  ผู้บริจาคเลือดต้องมีเครื่องหมายที่แข็งแรง  เช่น  ต้องตรวจอุณหภูมิของร่างกาย  อัตราการเต้นของหัวใจ  ความดันโลหิต  และปริมาณเหล็ก  (ในเลือด)  ถ้าสภาพของผู้ให้ไม่ปกติ  เขาก็ไม่สามารถให้เลือดแก่คนอื่นได้  ที่สุด  ต้องมั่นใจว่ากระบวนการให้เลือดต้องปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ  ชีวิตเป็นพระพรที่ได้รับการฟื้นฟูและสนับสนุน
               ดังที่เราได้ฟังบทอ่านวันนี้  สมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า  เราอาจคิดถึงกระบวนการนี้  ศูนย์กลางบทอ่านกล่าวถึง  เลือดแห่งการถวายบูชา  พิธีปัสกา  และคำพูดเสก  (ศีลมหาสนิท)  บทอ่านแรกกล่าวถึง  บรรพบุรุษในความเชื่อได้เตรียมตัวรับพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำกับพวกเขา  โมเสสได้ถามพวกเขาว่าจะเต็มใจปฏิบัติหรือไม่  คำตอบมิใช่ครั้งเดียว  แต่สองครั้ง  ว่าพวกเขาจะเชื่อฟังและปฏิบัติทุกสิ่งตามที่พระเจ้าทรงต้องการ  โมเสสจึงเอาเลือดในชามประพรมประชาชน  คล้ายเราพรมน้ำเสกในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์  การพรมเลือดที่ถวายบูชาแล้ว  หมายถึง  การรับรองพันธสัญญาอย่างสง่า

               บทอ่านที่สองจากจดหมายถึงชาวฮีบรู  เปรียบพันธสัญญาเดิมที่กระทำระหว่างพระเจ้าและมนุษย์  กับพันธสัญญาใหม่ของเรา  โดยอาศัยพระเยซูเจ้าเป็นการช่วยเตรียมใจเราให้ยอมรับพระเยซูเจ้าในฐานะลูกแกะปัสกา  เครื่องบูชาเพียงครั้งเดียวแต่มีผลสำหรับทุกสิ่งที่ได้รับการไถ่กู้  และนำความรอดมาให้  บทอ่านนี้ช่วยเราให้ภูมิใจในพระพรยิ่งใหญ่ที่เราได้รับในศีลมหาสนิท  พระวรกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า  ซึ่งมีอำนาจชำระจิตใจเราให้บริสุทธิ์  เพื่อนมัสการและรักพระเจ้า  ดังที่เราควรปฏิบัติ 

               จากพระวรสารวันนี้  ทำให้เราเข้าใจการจัดเตรียมปัสกา  บรรดาศิษย์จัดสิ่งต่างๆ  เตรียมฉลอง  เมื่อเริ่มปัสกา  พระเยซูเจ้าพระองค์เองได้เตรียมบรรดาศิษย์สำหรับช่วงเวลา  และกิจการไถ่กู้ที่ต่อเนื่องจากอาหารค่ำมื้อสุดท้าย  แต่จุดเน้นแรกของพระวรสาร  คือ  พระเยซูเจ้า  การเสกปังและเหล้าองุ่น  ให้เป็นพระวรกายและพระโลหิต  ถวายแด่พระบิดา  การเสกนี้  เรากระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ในพิธีมิสซา  ในพิธีบูชาขอบพระคุณ  เราระลึกถึงมิใช่เพียงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายเท่านั้น  แต่ระลึกถึงกิจการไถ่กู้ที่ตามมาด้วย  คือ  การทรมาน  การสิ้นพระชนม์  และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า

               ทำไมเราเน้นการเตรียมวันนี้  ในฐานะคริสตชนคาทอลิก  เราเข้าใจพระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้ในพระคริสตเจ้า  ในฐานะการเตรียมอย่างต่อเนื่องสำหรับชีวิตนิรันดร  มากกว่าการบรรลุผลสำเร็จครั้งเดียว  เราเห็นการเปรียบเทียบเช่นนี้ได้ในวิธีที่เราเข้าใจศีลมหาสนิท  ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหนในชีวิต  ไม่ว่าเราจะเป็นคนศักดิ์สิทธิ์เพียงใด  พระศาสนจักรขอให้เราอดอาหารอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนรับศีลมหาสนิท  เราต้องมีหัวใจที่พร้อมก่อนรับศีล  กล่าวคือ  ปราศจากบาปหนัก  ต้องเสียใจในบาป  ตระหนักถึงความต้องการความรอด  ไว้วางใจในความรักเมตตาของพระเจ้า  มีความหวังและยินดีในพระองค์  พระศาสนจักรสอนเราให้เตรียมตัว  ด้วยการสวดภาวนา  หรืออ่านพระคัมภีร์

               เมื่อเราใส่ใจเตรียมตัวก่อนรับศีลมหาสนิทเช่นนี้  การมอบชีวิตจึงสามารถเริ่มได้  หากเราเปรียบเทียบการให้เลือดทางการแพทย์  พระเยซูเจ้าเป็นผู้ให้ที่บริสุทธิ์และมีคุณค่ายิ่ง  ทรงถวายพระวรกายและพระโลหิตเพื่อเรา  เราจึงได้รับการฟื้นฟู  เพื่อจะได้เลียนแบบพระองค์  เราสามารถแบกไม้กางเขน  ถวายร่างกายและเลือดของเราด้วยการให้บริการ  และรักพระเจ้าพระบิดาและพี่น้องเพื่อนบ้านของเรา

พระสังฆราชวีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
จาก  Homilies  โดย Catholic  Diocese  of  Lansing,
(เมษายน – มิถุนายน  2012  Vol. 45 No. 2), หน้า 264-266.