บทเทศวันอาทิตย์ โดย ฯพณฯ ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์
สัปดาห์ที่  1  เตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (ปี B)
วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน  2011
การทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยความยินดี
บทอ่าน
: อสย. 63:16-17, 19, 64:2-7  ;  1 คร. 1:3-9  ;  มก. 13:33-37
พระวรสารสัมพันธ์กับ 
คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC)
 ข้อ 672, 2849
          ให้เราเริ่มเตรียมตัวรับเสด็จพระคริสตเจ้า  เตรียมฉลองวันพระคริสตสมภพ  นักบุญมาระโกเตือนเราให้เอาใจใส่เครื่องหมายแห่งกาลเวลา  ให้สนใจประวัติศาสตร์
การพบปะในเวลาที่ไม่คาดคิด

               นักบุญมาระโกเตือนเราตอนเริ่มพระวรสารว่า  “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว”  (1:15)  ท่านพูดถึง  “เวลาแห่งพระพร”  (ภาษากรีก  Kairos)  เวลาที่มิได้เจาะจง  เมื่อสิ่งสำคัญบางอย่างจะเกิดขึ้น  วันนี้นักบุญมาระโกใช้ศัพท์คำนี้  Kairos  เพื่อบอกเราว่า  เราต้องตื่นเฝ้าและรู้วิธีสังเกตเอาใจใส่โอกาสที่พระเจ้าเลือกมาพบปะกับเรา  “เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้ว่า  วันเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร”  (13:33)

               แต่ตามพื้นฐานของสิ่งที่เราอาจถูกผจญให้พิจารณาตามสามัญสำนึกว่า  เราไม่ได้ฉลองพระคริสตสมภพในวันเดียวกันของปีหรือ  วันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า  บทอ่านของนักบุญมาระโกช่วยเรามิให้คิดแง่ลำดับเวลาที่ตายตัวหรือน่าเบื่อ  อันที่จริง  วันที่  25  ธันวาคม  จะมาถึงและผ่านไปโดยที่เรามิได้พบปะกับพระคริสตเจ้า  ในชีวิตปัจจุบันและประวัติศาสตร์ของเราก็ได้  เพราะการฟังโฆษณาไร้สาระ  หรือเพราะการสนใจแค่ของขวัญมากกว่าหรือน้อยกว่าเดิม  วันคริสต์มาสอาจมิใช่สิ่งที่นักบุญเปาโลเรียกว่า  “วันที่พระเยซูคริสต์  องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราจะเสด็จมา“  (1 คร. 1:8)  วันคริสต์มาสจะมาถึงและผ่านไปโดยที่เรามิได้เปลี่ยนแปลงชีวิต   มิได้เป็น    “พยานถึงพระคริสตเจ้า”           (1 คร. 1:6)  ผู้ทรงให้กำลังแก่เรา

การสร้างความหวัง

            เราต้องตื่นตัว   ดังที่พระวรสารนักบุญมาระโกย้ำแล้วย้ำอีก   จงตื่นเฝ้าเถิด   อย่าอยู่นิ่งในชีวิต คริสตชน  โดยคิดว่า  เราได้รับครั้งหนึ่งสำหรับตลอดไป
            พิธีกรรมมีการตื่นเฝ้า  ตัวอย่าง  การตื่นเฝ้าปัสกาที่มีความหมายเทววิทยา  เหมือนคนเฝ้าประตูคอยตื่นเฝ้า  (วรรคที่ 34)  คริสตชนต้องตื่นเฝ้าสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการเปิดเผยในเหตุการณ์ต่างๆ  ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน  พบปัญหาน้ำท่วม  คนตกงาน  คนยากจน  เศรษฐกิจตกต่ำ  ข้าวของแพงขึ้น  มีขโมยเพิ่มขึ้น  ฯลฯ

           หลายครั้ง  เราอาจรู้สึกว่าประชาชนขาดความหวัง  การเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าต้องมีความหมายให้เรายอมรับสถานการณ์  และต้องออกแรงพยายามช่วยคนจนมากขึ้น  “พระเจ้าทรงเรียกท่านให้สนิทสัมพันธ์กับพระบุตรของพระองค์”  (1 คร. 1:9)  ดังนั้นจึงเป็นงานของเรา  มิใช่การฉลองตามเวลา  ดังที่เราได้ฟังในบทอ่านแรก  “พระองค์เสด็จมาพบผู้ที่ยินดีปฏิบัติความยุติธรรม  และระลึกถึงพระองค์โดยเดินตามหนทางของพระองค์”  (อสย. 64:5)

            เราต้องปฏิบัติความยุติธรรมด้วยความยินดีและความหวัง  (อสย. 64:3)  มิใช่ด้วยความขมขื่น  และหมดกำลังใจ  ทำดังนี้เราจึงจะพบกับพระเจ้า  โอกาสฉลองคริสต์มาสจะมีความหมายในชีวิต  และในประวัติศาสตร์ของประชาชนชาติไทยของเรา


พระสังฆราช  วีระ  อาภรณ์รัตน์  แปล
(Sharing  the  Word  through  the  Liturgical  Year  โดย  กุสตาโว  กูตีเอเรส, 2004  หน้า  4-5)