“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ถ้าพระองค์พอพระทัย พระองค์ย่อมทรงรักษาข้าพเจ้าให้หายได้”

8. พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินทั่วแคว้นกาลิลี (3)

ข) พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนเป็นโรคเรื้อน
             เราไม่รู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงประกาศข่าวดีทั่วแคว้นกาลิลีนานเท่าใด ก่อนที่จะเสด็จกลับมาประทับที่เมืองคาเปอรนาอุม เราไม่รู้ว่าพระองค์ทรงเทศน์สอนเรื่องอะไร ทรงเข้าไปในศาลาธรรมเมืองใดและทรงทำอัศจรรย์อื่น ๆ นอกจากขับไล่ปีศาจหรือไม่ คำถามนี้ไม่มีคำตอบ แต่นักบุญมาระโกได้เล่าเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสำคัญมาก เพราะแสดงว่าคริสตเจ้าทรงมีพระทัยเมตตากรุณาและทรงเป็นผู้มีอำนาจเท่าเทียมพระเจ้าก็ว่าได้
               “ผู้เป็นโรคเรื้อนคนหนึ่ง” คำว่า “โรคเรื้อน” ในพันธสัญญาเดิมหลายครั้งหมายถึงทั้งโรคเรื้อนและโรคผิวหนังติดต่อได้ สมัยนี้ เราแยกแยะโรคสองชนิดนี้ โรคเรื้อนที่แท้จริง ชื่อว่า Hansen’s disease เป็นโรคที่น่ากลัวเพราะร่างกายจะเน่าเปลื่อยทีละเล็กทีน้อย เป็นที่น่ารังเกียจของผู้อื่น แม้ในปัจจุบันผู้คนก็ยังกลัวโรคนี้ ทั้ง ๆ ที่การแพทย์เจริญก้าวหน้ามาก สามารถรักษาให้หายได้ถ้าบำบัดตั้งแต่แรก แต่ในสมัยโบราณไม่เป็นเช่นนั้น ในกรณีนี้ พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนเป็นโรคเรื้อนที่แท้จริง

                ในพระคัมภีร์มีข้อกำหนดสำหรับผู้ที่เป็นโรคสองชนิดนี้คือ “ผู้ใดเป็นโรคผิวหนังติดต่อได้ ต้องสวมเสื้อผ้าขาด ไม่โพกศีรษะและปิดหน้าส่วนล่าง ร้องตะโกนว่า “มีมลทิน มีมลทิน”... เขาจะต้องแยกไปอยู่นอกค่าย เพื่อเขาจะไม่ทำให้ค่ายที่เราอยู่ในหมู่ท่านมีมลทิน” (กดว 5:2-3)

               ยิ่งกว่านั้น ในพระคัมภีร์ยังอธิบายว่า โรคนี้เป็นผลของบาป เหมือนกับว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะต้องไล่คนที่เป็นโรคนี้ออกจากกลุ่มชน ดังที่เขียนในหนังสือกันดารวิถีว่า “จงสั่งชาวอิสราเอลให้ขับไล่ทุกคนมีโรคผิวหนังที่ติดต่อได้...ท่านจะต้องขับไล่เขาออกไปนอกค่าย เพื่อเขาจะไม่ทำให้ค่ายที่เราอยู่ในหมู่ท่านมีมลทิน” (ลนต 13:45-46)

               ดังนั้น คนที่มีโรคชนิดนี้ก็เป็นที่น่ารังเกียจของสังคม ทุกคนคิดว่าพระเจ้าทรงละทิ้งเขา เป็นผู้ที่มีมลทิน ร่วมพิธีกรรมไม่ได้ และดำเนินชีวิตในชุมชนไม่ได้เช่นกัน คนทั่วไปยังคิดว่าผู้เป็นโรคนี้ไม่มีโอกาสจะรักษาให้หายขาดได้ อย่างมากอาจพ้นมลทินเท่านั้น ในพันธสัญญาเดิมมีเพียง 2 กรณีที่ผู้ป่วยหายจากโรคผิวหนัง คือเรื่องมีเรียมบ่นต่อโมเสสและได้รับโทษเป็นโรคผิวหนังที่ติดต่อได้ (เทียบ กดว 12:9-14) และโมเสสได้อธิษฐานภาวนาเพื่อมีเรียมให้พ้นจากโรคนี้ดังเรื่องเล่าในหนังสือกันดารวิถี

                อีกกรณีหนึ่งคือประกาศกเอลีชาซึ่งอธิษฐานภาวนาเพื่อให้นาอามานหายจากโรคผิวหนังร้ายแรง เขาทำเช่นนี้เพื่อ “เขาจะรู้ว่ามีประกาศกในอิสราเอล” (เทียบ 2 พกษ 5:8-14) ดังนั้นเหตุการณ์ในสองกรณีนี้แสดงว่าผู้มีโรคนี้ยังมีหวังที่พระเจ้ายังทรงรักษาให้หายได้ ความหวังนี้เป็นจริงในพระเยซูเจ้า สำหรับพระองค์แม้คนเป็นโรคเรื้อนก็ยังเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับความเคารพ ความรัก ไม่เป็นดังที่ประกาศกอิสยาห์เขียนเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ว่า “เขาคิดว่าถูกพระเจ้าทรงลงโทษ ถูกโบยตีและได้รับความอัปยศ” (อสย 53:4)

                ในพระเยซูเจ้า พระเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้กับคนโรคเรื้อน พระเยซูเจ้าทรงสำแดงความใจดี ความเมตตากรุณาของพระองค์ ดังนั้น คนโรคเรื้อนคงรู้สึกความจริงนี้บ้างเพราะได้ “มาเฝ้าพระองค์ คุกเข่าอ้อนวอนว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย พระองค์ย่อมทรงรักษาข้าพเจ้าให้หายได้”

                น่าสังเกตว่าการที่คนเป็นโรคเรื้อนเข้ามาใกล้พระเยซูเจ้าก็รู้ว่าทำสิ่งที่ผิด ทำสิ่งที่ธรรมบัญญัติห้าม แต่เขาคงจะสิ้นหวังแล้วจึงกล้าทำสิ่งที่ผิด เขาอาจเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าจึงคุกเข่าลงวอนขอพระองค์ เพราะคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่มีพระอานุภาพของพระเจ้า เขาถ่อมตน โดยมีความหวังว่าพระองค์จะทรงเข้าใจตน และประโยคที่เขาใช้ “ถ้าพระองค์พอพระทัย พระองค์ย่อมทรงรักษาข้าพเจ้าให้หายได้” เป็นคำภาวนาที่กล้าหาญจริง ๆ เพราะคนเป็นโรคเรื้อนคิดว่า พระเยซูเจ้าทรงมีอำนาจสูงกว่าโมเสสและประกาศกเอลีชาอย่างแน่นอน เขาเชื่อว่าถ้าพระเยซูเจ้าตรัสเพียงวาจาเดียวเขาก็จะหายจากโรค เขาไม่ได้ขอให้พระเยซูเจ้าทรงวอนขอพระเจ้าแทน แต่พูดตรงไปว่า “ถ้าพระองค์พอพระทัย” เหมือนกับว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระเจ้านั่นเอง

               “พระเยซูเจ้าทรงสงสาร ตื้นตันพระทัย” สำเนาโบราณบางฉบับใช้คำว่า “กริ้ว” ในความหมายนี้ บางคนจึงตีความว่าพระองค์กริ้วต่อคนโรคเรื้อนที่มาหาโดยทำผิดธรรมบัญญัติ ซึ่งเป็นการตีความหมายที่ไม่สอดคล้องกับบริบท พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระเมตตาและพระทัยดี ถ้าคิดว่าคำในต้นฉบับคือ “กริ้ว” ก็หมายความว่า พระองค์กริ้วไม่ใช่ต่อคนเป็นโรคเรื้อน แต่ต่อโรคที่เป็นผลการกระทำของปีศาจและบาป กระนั้นก็ดี บริบทของประโยคเสนอให้คำในต้นฉบับคือ “สงสาร” มากกว่า “กริ้ว”

               “จึงทรงยื่นพระหัตถ์สัมผัสเขา” โดยแท้จริงแล้ว พระเยซูเจ้าจะทรงรักษาเพียงตรัสคำอวยพรก็ได้ไม่จำเป็นต้องสัมผัส ในพระคัมภีร์มีเขียนว่า “สิ่งใดที่ผู้มีมลทินสัมผัส จะมีมลทินด้วย และผู้ใดที่สัมผัสสิ่งนั้นจะมีมลทินจนถึงเวลาเย็น” (กดว 19:22) แต่กฏนี้ไม่มีผลสำหรับพระเยซูเจ้า พระองค์ไม่ทรงสัมผัสผู้มีมลทินเพียงกรณีนี้ เรายังพบว่าพระองค์ทรงสัมผัสมารดาของภรรยาเปโตรและคนอื่นอีกด้วย (เทียบ 1:31; 7:33; 8:22) เราต้องเข้าใจว่า พระเยซูเจ้าทรงสัมผัสเขาเพื่อแสดงความใกล้ชิด ทรงรักษาผู้เป็นมลทินให้พ้นมลทิน แต่พระองค์ไม่ทรงเป็นมลทินเลย  เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้บันดาลให้พ้นจากการเป็นมลทิน พระเยซูเจ้าเป็น “องค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” (1:24)  ไม่ว่าทรงแตะต้องผู้ใด เป็นคนบาปหรือมีมลทินสักเพียงใด พระองค์ก็ทรงรักษาเขาให้หาย

                พระองค์ตรัสว่า “เราพอใจ จงหายเถิด ทันใดนั้น โรคเรื้อนก็หาย เขากลับเป็นปกติ” การรักษาเช่นนี้ทำให้ผู้ที่พ้นจากมลทินสามารถเข้ามาสู่ชุมชน ร่วมพิธีกรรม แต่ผู้นั้นจะต้องได้รับการรับรองจากสมณะเขาจึงต้อไปกรุงเยรูซาเล็ม “พระเยซูเจ้าทรงให้เขาไปทันที ทรงกำชับอย่างแข็งขันว่า” วลีนี้ทำให้ผู้อ่านหลายคนแปลกใจว่า ทำไมพระองค์จึงใช้ท่าทีดุเดือด แข็งกระด้าง หลังจากที่ทรงแสดงความเมตตากรุณา เราต้องเข้าใจว่า พระเยซูเจ้าไม่กริ้วต่อผู้ทำบาป แต่ในเวลาเดียวกันก็ทรงทราบว่าผู้อื่นได้เห็นพระองค์ทรงประพฤติอย่างไร จึงทรงต้องการให้ผู้หายจากโรครีบเร่งไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อไม่ให้ผู้อื่นนินทาเพราะเข้าใจพระองค์ผิด

               พระเยซูเจ้าทรงมีจิตสำนึกว่าการรักษาคนโรคเรื้อนโดยสัมผัสเขาเป็นปัญหาสำหรับพระองค์ ประชาชนทั่วไปจะกระตือรือร้นหาพระองค์ ส่วนหัวหน้าชาวยิวจะโกรธและคิดร้ายต่อพระองค์ เราจึงเข้าใจเหตุผลว่าทำไมพระองค์จึงใช้คำพูดที่ค่อนข้างรุนแรง “ระวัง อย่าบอกอะไรให้ใครรู้เลย” เพราะไม่อยากให้หัวหน้าชาวยิวหาครหาว่าพระเยซูเจ้าทรงละเมิดธรรมบัญญัติ แต่ในเวลาเดียวกันทรงกำชับเขาว่า “จงไปแสดงตนแก่สมณะ” ไม่ใช่เพื่อเขาจะไปบอกสมณะถึงอัศจรรย์ที่กิดขึ้น แต่เพื่อสมณะจะรับรองว่า เขาพ้นมลทิน ร่วมพิธีกรรมและเข้าอยู่ในสังคมได้

                 นักบุญยอห์น ครีโซสตมอธิบายว่า “พระเยซูเจ้าทรงส่งเขาไปหาสมณะให้พิสูจน์ว่า เขาได้หายจากโรคอย่างเด็ดขาด เพื่อจะไม่อยู่ห่างไกลจากพระวิหาร  สามารถร่วมอธิษฐานภาวนากับประชาชน พระองค์ทรงส่งเขาให้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ เพื่อชาวยิวจะไม่มีเหตุครหาพระองค์” แต่ก็ไร้ผล เพราะผู้ได้รับการรักษาจะเงียบไม่ได้ เขามีความยินดี เมื่อชายผู้นั้นจากไปเขาก็ “ป่าวประกาศกระจายข่าวไปทั่ว” คำว่า “ประกาศ กระจายข่าว” ถ้าแปลตามตัวอักษรคือการไปประกาศและกระจายพระวาจา หรือเทศน์พระวาจา การเทศน์สอนพระวาจาในภาษาของนักบุญมาระโกหมายถึงผู้ประกาศข่าวดี ดังนั้น ผู้ได้รับการรักษากลายเป็นศิษย์ผู้ประกาศข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าแก่ทุกคน

                  พระเยซูเจ้าทรงคาดคะเนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น อาจต้องเผชิญกับหัวหน้าชาวยิวที่มีอำนาจจะเบียดเบียนพระองค์ “พระองค์ไม่อาจเสด็จเข้าไปในเมืองได้อย่างเปิดเผยอีกต่อไป พระองค์จึงประทับอยู่นอกเมืองในที่เปลี่ยว” เพื่อจะมีเวลาหนึ่งที่เทศนาสั่งสอนก่อนที่จะต้องเผชิญกับหัวหน้าชาวยิว “แม้กระนั้น ประชาชนจากทุกทิศก็ยังมาเฝ้าพระองค์” เมื่อเป็นเช่นนี้พระเยซูเจ้าจึงตัดสินพระทัยเผชิญหน้ากับอันตรายนี้ เหตุการณ์ที่เล่ามีบทบาทพิเศษในโครงสร้างของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก เพราะนำเราไปสู่เรื่องการโต้เถียงระหว่างพระเยซูเจ้ากับหัวหน้าชาวยิว มีการโต้เถียง 5 ครั้ง แล้วจบลงโดยหัวหน้าชาวยิวตัดสินประหารชีวิตพระองค์

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก