เพลงสดุดีที่ 122
เพลงทักทายกรุงเยรูซาเล็มa
สดด บทนี้แสดงความยินดีของผู้แสวงบุญเมื่อเข้ามาใกล้จะถึงประตูกรุงเยรูซาเล็ม “นครแห่งสันติ” เพื่อจะร่วมขบวนแห่ไปยังพระวิหาร เมื่อเราคริสตชนใช้ สดด บทนี้ในการอธิษฐานภาวนา เราจะต้องรู้สึกยินดีเช่นเดียวกันที่ได้รับสิทธิพิเศษให้เข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร และมีโอกาสที่จะรับพระหรรษทานต่างๆจากพระเยซูเจ้าซึ่งทรงเป็นเสมือนพระวิหารใหม่ และทรงเป็น “องค์สันติ” ของเรา (เทียบ อฟ 2:14,19-21)
บทเพลงของผู้แสวงบุญ ของกษัตริย์ดาวิด
1 ข้าพเจ้ายินดีเมื่อมีผู้บอกข้าพเจ้าว่า
"เราจงไปยังบ้านของพระยาห์เวห์ด้วยกันเถิด"
2 บัดนี้ เยรูซาเล็มเอ๋ย เท้าของเรามายืนที่ประตูของเจ้าแล้ว
3 เยรูซาเล็มสร้างขึ้นไว้ให้เป็นนคร
มีกำแพงล้อมรอบอย่างมั่นคงb
4 เผ่าพันธุ์ต่างๆขึ้นไปที่นั่น
เผ่าพันธุ์ทั้งหลายของพระยาห์เวห์
ตามที่ทรงกำหนดให้อิสราเอล
สรรเสริญพระนามของพระองค์c
5 ที่นั่นเป็นที่ตั้งบัลลังก์พิพากษา
บัลลังก์แห่งราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด
6 จงวอนขอสันติภาพเพื่อกรุงเยรูซาเล็มเถิด
ขอให้ผู้ที่รักเจ้าdประสบความเจริญรุ่งเรือง
7 สันติสุขจงบังเกิดภายในกำแพงของเจ้า
ความเจริญรุ่งเรืองจงบังเกิดภายในอาคารบ้านเรือนของเจ้า
8 เพราะบรรดาพี่น้องและมิตรสหาย
ข้าพเจ้าจะกล่าวว่า "สันติสุขจงอยู่กับเจ้า"
9 เพราะบ้านของพระยาห์เวห์ พระเจ้าของเรา
ข้าพเจ้าจะวอนขอสันติสุขสำหรับเจ้า
122 aบรรดาผู้แสวงบุญจะหยุดที่ประตูเมืองและทักทายนครศักดิ์สิทธิ์ด้วยคำว่า "ชาโลม" (สันติสุข) ซึ่งเป็นการกล่าวพาดพิงถึงความหมายแบบชาวบ้านของชื่อ "เยรู-ชาเล็ม" คือ "นครแห่งสันติ" ดู สดด 76:1 ชาวอิสราเอลหวังโดยเฉพาะว่าพระเมสสิยาห์จะนำสันติสุขแท้จริงมาให้ตน ดู อสย 11:6 เชิงอรรถ e; ฮชย 2:20 เชิงอรรถ s. ความรักต่อศิโยนหรือนครเยรูซาเล็มอันศักดิ์สิทธิ์ (2 ซมอ 5:9 เชิงอรรถ e) เป็นลักษณะสำคัญของความเลื่อมใสศรัทธาของชาวยิว (เทียบ สดด 48; 84; 87; 133; 137)
b "มีกำแพงล้อมรอบอย่างมั่นคง" แปลโดยคาดคะเน เพราะต้นฉบับไม่ชัด กรุงเยรูซาเล็มที่ได้รับการบูรณะใหม่อย่างแข็งแรง (นหม 2:17ฯ) เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร
c "ของพระองค์" แปลตามตัวอักษรว่า "ของพระยาห์เวห์" นครศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องหมายที่เรามองเห็นได้ แสดงความโปรดปรานของพระเจ้า เป็นประกันว่าพระสัญญาเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์จะต้องเป็นความจริง
d "ผู้ที่รักเจ้า" สำเนาโบราณบางฉบับอ่านว่า "กระโจมของเจ้า"