เพลงสดุดีที่ 95

คำเชิญชวนให้สรรเสริญพระเจ้าa

          สดด บทนี้เป็นคำเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมพิธีกรรมเพื่อสรรเสริญและถวายนมัสการแด่พระเจ้า ผู้ทรงเป็นกษัตริย์และพระผู้สร้างสรรพสิ่ง และยังทรงเป็นผู้เลี้ยงดูประชากรของพระองค์อีกด้วย ผู้นำขับร้องเตือนประชาชนให้เชื่อฟังพระเจ้า อย่าไปเอาอย่างบรรดาบรรพบุรุษที่เคยมีใจแข็งกระด้างถึงกับทดลองพระเจ้า พระศาสนจักรใช้ สดด บทนี้เป็นบทนำพิธีทำวัตรประจำวัน เพื่อเชิญชวนทุกคนให้ถวายคารวกิจต่อพระเจ้าจากใจจริง

1มาเถิด เราจงสรรเสริญพระยาห์เวห์ด้วยความยินดี

        เราจงโห่ร้องสรรเสริญพระองค์ผู้ทรงเป็นหลักศิลาbที่ช่วยเราให้รอดพ้น

2เราจงเข้ามาเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เพื่อขอบพระคุณ

        เราจงโห่ร้องเพลงสดุดีถวายพระองค์ด้วยความยินดี

3เพราะพระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่

        ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเทพเจ้าใดๆ

4ส่วนลึกสุดของแผ่นดินอยู่ในพระหัตถ์พระองค์

        ยอดภูเขาสูงสุดก็เป็นของพระองค์

5ทะเลเป็นของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสร้าง

        พระหัตถ์พระองค์ปั้นแผ่นดินแห้ง

6มาเถิด เราจงกราบนมัสการพระองค์

        เราจงคุกเข่าลงเฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์ผู้ทรงสร้างเรา

7เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของเรา

        และเราเป็นประชากรที่ทรงเลี้ยงดูดุจฝูงแกะที่ทรงนำไปยังทุ่งหญ้า

ท่านทั้งหลายจงฟังพระสุรเสียงของพระองค์ในวันนี้เถิด

8“ท่านอย่าทำใจให้แข็งกระด้างเหมือนกับที่เกิดขึ้นที่เมรีบาห์

        เหมือนในวันนั้นที่มัสสาห์ในถิ่นทุรกันดารc

9เมื่อบรรพบุรุษของท่านทดลองเรา

        เขาทดสอบเรา แม้ได้เห็นการกระทำของเราแล้ว”

10เราเอือมระอาคนรุ่นนั้นdเป็นเวลานานสี่สิบปี

        และพูดว่า “เขาทั้งหลายเป็นประชาชนที่มีใจไม่เที่ยงตรง

เขาไม่ยอมรู้จักทางของเรา

11ดังนั้น เราจึงปฏิญาณด้วยความโกรธ

        ว่าเขาทั้งหลายจะไม่มีวันได้เข้าในที่พักผ่อนของเราeเลย”

 

95 a เพลงสดุดีบทนี้เป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้า ใช้ในขบวนแห่ อาจเป็นในเทศกาลอยู่เพิง (เทียบ ฉธบ 31:11)

b “หลักศิลา” อาจเท้าความถึงก้อนหินที่โมเสสตีแล้วมีน้ำไหลออกมาในถิ่นทุรกันดาร (อพย 17:1ฯ) หรืออาจหมายถึงพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม (2 ซมอ 24:18)

c “เมรีบาห์” แปลว่า “การโต้เถียง” ส่วน “มัสสาห์” แปลว่า “การทดลอง”

d “คนรุ่นนั้น” แปลตามสำนวนแปลโบราณหลายฉบับ ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “คนรุ่นหนึ่ง”

e “ที่พักผ่อนของเรา” หมายถึงแผ่นดินแห่งพระสัญญา (แผ่นดินคานาอัน) และยังหมายถึงพระวิหารที่ประทับของพระเจ้าอีกด้วย