“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

เพลงสดุดีที่ 74

คำคร่ำครวญถึงพระวิหารที่ถูกทำลายa

สดด บทนี้เป็นคำอ้อนวอนของประชากรอิสราเอลต่อพระเจ้า ในบรรยากาศของกรุงเยรูซาเล็มที่ถูกทำลายในปี 587 ก่อน ค.ศ. เมื่อประชากรจะถูกจับเป็นเชลยไปที่กรุงบาบิโลน ยังอาจเป็นไปได้ด้วยที่ สดด บทนี้สะท้อนบรรยากาศในสมัยมัคคาบี เมื่อกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสทรงเบียดเบียนชาวยิว (167-164 ก่อน ค.ศ.) และลบหลู่พระวิหารหลังที่สอง (ดู 1 มคบ 1:21-28) ในบทภาวนานี้ ประชากรของพระยาห์เวห์วอนขอให้พระองค์ทอดพระเนตรดูพระวิหารที่ถูกทำลายและอยู่ในสภาพปรักหักพัง ขอให้ทรงระลึกถึงประชากรที่เคยนมัสการพระองค์ที่พระวิหารนั้น เขาทูลพระองค์ให้ทรงระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เพื่อให้พระองค์ทรงกระทำการอัศจรรย์เช่นนั้นอีกสำหรับเขา เราคริสตชนที่ภาวนาด้วยเพลงสดุดีบทนี้ควรระลึกถึงเพื่อนพี่น้องคริสตชน ซึ่งกำลังทนทุกข์และไม่มีเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ ที่เบียดเบียนพระศาสนจักร

บทกวีสอนใจของอาสาฟ

1ข้าแต่พระเจ้า เหตุใดพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดไป

        เหตุใดพระพิโรธจึงลุกเป็นไฟ เผาฝูงแกะแห่งทุ่งหญ้าของพระองค์

2โปรดทรงระลึกถึงประชากรที่ทรงได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ตั้งแต่โบราณกาล

        ประชากรที่ทรงไถ่กู้ไว้เป็นชนเผ่าเฉพาะของพระองค์

และโปรดทรงระลึกถึงภูเขาศิโยน ที่พำนักของพระองค์

3โปรดเสด็จมาเยือนซากปรักหักพังเหล่านี้ที่จะคงอยู่ตลอดไป

        คือทุกสิ่งที่ศัตรูทำลายในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

4คู่อริของพระองค์ร้องตะโกนในที่ประชุม

        เขายกธงเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะb

5เขาใช้ขวานฟันเหมือนคนตัดไม้ในป่าทึบ

6ใช้ขวานและค้อนทุบทำลายบานประตูc

7จุดไฟเผาทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์จนราบเป็นหน้ากลอง

        ทำทุราจารต่อที่ประทับแห่งพระนามพระองค์

8เขาคิดว่า “พวกเราจงทำลายทุกอย่างให้หมดสิ้น”d

        แล้วเขาก็เผาสถานนมัสการพระเจ้าทุกแห่งในแผ่นดิน

9ข้าพเจ้าทั้งหลายไม่เห็นเครื่องหมายอัศจรรย์อีกต่อไป

        ไม่มีประกาศก ไม่มีผู้ใดในหมู่ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้ว่า

เหตุการณ์นี้จะยาวนานเพียงใดe

10ข้าแต่พระเจ้า คู่อริจะเยาะเย้ยพระองค์ไปอีกนานสักเท่าไร

        ศัตรูจะหมิ่นประมาทพระนามไปตลอดกาลกระนั้นหรือ

11เหตุใดพระองค์จึงทรงชักพระหัตถ์กลับ

        และทรงซุกfพระหัตถ์ขวาไว้ที่พระอุระ

12กระนั้น พระเจ้าทรงเป็นพระราชาของข้าพเจ้าตั้งแต่แรกเริ่ม

        พระองค์ทรงช่วยให้รอดพ้นทั่วแผ่นดิน

13พระองค์ทรงแยกทะเลด้วยพระอานุภาพ

        และทรงทุบหัวสัตว์ร้ายในทะเลจนแหลกละเอียด

14ทรงบดขยี้หัวของเลวีอาธานg

        และโยนให้เป็นอาหารแก่บรรดาสัตว์ป่าh

15พระองค์ทรงเปิดตาน้ำและลำธาร

        ทรงทำให้แม่น้ำที่ไหลอยู่ตลอดเวลาแห้งไปi

16ทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นของพระองค์

        ทรงสร้างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์

17ทรงกำหนดเขตแดนทุกแห่งบนแผ่นดิน

        และทรงจัดทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว

18ข้าแต่พระยาห์เวห์ โปรดทรงจดจำว่าศัตรูเยาะเย้ยพระองค์

        ชนชาติโง่เขลาหมิ่นประมาทพระนามพระองค์

19โปรดอย่าทรงมอบชีวิตนกพิราบของพระองค์jแก่สัตว์ร้าย

        อย่าทรงลืมชีวิตผู้ยากจนของพระองค์ตลอดไป

20ขอทรงคำนึงถึงพันธสัญญา

เพราะมีแหล่งซ่องสุมความรุนแรงซ่อนอยู่เต็มแผ่นดิน

21ขออย่าให้ผู้ถูกเบียดเบียนต้องถอยกลับอย่างน่าอับอาย

        ขอให้ผู้ยากจนและขัดสนสรรเสริญพระนามพระองค์

22ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงลุกขึ้นสู้คดีของพระองค์เถิด

        โปรดทรงระลึกว่าคนโง่เขลาเยาะเย้ยพระองค์ตลอดวัน

23ขออย่าทรงลืมเสียงตะโกนของเหล่าศัตรู

        คือเสียงคำรามของบรรดาปรปักษ์ที่ดังยิ่งขึ้นตลอดเวลา

 

74 a พันธสัญญาเดิมฉบับภาษาอาราเมอิก (Targum) อธิบายว่า “คนโง่เง่า” ในข้อ 22 คือกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส ผู้ทรงสั่งให้เผาประตูพระวิหาร (1 มคบ 4:38; 2 มคบ 1:8) นอกจากนั้น ยังทำทุราจารสักการสถานในพระวิหารอีกด้วย (1 มคบ 1:21ฯ, 39; 2 มคบ 6:5) แต่เพลงสดุดีบทนี้ยังอาจกล่าวถึงการที่กองทัพบาบิโลนของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทำลายพระวิหารเมื่อปี 587 ก่อน ค.ศ. ได้ด้วย (2 พกษ 25:9; อสย 64:10) ซึ่งเวลานั้นดูเหมือนว่าเสียงของประกาศกเงียบหายไปด้วย (ข้อ 9) (ดู สดด 77:8; พคค 2:9; อสค 7:26 และ 1 มคบ 4:46; 9:27; 14:41)

b “เป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ” แปลโดยคาดคะเน แปลตามตัวอักษรว่า “เครื่องหมายของเขา เครื่องหมาย”

c “ใช้ขวานและค้อนทุบทำลายบานประตู” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน

d “ทำลายทุกอย่างให้หมดสิ้น” แปลโดยคาดคะเน

e “ยาวนานเพียงใด” ประกาศกเยเรมีย์บอกว่าการเนรเทศจะยืดเยื้อนาน 70 ปี แต่เลข 70 เป็นสัญลักษณ์ของ “เวลานาน”

f “ทรงซุก” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน

g เป็นการกล่าวพาดพิงถึงการข้ามทะเลต้นกก (อพย 14:30) และกองทัพชาวอียิปต์ถูกทำลาย (อสค 29:3; 32:4)

h “สัตว์ป่า” แปลตามตัวอักษรว่า “ประชาชนและสัตว์ในถิ่นทุรกันดาร”

i เป็นการกล่าวพาดพิงถึงการอัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงกระทำเมื่อคราวอพยพ (อพย 17:1-7; กดว 20:2-13) และการข้ามแม่น้ำจอร์แดน (ยชว 3) ซึ่งแสดงพระอานุภาพของพระผู้สร้าง การระลึกถึงความช่วยเหลือจากพระเจ้าในอดีต (ข้อ 12-17) เป็นการปูทางไปหาคำอ้อนวอนในตอนจบของเพลงสดุดี (ข้อ 18-23)

j ประกาศกโฮเชยาเปรียบเทียบอิสราเอลกับนกพิราบ (ฮชย 7:11; 11:11 เทียบ พซม 5:2) ต้นฉบับภาษากรีกและซีเรียค อ่านว่า “จิตวิญญาณที่สรรเสริญพระองค์”

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก