“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

เพลงสดุดีที่ 60

คำอธิษฐานภาวนาเมื่อแพ้สงครามa

สดด บทนี้เป็นบทภาวนาอ้อนวอนส่วนรวมของประชากรอิสราเอลหลังจากประสบความปราชัยในการสงคราม ประชากรแสดงความผิดหวังที่พระเจ้าทรงช่วยฝ่ายข้าศึกให้มีชัยชนะ และวอนขอพระองค์ให้ทรงช่วยกอบกู้ตนให้รอดพ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง พระเจ้าทรงประกาศให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดิน และจะทรงแก้ไขสถานการณ์ในไม่ช้า เมื่อได้รับความมั่นใจเช่นนี้ ประชากรตกลงใจจะต่อสู้ต่อไปโดยไม่วางใจในกำลังของตน แต่จะวางใจในความช่วยเหลือจากพระเจ้าเท่านั้น เมื่อคริสตชนใช้ สดด บทนี้ภาวนา เขาอาจคิดถึงพระศาสนจักรซึ่งกำลังถูกคุกคามจากค่านิยมทางโลกของสังคมปัจจุบัน หรืออาจกำลังถูกเบียดเบียนในบางประเทศ เขาควรระลึกถึงและได้รับกำลังใจจากพระวาจาของพระคริสตเจ้าที่ว่า “ในโลกนี้ท่านจะมีความทุกข์ยาก แต่อย่าท้อแท้ เราชนะโลกแล้ว” (เทียบ ยน 16:33)

สำหรับหัวหน้านักขับร้อง ตามทำนองเพลง “ดอกลิลลี่เป็นพยาน” ของกษัตริย์ดาวิด มิคตาม ใช้สอน เมื่อทรงทำสงครามกับชาวเมโสโปเตเมียและชาวอารัมแห่งโศบาห์ และเมื่อโยอับกลับมาแล้วไปฆ่าชาวเอโดมหนึ่งหมื่นสองพันคนในหุบเขาเกลือ

 

1ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าทั้งหลาย ทรงบันดาลให้กระจัดกระจาย

        พระองค์ทรงพระพิโรธ แต่บัดนี้โปรดประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายอีกเถิด

2พระองค์ทรงบันดาลให้แผ่นดินสั่นสะเทือนและแตกแยก

        โปรดทรงประสานรอยร้าวนี้ เพราะแผ่นดินกำลังโคลงเคลงb

3พระองค์ทรงบันดาลให้ประชากรต้องประสบความยากลำบาก

        ทรงบังคับข้าพเจ้าทั้งหลายให้ดื่มเหล้าองุ่นที่ทำให้เวียนศีรษะ

4พระองค์ทรงส่งสัญญาณcให้แก่ผู้ที่ยำเกรงพระองค์

        เพื่อเขาจะได้หลบหนีพ้นจากระยะยิงของคันธนู

                                                                           (พักครู่หนึ่ง)

5ขอพระองค์ทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยพระหัตถ์ขวา และทรงฟังข้าพเจ้า

        เพื่อผู้ที่พระองค์ทรงรักจะได้รอดพ้น

6พระเจ้าทรงมีพระดำรัสจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์dว่า

        “เราจะฉลองชัย เราจะแบ่งเมืองเชเคมe

และจะรังวัดหุบเขาสุคคท

7กิเลอาดเป็นของเรา มนัสเสห์ก็เป็นของเรา

        เอฟราอิมคือหมวกเกราะคุ้มกันศีรษะของเรา

ยูดาห์คือคทาจอมทัพของเรา

8โมอับคืออ่างล้างชำระของเรา

        เราจะโยนรองเท้าของเราไว้บนเอโดมf

เราจะโห่ร้องฉลองชัยเหนือฟีลิสเตีย”g

9ใครจะนำข้าพเจ้าเข้าไปในนครที่มีป้อมปราการ

        ใครจะนำทางข้าพเจ้าไปถึงเอโดม

10ข้าแต่พระเจ้า มิใช่พระองค์หรือที่ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าทั้งหลาย

        ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ไม่เสด็จไปกับกองทัพของข้าพเจ้าทั้งหลายอีกh

11ขอพระองค์ประทานความช่วยเหลือแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในความทุกข์ร้อน

        ความช่วยเหลือจากมนุษย์ไม่เกิดประโยชน์ใด

12เมื่ออยู่กับพระเจ้า พวกเราจะมีชัยชนะ

        พระองค์จะทรงเหยียบย่ำศัตรูของเรา

 

60 a เพลงสดุดีบทนี้มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับ สดด 44 และ 80 ข้อ 5-8 จะพบได้อีกใน สดด 108:6-13 เป็นพระสัญญาว่า ในอนาคตพระองค์จะทรงรวมอิสราเอลเข้าเป็นอาณาจักรเดียวเช่นในสมัยของกษัตริย์ดาวิด ซึ่งครอบคลุมทั้งเอโดม เอฟราอิมและกิเลอาด (ดู อสย 11:13-14; อบด)

b ผู้นิพนธ์บรรยายถึงการปราชัยของอิสราเอลโดยใช้ภาษาสัญลักษณ์แบบวิวรณ์ (apocalyptic) ว่าเป็นเหมือนหายนะเมื่อสิ้นโลก

c การส่งสัญญาณเป็นวิธีสั่งให้กองทัพเข้าโจมตีข้าศึก (อพย 17:15; อสย 5:26; 11:10; 49:22; 62:10; พซม 2:4) แต่ที่นี่เป็นสัญญาณถอยทัพ (ดู ข้อ 10)

d “จากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” ยังแปลได้อีกว่า “ตามความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” เป็นการยืนยันว่าพระสัญญาจะเป็นจริงแน่ๆ

e “เมืองเชเคม” เป็นการพูดพาดพิงในแง่ลบถึงชาวสะมาเรียที่ขัดขวางการสร้างกรุงเยรูซาเล็มหลังกลับจากเนรเทศ (เทียบ นหม 3:33ฯ) * การอ้างถึงเมืองเชเคมและสุคคท (ปฐก 33:17-18) เป็นการกล่าวพาดพิงถึงการเดินทางของยาโคบเมื่อกลับมาจากปาดาน-อารัม เข้ามาในแผ่นดินคานาอัน ผู้นิพนธ์ระลึกถึงอดีตและหวังว่าในอนาคตเมืองทั้งสองนี้จะกลับมาเป็นของอาณาจักรยูดาห์อีก

f การทิ้งรองเท้าเป็นธรรมเนียมโบราณ (ฉธบ 25:9; นรธ 4:7) แสดงการยึดครองกรรมสิทธิ์

g “โห่ร้องฉลองชัยเหนือฟีลิสเตีย” แปลโดยคาดคะเนตาม สดด 108:9 * ต้นฉบับภาษาฮีบรูแปลตามตัวอักษรว่า “ฟีลิสเตียเอ๋ย จงโห่ร้องฉลองชัยเหนือเราเถิด” ซึ่งถ้าแปลเช่นนี้ ข้อความนี้ก็เป็นการประชดประชัน

h ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีแสดงความรู้สึกอาลัยถึงอดีต ขณะนั้นเขาอยู่ในแผ่นดินที่ถูกชนชาติเพื่อนบ้านเข้าแย่งชิงและปล้น จึงอดไม่ได้ที่จะคิดย้อนอดีตถึงยุคทองของกษัตริย์ดาวิด ผู้ทรงกระทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานชัยชนะให้เสมอ

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก