เพลงสดุดีที่ 29

พระยาห์เวห์ทรงสำแดงพระอานุภาพในพายุa

สดด บทนี้เป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้า ผู้ทรงอำนาจเหนือสายฟ้าและพายุ อาจได้เค้าความมาจากบทเพลงของชาวคานาอันที่ใช้สรรเสริญพระบาอัลฮาดัด เทพเจ้าแห่งพายุ ผู้นิพนธ์คิดว่าเสียงฟ้าร้องคือพระสุรเสียงของพระเจ้า ซึ่งแสดงอานุภาพทำลายล้างในธรรมชาติ แต่เขามิได้มีความกลัวเลย พระเจ้าผู้ทรงอานุภาพซึ่งประทับอยู่เหนือห้วงน้ำแห่งพายุนี้ ยังทรงเป็นพระเจ้าที่ประทานพระพรและสันติอีกด้วย เมื่อพระเยซูเจ้าประสูติที่เมืองเบธเลเฮม บทเพลงของบรรดาทูตสวรรค์ก็สะท้อน สดด บทนี้ด้วย “พระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์และสันติบนแผ่นดิน” (เทียบ ลก 2:14)

เพลงสดุดี ของกษัตริย์ดาวิด

1บุตรทั้งหลายของพระเจ้าb จงสรรเสริญพระยาห์เวห์เถิด

        จงสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์และพระอานุภาพของพระยาห์เวห์

2จงสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระนามพระยาห์เวห์

        จงกราบนมัสการพระยาห์เวห์เมื่อทรงสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์c

3พระสุรเสียงของพระยาห์เวห์ก้องอยู่เหนือน่านน้ำ

พระเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ทรงแผดพระสุรเสียงกึกก้อง

พระยาห์เวห์ประทับอยู่เหนือห้วงน้ำกว้างใหญ่

4พระสุรเสียงของพระยาห์เวห์ทรงพลัง

        พระสุรเสียงของพระยาห์เวห์กึกก้องกัมปนาท

5พระสุรเสียงของพระยาห์เวห์โค่นต้นสนสีดาร์

        พระยาห์เวห์ทรงโค่นต้นสนสีดาร์แห่งภูเขาเลบานอน

6ทรงทำให้ภูเขาเลบานอนลุกขึ้นมาโลดเต้นดังเช่นลูกวัว

        และทรงทำให้ภูเขาซีรีออนdโลดเต้นเหมือนกระทิงหนุ่ม

7พระสุรเสียงของพระยาห์เวห์จุดประกายไฟให้แลบแปลบปลาบe

8พระสุรเสียงของพระยาห์เวห์ทำให้ถิ่นทุรกันดารสั่นสะเทือน

        พระยาห์เวห์ทรงทำให้ถิ่นทุรกันดารกาเดชหวั่นไหว

9พระสุรเสียงของพระยาห์เวห์ทำให้ต้นโอ๊กfสะท้านสะเทือน

        ทรงปลิดใบต้นไม้ในป่าจนหมดต้น

ในพระวิหารของพระองค์g ทุกคนร้องขานพร้อมกันว่า

        "พระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระองค์"

10พระยาห์เวห์ประทับเหนือห้วงมหรรณพh

        พระยาห์เวห์ประทับเป็นกษัตริย์ตลอดไป

11พระยาห์เวห์จะประทานพละกำลังแก่ประชากรของพระองค์

        และจะทรงอวยพรให้ประชากรของพระองค์ประสบสันติสุข

 

29 a พายุ (ดู อพย 13:22 เชิงอรรถ h; 19:16 เชิงอรรถ f) แสดงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ผู้ทรงปราบข้าศึกของอิสราเอลให้ราบคาบ ทรงบันดาลให้ประชากรที่ทรงเลือกสรรมีสันติสุข

b “บุตรทั้งหลายของพระเจ้า” แปลตามตัวอักษรว่า “บุตรทั้งหลายของบรรดาเทพเจ้า” (เทียบ สดด 82:1; 89:6; โยบ 1:6 เชิงอรรถ f) หมายถึงบรรดาทูตสวรรค์ซึ่งเป็นเสมือนข้าราชบริพารของพระยาห์เวห์ ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ “บุตรของพระเจ้า” ยังอาจหมายถึงประชากรอิสราเอลได้ด้วย (อพย 4:22; ฉธบ 14:1; ฮชย 11:1)

c “เมื่อทรงสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ในท้องพระโรงอันศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งคงหมายถึงสวรรค์อันเป็นเสมือนพระวิหารที่มนุษย์มองไม่เห็น ควบคู่กับพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มซึ่งมนุษย์มองเห็นได้ (สดด 11:4; 78:69)

d “ภูเขาซีรีออน” เป็นชื่อของภูเขาเฮอร์โมนในภาษาฟีนีเซีย (ดู ฉธบ 3:9)

e ฟ้าแลบเปรียบได้กับลูกศรที่พระยาห์เวห์ทรงยิงทะลุร่างศัตรู (เทียบ สดด 18:14; ฉธบ 32:23, 42; ฮบก 3:11; ศคย 9:14)

f “ต้นโอ๊ก” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน บางคนแปลประโยคนี้ว่า “ทรงทำให้แม่กวางคลอดลูกก่อนกำหนด ทรงทำให้แม่แพะแท้งลูก” ต้นไม้ใหญ่ เช่นต้นโอ๊กในข้อนี้ หรือต้นสนสีดาร์ในข้อ 5 อาจเป็นสัญลักษณ์หมายถึงศัตรูผู้ทระนงของพระเจ้าและของประชากรอิสราเอล (เทียบ อสย 2:13; 10:18, 33; 32:19; ยรม 21:14; 46:23; อสค 21:2; ศคย 11:2)

g “พระวิหารของพระองค์” อาจหมายถึงสวรรค์ หรือพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม เพราะพิธีกรรมในพระวิหารสะท้อนการถวายเกียรติที่ชาวสวรรค์ถวายแด่พระเจ้า หรืออาจหมายถึงแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่พระองค์ทรงเจิมไว้ (สดด 114:2) และเป็นที่ประทับของพระองค์ (ยรม 12:7; ศคย 9:8)

h “ห้วงมหรรณพ” อาจหมายถึง “น้ำเบื้องบน” ที่ทรงแยกจาก “น้ำเบื้องล่าง” ในการเนรมิตสร้างโลก (ปฐก 1:6) หรือหมายถึง “น้ำวินาศ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการพิพากษาอย่างยุติธรรมของพระองค์