เพลงสดุดีที่ 2
อำนาจปกครองของพระเมสสิยาห์a
สดด บทนี้กล่าวถึงกษัตริย์ แต่เดิมใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ราชวงศ์ดาวิดที่กรุงเยรูซาเล็ม หลังสมัยเนรเทศเมื่อชาวอิสราเอลไม่มีกษัตริย์อีกแล้ว เขายังใช้ สดด บทนี้แสดงความหวังว่าสักวันหนึ่ง กษัตริย์อีกองค์หนึ่งจากราชวงศ์ดาวิดจะเสด็จมาเริ่มศักราชแห่งสันติภาพ และความรุ่งเรืองอย่างสมบูรณ์ ประกาศกหลายท่านกล่าวถึงความหวังนี้บ่อยๆ เนื่องจากว่าความหวังเช่นนี้ มิได้เป็นความจริงในสมัยพันธสัญญาเดิม คริสตชนในสมัยแรก จึงเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหวังดังกล่าวเป็นความจริง (กจ 4:25-28; 13:32-33) เราคริสตชนจึงอาจใช้ สดด บทนี้ได้ด้วยความมั่นใจว่าพระคริสตเจ้าจอมกษัตริย์จะทรงมีชัยชนะเหนืออำนาจของโลก ที่ต่อต้านคำสั่งสอนของพระองค์ และจะทรงสถาปนาพระอาณาจักรที่มีพระเจ้าทรงเป็นผู้ปกครองขึ้นในโลกนี้อย่างแน่นอน
1 เหตุใดบรรดาประชาชาติจึงคิดกบฏ?
เหตุใดชนชาติทั้งหลายจึงวางแผนโดยไร้ประโยชน์?
2 บรรดากษัตริย์ของแผ่นดินทรงพากันแข็งข้อ
บรรดาเจ้านายร่วมกันต่อสู้กับพระยาห์เวห์
และผู้รับเจิมของพระองค์
3 “พวกเราจงหักโซ่ตรวนเสีย
พวกเราจงโยนพันธนาการทิ้งไป”
4 พระองค์ผู้ประทับบนพระบัลลังก์ในสวรรค์ทรงพระสรวล
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเยาะเย้ยเขาเหล่านั้น
5 พระองค์ทรงตำหนิเขาทั้งหลายด้วยพระพิโรธ
ความกริ้วของพระองค์บันดาลให้เขาหวาดกลัว
6 “เราเองเป็นผู้เจิมตั้งกษัตริย์ของเรา
ไว้บนเนินศิโยน ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเรา”b
7 ข้าพเจ้าจะประกาศพระราชกฤษฎีกาของพระยาห์เวห์c
พระองค์ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า “ท่านเป็นบุตรของเรา
วันนี้เราให้กำเนิดท่านแล้ว
8 จงขอจากเราเถิด และเราจะมอบบรรดาประชาชาติให้เป็นมรดกของท่าน
จะให้ท่านมีกรรมสิทธิ์จนสุดปลายแผ่นดิน
9 ท่านจะปกครองเขาเหล่านั้นด้วยคทาเหล็ก
จะตีเขาให้แตกแหลกลาญดังทุบหม้อดินd
10 ดังนั้น กษัตริย์ทั้งหลายเอ๋ย จงมีความฉลาดเถิด
บรรดาเจ้านายของแผ่นดินเอ๋ย จงเรียนรู้เถิด
11 จงรับใช้พระยาห์เวห์ด้วยความยำเกรง
จงชื่นชมยินดีเฉพาะพระพักตร์
12 จงกราบนมัสการeพระองค์ด้วยอาการสั่นกลัว
มิฉะนั้นพระองค์จะกริ้ว
แล้วแผนการของท่านจะล้มเหลว
เพราะพระพิโรธของพระองค์ย่อมพลุ่งขึ้นโดยฉับพลัน
ทุกคนที่ลี้ภัยมาพึ่งพระองค์ย่อมเป็นสุข
2 a ธรรมประเพณีทั้งของชาวยิวและของคริสตชนเห็นตรงกันว่า สดด 2 นี้กล่าวถึงพระเมสสิยาห์ในลักษณะเดียวกันกับ สดด 110 ซึ่งเป็นต้นแบบของ สดด บทนี้ – สดด 2 มองล่วงหน้าถึงยุคพระเมสสิยาห์ในอนาคต
b “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเรา” หมายถึงภูเขาซีนายเป็นอันดับแรก (อพย 3:1; 18:5) เพราะบนภูเขานี้โมเสสได้พบพระเจ้าเป็นการส่วนตัวและรับธรรมบัญญัติจากพระองค์ (อพย 24:12-18; ฉธบ 33:2 ดู 1 พกษ 19:8) เมื่อกษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างพระวิหารถวายแด่พระเจ้าบนภูเขาศิโยนที่กษัตริย์ดาวิดทรงยึดมาได้ (2 ซมอ 5:7-9) ภูเขาศิโยนจึงกลายเป็นภูเขาพิเศษที่พระเจ้าทรงพำนักอยู่ เป็นภูเขาที่ประชากรของพระองค์ขึ้นไปฟังพระสุรเสียงและนมัสการพระองค์ ดู ฉธบ 12:2-3 เชิงอรรถ b ภูเขาศิโยนจึงกลายเป็นชื่อของนครเยรูซาเล็มอีกด้วย เป็นนครของพระเมสสิยาห์ที่ประชาชนทั่วโลกจะมาชุมนุมกัน (สดด 48:1 เชิงอรรถ a; อสย 2:1-3; 11:9; 24:23; 56:7; ยอล 3:5; ศคย 14:16-19 ดู ฮบ 12:22; วว 14:1; 21:1 เชิงอรรถ a ด้วย
c ข้อ 3 เป็นคำพูดของฝ่ายกบฏ ส่วนข้อ 6 เป็นพระดำรัสของพระยาห์เวห์ และในที่สุดตั้งแต่ข้อ 7 ถึง 9 เป็นคำกล่าวของพระเมสสิยาห์ เมื่อพระยาห์เวห์ทรงตั้งพระเมสสิยาห์ให้เป็นกษัตริย์ของชาติอิสราเอลนั้น ทรงเรียกพระเมสสิยาห์ว่าเป็น “บุตร” ของพระองค์ ความจริงสำนวนนี้พบได้บ่อยในวัฒนธรรมของชาวตะวันออกกลางโบราณ แต่เมื่อเชื่อมโยงกับพระสัญญาเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ใน 2 ซมอ 7 ก็มีความหมายลึกซึ้งมากขึ้น -- ฮบ 1:5 ใช้ข้อ 7 มาประยุกต์ ในเรื่องพระวจนาตถ์ทรงถือกำเนิดตั้งแต่นิรันดร
d “ตีให้แตกแหลกลาญเหมือนทุบหม้อดิน” เป็นภาพที่คนโบราณนิยมใช้ หมายถึงผู้พิชิตทำลายและสาปแช่งศัตรูโดยเขียนชื่อศัตรูบนหม้อดินแล้วทุบให้แตก
e “จงกราบนมัสการ” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูไม่ชัด อาจแปลได้อีกว่า “จงจุมพิตพระบาท” หรือ “จงจุมพิตพระบุตร”