“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2017
สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
มก 9:30-37
     พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่นพร้อมกับบรรดาศิษย์ผ่านแคว้นกาลิลี พระองค์ไม่ทรงต้องการให้ผู้ใดรู้ 31ทรงสั่งสอนบรรดาศิษย์ และตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบในเงื้อมมือของคนทั้งหลาย เขาจะประหารชีวิตพระองค์ แต่เมื่อถูกประหารแล้ว ในวันที่สามพระองค์จะกลับคืนชีพ” 32บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจพระวาจานี้ แต่ก็ไม่กล้าทูลถาม

33พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุมพร้อมกับบรรดาศิษย์ เมื่อเสด็จเข้าไปในบ้าน พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ท่านถกเถียงกันเรื่องอะไรขณะที่เดินทาง” 34เขาก็นิ่ง เพราะระหว่างทางเขาถกเถียงกันว่า ผู้ใดยิ่งใหญ่กว่ากัน 35พระองค์จึงประทับนั่ง แล้วทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามา ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน” 36ครั้นแล้วพระองค์ทรงจูงเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งมายืนกลางกลุ่มพวกเขา ทรงโอบเด็กนั้นไว้ ตรัสว่า 37“ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็ก ๆ เช่นนี้ในนามของเรา ก็ต้อนรับเรา และผู้ใดที่ต้อนรับเรา ก็มิใช่ต้อนรับเพียงเราเท่านั้น แต่ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามาด้วย”

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง

• พระองค์เดินทางต่อพร้อมบรรดาศิษย์ ใจความสำคัญต่อไป ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ในการเดินทางของพระองค์นั้น บรรดาศิษย์ของพระองค์ติดตามพระองค์เสมอ

• พระองค์ไม่ทรงต้องการให้ผู้ใดรู้
o นี่คือประเด็นที่ชัดเจน และยืนยันสิ่งที่กล่าวมาโดยตลอดว่า ชะตากรรมของพระคริสตเจ้า หรือพระคริสต์ในใจความครบครันนั้นเป็นเรื่องที่สงวนไว้ในคำสอนของพระเยซูเจ้า ที่สอนบรรดาศิษย์เท่านั้น
o และในตอนนี้เมื่อกล่าวถึงพระทรมานครั้งที่สอง พระวรสารบันทึกคำกริยาเดิมคือ “พระองค์สอน” (didaskein)
o ซึ่งแน่นอนที่สุด เรากล่าวได้ว่า ศิษย์ของพระเยซูเจ้าได้รับคำสอนจากพระองค์ ขณะเดินทางไปเยรูซาแล็ม และคำสอนนั้นไม่ใช่อื่นไกล คือ รหัสธรรมปัสกาของพระองค์ ซึ่งเป็นการอบรมที่สำคัญที่สุดที่สงวนไว้สำหรับพวกเขาโดยเฉพาะ
o เนื้อหาของชะตากรรมของพระคริสต์ บุตรแห่งมนุษย์นั้นเหมือนเดิม
o แต่ครั้งนี้ไม่ได้ให้ชื่อผู้รับผิดชอบคือ บรรดาสมณะ ธรรมจารย์ และฟาริสี ในการกระทำ นั่นคือสภาสูงของยิว

• บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจพระวาจานี้ แต่ก็ไม่กล้าทูลถาม
o สามารถเห็นถึงความไม่เข้าใจของบรรดาศิษย์เช่นเคย หรือพวกเขาไม่สนใจ
o แต่ที่ชัดเจนเขาไม่กล้าถามพระองค์ หรือถ้าถามแล้วจะต้องยอมรับชะตากรรมนั้นด้วย พวกเขามักจะไม่กล้าถามเมื่อต้องเปลืองตัวหรือ

• พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุม พร้อมกับบรรดาศิษย์
o มาระโกย้ำความสำคัญในการเดินทางของพระเยซูเจ้า พระองค์เดินกับบรรดาศิษย์บนเส้นทางไปเยรูซาเล็มเพราะระหว่างทางเขาถกเถียงกันว่า ผู้ใดยิ่งใหญ่กว่ากัน
o เราเห็นความแตกต่างของความเข้าใจของบรรดาศิษย์ของพระองค์ กับความจริงที่พระองค์สอน
o ข้อสังเกตที่สำคัญและตอกย้ำข้ออ้างนี้ คือ การถกเถียงกันนี้เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่พระเยซูเจ้าประกาศคำทำนาย หรือสอนความจริงเกี่ยวกับพระแมสซียาห์หรือพระคริสตเจ้ากับพวกเขาเป็นการส่วนตัวเฉพาะพวกเขาสิบสองคน... และเน้นว่าคำสอนเรื่องพระทรมานนี้เป็นความรู้โดยเฉพาะสำหรับพวกเขา
o เหตุการณ์การถกเถียงกันของพวกเขาเช่นนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า บรรดาศิษย์เดินกับพระองค์ก็จริง แต่ความเข้าใจของพวกเขาไม่ใช่สิ่งที่พระองค์สอน หรือพวกเขาไม่สนใจ หรือว่าไม่ต้องการคิดถึงชะตากรรมนั้น แต่ต่างวางแผนว่า เมื่อเข้าเยรูซาแล็มและเมื่อพระองค์ยิ่งใหญ่แล้ว ใครในพวกเขาจะเป็นใหญ่กว่ากัน

• พระองค์จึงประทับนั่ง
o การประทับนั่งเป็นตำแหน่งของอาจารย์ที่สอนอย่างทรงอำนาจ ให้เราดูอาจารยานุภาพ (การสอนจากบัลลังก์) ทุกครั้งที่พระองค์ประทับนั่งสอน พระองค์กำลังสอนความจริงที่สำคัญเสมอ (ดู มธ 5 พระโอวาทบนภูเขา มก 4:1; 13:3)
• แล้วทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามา
o ดูเหมือนมีเรื่องต้องชี้แจงให้พวกเขาเข้าใจหนทางของพระองค์จริงๆ
o เป็นการชี้แจงที่มาระโกใช้ชื่อกลุ่มพวกเขา “อัครสาวกทั้งสิบสอง” (The Twelve)
o นั่นหมายความว่า คำสอนต่อไปนี้จำเป็นและต้องเป็นเอกลักษณ์ของศิษย์ที่เดินใกล้ชิดมากกว่าใครในการติดตามพระองค์

• “ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน”
o หนทางของพระเยซูเจ้าคือหนทางแห่งการรับใช้
o คิดถึงชื่อตำแน่งที่ใช้กับพระสันตะปาปาไหม ทำไมจึงได้ชื่อว่าเป็น “Servus Servorum” “ผู้รับใช้ของบรรดาผู้รับใช้” เครื่องหมายแสดงความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงคือ การรับใช้

• องค์ทรงจูงเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งมายืนกลางกลุ่มพวกเขา ทรงโอบเด็กนั้นไว้
o พระเยซูเจ้าในพระวรสารนักบุญมาระโกนั้นมีลักษณะที่เป็นมนุษย์อย่างมาก
o มาระโกเผยพระเยซูเจ้าในลักษณะที่เป็นมนุษย์ ใกล้ชิด และแสดงพระองค์เป็นดังมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมด้วยลักษณะของมนุษย์ที่สมบูรณ์
o “ทรงโอบเด็กนั้นไว้” ซึ่งพระวรสารนักบุญมัทธิวไม่ได้เน้นลักษณะนี้ของพระเยซูเจ้า
o “ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็ก ๆ...” หลักการที่พระเยซูเจ้าทรงให้ คือ “การต้อนรับ” การต้อนรับเป็นเครื่องหมายของการรับใช้ ซึ่งหมายถึงการเปิดประตูต้อนรับ และเปิดทางให้ผู้อื่นเข้ามาในบ้านหรือในชีวิตของตนเอง หรือในหมู่คณะของตนเอง

การไตร่ตรอง
o พระเยซูเจ้าทรงทำนายอีกครั้งถึงการติดตามพระองค์อย่างแท้จริงนั้น ต้องยอมรับชะตากรรมเช่นเดียวกับพระองค์ กล่าวได้ง่ายๆ คือ ศิษย์ของพระองค์ได้รับการอบรมพิเศษให้เข้าใจกางเขนของพระองค์ แต่พวกเขายังคงไม่ต้องการที่จะรับความจริงชนิดนี้เกี่ยวกับพระคริสตเจ้า และพวกเขาไม่กล้าถามพระองค์
o เราเป็นศิษย์ติดตามพระคริสตเจ้า เรายอมรับการอบรมของพระองค์ ในส่วนของพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์เพียงใด???
o เราถาม หรือแสวงหาความเข้าใจต่อความทุกข์ยาก และเข้าใจ อีกทั้งมีส่วนร่วมในความยากลำบากนั้นด้วยความเพียรทนเพียงใด???
o กล้าถามเพื่อความเข้าใจแท้จริงไหม เมื่อเป็นสิ่งที่อาจทำให้เราต้องรับภาระความลำบากขึ้นเพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้าจะเป็นจริง หรือเราเพียงแต่เงียบ ไม่ถาม เพื่อไม่ต้องเป็นภาระกับเรา???

• คำสอนที่พระเยซูเจ้าให้แก่บรรดาศิษย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการต้อนรับพระอาณาจักรของพระเจ้า เปรียบเหมือนการเปิดต้อนรับผู้เล็กน้อยคือเด็กเล็ก และคำสอนที่เป็นแก่นคือ ใครที่อยากเป็นที่หนึ่งนั้นต้องรับใช้ทุกคน กล่าวโดยสรุปได้ไหมว่า ผู้ที่เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าที่แท้จริงนั้นต้อง “ต้อนรับพี่น้องทุกคน”
o เราต้อนรับพระอาณาจักรของพระเจ้าด้วยการต้อนรับกันและกันอย่างไร???
o ในทุกที่ที่เราอยู่ ที่ทำงาน สำนักงาน บริษัท วัด โรงเรียน บ้าน กลุ่มกิจกรรมต่างๆ เรามักจะเป็นที่หนึ่งเสมอหรือไม่?? เราแสดงออกซึ่งความเป็นที่หนึ่งของเราอย่างไรในสถานที่ที่เราอยู่???
o และ ณ สถานที่นั้น ผู้เล็กน้อยกว่าเราได้รับการต้อนรับจากเราอย่างไร???

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก