“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงตามเรามาเถิด”

6. พระเยซูเจ้าทรงเรียกศิษย์สี่คนแรก (3)

             เมื่อบรรดาศิษย์ยอมตอบรับการเรียกจากพระเยซูเจ้า และยอมให้พระองค์ทรงเป็นอาจารย์เขามอบตนให้พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้นำทางและแสดงความไว้วางใจในพระองค์ เขาเชื่อว่าพระองค์ทรงรู้จุดหมายของชีวิตและทรงรู้ทางถูกต้องที่มุ่งไปสู่จุดหมายนั้น การที่พระอาจารย์ทรงเดินนำหน้าเป็นวิธีส่วนพระองค์แสดงหนทางอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนการเดินตามพระองค์เป็นวิธีส่วนตัวของบรรดาศิษย์ที่ยอมมอบตนแด่พระองค์อย่างเป็นรูปธรรม เขาพร้อมที่จะเรียนรู้หนทางถูกต้องจากพระองค์ พระวาจา “ตามเรามา” มีความหมายเป็นนัยว่า พระเยซูเจ้าทรงนำหน้าบรรดาศิษย์ ลำดับความสัมพันธ์นี้เป็นพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้  

            เมื่อพระเยซูเจ้าทรงประกาศล่วงหน้าว่า การเดินทางของพระองค์มุ่งไปสู่การรับทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ ลำดับความสัมพันธ์นี้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้น     นักบุญเปโตรเดินขึ้นข้างหน้าพระเยซูเจ้า คัดค้านพระวาจาของพระองค์ เขาต้องการให้พระองค์ทรงเปลี่ยนวิถีทางเดิน แต่พระเยซูเจ้าไม่พอพระทัยพฤติกรรมของนักบุญเปโตร โดยตรัสว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง อย่าขัดขวาง” (8:33) พระองค์ทรงส่งเขากลับไปในที่เฉพาะของตน คือให้เดินตามหลังไม่ใช่เดินนำหน้าพระองค์

           พระเยซูเจ้าทรงประกาศหลักเกณฑ์การติดตามพระองค์แก่ประชาชนและบรรดาศิษย์ว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา”(8:34) ตั้งแต่พระองค์ทรงเรียกศิษย์สี่คนแรก พระวาจาที่ว่า “ตามเรามา” กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูเจ้ากับบรรดาศิษย์   ในตอนสุดท้ายของพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก ข่าวสารที่ทูตสวรรค์แจ้งแก่บรรดาศิษย์คือ “พระองค์เสด็จล่วงหน้าท่านทั้งหลายไปในแคว้นกาลิลี ท่านจะเห็นพระองค์ที่นั่น ดังที่ทรงบอกท่านไว้” (16:7)
พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพทรงเป็นพระอาจารย์ของบรรดาศิษย์ตลอดไป พระเยซูเจ้าทรงพิสูจน์ว่าการเดินทางของพระองค์บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างแท้จริง เพราะการกลับคืนพระชนมชีพนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขอย่างเต็มเปี่ยม  ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์เป็นศูนย์กลางของคำบอกเล่าในข้อความที่กำลังพิจารณานี้ (1:16-20) พระองค์ทรงเริ่มความสัมพันธ์โดยทอดพระเนตรเห็นผู้ที่ถูกเรียก พระวาจาของพระองค์ทำให้ความสัมพันธ์นี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ข) การตอบสนองของผู้ที่ได้รับเรียก
            การตอบสนองของผู้ที่ได้รับเรียกประกอบด้วยการกระทำ 2 อย่างอยู่เสมอคือ การละทิ้ง และการติดตาม การกระทำแรกเกี่ยวข้องกับอดีต คือละทิ้งบรรยากาศที่ดำเนินชีวิตจนถึงวันที่ถูกเรียก การกระทำที่สองมุ่งไปสู่อนาคตซึ่งจะถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า

           พระเยซูเจ้าทรงพบคนเหล่านี้ในสถานการณ์ชีวิตที่เป็นรูปธรรม พระองค์ไม่ทรงพบบุคคลที่ไม่รู้จะทำอะไร แต่ทรงพบกับผู้ที่มีงานเต็มมือ บางคนกำลังทอดแหในทะเล อีกบางคนซ่อมแหอยู่ในเรือ เลวีนั่งที่ด่านภาษี ทุกคนกำลังทำงานตามอาชีพของตนเพื่อเลี้ยงครองครัว ทุกคนอยู่ในบรรยากาศเฉพาะเจาะจง มีความสัมพันธ์กับหลายคน และมีหน้าที่ต่าง ๆ ต่อมาพระเยซูเจ้าทรงอ้างถึงความสัมพันธ์เหล่านี้เมื่อตรัสว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า ไม่มีใครที่ละทิ้งบ้านเรือน พี่น้องชายหญิง บิดามารดา บุตรหรือไร่นา เพราะเห็นแก่เรา และเพราะเห็นแก่ข่าวดี จะไม่ได้รับการตอบแทนร้อยเท่าในโลกนี้” (10:29-30)

          ความสัมพันธ์ที่บรรดาศิษย์ต้องสละเกี่ยวข้องกับครอบครัวและทรัพย์สมบัติ ซึ่งเป็นลักษณะความเป็นอยู่ของธรรมชาติมนุษย์ การถูกเลือกสรรจากพระเยซูเจ้าเรียกร้องการละทิ้งหลายประการอย่างเจาะจง  ผู้ที่พระองค์ทรงเรียกต้องออกจากสภาพที่เขาดำเนินชีวิตอยู่และต้องกลับเป็นบุคคลอิสระเพื่อติดตามพระองค์ เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่ต้องมองย้อนกลับไปในอดีต แต่ต้องมองสู่อนาคตซึ่งจะกำหนดโดยความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า แม้ความสัมพันธ์อื่นและภารกิจที่จะต้องละทิ้งมีคุณค่ามากสำหรับมนุษย์ แต่โดยการติดตามพระเยซูเจ้าเขาจะมีความสัมพันธ์พิเศษกับพระองค์ ซึ่งมีคุณค่ามากกว่านั้นอีก

         พระเยซูเจ้าทรงเรียกบางคนให้ละทิ้งทุกอย่างก็จริง แต่พระองค์ยังทรงเน้นคุณค่าของบทบัญญัติประการที่ 4 คือ “จงเคารพบิดามารดา” (เทียบ 7:6-13) พระองค์จึงทรงเรียกร้องวิธีที่ถูกต้องทั้งในการตอบสนองการถูกเรียก และในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้า

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก