“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2016

สัปดาห์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา

ยด 1:20-25…

20ท่านที่รักทั้งหลาย จงเสริมสร้างตนเองจากพื้นฐานความเชื่อศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของท่าน จงอธิษฐานภาวนาในพระจิตเจ้า 21จงมีความรักอย่างมั่นคงในพระเจ้า ขณะที่รอคอยพระกรุณาของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา เพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร 22จงสงสารคนที่อ่อนแอ 23จงช่วยเขาให้รอดพ้นโดยดึงเขาออกมาจากไฟ จงสงสารคนอื่นด้วย แต่ต้องมีความระมัดระวัง จงอยู่ห่างแม้กระทั่งเสื้อที่เปื้อนมลทินของเขา


24แด่พระองค์ผู้ทรงปกป้องท่านทั้งหลายไว้มิให้พลาดพลั้ง และทรงประคองให้ยืนด้วยความยินดีปราศจากตำหนิเฉพาะพระสิริรุ่งโรจน์ 25แด่พระองค์แต่เพียงพระองค์เดียวผู้ทรงเป็นพระเจ้า ผู้ทรงช่วยเราให้รอดพ้น อาศัยพระบารมีของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ขอพระสิริรุ่งโรจน์ พระบารมียิ่งใหญ่ พระเดชานุภาพและพระฤทธานุภาพ จงมีแด่พระองค์ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตตลอดนิรันดร
อาแมน

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง

• “รัก รัก รัก คืออะไร??? และต้องรักอย่างไร”
o พ่อเคยเสนอคำสอนของนักบุญเปาโลในเรื่องผลของพระจิตเจ้า ที่เป็นดังบันไดเก้าขั้น เพื่อไปถึงความรักนั่นคือ ผลของพระจิตเจ้าได้แก่
1. ความรัก
2. ความชื่นชม
3. ความสงบ
4. ความอดทน
5. ความเมตตา
6. ความใจดี
7. ความซื่อสัตย์
8. ความอ่อนโยนและ
9. การรู้จักควบคุมตนเอง
o จะเห็นว่าบันไดเพื่อก้าวไปสู่ความรักทั้งก้าวขั้น ตรงกลาง ขั้นที่ 5 คือ “ความเมตตา” หรือความ “สงสาร”
o วันนี้เรามาทำความเข้าใจคำว่าความเมตตากันหน่อยจะดีไหมครับ....วันนี้พ่อขอเสนอการค้นคว้าความหมายในพระคัมภีร์ ศึกษาเชิงลึกหน่อยในเรื่องความเมตตา เพื่อความคนที่รักจริงนั้น ต้องรักที่แสดงออกเป็นความเมตตากรุณาครับ....

ความหมายของ “ความเมตตา” (misericordia ภาษาลาติน อ่าน มีเซรีกอร์ดีอา)

• รากศัพท์นี้พบในพันธสัญญาใหม่ คือ คำว่า “eleein” หรือ “eleos” (เราเคยได้ยินคว่า เอเลอีซอน รากเดียวกันเลยครับ) ดังนั้นเราจะเน้นพิจารณา รากศัพท์ที่สำคัญคือ “เมตตา” รากนี้ในรูปคุณศัพท์ “เมตตา” (elemon) ในพระวรสารพบในพันธสัญญาใหม่ เฉพาะ 2 ครั้ง คือ มธ 5:7 และ ฮบ 2:17 และพบในคำแปลพันธสัญญาเดิมฉบับภาษากรีก 30 ครั้ง

• ฮบ 2:17 กล่าวถึงพระเยซูเจ้าในฐานะที่เป็นมหาสมณะ “จึงจำเป็นที่พระองค์จะต้องทรงเป็นเหมือนกับบรรดาพี่น้องทุกประการ เพื่อพระองค์จะทรงเป็นมหาสมณะที่เพียบพร้อมด้วยพระกรุณาและทรงซื่อสัตย์ในการติดต่อกับพระเจ้า” นี่เป็นครั้งแรกที่พระเยซูเจ้าถูกเรียกว่า “มหาสมณะ” (เป็นคำที่ใช้เรียกพระเยซูเจ้าในจดหมายถึงชาวฮีบรูฉบับนี้โดยเฉพาะ 17 ครั้ง)

• มหาสมณะ ได้รับการกล่าวถึงลักษณะเฉพาะเจาะจง คือ เมตตากรุณาและซื่อสัตย์ โดยเน้นความที่พระองค์ทรงเป็นคนกลางเชื่อมโยงพระเจ้ากับมนุษย์ และในข้อที่ 18 เราพบว่าความเมตตากรุณาของพระเยซูเจ้านั้น แสดงออกโดยการยอมรับความทุกข์ยากและการทดลอง

• คุณลักษณะเช่นนี้ของพระเยซูเจ้าเราจะพบอีกครั้งใน ฮบ 4:15f “15เพราะเหตุว่าเราไม่มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการทดลองทุกอย่างเหมือนกับเรา ยกเว้นบาป 16ดังนั้น เราจงเข้าไปสู่พระบัลลังก์แห่งพระหรรษทานด้วยความมั่นใจเพื่อรับพระกรุณา และพบพระหรรษทานเกื้อกูลในยามที่เราต้องการ” ดูเหมือนสองอย่างที่คู่กันอย่างแยกกันไม่ออก สองประการ คือ
o พระกรุณา (Compassion) และ
o การเกื้อกูลด้วยความเข้าใจ (Comprehension)

• ความเมตตากรุณาของพระเยซูคริสตเจ้า มหาสมณะอันที่จริงนั้นคือสาระสำคัญที่สุดเช่นเดียวกับความสุภาพอ่อนโยน ความหมายของคำว่า “ใจเมตตา” (misericordia= Miser+Cordia) หัวใจที่เปี่ยมด้วยความสงสาร เราเห็นในข้อนี้ว่า ทัศนคติของมนุษย์และการกระทำของพระเจ้านั้นถูกแสดงออกด้วยคำที่มีรากศัพท์เดียวกันอย่างแท้จริง “ใจเมตตา และพระเมตตา”

• ภาษากรีกโดยทั่วไปทางโลกใช้คำนี้ “eleison” เพื่อหมายถึง “Compassion” และที่สำคัญคำว่า “Compassion” นี้ใช้ในพันธสัญญาใหม่เพื่อหมายถึง “การให้ทาน หรือให้สิ่งที่จำเป็นจริงๆ แก่ผู้ที่มีความต้องการที่สุด” สังเกตคำว่า “Compassion= Com+passion หรือ ภาษาลาติน cum+passio”

• ในพระวรสารเน้น “ความเมตตา” เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากมนุษย์ และดูเหมือนพระเยซูเจ้าจะสอนเรื่องนี้โดยเรียกร้องอย่างมากเช่นกัน และที่สำคัญ พระองค์เรียกร้องความเมตตา ไม่ใช่เครื่องบูชา

• เมื่อฟาริสีสะดุดเพราะพระเยซูเจ้าทรงนั่งร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาป (มธ 9:10-13) พระองค์ทรงยืนยันว่า “จงไปเรียนรู้ความหมายของพระวาจาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ เพราะเราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป”

• ทรงตำหนิฟาริสีที่กล่าวว่าศิษย์ของพระองค์ที่เก็บรวงข้าวในวันสับบาโต “ถ้าท่านเข้าใจความหมายของข้อความที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ ท่านคงจะไม่กล่าวโทษผู้ไม่มีความผิด เพราะบุตรแห่งมนุษย์เป็นนายเหนือวันสับบาโต” (มธ 12:7)

• ข้อสังเกต พระวรสารเน้นการแสดงความเมตตานี้โดยเฉพาะกับบรรดาผู้ที่อยู่ชายขอบสังคม หรือผู้ที่มีความต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องสะมาเรียผู้ใจดี (ลก 10) เราพบว่า เนื้อหาสาระของ “ความเมตตา” สรุปได้คือ
o ความอ่อนแอหรือความจำเป็นของเพื่อนพี่น้อง
o ความสงสาร “Compassion”
o การช่วยเหลือสุดความสามารถ

• ดังนั้น พ่อสรุปว่า จดหมายนักบุญยูดาวันนี้ อ่านนะครับ จดหมายสั้นๆนี้ก็เช่นกัน สอนเราให้ “รู้จักรักเป็น” รักอย่างไร ความรักคือความเมตตาสงสาร คำสำคัญที่อยู่ตรงกลางของบันได 9 ขั้นสู่มุ่งความรัก ดังนั้น คนที่มีความรักแบบคริสตชนจริงๆ ต้องมีใจเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและสงสารเสมอ แบบพระเยซูเจ้า ทรงเป็นมหาสมณะเปี่ยมด้วยความเมตตาตลอดนิรันดร อ่านจดหมายของยูดาจะชัดขึ้นครับ....พระเจ้าอวยพรครับ

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก