"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“แต่ใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา”

33. ขนบธรรมเนียมของชาวฟาริสี (2)
- พระองค์ตรัสตอบว่า “ประกาศกอิสยาห์ได้พูดอย่างถูกต้องถึงท่าน คนหน้าซื่อใจคด ในพระคัมภีร์คำว่า "คนหน้าซื่อใจคด" บรรยายท่าทางของผู้ที่พูดอย่างหนึ่งแต่การกระทำของเขาแสดงออกอีกอย่างหนึ่ง หรือหมายถึงผู้ที่ทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อจะได้รับคำชมเชยจากผู้อื่น (เทียบ มธ 6:2,5,16; 24:51) ในกรณีนี้ดังที่จะปรากฏชัดในข้อความจากประกาศกอิสยาห์ (อสย 29:13) พระเยซูเจ้าทรงใช้คำว่า "คนหน้าซื่อใจคด" ประณามความขัดแย้งระหว่างความกระตือรือร้นของชาวฟาริสีในการปฏิบัติข้อกำหนดของธรรมประเพณีอย่างเคร่งครัดให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้พบเห็น กับการละเลยเจตนาภายในของการปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่เจตนาเป็นคุณลักษณะสำคัญของกิจการมนุษย์

- ดังที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า 'ประชาชนเหล่านี้ให้เกียรติเราแต่ปาก แต่ใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา ประโยคที่อ้างนี้คัดมาจากพระคัมภีร์ภาษากรีกที่เรียกกันว่าฉบับ "สารบบ 70 หรือ เซ็พทัวจินส์ (LXX: The Septuagint) ซึ่งแตกต่างกันบ้างจากต้นฉบับภาษาฮีบรูแต่มีความหมายเดียวกัน ประกาศกอิสยาห์ตำหนิชาวอิสราเอลร่วมสมัยที่ปฏิบัติคารวกิจต่อพระเจ้าโดยประกอบพิธีจารีตภายนอกอย่างเคร่งครัด แต่ไม่คำนึงถึงเจตนาภายในที่แท้จริงซึ่งต้องปรากฏในการดำเนินชีวิตที่ดี เราพบคำตำหนินี้บ่อย ๆ ในคำเทศน์สอนของบรรดาประกาศก (เทียบ อมส 5:21-22; ฮชย 6:6; อสย 1:11-20; ยรม 7:21 ฯลฯ) พระคริสตเจ้าทรงนำคำตำหนินี้มาประยุกต์ใช้กับชาวฟาริสีและบรรดาธรรมจารย์ ไม่เพียงเรื่องการล้างมือเท่านั้น แต่ในเรื่องการแสดงความเลื่อมใสศรัทธาทางศาสนาในทุกโอกาส

- เขานมัสการเราอย่างไร้ความหมาย เขาสั่งสอนบัญญัติของมนุษย์เหมือนกับเป็นสัจธรรม' พระเยซูเจ้าพร้อมกับประกาศกอิสยาห์ทรงประณามผู้ที่คิดว่าการตีความหมายธรรมบัญญัติและตัวบทธรรมบัญญัติมีคุณค่าเท่าเทียมกัน และยิ่งกว่านั้น บางครั้งเขายังคำนึงถึงการตีความหมายธรรมบัญญัติมาแทนตัวบทธรรมบัญญัติ เป็นที่ปรากฏชัดว่าคารวกิจที่ประกอบตามคำสั่งสอนเช่นนี้ไม่เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าเพราะไม่สอดคล้องกับพระประสงค์ แต่ทำตามใจมนุษย์ ความเฉลียวฉลาดของมนุษย์เป็นพื้นฐานของศาสนาที่แท้จริงไม่ได้เพราะศาสนาไม่มาจากการค้นพบของมนุษย์ แต่มาจากการเชื่อฟังพระวาจาของพระเจ้า

- “ท่านทั้งหลายละเลยบทบัญญัติของพระเจ้ากลับไปถือขนบธรรมเนียมของมนุษย์” พระวาจานี้เน้นความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติบทบัญญัติหรือข้อกำหนดใด ๆ ของธรรมบัญญัติ กับ "ขนบธรรมเนียมของมนุษย์" ชาวฟาริสีซึ่งละเลยบทบัญญัติและยึดมั่นปฏิบัติขนบธรรมเนียมของมนุษย์ แสดงว่าเขาไม่สนใจปฏิบัติตามพระวาจา

- แล้วพระองค์ทรงเสริมว่า สำนวนนี้ไม่เกริ่นนำความคิดใหม่ แต่เพียงย้ำความคิดที่เพิ่งยืนยัน

- “ท่านช่างชำนาญในการละเลยบทบัญญัติของพระเจ้าเพื่อถือขนบธรรมเนียมของท่านเองเสียจริงๆ แปลตามตัวอักษรว่า "ท่านละเลยบทธรรมบัญญัติของพระเจ้าอย่างดี" แต่ในบริบทนี้กริยาวิเศษ "อย่างดี" ต้องการเน้นความเชี่ยวชาญของชาวฟาริสีในการนำขนบธรรมเนียมมาแทนบทบัญญัติของพระเจ้า น่าสังเกตความแตกต่างระหว่างคำว่า "บทบัญญัติของพระเจ้า" กับ "ขนบธรรมเนียมของท่าน" คำประณามนี้มีลักษณะรุนแรงและมุ่งไปสู่บุคคลเป้าหมาย

- เช่น โมเสสกล่าวว่า 'จงนับถือบิดามารดา และใครด่าบิดาหรือมารดา จะต้องรับโทษถึงตาย' ชื่อโมเสสในที่นี้หมายถึง "ธรรมบัญญัติของโมเสส" ข้อความนี้พบได้ใน อพย 20:12 และ อพย 21:17 นักบุญมาระโกอ้างข้อความนี้จากพระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับ "สารบบ 70 อีกด้วย

- แต่ท่านกลับสอนว่า ‘ถ้าใครคนหนึ่งพูดกับบิดาหรือมารดาว่า ทรัพย์สินที่ลูกนำมาช่วยเหลือพ่อแม่ได้นั้นเป็นคอร์บัน คือของถวายแด่พระเจ้า คำว่า "คอร์บัน" เป็นคำภาษาอาราเมอิกซึ่งนักบุญมาระโกเอาใจใส่แปลเป็นภาษากรีกสำหรับผู้อ่านอยู่เสมอ (เทียบ 3:17; 5:41;15:34) หมายถึง "ของถวาย" "ของประทาน" หรือ "สิ่งที่บนบานไว้" ชาวยิวมักใช้คำนี้ควบคู่กับคำเจาะจงที่กำหนดกิจการหรือสิ่งของที่เขาถวายแด่พระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงยกตัวอย่างของคำสาบานที่ชาวฟาริสีและบรรดาธรรมจารย์ใช้เพื่อปฏิเสธไม่ต้องช่วยเหลือบิดามารดาที่อยู่ในความต้องการ โดยอ้างว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของถวายแด่พระเจ้าแล้ว ทั้ง ๆ ที่บทบัญญัติของพระเจ้าเรียกร้องให้ช่วยเหลือ เพราะธรรมบัญญัติยังกำหนดไว้ว่า ทุกอย่างที่บนบานไว้เพื่อถวายแด่พระเจ้าจะใช้ในจุดประสงค์อื่น ๆ ไม่ได้ ด้วยวิธีนี้ชาวฟาริสีจึงอนุญาตให้ละเลยปฏิบัติตามบทบัญญัติ โดยอ้างความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระเจ้า ต่อมา การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้สำนวนนี้เป็นสูตรที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงคืนสิ่งที่เป็นกรรมสิทธิของผู้อื่น แม้ก่อนที่จะถวายบางสิ่งบางอย่างแด่พระเจ้าในพระวิหาร