“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

หนังสือประกาศกฮาบากุก

  1. บทที่ 1
  2. บทที่ 2
  3. บทที่ 3

ชื่อหนังสือ

1 1พระบัญชาaที่ประกาศกฮาบากุกได้รับในนิมิต

 

I. พระยาห์เวห์ตรัสโต้ตอบกับประกาศก

 

คำตัดพ้อครั้งแรกของประกาศกb

            2ข้าแต่พระยาห์เวห์ ข้าพเจ้าจะต้องร้องขอความช่วยเหลือนานสักเท่าใด

พระองค์จึงจะทรงฟัง

ข้าพเจ้าจะร้องเสียงดังทูลพระองค์ว่า “ทารุณ”

พระองค์ก็ไม่ทรงช่วยให้รอดพ้น

3ทำไมพระองค์ทรงให้ข้าพเจ้าเห็นการทำผิด

และทรงนิ่งมองดูการกดขี่ข่มเหง

ทั้งการปล้นและการใช้ความรุนแรงอยู่ต่อหน้าข้าพเจ้า

การทะเลาะวิวาทและแตกสามัคคีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

4ดังนั้น ธรรมบัญญัติจึงหละหลวม

และความยุติธรรมก็ไม่ปรากฏ

เพราะคนชั่วร้ายหลอกลวงผู้ชอบธรรม

ดังนั้น ความถูกต้องก็ถูกบิดเบือน

พระดำรัสตอบครั้งแรก ชาวเคลเดียเป็นเครื่องมือแสดงพระยุติธรรมของพระเจ้าc

            5ท่านทั้งหลายจงมองดูนานาชาติ

จงดูดีๆ

จงพิศวงและประหลาดใจเถิด

เพราะเราจะทำสิ่งหนึ่งในวันของท่านทั้งหลายd

ซึ่งถ้ามีคนบอกเล่า ท่านก็จะไม่เชื่อ

6ดูซิ เรากำลังปลุกชาวเคลเดียขึ้นมา

เขาเป็นชนชาติโหดร้ายและเจ้าโทสะe

กรีธาทัพไปทั่วแผ่นดิน

เพื่อยึดครองที่พำนักของผู้อื่น

7แต่ละคนน่ากลัวและโหดเหี้ยม

กำหนดความถูกต้องและอำนาจด้วยตนเองf

8ม้าของเขาวิ่งเร็วกว่าเสือดาว

ดุร้ายมากกว่าสุนัขป่าในยามเย็น

พลม้าของเขาพุ่งไปข้างหน้า

พลม้าของเขามาจากแดนไกล

บินเหมือนนกอินทรีที่โฉบลงจับเหยื่อ

9ทุกคนมาเพื่อทำทารุณ

ใบหน้าของเขาลุกเป็นไฟเหมือนลมจากทิศตะวันออกg

เขารวบรวมเชลยศึกไว้มากมายเหมือนเม็ดทราย

          10เขาเยาะเย้ยบรรดากษัตริย์

หัวเราะเยาะบรรดาเจ้านาย

เขาหัวเราะเยาะป้อมปราการทุกแห่ง

เพราะเขาพูนดินขึ้นเพื่อเข้ายึดป้อมนั้นh

11แล้วลมก็เปลี่ยนทิศทางและผ่านไปi

ผู้ที่ทำให้พลังของตนเป็นพระเจ้าก็มีความผิด

 

คำตัดพ้อครั้งที่สองของประกาศกj

            12ข้าแต่พระยาห์เวห์พระเจ้าของข้าพเจ้า

พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของข้าพเจ้า

พระองค์ทรงดำรงอยู่ตั้งแต่นิรันดรมิใช่หรือk

ข้าพเจ้าทั้งหลายจะไม่ตายl

ข้าแต่พระยาห์เวห์ พระองค์ทรงตั้งเขาไว้เพื่อตัดสินลงโทษ

ข้าแต่พระศิลา พระองค์ทรงตั้งเขาmไว้อย่างมั่นคงเพื่อทรงลงโทษ

13พระเนตรของพระองค์บริสุทธิ์เกินกว่าจะทอดพระเนตรเห็นความชั่ว

หรือทรงทนมองดูการกดขี่ข่มเหงได้

แล้วทำไมพระองค์จึงทอดพระเนตรเห็นคนทรยศ

และทรงนิ่งอยู่เมื่อคนอธรรมกลืนผู้ชอบธรรมกว่าตน

14พระองค์ทรงทำกับมนุษย์เหมือนทำกับปลาในทะเล

เหมือนทำกับสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่มีผู้ปกครอง

15ชาวเคลเดียใช้เบ็ดจับทุกคนขึ้นมา

ใช้แหลากขึ้นมา

ใช้อวนรวบรวมไว้ด้วยกัน

แล้วยินดีและปรีดิ์เปรม

16เขาจึงถวายบูชาแก่แหของเขา

เผาเครื่องหอมแก่อวนของเขา

เพราะอาศัยสิ่งเหล่านี้ เขาจึงมีความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย

อาหารการกินก็อุดมบริบูรณ์

17แล้วเขาจะต้องเทเหยื่อออกจากแหครั้งแล้วครั้งเล่า[1]

และฆ่าชนชาติต่างๆ โดยไร้เมตตาหรือ

1 a “พระบัญชา” ตามตัวอักษรว่า “ภาระหนัก” (เทียบ อสย 13:1 ฯลฯ และ ยรม 23:33-40)

b ประกาศกพูดแทนประชากรของตน (เทียบ อสย 59:9-14; ยรม 10:23-25; 14:2-9, 19-22) ประชากรถามพระยาห์เวห์ถึงความทุกข์ยากที่ตนต้องรับทน ข้อความนี้ ซึ่งคล้ายกับคำคร่ำครวญร้องทุกข์ใน สดด และ ยรม ในตัวเอง ความทุกข์ยากนี้อาจหมายถึงความแตกแยกภายในชาติ แต่ไม่ต้องสงสัยว่า ถ้าพิจารณาบริบทในข้อ 12-17 คำร้องทุกข์นี้เกี่ยวข้องกับการกดขี่ข่มเหงจากชาวเคลเดีย ทำไมพระยุติธรรมและความรักมั่นคงของพระยาห์เวห์ (และความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ข้อ 13) จึงปล่อยให้คนชั่วได้รับชัยชนะ ถึงกระนั้น แม้ยูดาห์จะมีความผิด ก็ยังอยู่ข้าง “ความชอบธรรม” เพราะรู้จักพระยาห์เวห์ แต่พระเจ้ากลับทรงปล่อยให้ผู้นับถือรูปเคารพมีชัยชนะ พระยาห์เวห์จะต้องตอบปัญหานี้ (ดู 2:1)

c พระดำรัสตอบครั้งแรก ชาวเคลเดียเป็นเครื่องมือแสดงพระยุติธรรมจากพระเจ้า (เทียบ ฉธบ 28:47ฯ; 2 พกษ 24:2-4; อสย 10:5-27; ยรม 5:14-19; 25:1-13; 27:6-22; 51:20-23; อมส 3:11) แต่เทียบการที่กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงได้รับสมญาจากพระยาห์เวห์ด้วยว่า “ผู้รับใช้ของเรา” (ยรม 25:9; 27:6; 43:10)

d “เราจะทำสิ่งหนึ่งในวันของท่านทั้งหลาย” ตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูยังอาจแปลได้อีกว่า “กิจการหนึ่งถูกทำในวันของท่านทั้งหลาย”

e หนังสือประกาศกมักใช้ภาพพจน์ที่มีชีวิตชีวาบรรยายการบุกรุกของศัตรูบ่อยๆ (ดู อสย 5:26-29; 13:17-18; ยรม 4:5-7, 13, 16-17; 5:15-17; 6:22-24; อสค 23:22-26; 28:7-10; นฮม 3:2-3)

f ชาวเคลเดียไม่ยอมรับอำนาจใดๆ เป็นเจ้านายปกครองทั้งของมนุษย์และเทพเจ้า เขาคิดว่าชัยชนะทั้งหลายเป็นผลงานจากความสามารถของตน (ดู ข้อ 11ข)

g “ใบหน้าของเขาลุกเป็นไฟเหมือนลมจากทิศตะวันออก” เป็นการแปลโดยคาดคะเน ตัวบทไม่แน่นอน ต้นฉบับ MT ว่า “ลมตะวันออก” บางครั้ง ลมร้อนจากทะเลทรายทางตะวันออกเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการรุกรานของศัตรูจากทิศตะวันออก (เทียบ ยรม 18:17; อสค 17:10ฯ; ฮชย 12:2; 13:15)

h หมายถึง การพูนดินเป็นทางลาดที่ใช้ในการล้อมเมืองเพื่อบุกเข้ายึด

i การบุกรุกของศัตรูมาถึงเหมือนลมพายุ แล้วก็ผ่านไป โดยทิ้งความเสียหายไว้เบื้องหลัง บางคนแปลว่า “จิตผ่านมาและผ่านไป” ซึ่งหมายถึง “การดลใจจากพระเจ้าให้ประกาศพระวาจา” ที่ผ่านไปแล้ว หรือ “แล้วเขา (ผู้รุกราน) ก็เปลี่ยนใจ หลังจากได้ทำเกินไปแล้ว”

j ข้อความตอนนี้ซ้ำคำตัดพ้อในข้อ 2-4 ถ้าเป็นความจริงว่าชัยชนะของชาวเคลเดียในที่สุดมาจากพระยาห์เวห์ (ข้อ 5-6) เหตุผลนี้ก็มีแต่นำปัญหากลับมาให้พระยาห์เวห์ซึ่งจะต้องประทานคำตอบว่า เป็นไปได้อย่างไรที่พระเจ้าผู้ทรงเที่ยงธรรมและศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงพิทักษ์ความยุติธรรม (ข้อ 12ก-ข, 13) จึงทรงทำกับชนชาติต่างๆ เช่นนี้ได้ (ข้อ 14) และโดยเฉพาะกับประชากรที่ทรงเลือกสรร พระองค์จะทรงปล่อยให้คนชั่วมีอำนาจเหนือคนชอบธรรมกระนั้นหรือ (ข้อ 13 เทียบข้อ 4 และข้อ 15-17)

k “ตั้งแต่นิรันดร” ตามตัวอักษรว่า “ตั้งแต่แรกเริ่ม” หรือ “ตั้งแต่โบราณ” ซึ่งหมายถึงสมัยการอพยพที่เหตุการณ์จะถูกกล่าวถึงในบทที่ 3 สำหรับฮาบากุก เหตุการณ์นี้เป็นพื้นฐานของความหวัง

l “ข้าพเจ้าทั้งหลายจะไม่ตาย” บางคนแปลโดยคาดคะเนว่า “พระองค์จะไม่สิ้นพระชนม์”

m “เขา” ที่นี่คือชาวเคลเดีย ซึ่งพระเจ้าทรงปลุกให้ทำพันธกิจความยุติธรรม โดยมีขอบเขตจำกัด (ดู 1:5 เชิงอรรถ c) บางคนอธิบายว่า “เขา” หมายถึงอิสราเอลซึ่งจะต้องเป็นผู้พิพากษาตัดสินนานาชาติ หรือหมายถึงกษัตริย์เยโฮยาคิมแห่งยูดาห์ซึ่งทรงปฏิบัติพันธกิจอย่างไม่ซื่อสัตย์ ถ้าเป็นเช่นนี้ ใน 1:2-4,12-17 และ 2:6-19 “ผู้เบียดเบียน” ก็จะต้องหมายถึงกษัตริย์เยโฮยาคิม

[1] “ครั้งแล้วครั้งเล่า” ตามเอกสารซึ่งพบได้ที่กุมราน 1QpHab ต้นฉบับ MT ว่า “ฆ่าฟันซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

พระดำรัสตอบครั้งที่สอง - ผู้ชอบธรรมจะมีชีวิตเพราะความซื่อสัตย์

2 1ข้าพเจ้าจะยืนรักษาการณ์อยู่

จะยืนบนหอคอย

เฝ้ามองเพื่อจะเห็นว่า

พระองค์จะตรัสอะไรแก่ข้าพเจ้า

จะทรงตอบการร้องทุกข์ของข้าพเจ้าอย่างไรa

2พระยาห์เวห์ตรัสตอบข้าพเจ้าว่า

“จงเขียนนิมิต

และสลักไว้ให้ชัดเจนบนแผ่นกระดาน

เพื่อให้อ่านได้ง่าย

3ยังไม่ถึงเวลาที่นิมิตนี้จะเป็นจริงb

แต่จะเป็นจริงในไม่ช้าตามที่กำหนดไว้อย่างแน่นอนc

แม้นิมิตนี้จะล่าช้าไปบ้าง ก็จงคอยสักระยะหนึ่ง

นิมิตนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนโดยไม่ชักช้า

4ดูซิ ผู้มีจิตใจไม่ซื่อตรงก็จะล้มลงd

แต่ผู้ชอบธรรมจะมีชีวิตเพราะความซื่อสัตย์”e      

II. คำสาปแช่งผู้กดขี่

 

อารัมภบท

            5จริงอยู่ ความมั่งคั่งทำให้เสียคนf

คนหยิ่งยโสจะไม่มีความสงบ

เขาอ้าปากกว้างเหมือนแดนผู้ตาย

ไม่รู้จักอิ่มเหมือนความตาย

เขาดึงนานาชาติมาหาตน

รวบรวมชนทุกชาติมาเป็นของตน

6ชนชาติเหล่านี้จะไม่เยาะเย้ยเขา

จะไม่ยกคำพังเพยgมากล่าวเย้ยหยันเขาหรือเขาจะพูดว่า

         

คำสาปแช่งห้าครั้ง

I.

            “วิบัติจงเกิดแก่ผู้สะสมสิ่งที่มิใช่ของตนh

                    อีกนานเท่าไร

          วิบัติจงเกิดแก่ผู้แบกของที่ยึดไว้เป็นประกันจนเต็มบ่า

7เจ้าหนี้ของท่านจะไม่ลุกขึ้นมาทันทีหรือ

ผู้ที่ทำให้ท่านต้องกลัวตัวสั่นจะไม่ตื่นขึ้นหรือ

แล้วท่านก็จะตกเป็นเหยื่อของเขา

8ท่านได้ปล้นชนหลายชาติมาแล้ว

ชนทุกชาติที่เหลืออยู่จึงจะมาปล้นท่าน

เพราะท่านได้หลั่งโลหิตและใช้ความรุนแรงกับแผ่นดิน

กับเมือง และกับทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมือง

II.

          9วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่สะสมผลกำไรชั่วสำหรับบ้านของตนi

เพื่อจะวางรังของตนบนที่สูง

มิให้เคราะห์ร้ายเอื้อมมือถึงได้

10ท่านได้วางแผนการที่นำความอับอายมาสู่บ้านของท่าน

โดยกำจัดชนหลายชาติj

ท่านจึงทำร้ายตนเอง

11เพราะก้อนหินจะตะโกนออกมาจากกำแพง

ไม้ขื่อก็จะตอบออกมาจากโครงไม้ในบ้านk

III.

          12วิบัติจงเกิดแก่ผู้สร้างเมืองด้วยโลหิตl

และวางรากฐานของเมืองด้วยความอธรรม

13ดูซิ ไม่เป็นพระประสงค์ของพระยาห์เวห์จอมจักรวาลหรือ

ที่ประชาชนชาติต่างๆ จะออกแรงทำงานเพื่อเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้นm

และนานาชาติจะเหน็ดเหนื่อยโดยไร้ประโยชน์

14เพราะแผ่นดินจะเต็มไปด้วยความรู้ถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์

เหมือนน้ำปกคลุมเหนือทะเล

IV.

          15วิบัติจงเกิดแก่ผู้ทำให้เพื่อนบ้านดื่มเครื่องดื่มn

ปนยาoที่ทำให้เขาเมา

จะได้สะใจเมื่อเห็นเขาเปลือยอยู่

                16ท่านเองจะต้องอับอายอย่างที่สุด แทนที่จะมีเกียรติ    

          ถึงเวลาของท่านแล้วที่จะต้องดื่ม

และเปลือยกายให้ผู้อื่นเห็นp

แต่พระยาห์เวห์จะทรงเทถ้วยในพระหัตถ์ขวาของพระองค์เหนือท่าน

แล้วเกียรติยศของท่านจะกลายเป็นความอับอาย

                17ความทารุณที่ท่านเคยทำแก่เลบานอนจะปกคลุมท่าน

 การที่ท่านเคยฆ่าสัตว์จำนวนมากจะทำให้ท่านต้องตกใจกลัวq

           เพราะท่านได้หลั่งโลหิตมนุษย์และทำทารุณแก่แผ่นดิน

 แก่เมืองและผู้อาศัยทุกคนr

         

V.

19วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่พูดกับไม้ท่อนหนึ่งว่า “จงตื่นเถิด”s

พูดกับหินใบ้ว่า “จงลุกขึ้นเถิด”

สิ่งนี้สั่งสอนอะไรได้หรือt

ดูซิ สิ่งนั้นหุ้มด้วยทองคำหรือเงิน

แต่ภายในไม่มีลมหายใจเลย

                18รูปเคารพใช้ประโยชน์อะไรได้

นายช่างจึงต้องแกะสลักขึ้นมา

หรือรูปหล่อที่สอนความเท็จใช้ประโยชน์อะไรได้

ช่างที่วางใจในสิ่งที่เขาสร้างขึ้นจึงสร้างรูปเคารพใบ้นี้

                20แต่พระยาห์เวห์ประทับอยู่ในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์u

ทั่วทั้งแผ่นดินจงเงียบเฉพาะพระพักตร์พระองค์เถิดv

2 a “(พระองค์)จะทรงตอบการร้องทุกข์ของข้าพเจ้าอย่างไร” แปลโดยคาดคะเนตามสำนวนแปล Pashitta ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ข้าพเจ้าจะตอบ...” **** ประกาศกทำหน้าที่เป็นยามรักษาการณ์คอยเฝ้าดูผู้บุกรุกประชากรของตน (เทียบ สดด 5:3; อสย 21:6-12; ยรม 6:17; อสค 3:17; 33:1-9; ฮชย 9:8)

b “ยังไม่ถึงเวลาที่นิมิตนี้จะเป็นจริง” พระเจ้าจึงทรงบัญชาให้ประกาศกเขียนนิมิตนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นิมิตนี้จะเป็นจริงในเวลา “ตามที่กำหนดไว้” (เทียบ ดนล 8:19, 26; 10:14; 11:27, 35) เอกสารที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นประกันว่าพระวาจาของพระยาห์เวห์จะเป็นความจริงในเวลาที่กำหนด (เทียบ 2 ปต 3:2) และต่อไปในอนาคตจะเป็นพยานถึงความน่าเชื่อถือของพระวาจา (เทียบ อสย 8:1, 3; 30:8)

c “อย่างแน่นอน” นิมิตมีพลังในตัวเอง เพราะเป็นการแสดงออกของพระวาจาของพระเจ้าที่จะต้องสำเร็จเป็นจริง (เทียบ อสย 55:10-11)

d “ผู้มีจิตใจไม่ซื่อตรงก็จะล้มลง” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “จิตใจของเขาภายในพองโต ไม่ถูกต้อง” ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ถ้าเขาบกพร่อง วิญญาณของเราจะไม่พอใจเขา แต่ผู้ชอบธรรมจะมีชีวิตเพราะความเชื่อถือในเรา”

e “ผู้ชอบธรรมจะมีชีวิตเพราะความซื่อสัตย์” คำพังเพยนี้มีความหมายเข้าใจได้สำหรับทุกคน (ดู อสย 3:10-11) ที่ตรงนี้รวมสาระของนิมิต ความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า (เทียบ ยรม 5:1-3; 7:28; 9:2; ฮชย 2:22) นั่นคือ ต่อพระวาจาและพระประสงค์ของพระองค์ เป็นเอกลักษณ์ของ “ผู้ชอบธรรม” และเป็นประกันว่าเขาจะมีความปลอดภัยและมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินนี้ (เทียบ สดด 37:3; สภษ 10:25; อสย 33:6) ส่วนคนชั่วซึ่งไม่มี “ความชอบธรรม” นี้จะประสบหายนะ “ผู้ชอบธรรม” และ “คนชั่ว” (คนอธรรม) ในบริบทนี้ (1:2-4, 12-17; 2:5-18) หมายถึง “ชาวยูดาห์” และ “ชาวเคลเดีย” ชาวยูดาห์จะมีชีวิต ส่วนชาวเคลเดียจะพินาศ จากตัวบทฉบับ LXX ซึ่งแปลคำว่า “ความซื่อสัตย์” ว่า “ความเชื่อ” ทำให้นักบุญเปาโลพบคำสอนเรื่อง “ความชอบธรรมอาศัยความเชื่อ”

f “ความมั่งคั่งทำให้เสียคน” ตามเอกสารซึ่งพบที่กุมราน 1QpHab ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “เหล้าองุ่นเป็นผู้ทรยศ”

g “เยาะเย้ย” และ “ยกคำพังเพย” คำภาษาฮีบรูสองคำ “mashal” และ “melisah” มีความหมายคล้ายๆ กัน เป็นคำคมสั้นๆ ที่ตีความหมายได้หลายแบบ จึงถูกนำมาใช้กับ “คำสาปแช่ง” ทั้ง 5 ชุดต่อไปที่จะพยากรณ์ถึงหายนะของผู้รุกรานโดยใช้ถ้อยคำกำกวม

h เป็นการกล่าวโจมตีความโลภของผู้ชนะ มีการประชดประชันถึงสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไป ชาวเคลเดียจะกลายเป็น “ลูกหนี้” ของชนชาติต่างๆ ที่เขาเคยไปปล้นมา ซึ่งเวลานี้จะกลายเป็นเหมือน “เจ้าหนี้” ของเขา เป็นการใช้กฎ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ของ อพย 21:25 เชิงอรรถ f

i ชะตากรรมของผู้ชนะจะเป็นชะตากรรมของผู้ที่ร่ำรวยขึ้นมาเพราะทำชั่ว เขาจะจบลงโดยไม่เหลืออะไรเลย

j “โดยกำจัดชนหลายชาติ” ตามสำนวนแปลโบราณต่างๆ ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “เพื่อกำจัด...”

k “บ้าน” หรือ “ราชวงศ์” ของชาวเคลเดีย ซึ่งสร้างขึ้นมาโดยการกดขี่ข่มเหง “ก้อนหินและไม้ขื่อ” จะเรียกร้องการแก้แค้นลงมาสู่ผู้อาศัยในบ้าน

l ข้อต่อไปนี้ประณามการปกครองด้วยความทารุณ

m “ดูซิ...ไม่...มิใช่หรือ” เป็นสูตรที่พบได้บ่อยๆ ในหนังสือพงศาวดาร เช่น 2 พศด 25:26 **** วลี “ประชาชนชาติต่างๆ จะออกแรงทำงานเพื่อเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น” (เทียบ ยรม 51:58)

n เป็นการพูดถากถางผู้พิชิตที่ทำให้ผู้อื่นดื่มจนเมามายเพื่อทำให้เขาต้องอับอายเสื่อมเสีย ความอับอายเช่นนี้ในไม่ช้าจะกลับมาสู่ผู้พิชิตด้วย พระคัมภีร์บอกว่ากรุงนีนะเวห์ได้ทำเช่นนี้ใน นฮม 3:4-7 และกรุงบาบิโลนก็ทำเช่นเดียวกันใน ยรม 51:7

o “ยา” (เทียบ ฉธบ 32:24,33; สดด 58:4; 140:3) หรือ “ความโกรธ” ตามเอกสารซึ่งพบที่กุมราน 1QpHab และสำนวนแปลของ Symmachus ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ยาพิษของท่าน”

p “เปลือยกายให้ผู้อื่นเห็น” ชาวเคลเดียที่ไม่เข้าสุหนัตและเสเพลถูกมอมเมาให้อับอายที่เปลือยกายอยู่

q เลบานอนที่ถูกปล้น (เทียบ อสย 37:24) เมื่อกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงสั่งให้โค่นต้นสนสีดาร์เพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง (เทียบ อสย 14:8) ยังอาจเป็นสัญลักษณ์หมายถึงอิสราเอลด้วย (เทียบ อสย 33:9; ยรม 21:14; 22:6-7, 20-23)

r เราอ่านข้อ 18 หลังข้อ 19 ตามที่ความคิดต่อเนื่องเรียกร้อง

s ข้อความ 2 ข้อนี้กล่าวโทษผู้พิชิตที่กราบไหว้รูปเคารพ

t “สิ่งนี้สั่งสอนอะไรได้หรือ” อาจเป็นข้อความที่ผู้คัดลอกเสริมเข้ามาจากความคิดในข้อ 18ข

u “พระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” หมายถึงพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม และโดยเฉพาะหมายถึงที่ประทับบนสวรรค์ที่พระเจ้าจะเสด็จออกมาในไม่ช้า (เทียบ 3:3ฯ)

v ความเงียบนี้เป็นการเกริ่นว่าพระเจ้าจะทรงสำแดงพระองค์ในไม่ช้าใน 3:3-15; เทียบ สดด 76:8-9; อสย 41:1

III. คำอธิษฐานขอพระยาห์เวห์ให้ทรงปลดปล่อย

 

3 1คำอธิษฐานภาวนาaของประกาศกฮาบากุกb ตามทำนองเพลงคร่ำครวญ

คำอธิษฐาน

            2ข้าแต่พระยาห์เวห์ ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องเล่าถึงพระองค์c

                    ข้าแต่พระยาห์เวห์ ข้าพเจ้ายำเกรงพระราชกิจของพระองค์d

          โปรดทรงรื้อฟื้นพระราชกิจในชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย

                    โปรดทรงสำแดงให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วกันe

          แม้พระองค์กริ้ว ก็ขอทรงระลึกถึงพระกรุณาเถิด

พระยาห์เวห์ทรงสำแดงพระองค์

            3พระเจ้าเสด็จจากเทมาน

                    พระผู้ศักดิ์สิทธิ์เสด็จจากภูเขาปารานf                       

(หยุดครู่หนึ่ง)

          ศักดิ์ศรีของพระองค์ปกคลุมท้องฟ้า

                    แผ่นดินก็เต็มไปด้วยคำสรรเสริญพระองค์

          4ความสุกใสของพระองค์เป็นดังแสงสว่าง

                    มีลำแสงgแวบมาจากพระหัตถ์พระองค์

          พระองค์ทรงซ่อนพระอานุภาพไว้ที่นั่น

          5โรคระบาดนำหน้าพระองค์

                    ภัยพิบัติhติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิด

          6พระองค์ทรงหยุด แผ่นดินก็สั่นสะเทือน

                    พระองค์ทอดพระเนตร นานาชาติก็สั่นกลัว

          ภูเขาที่คงอยู่ตลอดไปก็พังทลาย

                    เนินเขาที่อยู่มาแต่โบราณiก็ยุบต่ำลง

          วิถีทางของพระองค์ก็ยังคงเป็นอยู่เช่นเดิม

          7ข้าพเจ้าเห็นชนคูชันหวาดกลัวอยู่ในกระโจมของตน

                    ชาวมีเดียนก็หวั่นไหวอยู่หลังม่านกระโจมของตนj

พระยาห์เวห์ทรงออกศึก

          8ข้าแต่พระยาห์เวห์ พระองค์ทรงพระพิโรธแม่น้ำหรือ

                    พระองค์กริ้วแม่น้ำหรือk

          หรือว่าพระองค์ทรงโกรธทะเลl

                    เมื่อพระองค์ทรงม้า

          และทรงรถรบแห่งชัยชนะ

          9พระองค์ทรงนำคันธนูขึ้นมาเตรียมพร้อม

                    ทรงวางลูกศรบนสายธนูอย่างรวดเร็วm                      

(หยุดครู่หนึ่ง)

         

พระองค์ทรงบันดาลให้แผ่นดินแยกออกเป็นแม่น้ำหลายสายn

          10ภูเขาทั้งหลายเห็นพระองค์ก็สั่นสะเทือน

                    พายุฝนหลั่งน้ำลงมาท่วมแผ่นดิน

          มหาสมุทรส่งเสียงกึกก้อง

                    ยกคลื่นoให้สูงขึ้น

          11ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์หยุดนิ่งอยู่ในที่พำนัก

                    หลบหลีกแสงลูกศรของพระองค์

          หลบหลีกแสงจ้าจากหอกของพระองค์

          12พระองค์เสด็จผ่านแผ่นดินด้วยความกริ้ว

                    ทรงเหยียบย่ำนานาชาติด้วยพระพิโรธ

          13พระองค์เสด็จออกไปเพื่อช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้น

                    เพื่อช่วยผู้ที่พระองค์ทรงเจิมpไว้ให้รอดพ้น

          พระองค์ทรงทำลายหัวหน้าครอบครัวคนอธรรม

                    ทรงทำลายผู้ติดตามจนสิ้นเชิง                                

(หยุดครู่หนึ่ง)

          14พระองค์ทรงใช้หอกแทงหัวหน้าของนักรบ

                    ซึ่งเข้ามาจู่โจมข้าพเจ้าทั้งหลายเหมือนพายุq

          และมีความยินดีประหนึ่งว่าได้กลืนกินผู้ยากจนอย่างซ่อนเร้น

          15พระองค์ทรงม้าเหยียบย่ำน้ำทะเล

                    ขณะที่คลื่นกำลังแรงจัด

บทสรุป – เมื่อมนุษย์มีความกลัว เขาต้องวางใจในพระเจ้า

            16ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องนี้ จิตใจของข้าพเจ้าก็ปั่นป่วนr

                    พอได้ยินเสียงนี้ ริมฝีปากของข้าพเจ้าก็สั่น

          กระดูกของข้าพเจ้าก็ผุพัง

                    ขาของข้าพเจ้าก็อ่อนเปลี้ยs

          ข้าพเจ้ารอคอยวันแห่งความทุกข์อยู่เงียบๆ

                    ให้มาลงโทษประชาชนที่จู่โจม

          17แม้ต้นมะเดื่อเทศจะไม่ออกดอก

                    เถาองุ่นจะไม่มีผล

          มะกอกเทศจะไม่มีผลผลิตเลย

                    ทุ่งนาจะไม่ผลิตอาหาร

          ฝูงแพะแกะจะหายไปจากคอก

                    ไม่มีฝูงโคเหลืออยู่ในโรงเลี้ยงt

          18ข้าพเจ้าก็ยังจะยินดีในพระยาห์เวห์

                    ข้าพเจ้าจะเปรมปรีดิ์ในพระเจ้าผู้ทรงช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้น

          19พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพละกำลังของข้าพเจ้า

                    พระองค์ทรงบันดาลให้เท้าของข้าพเจ้าว่องไวเหมือนเท้าของแม่กวาง

          และทรงบันดาลให้ข้าพเจ้าเดินบนที่สูงu

สำหรับหัวหน้านักขับร้อง ใช้เครื่องสายประกอบv

3 a คำอธิษฐานภาวนานี้รวมการวอนขอเข้ากับคำสรรเสริญพระอานุภาพของพระเจ้า เช่นเดียวกับเพลงสดุดีหลายบท วลีที่ว่า “หยุดสักครู่หนึ่ง” และคำสั่งในข้อสุดท้ายแสดงว่าชาวยิวใช้บทอธิษฐานภาวนาบทนี้ในพิธีกรรม

b “ประกาศกฮาบากุก” คำนี้อาจหมายความไม่เพียงแต่ว่าประกาศกฮาบากุกเป็นผู้ประพันธ์คำอธิษฐานภาวนาบทนี้เท่านั้น แต่ยังอาจหมายความว่าบทภาวนาบทนี้เป็นบทหนึ่งในชุดคำภาวนาที่มีชื่อของประกาศกด้วย

c “เรื่องเล่าถึงพระองค์” แปลตามตัวอักษรว่า “สิ่งที่พระองค์ทรงบันดาลให้ได้ยิน”

d “พระราชกิจของพระองค์” หมายถึงการเนรมิตสร้างโลก (1:12) และการปลดปล่อยประชากรอิสราเอลในสมัยโมเสส (ฉธบ 11:7; วนฉ 2:7; สดด 44:1-8; 77:11-12; 95:9)

e “โดยทั่วกัน” แปลตามตัวอักษรว่า “ในชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย”

f “เทมาน...ภูเขาปาราน” เทมานเป็นอาณาเขตเหนือสุดของดินแดนเอโดม อยู่ระหว่างเขตแดนของเผ่ายูดาห์กับถิ่นทุรกันดารซีนาย ส่วน “ปาราน” เป็นภูเขาในเขตแดนของชาวเอโดม ภูเขานี้คล้ายกับภูเขาซีนายที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ในถิ่นทุรกันดาร (เทียบ ฉธบ 33:2) ข้อนี้เริ่มบรรยายถึงการสำแดงพระองค์ของพระยาห์เวห์ (ดู อพย 19:16 เชิงอรรถ g) ข้อ 3-7 บรรยายการเสด็จมาของพระองค์ ส่วนข้อ 8-15 บรรยายถึงพระยาห์เวห์เสมือนทรงเป็นนักรบที่ออกศึก รายละเอียดหลายประการในบทประพันธ์บทนี้แสดงถึงชัยชนะของพระยาห์เวห์เหนือศัตรู พระองค์ทรงนำประชากรของพระองค์ในสมัยอพยพ (ดู อสย 40:3 เชิงอรรถ d) ซึ่งเป็นการเกริ่นถึงการปลดปล่อยในอนาคต พระยาห์เวห์ (“พระผู้ศักดิ์สิทธิ์” เทียบ ฉธบ 33:3; อสย 6:3 เชิงอรรถ g) เสด็จมาจากภูเขาซีนาย (เทียบ อพย 24:9-11) มายังแผ่นดินคานาอัน (เทียบ กดว 20:14ฯ) โดยผ่านดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นที่มาของพายุด้วย จึงมีการบรรยายถึงการเสด็จมาของพระยาห์เวห์ (ข้อ 3ฯ) คล้ายกับพายุที่หอบเมฆฝนมาด้วย (เทียบ สดด 18:7ฯ; 29) รายละเอียดต่างๆ บางครั้งหมายถึงเมฆ บางครั้งหมายถึงพระยาห์เวห์ผู้เสด็จมาบนเมฆซึ่งเป็นพาหนะของพระองค์

g “ลำแสง” แปลตามสำนวนแปลโบราณ ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “เขา(สัตว์)” (เทียบ อพย 34:29-30, 35)

h “ภัยพิบัติ” resheph ในภาษาฮีบรูเป็นชื่อของเทพเจ้าของชาวฟีนีเซีย ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสายฟ้าผู้ทำลาย จึงหมายถึง “ภัยพิบัติ” ให้คู่กับ “โรคระบาด” ในบรรทัดก่อนนั้น (เทียบ ฉธบ 32:24)

i “ภูเขาที่คงอยู่ตลอดไป...เนินเขาที่อยู่มาแต่โบราณ” มีความหมายกว้างๆ ถึงโลกพิภพ (เทียบ โยบ 15:7; สดด 90:2; สภษ 8:25) แต่ใน ปฐก 49:26 และ ฉธบ 33:15 สำนวนนี้ถูกนำมาใช้หมายถึงที่อาศัยของบรรพบุรุษตามตำนานเทพโบราณ

j “ชาวมีเดียน” (ดู อพย 2:15 เชิงอรรถ e) “ชนคูชัน” คงจะหมายถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่เดียวกันกับชาวมีเดียน

k “แม่น้ำหรือ” บางคนคิดว่าวลีนี้เป็นการเขียนซ้ำโดยผู้คัดลอก

l การที่พระยาห์เวห์ทรงเข้าแทรกแซงทำให้โลกปั่นป่วนเช่นเดียวกับใน วนฉ 5:4-5; สดด 77:16-19; 114:3-7; ดู อมส 8:9 เชิงอรรถ h ข้อความนี้ใช้ภาษาของนิยายโบราณที่คิดว่าการสร้างโลกเป็นผลของการต่อสู้กันระหว่างพระเจ้ากับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติที่เป็นกบฏ เช่น มหาสมุทร ทะเล แม่น้ำ ที่คนโบราณหลายชาติคิดว่าเป็นเทพเจ้า (ดู โยบ 7:12 เชิงอรรถ f) การต่อสู้นี้จบลงโดยที่ “หัวหน้าครอบครัวคนอธรรม” และ “ผู้ติดตาม” ซึ่งหมายถึงชาวเคลเดียจะพ่ายแพ้ (ข้อ 13-14)

m ข้อนี้แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน “ลูกศร” หมายถึง “สายฟ้าแลบ” (ข้อ 4, 11; สดด 29:7; 77:17) สำหรับภาพของพระยาห์เวห์ในฐานะนักรบผู้เป็นนักยิงธนู ดู อสค 5:16; ฉธบ 32:23 คันธนูเป็นสัญลักษณ์ของพละกำลัง (เทียบ ปฐก 49:24; โยบ 29:20)

n “แม่น้ำหลายสาย” อาจหมายถึงน้ำฝนที่ไหลหลากหลังจากฝนตกหนัก (เทียบ วนฉ 5:4; สดด 77:16-18)

o “คลื่น” แปลตามตัวอักษรว่า “มือ” “มหาสมุทร” ในที่นี้หมายถึงน้ำใต้พื้นดินตามความคิดของคนโบราณ

p “ผู้ที่พระองค์ทรงเจิม” ในที่นี้น่าจะหมายถึง “ประชากร” ทั้งหมด (เทียบ อพย 19:6; สดด 28:8) ไม่เพียงแต่ “กษัตริย์” เท่านั้น ครึ่งหลังของข้อนี้แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน

q “จู่โจม...เหมือนพายุ” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน

r “จิตใจของข้าพเจ้าก็ปั่นป่วน” ดูข้อ 2 และ อสย 21:3-4; ยรม 23:9; ดนล 8:18,27; 10:8 ความหวาดกลัวต่อพระเจ้าและความกังวลของประกาศกขณะที่กำลังเฝ้าดูพระยาห์เวห์ทรงสู้รบ และเห็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้น (ข้อ 16-17) ก็มีความยินดีเข้ามาแทนที่เมื่อเห็นว่าพระยาห์เวห์ทรงเข้ามาช่วยเหลือและประทานความมั่นใจให้ (ข้อ 18-19 แต่ดูข้อ 16 ด้วย)

s “ขาของข้าพเจ้าก็อ่อนเปลี้ย” แปลโดยคาดคะเนตามสำนวนแปลภาษากรีก ตอนปลายของข้อนี้มีความหมายไม่ชัดเจน บางคนแปลว่า “เข้าจู่โจมประชาชนที่บุกรุก” หรือ “เมื่อเขาเข้าจู่โจมศัตรูที่บุกรุก”

t แม้ข้อนี้อยู่ในบริบทของการต่อสู้ของบรรดาสิ่งสร้างในธรรมชาติ แต่กลับมากล่าวถึงความขาดแคลนทางการเกษตร อาจเป็นข้อความที่ผู้คัดลอกเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อเป็นบทสอนใจให้มีความหวังในพระยาห์เวห์ แต่ก็อาจต้องการบรรยายถึงผลกระทบของสงครามที่ประชาชนในแคว้นยูดาห์ได้รับจากศัตรูที่เข้ามายึดครองแผ่นดิน

u “บนที่สูง” ตามสำนวนแปลภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ที่สูงของข้าพเจ้า”

v “ใช้เครื่องสายประกอบ” ข้อความที่เป็นคำสั่งแบบนี้มักจะพบได้ตอนต้นของบทเพลงสดุดี

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก