“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

หนังสือประกาศกอาโมส

  1. บทที่ 1
  2. บทที่ 2
  3. บทที่ 3
  4. บทที่ 4
  5. บทที่ 5
  6. บทที่ 6
  7. บทที่ 7
  8. บทที่ 8
  9. บทที่ 9

ชื่อหนังสือ

1 1ถ้อยคำของอาโมส ซึ่งเป็นคนเลี้ยงแกะคนหนึ่งจากเมืองเทโคอาa เขาได้เห็นนิมิตเกี่ยวกับอิสราเอลในรัชสมัยของกษัตริย์อุสซียาห์แห่งยูดาห์ และในรัชสมัยของกษัตริย์เยโรโบอัม พระโอรสของกษัตริย์โยอาชbแห่งอิสราเอล สองปีก่อนแผ่นดินไหวc

อารัมภบท

2เขาพูดว่า

          “พระยาห์เวห์ทรงเปล่งพระสุรเสียงจากศิโยนd

ทรงร้องตะโกนจากกรุงเยรูซาเล็ม

ทุ่งหญ้าของผู้เลี้ยงแกะไว้ทุกข์

และยอดภูเขาคารเมลก็เหี่ยวแห้ง

I. คำพิพากษากล่าวโทษชนชาติใกล้เคียงและอิสราเอลe

 

กล่าวโทษกรุงดามัสกัส

3พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้

“เพราะกรุงดามัสกัสได้ล่วงละเมิดสามครั้งและสี่ครั้งf

เราจะตัดสินลงโทษและจะไม่กลับคำg

เพราะเขาทั้งหลายได้ใช้เลื่อนเหล็กhนวดชาวกิเลอาด

4เราจะส่งไฟมาเผาบ้านของฮาซาเอล

ไฟนั้นจะกินวังป้อมของเบนฮาดัดi

5เราจะหักดาลประตูของกรุงดามัสกัส

จะทำลายผู้อาศัยของเมืองบิกอัทอาเวน

จะทำลายผู้ถือคทาจากเมืองเบธเอเดนj

และประชาชนของอารัมจะถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปที่เมืองคีร์”k

พระยาห์เวห์ตรัส

กล่าวโทษเมืองกาซาและชาวฟีลิสเตีย

6พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้

          “เพราะเมืองกาซาได้ล่วงละเมิดสามครั้งและสี่ครั้ง

                    เราจะตัดสินลงโทษและจะไม่กลับคำ

เพราะเขาได้กวาดต้อนประชาชนทั้งชาติ

ไปเป็นเชลยเพื่อมอบแก่ชาวเอโดม

7เราจะส่งไฟมาเผากำแพงเมืองกาซา

ไฟนั้นจะกินวังป้อมของเมืองนั้น

8เราจะทำลายผู้ปกครองจากเมืองอัชโดด

และทำลายผู้ถือคทาจากเมืองอัชเคโลน

เราจะหันมือมาสู้กับเมืองเอโครนl

ชาวฟีลิสเตียที่เหลืออยู่mจะพินาศ”

พระยาห์เวห์ตรัส

กล่าวโทษเมืองไทระ

9พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้

“เพราะเมืองไทระได้ล่วงละเมิดสามครั้งและสี่ครั้ง

เราจะตัดสินลงโทษและจะไม่กลับคำ

เพราะเขาได้กวาดต้อนประชาชนทั้งชาติ

ไปเป็นเชลยเพื่อมอบแก่ชาวเอโดม

และไม่ได้ระลึกถึงพันธสัญญาว่าจะเป็นพี่น้องกันn

10เราจะส่งไฟมาเผากำแพงเมืองไทระ

ไฟนั้นจะกินวังป้อมของเมืองนั้น”

กล่าวโทษชาวเอโดม

11พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้

“เพราะชาวเอโดมได้ล่วงละเมิดสามครั้งและสี่ครั้ง

เราจะตัดสินลงโทษและจะไม่กลับคำ

เพราะเขาได้ใช้ดาบไล่ตามฆ่าน้องชายoของตน

และสลัดความสงสารทิ้งไป

สุมความโกรธpอยู่ตลอดเวลา

และเก็บความแค้นเคืองไว้เสมอ

12เราจะส่งไฟมาเผาเทมานq

ไฟนั้นจะกินวังป้อมของเมืองโบสราห์

กล่าวโทษชาวอัมโมน

13พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้

“เพราะชาวอัมโมนได้ล่วงละเมิดสามครั้งและสี่ครั้ง

เราจะตัดสินลงโทษและจะไม่กลับคำ

เพราะเขาได้ผ่าท้องหญิงมีครรภ์ในแคว้นกิเลอาด

เพื่อขยายเขตแดนของตน

14เราจะก่อไฟเผากำแพงเมืองรับบาห์r

ไฟจะกินวังป้อมของเมืองนั้น

พร้อมกับเสียงโห่ร้องในวันสงคราม

พร้อมกับลมหมุนในวันที่มีพายุ

15กษัตริย์ของเขาจะทรงถูกจับไปเป็นเชลย

ทั้งพระองค์และบรรดาเจ้านาย”

พระยาห์เวห์ตรัส

 

1 a “คนเลี้ยงแกะ” น่าจะหมายถึงเจ้าของฝูงแกะมากกว่าจะเป็นเพียงผู้รับจ้างดูแลฝูงแกะ (เทียบ 2 พกษ 3:4) **** “เทโคอา” เป็นหมู่บ้านในแคว้นยูดาห์ ราว 8 กม.ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเบธเลเฮม

b กษัตริย์อุสซียาห์แห่งยูดาห์ทรงครองราชย์ในช่วงเวลาปี 781-740 ก่อน ค.ศ. กษัตริย์เยโรโบอัมที่ 2 แห่งอิสราเอลทรงครองราชย์ในช่วงเวลาปี 783-743 ก่อน ค.ศ. นับได้ว่าเป็นบุคคลร่วมสมัยกับประกาศกด้วย

c “สองปีก่อนแผ่นดินไหว” แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจได้รับการยืนยันจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองฮาโซร์ในแคว้นกาลิลีตอนเหนือ ดูเหมือนจะเกิดขึ้นกลางศตวรรษที่ 8 ก่อน ค.ศ. (ราวปี 750) ผลตามมาของแผ่นดินไหวครั้งนี้ (ดู ศคย 14:5 LXX) ทำให้หุบเขาหลายแห่งถูกขวางกั้น การกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไม่เป็นเพียงวิธีบอกเวลาเท่านั้น ผู้เรียบเรียงที่นำข้อสังเกตนี้มากล่าวไว้น่าจะคิดว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นการแสดงพระอานุภาพของพระเจ้าที่รับรองคำประกาศพระวาจาของอาโมส (เทียบ 9:5; สดด 75:3; มคา 1:4)

d ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำจริงของอาโมส หรือเป็นข้อความที่เสริมเข้ามาในภายหลังเพื่อปรับให้คำประกาศพระวาจาเข้ากับสถานการณ์ในแคว้นยูดาห์ (ดู ฮชย 1:7 เชิงอรรถ i) ข้อความตอนนี้ก็ยืนยันว่า แม้ประชากรของพระเจ้าจะแตกแยกเป็นสองอาณาจักร กรุงเยรูซาเล็มที่ประทับของพระยาห์เวห์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชากรของพระเจ้า

e ข้อความตอนนี้รวบรวมคำประกาศพระวาจาที่ประกาศกกล่าวไว้ในโอกาสต่างๆ เป็นการคาดโทษชนเจ็ดชาติ (คำประกาศพระวาจากล่าวโทษยูดาห์อาจถูกเสริมเข้ามาในภายหลัง) โครงสร้างของคำประกาศพระวาจาเหล่านี้เป็นแบบใช้สูตรเดียวเหมือนกันหมด แต่ละตอนย้ำว่าพระยาห์เวห์จะไม่ทรงทิ้งชนชาติเหล่านี้ไว้ให้พ้นโทษ อิสราเอลถูกกล่าวถึงเป็นชาติสุดท้ายเพื่อแสดงว่าการลงโทษที่เขาทั้งหลายไม่เคยคาดไว้เลยนั้นจะมาถึงไม่น้อยกว่าชนชาติอื่น และนี่จะเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดว่าพระเจ้าทรงความยุติธรรม

f “สามครั้งและสี่ครั้ง” จำนวนเลขทั้งสองที่ถูกกล่าวไว้คู่กันหมายถึง “จำนวนไม่จำกัด” จะมากหรือน้อยก็สุดแล้วแต่บริบท (เทียบ 4:8; อสย 17:6; ยรม 36:23) และ “สุภาษิตใช้ตัวเลข” (numerical proverbs) (สภษ 30:15 เชิงอรรถ e)

g “จะไม่กลับคำ” แปลตามตัวอักษรว่า “จะไม่หันกลับ”

h “เลื่อนเหล็ก” เป็นเลื่อนมีน้ำหนัก มีหินคมเป็นฟัน ใช้นวดข้าวในดินแดนทางตะวันออกกลาง ภาพเปรียบเทียบนี้บ่อยๆ ถูกใช้หมายถึงการทำลายล้างผู้พ่ายแพ้ (อสย 21:10; 41:15; มคา 4:12ฯ)

i ฮาซาเอล และ เบนฮาดัดที่ 3 พระโอรส ทรงเป็นกษัตริย์แห่งอารัม (ซีเรีย) ศัตรูถาวรของอิสราเอล (อาณาจักรเหนือ)

j “บิกอัทอาเวน” (แปลว่า “หุบเขาความผิด”) และ “เบธเอเดน” (แปลว่า “บ้านแห่งความสุข”) ไม่ทราบว่าเป็นเมืองอะไร อยู่ที่ไหน อาจเป็นชื่อสัญลักษณ์ของกรุงดามัสกัส

k “ไปที่เมืองคีร์” หมายถึงการกลับไปยังสถานที่ต้นกำเนิดของตน ตาม 9:7 – ตาม 2 พกษ 16:9 คำประกาศพระวาจานี้เป็นจริง เป็นผลการยกทัพของกษัตริย์ทิกลัทปิเลเสอร์ที่ 3 ในปี 733-732 ก่อน ค.ศ. “เมืองคีร์” บางทีอาจอยู่ที่ใดที่หนึ่งใกล้แคว้นเอลาม (อสย 22:6)

l เมืองกัท เมืองที่ห้าของชาวฟีลิสเตีย ไม่ถูกกล่าวถึงที่นี่ เมืองนี้ถูกกษัตริย์ฮาซาเอลทำลายลงแล้ว (2 พกษ 12:18; เทียบ อมส 6:2)

m “ผู้ที่เหลืออยู่” (the ramnant) เป็นคำที่ต่อมาได้รับความหมายเด่นชัดทางเทววิทยา (ดู อสย 4:3 เชิงอรรถ c) แต่ที่นี่คำนี้ถูกใช้ในความหมายตรงตัว คือหมายถึงผู้ที่รอดชีวิตเหลืออยู่จากหมู่ชนที่ถูกเคราะห์ร้ายทำลายชีวิต

n “พันธสัญญาว่าจะเป็นพี่น้อง” วลีนี้ชวนให้คิดว่าผู้รับเคราะห์จากการค้าทาสคือชาวอิสราเอลที่ถูกจับในการทำสงครามของกษัตริย์ฮาซาเอล และเบนฮาดัดที่ 3 แม้ว่าเมืองไทระและอิสราเอลจะมีความสัมพันธ์อย่างเป็นมิตรมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์ซาโลมอน (1 พกษ 5; 9:11-14) และความสัมพันธ์นี้ยิ่งมั่นคงขึ้นโดยการอภิเษกสมรสของกษัตริย์อาคับกับพระนางเยเซเบล (1 พกษ 16:31) พระธิดาของเอทบาอัล กษัตริย์แห่งเมืองไทระและไซดอน

o อิสราเอลเป็น “น้องชาย” ของเอโดม (ปฐก 25:21-24, 29-30)

p “สุมความโกรธ” ตามต้นฉบับภาษาซีเรียค ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ความโกรธของเราฉีก”

q “เทมาน” เป็นชื่อทางกวีของเอโดม (ดู ยรม 49:7, 20; อบด ข้อ 9)

r “เมืองรับบาห์” เป็นราชธานีของแคว้นอัมโมน ปัจจุบันนี้คือกรุงอัมมาน (ดู 2 ซมอ 11-12)

กล่าวโทษชาวโมอับ

2 1พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้

“เพราะชาวโมอับได้ล่วงละเมิดสามครั้งและสี่ครั้ง

เราจะตัดสินลงโทษและจะไม่กลับคำ

เพราะเขาได้เผาพระอัฐิaของกษัตริย์แห่งเอโดมให้เป็นปูนขาว

2เราจะส่งไฟมาเผาโมอับ

ไฟนั้นจะกินวังป้อมของเมืองเคริโอท

ชาวโมอับจะตายในเสียงอื้ออึง

เสียงโห่ร้องออกศึกและเสียงแตรเขาสัตว์

3เราจะฆ่าผู้ครองแคว้นโมอับ

และจะฆ่าเจ้านายทุกคนพร้อมกับเขา”

พระยาห์เวห์ตรัสb

กล่าวโทษชาวยูดาห์c

4พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้

“เพราะชาวยูดาห์ได้ล่วงละเมิดสามครั้งและสี่ครั้ง

เราจะตัดสินลงโทษและจะไม่กลับคำ

เพราะเขาไม่ยอมรับธรรมบัญญัติของพระยาห์เวห์

ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของพระองค์

บรรดารูปเคารพdทำให้เขาหลงทาง

บรรพบุรุษของเขาเคยติดตามรูปเคารพเหล่านี้มาแล้ว

5เราจะส่งไฟมาเผายูดาห์

ไฟนั้นจะกินวังป้อมของกรุงเยรูซาเล็ม”

กล่าวโทษชาวอิสราเอลe

6พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้

“เพราะชาวอิสราเอลได้ล่วงละเมิดสามครั้งและสี่ครั้ง

เราจะตัดสินลงโทษและจะไม่กลับคำ

เพราะเขาได้ขายผู้ชอบธรรมเพื่อเงิน

ขายคนขัดสนเพื่อรองเท้าแตะคู่เดียวf

7เขาทั้งหลายได้เหยียบย่ำศีรษะของคนยากจนลงไปในฝุ่นของแผ่นดินg

ทำให้หนทางของผู้ต่ำต้อยต้องหันเหไป

บุตรและบิดาเข้าหาหญิงสาวคนเดียวกันh

เป็นการลบหลู่นามศักดิ์สิทธิ์ของเรา

8เขาใช้เสื้อผ้าที่ยึดเป็นประกันมาปูนอนอยู่ข้างพระแท่นบูชาทุกแท่น

เขาดื่มเหล้าองุ่นที่เป็นค่าปรับจากประชาชน

ในบ้านพระเจ้าของตนi

9เราเองได้ทำลายชนเผ่าอาโมไรต์ต่อหน้าเขา

แม้ชาวอาโมไรต์มีร่างสูงเหมือนต้นสนสีดาร์

และแข็งแรงเหมือนต้นโอ๊ก

เราได้ทำลายผลของเขาจากเบื้องบน

และทำลายรากของเขาจากเบื้องล่างj

10เราได้ให้ท่านทั้งหลายขึ้นมาจากแผ่นดินอียิปต์

นำทางท่านในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบปี

เพื่อท่านจะได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของชนเผ่าอาโมไรต์

11เราได้ตั้งบุตรชายบางคนของท่านให้เป็นประกาศก

และตั้งชายหนุ่มบางคนของท่านให้เป็นนาศีร์

ชาวอิสราเอลเอ๋ย เราไม่ได้ทำเช่นนี้หรือ”

พระยาห์เวห์ตรัส

12“แต่ท่านทั้งหลายบังคับให้นาศีร์ดื่มเหล้าองุ่น

สั่งบรรดาประกาศกว่า ‘อย่าประกาศพระวาจา’k

13เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะกดท่านลงในที่ที่ท่านอยู่

เหมือนเกวียนที่บรรทุกฟ่อนข้าวอัดแน่นจมลงในดิน

14แม้ผู้วิ่งเร็วก็จะหนีไม่ทัน

คนแข็งแรงจะใช้กำลังของตนก็ไม่ได้

ทหารชำนาญศึกจะช่วยชีวิตของตนให้รอดพ้นก็ไม่ได้

15ผู้ยิงธนูจะยืนหยัดอยู่ไม่ได้

ผู้มีฝีเท้าเร็วช่วยตนเองไม่ได้

ผู้ขี่ม้าก็ช่วยชีวิตตนเองไม่ได้

16ในวันนั้นแม้แต่นักรบกล้าหาญที่สุด

ก็จะทิ้งอาวุธหนีไป”

พระยาห์เวห์ตรัส

 

2 a การเผาศพจนกระดูกเป็นเถ้าถ่านทำให้ผู้ตายไม่มีโอกาสได้รับความสุขในชีวิตหน้าได้ ชาวเซมิติกจึงถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดน่ารังเกียจ

b พระยาห์เวห์ทรงตำหนิโมอับถึงความประพฤติต่อคนต่างศาสนา อิสราเอลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำความผิดนี้ เราอาจอนุมานได้ว่าในคำประกาศพระวาจาอื่นๆ กิจกรรมที่เป็นความผิดถูกตัดสินว่าเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เพราะอิสราเอลเป็นผู้รับเคราะห์ สำหรับอาโมส กฎทางศีลธรรมมีผลใช้บังคับมนุษย์ทุกคน

c คำประกาศพระวาจาตอนนี้ในรูปแบบของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ อาจเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาในแคว้นยูดาห์ (ดู ฮชย 1:7 เชิงอรรถ i) นักวิชาการหลายคนคิดว่าคำประกาศพระวาจากล่าวโทษเมืองไทระและเอโดมก็เป็นข้อความที่เสริมเข้ามาในภายหลังเช่นเดียวกัน

d “บรรดารูปเคารพ” ตามตัวอักษรว่า “การมุสา”

e การกล่าวโทษชนต่างชาติเป็นองค์ประกอบตามปกติในการเทศน์สอนของบรรดาประกาศก (อสย 13-23; ยรม 46-51; อสค 25-32) การที่อาโมสรวมอิสราเอลเข้าไปอยู่กับบรรดาผู้นับถือรูปเคารพเหล่านี้ต้องทำให้ผู้ฟังประหลาดใจและโกรธเคืองอย่างมาก

f “เพื่อรองเท้าแตะคู่เดียว” บรรดาประกาศกประท้วงการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมอยู่บ่อยๆ (5:7; 6:12; อสย 1:23; มคา 3:1-3, 9-11; 7:1-3)

g “เหยียบย่ำ” แปลโดยคาดคะเน **** ก่อนคำว่า “ศีรษะ” ในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีคำว่า “กับ” ซึ่งเราไม่ได้แปล “ลงไปในฝุ่นของแผ่นดิน” บางทีอาจเป็นวลีที่ถูกเสริมเข้ามา ข้อความของบรรทัดนี้ไม่ชัดเจน **** เกี่ยวกับเรื่อง “ความโลภของผู้มีอำนาจ” ซึ่งเป็นความคิดหลักอีกเรื่องหนึ่งของบรรดาประกาศก ดู 8:5-6; อสย 1:17, 23; 3:14; ยรม 2:34; อสค 22:29; มคา 2:1-2, 8-11; 3:9-11; 6:9-12; ศฟย 1:9

h การกระทำนี้ไม่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์กับโสเภณีตามสักการสถานของชาวคานาอัน แต่หมายถึงการเข้าหาสาวใช้ซึ่งมักเป็นวัตถุระงับความใคร่ทั้งของบิดาและบุตร การกระทำเช่นนี้ถูกประณามในด้านเพศสัมพันธ์กับญาติใกล้ชิด (incest) น้อยกว่าในด้านที่เป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ การเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นการดูถูกล่วงเกินพระเจ้า

i การดื่มเช่นนี้หมายถึงการดื่มในการเลี้ยงศักดิ์สิทธิ์หลังจากพิธีถวายบูชา **** “พระเจ้าของตน” หมายถึงพระยาห์เวห์แน่ๆ แต่เขาทำให้พระองค์ต้องถูกลดเกียรติลงมาในระดับเดียวกับรูปเคารพ โดยใช้สิ่งของที่แย่งจากคนโชคร้ายมาทำการฉลองถวายเกียรติพระองค์ การแย่งชิงสิ่งของเหล่านี้มาดูเหมือนว่าใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นโดยการปรับหรือโดยการยึดทรัพย์ในกรณีล้มละลาย (ลูกหนี้ไม่มีเงินใช้หนี้) (เทียบ บสร 34:20) เสื้อผ้าที่ยึดมาเป็นของประกันจากคนยากจนต้องถูกคืนให้เจ้าของก่อนตะวันตกดิน (ฉธบ 24:12-13)

j เป็นการเปรียบเทียบถึงการทำลายล้างโดยสิ้นเชิง

k ตลอดพระดำรัสของพระยาห์เวห์ตอนนี้ ความประพฤติของชาวอิสราเอลถูกกล่าวโทษไม่ใช่เพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่โดยเฉพาะยังเพราะเป็นการจงใจต่อต้านความเอาพระทัยใส่ที่พระเจ้าทรงมีต่อเขาในฐานะที่เป็นประชากรที่ทรงเลือกสรร

II. พระเจ้าทรงเตือนและคาดโทษอิสราเอล

 

พระเจ้าทรงเลือกสรรและทรงลงโทษ

3 1ชาวอิสราเอลเอ๋ย จงฟังพระวาจานี้ที่พระยาห์เวห์ตรัสคาดโทษท่านทั้งหลาย และคาดโทษชนทั้งเผ่าที่เราได้นำขึ้นมาจากแผ่นดินอียิปต์aว่า

          2“ในบรรดาชนเผ่าทั้งหลายบนแผ่นดิน เราได้เลือกbท่านเท่านั้น

เราจึงจะลงโทษท่านเพราะความผิดทั้งหมดของท่าน”

ประกาศกไม่อาจต่อต้านเมื่อพระเจ้าทรงเรียกc

          3“คนสองคนจะเดินไปด้วยกันได้หรือ

ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อนd

4สิงโตจะคำรามในป่าได้หรือ

ถ้าไม่มีเหยื่อ

สิงห์หนุ่มจะร้องออกมาจากถ้ำหรือ

ถ้าจับอะไรไม่ได้

5นกจะลงมาติดกับบนพื้นดินได้หรือ

ถ้าไม่มีผู้ใดวางกับดักeไว้

ถ้าไม่มีอะไรเข้าไปติด

กับจะลั่นขึ้นจากพื้นดินได้หรือ

6ถ้ามีเสียงเป่าแตรเขาสัตว์ในเมือง

ประชาชนจะไม่ตกใจกลัวหรือ

หายนะจะตกกับเมืองหนึ่งได้หรือ

ถ้าพระยาห์เวห์ไม่ทรงกระทำให้เกิดขึ้น”

7“ใช่แล้ว พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงกระทำสิ่งใด

ถ้าไม่ทรงเปิดเผยความลับแก่บรรดาประกาศกผู้รับใช้พระองค์f

8สิงโตคำรามแล้ว ผู้ใดจะไม่กลัวบ้าง

พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแล้ว ผู้ใดจะไม่ประกาศพระวาจา”

กรุงสะมาเรียจะพินาศเพราะความเลวทราม

            9จงประกาศบนป้อมปราการแห่งอัสซีเรียg

จงประกาศบนป้อมปราการในแผ่นดินอียิปต์

และจงพูดว่า “จงชุมนุมกันบนภูเขาสะมาเรีย

จงดูความวุ่นวายมากมายในเมืองนั้น

และการกดขี่ทั้งหลายที่นั่น”

10“เขาทั้งหลายไม่รู้จักปฏิบัติอย่างถูกต้อง

พระยาห์เวห์ตรัส

เขาสะสมความรุนแรงและการฉกชิงไว้ในป้อมปราการของตน”

11พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้ว่า

“คู่อริจะมาล้อมแผ่นดินhไว้

จะทำลายกำลังของท่าน

และจะปล้นป้อมปราการของท่าน”

12พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้

“ผู้เลี้ยงแกะแย่งขาสองขาหรือหูสองหู

จากปากสิงโตมาได้ฉันใดi

ชาวอิสราเอลที่นอนเอกเขนกอยู่บนเตียง

หรือห่มผ้าแพรอยู่บนที่นอนjในกรุงสะมาเรีย

จะรอดชีวิตได้ฉันนั้น”

กล่าวโทษเมืองเบธเอล

            13“จงฟังและจงเป็นพยานกล่าวโทษพงศ์พันธุ์ยาโคบเถิด

                    พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าจอมจักรวาลตรัสว่า

          14ในวันที่เราลงโทษเพราะการล่วงละเมิดต่างๆ

เราจะลงโทษแท่นบูชาทั้งหลายที่เมืองเบธเอลk

เชิงงอนของแท่นบูชาเหล่านั้นจะถูกตัดออกไป

และจะตกบนพื้น

15เราจะรื้อบ้านพักฤดูหนาวพร้อมกับบ้านพักฤดูร้อน

บ้านงาช้างlจะถูกทำลาย

และบ้านใหญ่โตจำนวนมากจะสูญหายไป”

พระยาห์เวห์ตรัส

 

3 a ในส่วนหลังของข้อนี้ ดูเหมือนว่าประกาศกกำลังพูดกับอิสราเอลทั้ง 12 เผ่า ข้อความนี้อาจเป็นการที่เผ่ายูดาห์ปรับให้คำสอนของประกาศกอาโมสเข้ากับเผ่ายูดาห์ได้ด้วย เมื่ออาณาจักรเหนือได้ถูกทำลายลงแล้ว (ดู 2:4ฯ)

b “เลือก” ตามตัวอักษรว่า “รู้จัก” ซึ่งในความหมายของพระคัมภีร์ยังหมายถึง “เลือกสรร” หรือ “รัก” ด้วย (ปฐก 18:19; ฉธบ 9:24; ปชญ 10:5; ยรม 1:5; ฮชย 13:4) อาโมสเห็นว่าการที่อิสราเอลได้รับเลือกสรรไม่ใช่เป็นอภิสิทธิ์ (9:7 เชิงอรรถ g) แต่เป็นความรับผิดชอบซึ่งประชากรจะต้องแสดงให้เห็นโดยปฏิบัติตนด้วยความถูกต้องอย่างซื่อสัตย์

c ในข้อความตอนนี้ ประกาศกให้เหตุผลว่าทำไมตนจึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับประชากร ไม่มีผลใดเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสาเหตุ (ข้อ 3-5ข) หรือไม่มีสาเหตุถ้าไม่มีผล (ข้อ 5ค-6, 8ก) ถ้าประกาศกทำหน้าที่ของตนก็เป็นเพราะว่าพระยาห์เวห์ได้ตรัส ถ้าพระยาห์เวห์ตรัส ประกาศกก็ต้องประกาศพระวาจานั้น (ข้อ 7-8ข) ภาพเปรียบเทียบที่เลือกบอกให้รู้ว่าเป็นการแจ้งถึงหายนะที่จะมาถึง

d “ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน” หรือ “ไม่ได้พบกัน” ต้นฉบับภาษากรีกว่า “ไม่ได้รู้จักกัน”

e “กับดัก” หรือ “เหยื่อ” หรือ “สายสลิง” (ที่ใช้ยิงกระสุน)

f ข้อนี้อาจเป็นข้อความร้อยแก้วที่ผู้คัดลอกเสริมเข้ามา

g “อัสซีเรีย” ตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “อัชโดด” อัสซีเรียและอียิปต์ (ในบรรทัดต่อมา) เป็นศัตรูสำคัญของอิสราเอล ถูกเรียกให้มาเป็นพยานยืนยันถึงความผิดของอิสราเอล เช่นเดียวกับที่สวรรค์และแผ่นดินถูกเรียกใน อสย 1:2 (เทียบ ฉธบ 30:19)

h “ล้อมแผ่นดินไว้” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “โดยรอบ” **** แม้จะไม่มีการบอกเจาะจงลงไป เราก็รู้ว่าศัตรูนี้คืออัสซีเรีย ซึ่งคำประกาศพระวาจาเกือบทั้งหมดของอาโมสพูดถึง

i คนเลี้ยงแกะจะพ้นความผิดที่แกะสูญหายไป ถ้าเขานำเศษร่างที่ถูกสัตว์ร้ายกัดกินมายืนยันได้ แทนที่อาโมสจะทำนายว่าจะมีชาวอิสราเอลรอดชีวิตเหลืออยู่ เขากลับบอกว่าจะไม่มีอะไรเหลือรอดนอกจากเศษซากสัตว์ที่แสดงความบริสุทธิ์ของคนเลี้ยงแกะ ซึ่งได้แก่พระยาห์เวห์และประกาศก (ดู อพย 22:12)

j “ห่มผ้าแพรอยู่บนที่นอน” ตามตัวอักษรว่า “บนดามัสกัสของที่นอน” คำ “ดามัสกัส” อาจหมายถึงผ้าหรูหรา คำภาษาอังกฤษ “damask” ซึ่งมีรากมาจากคำ “ดามัสกัส” ยังใช้มาจนทุกวันนี้

k เรื่อง “เมืองเบธเอล” ดู 4:4 เชิงอรรถ c

l “บ้านงาช้าง” หมายถึงบ้านที่มีเครื่องใช้หรือฝาผนังใช้งาช้างฝังเป็นลวดลาย เครื่องประดับเช่นนี้พบได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่กรุงสะมาเรีย

กล่าวโทษสตรีชาวกรุงสะมาเรีย

4 1“สตรีชาวสะมาเรียทั้งหลายที่อ้วนเหมือนแม่โคแห่งแคว้นบาชานaเอ๋ย

จงฟังถ้อยคำนี้เถิด

ท่านทั้งหลายข่มเหงคนยากจน กดขี่คนขัดสน

พูดกับสามีว่า ‘นำอะไรมาดื่มกันบ้างซิคะ’

2พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ สาบานว่า

‘ดูซิ วันเวลาจะมาถึง

เมื่อท่านทั้งหลายจะถูกขอเกี่ยวลากไปเป็นเชลย

ส่วนคนที่เหลืออยู่จะถูกเบ็ดเกี่ยวลากไปด้วย

3ท่านทั้งหลายแต่ละคนจะออกไปตามช่องกำแพงเมือง

และจะถูกกวาดต้อนไปยังภูเขาเฮอร์โมน’”b

พระยาห์เวห์ตรัส

อิสราเอลถูกลงโทษเพราะความดื้อรั้น

            4“จงไปที่เมืองเบธเอลและจงทำบาปเถิด

จงไปที่เมืองกิลกาลและจงทำบาปมากยิ่งขึ้นอีกc

ทุกเช้าจงถวายเครื่องบูชา

ทุกสามวันdจงถวายหนึ่งในสิบของผลิตผลของท่าน

5จงเผาขนมปังใส่เชื้อเป็นเครื่องบูชาขอบพระคุณ

จงประกาศการถวายบูชาด้วยใจสมัครของท่านให้ทุกคนได้ยิน

ชาวอิสราเอลเอ๋ย เพราะท่านชอบทำเช่นนี้”e

พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส

6f“ทั่วทุกเมือง เราไม่ให้ท่านมีอาหารกินg

ทั่วทุกสถานที่ของท่านขาดแคลนอาหาร

ถึงกระนั้น ท่านทั้งหลายก็ยังไม่กลับมาหาเรา”

พระยาห์เวห์ตรัส

7“เรายังยับยั้งฝนจากท่านด้วย

สามเดือนก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยว

เราให้ฝนตกในเมืองหนึ่ง

ไม่ให้ตกในอีกเมืองหนึ่ง

นาแปลงหนึ่งมีฝนตก

นาอีกแปลงหนึ่งที่ไม่มีฝนก็แห้งผาก

8ชาวเมืองสองเมืองสามเมืองเดินโซเซ

ไปยังอีกเมืองหนึ่งเพื่อหาน้ำดื่ม

แต่ไม่มีน้ำพอดับกระหาย

ถึงกระนั้น ท่านทั้งหลายก็ยังไม่กลับมาหาเรา”

พระยาห์เวห์ตรัส

9“เราทำให้พืชผลของท่านขึ้นราและเหี่ยวแห้งตาย

ทำให้สวนผลไม้และสวนองุ่นของท่านเหี่ยวแห้งh

ตั๊กแตนกินต้นมะเดื่อเทศและต้นมะกอกเทศของท่าน

ถึงกระนั้น ท่านทั้งหลายก็ยังไม่กลับมาหาเรา”

พระยาห์เวห์ตรัส

10“เราส่งโรคระบาดมาให้ท่านเหมือนที่เคยเกิดในอียิปต์

เราใช้ดาบฆ่าบรรดาชายหนุ่มของท่าน

และให้ม้าของท่านถูกจับ

เราทำให้กลิ่นเหม็นเน่าจากค่ายขึ้นไปเข้าจมูกของท่าน

ถึงกระนั้น ท่านทั้งหลายก็ยังไม่กลับมาหาเรา”

พระยาห์เวห์ตรัส

11“เราพลิกท่านให้คว่ำเหมือนพระเจ้าทรงเคยคว่ำเมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์i

ท่านทั้งหลายเป็นเหมือนดุ้นฟืนที่ถูกดึงออกมาจากกองไฟ

ถึงกระนั้น ท่านทั้งหลายก็ยังไม่กลับมาหาเรา”

พระยาห์เวห์ตรัส

12“เพราะเหตุนี้ อิสราเอลเอ๋ย เราจะทำกับท่านเช่นนี้

อิสราเอลเอ๋ย จงเตรียมตัวไปพบพระเจ้าของท่านเถิดj

เพราะเราจะทำกับท่านเช่นนี้”

บทถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าk

          13ดูซิ พระองค์ผู้ทรงปั้นภูเขาและสร้างลมพายุ

พระองค์ผู้ทรงเปิดเผยพระดำริแก่มนุษย์l

พระองค์ผู้ทรงสร้างแสงอรุณและความมืดm

ทรงดำเนินบนที่สูงของแผ่นดินn

พระนามของพระองค์คือพระยาห์เวห์พระเจ้าจอมจักรวาล

 

4 a แคว้นบาชานทางตะวันออกของทะเลสาบกาลิลีเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่มีชื่ออุดมสมบูรณ์ ใน สดด 22:12 “โคเพศผู้แห่งแคว้นบาชาน” เป็นสัญลักษณ์หมายถึงอำนาจศัตรูที่น่ากลัว ที่นี่ “แม่โค” เป็นสัญลักษณ์หมายถึงบรรดาสตรีชาวกรุงสะมาเรียที่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา

b “ถูกกวาดต้อน” ตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “กวาดต้อน” **** “ไปยังภูเขาเฮอร์โมน” นั่นคือ “ไปยังอัสซีเรีย” (ซึ่งอยู่เลยภูเขาเฮอร์โมนไปอีก)

c การทำบาปไม่หมายถึงเฉพาะการไปร่วมศาสนพิธีของชาวคานาอันตามสักการสถานบนที่สูงเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การจงใจไม่เชื่อฟังพระเจ้า ขณะที่แสดงความศรัทธาภายนอกในการประกอบศาสนพิธีต่างๆ ด้วย (5:21 เชิงอรรถ n) **** เกี่ยวกับ “เมืองเบธเอล” ดู ปฐก 12:8; 1 พกษ 12:28–13:10 เกี่ยวกับ “เมืองกิลกาล” ดู ยชว 4:19 เชิงอรรถ b

d ประกาศกประชดประชันโดยกล่าวเกินไปถึงการประกอบศาสนพิธี “ทุกสามวัน” ยังอาจแปลได้อีกว่า “ในวันที่สาม” (หลังจากที่ประชาชนมาถึงสักการสถาน) การถวาย “หนึ่งในสิบ” ของผลผลิตหรือทรัพย์สินที่มี (ฉธบ 14:22 เชิงอรรถ d) เป็นธรรมเนียมทางศาสนามาแต่โบราณ และที่เมืองเบธเอล ธรรมเนียมนี้ดูเหมือนจะย้อนกลับไปได้ถึงสมัยบรรพบุรุษยาโคบ (ปฐก 28:22)

e ประกาศกเน้น การถวายบูชา “ของท่าน” ของถวาย “ของท่าน” ซึ่งทำให้ “ท่าน” พอใจ “รักจะทำเช่นนี้” เพื่อชี้ให้เห็นว่าประชาชนที่เดินทางมายังสักการสถานสนใจทำตามใจชอบมากกว่าต้องการจะถวายเกียรติแด่พระเจ้า

f ข้อความต่อไป ข้อ 6-12 เป็นคำประพันธ์สั้นๆ ที่มีบทรับ แสดงให้เห็นบทสอนที่พระเจ้าทรงปรารถนาให้ประชากรได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับบิดาที่ลงโทษบุตร (ฉธบ 8:5 เชิงอรรถ a) พระเจ้าก็ทรงปรารถนาที่จะนำประชากรกลับมาหาพระองค์ (ที่นี่มีการกล่าวถึงการทรงใช้ไม้เรียวตีสอน 7 ครั้ง โดยเรียงลำดับจากเบาไปหาหนัก ข้อ 6-11; ลนต 26:14-39; ฉธบ 28:15-68) แต่ทุกอย่างไร้ประโยชน์ (อสย 9:12; 42:25; ยรม 2:30; 5:3; ฮชย 7:10; ศฟย 3:2, 7; ฮกก 2:17; เทียบ อพย 7-11; วว 9:20-21; 16:9-11) อิสราเอลยังแข็งกระด้างในบาป และพระเจ้ากำลังจะทรงลงโทษ

g “ไม่ให้ท่านมีอาหารกิน” แปลตามตัวอักษรว่า “ให้ฟันสะอาดแก่ท่าน” เป็นผลมาจากการขาดแคลนอาหาร

h “ทำให้...เหี่ยวแห้ง” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ทำให้มีมากขึ้น”

i ข้อความนี้อาจกล่าวพาดพิงถึงแผ่นดินไหว (ดู 1:1) ซึ่งมีผลต่อส่วนหนึ่งของแผ่นดิน

j “จงเตรียมตัวไปพบพระเจ้าของท่าน” เป็นคำที่เป็นปริศนากล่าวถึงการลงโทษในวาระสุดท้าย ประโยค “เพราะเราจะทำกับท่านเช่นนี้” อาจเป็นข้อความที่ผู้คัดลอกเสริมเข้ามา

k ข้อความตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเพลงสรรเสริญ (เทียบ 5:8-9; 9:5-6) ที่ถูกเสริมเข้ามาในภายหลัง บางทีเพื่อใช้ในพิธีกรรม ในบริบทปัจจุบัน ข้อความนี้ทำให้คำคาดโทษน่าประทับใจยิ่งขึ้นโดยเน้นพระอานุภาพของพระเจ้าเหนือทุกสิ่ง และดังนี้เหนือทุกชีวิตด้วย

l “เปิดเผยพระดำริแก่มนุษย์” ยังแปลได้อีกว่า “เปิดเผยความคิดของมนุษย์” (เทียบ 2 พกษ 5:25-26; สดด 94:11; ยรม 11:20)

m “ทรงสร้างแสงอรุณและความมืด” แปลตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ทำให้แสงอรุณเป็นความมืด” ซึ่งอาจเป็นการกล่าวพาดพิงถึงสุริยคราส หรือเมฆหมอกพายุในยามเช้า

n อาจเป็นการกล่าวพาดพิงถึงพายุ (สดด 18:7-15) หรือน่าจะเป็นไปได้มากกว่า เป็นข้อความสัญลักษณ์หมายถึงพระอานุภาพของพระเจ้า (ฉธบ 32:13; โยบ 9:8; สดด 18:33; อสย 58:14; มคา 1:3-6)

บทเพลงคร่ำครวญถึงอิสราเอล

5 1พงศ์พันธุ์อิสราเอลเอ๋ย จงฟังถ้อยคำนี้

ซึ่งเราร้องเป็นเพลงคร่ำครวญถึงท่าน

2“พรหมจารีอิสราเอลaล้มลง และจะไม่ลุกขึ้นอีก

จะถูกทอดทิ้งให้นอนอยู่บนพื้นดิน

จะไม่มีผู้ใดพยุงเธอให้ลุกขึ้นอีก”

3เพราะพระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้

“เมืองที่ส่งคนหนึ่งพันคนออกไปทำสงคราม b

จะมีคนเหลือกลับมาเพียงหนึ่งร้อยคน

เมืองที่ส่งคนออกไปหนึ่งร้อยคน

จะเหลือกลับมาเพียงสิบคนสำหรับพงศ์พันธุ์อิสราเอล”

คำเชิญชวนให้กลับใจ

            4เพราะพระยาห์เวห์ตรัสแก่พงศ์พันธุ์อิสราเอลดังนี้

“จงแสวงหาเราและท่านจะมีชีวิตc

5อย่าแสวงหาเราที่เมืองเบธเอล

อย่าเข้าไปในเมืองกิลกาล

อย่าไปที่เมืองเบเออร์เชบาd

เพราะเมืองกิลกาลจะตกเป็นเชลยอย่างแน่นอน

และเมืองเบธเอลก็จะสูญไป”e

6จงแสวงหาพระยาห์เวห์และท่านจะมีชีวิต

มิฉะนั้นพระองค์จะทรงจู่โจมพงศ์พันธุ์โยเซฟเหมือนไฟ

ไฟจะเผาผลาญ และจะไม่มีผู้ใดดับไฟให้เบธเอลได้

7เขาทั้งหลายเปลี่ยนความยุติธรรมเป็นบอระเพ็ด

โยนความชอบธรรมลงบนพื้นดินf

บทถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

            8พระองค์ผู้ทรงสร้างกลุ่มดาวลูกไก่และดาวไถ

ผู้ทรงเปลี่ยนความมืดทึบให้เป็นรุ่งเช้า

ทรงทำให้กลางวันมืดเป็นกลางคืน

ผู้ทรงเรียกน้ำของทะเล

และเทลงบนพื้นดินg

พระนามของพระองค์คือพระยาห์เวห์

9พระองค์ทรงทำลายผู้แข็งแรง

ความพินาศจึงลงมาเหนือป้อมปราการh

คำคาดโทษ

            10เขาทั้งหลายเกลียดผู้ตักเตือนที่ประตูเมือง

รังเกียจผู้พูดความจริง

11เพราะท่านทั้งหลายได้เหยียบย่ำคนยากจน

รีดไถข้าวสาลีส่วนหนึ่งไปจากเขา

แม้ท่านได้สร้างบ้านด้วยหินสกัด

ท่านก็จะไม่ได้อยู่ในบ้านนั้น

แม้ท่านได้ปลูกสวนองุ่นที่งามดี

ท่านก็จะไม่ได้ดื่มเหล้าองุ่นจากสวนนั้น

12เพราะเรารู้ว่าการล่วงละเมิดของท่านมีมากมาย

บาปของท่านก็หนักหนาสาหัส

ท่านทั้งหลายเบียดเบียนผู้ชอบธรรม รับสินบน

และขับไล่คนขัดสนออกจากศาลที่ประตูเมือง

13ดังนั้น เวลานี้ ผู้รอบคอบจะนิ่ง

เพราะเป็นเวลาเลวร้ายi

คำตักเตือน

            14จงแสวงหาความดี อย่าแสวงหาความชั่ว

แล้วท่านจะมีชีวิต

พระยาห์เวห์จอมจักรวาลจะสถิตกับท่านดังที่ท่านอ้างj

15จงเกลียดชังความชั่ว จงรักความดี

จงตั้งความยุติธรรมไว้ที่ประตูเมือง

บางทีพระยาห์เวห์จอมจักรวาล

จะทรงสงสารพงศ์พันธุ์โยเซฟที่เหลืออยู่k

การลงโทษกำลังจะมาถึง

            16ดังนั้น พระยาห์เวห์พระเจ้าจอมจักรวาล องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงตรัสดังนี้

“จะมีการร่ำไห้คร่ำครวญตามลานสาธารณะ

ตามถนนทุกสายจะมีผู้พูดว่า ‘อนิจจาเอ๋ย อนิจจาเอ๋ย’

เขาจะเรียกชาวนาให้ไว้ทุกข์

เรียกผู้ชำนาญการไว้ทุกข์lมาร้องคร่ำครวญ

17ในสวนองุ่นทุกสวนจะมีการร่ำไห้

เพราะเราจะผ่านไปในหมู่ท่าน”

พระยาห์เวห์ตรัส

วันของพระยาห์เวห์

            18วิบัติจงเกิดแก่ผู้ปรารถนาวันของพระยาห์เวห์m

วันของพระยาห์เวห์จะเป็นประโยชน์อะไรสำหรับท่าน

วันนั้นจะเป็นความมืด ไม่ใช่เป็นความสว่าง

19เหมือนคนหนึ่งที่วิ่งหนีสิงโต

แต่มาพบหมี

เขาเข้ามาในบ้าน เอามือเท้าฝาผนัง

งูก็กัดเขา

20วันของพระยาห์เวห์จะเป็นความมืด

ไม่ใช่ความสว่างมิใช่หรือ

จะเป็นความมืดคลุ้ม ไม่มีแสงสว่างเลย

ประณามการปฏิบัติศาสนกิจเพียงภายนอกเท่านั้น

            21“เราเกลียด เรารังเกียจเทศกาลฉลองของท่านn

เราไม่พอใจการประชุมสง่างามของท่าน

22แม้ท่านทั้งหลายถวายเครื่องเผาบูชาo

เราก็ไม่พอใจธัญบูชาของท่าน

เราไม่มองสัตว์อ้วนพีที่ท่านถวายเป็นศานติบูชา

23จงให้เสียงอึกทึกของบทเพลงของท่านอยู่ห่างจากเรา

เราทนฟังเสียงพิณใหญ่pของท่านไม่ได้

24แต่จงให้ความยุติธรรมหลั่งไหลลงเหมือนน้ำ

และให้ความชอบธรรมเป็นเหมือนธารน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้ง

25พงศ์พันธุ์อิสราเอลเอ๋ย ท่านเคยถวายสัตว์และพืชผล

เป็นเครื่องบูชาแก่เราในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบปีหรือq

26แต่บัดนี้ ท่านแบกรูปเทพเจ้าสัคคูท กษัตริย์ของท่าน

และรูปไควัน ดาวที่เป็นเทพเจ้าของท่าน

รูปเคารพทั้งสองที่ท่านได้ทำขึ้นสำหรับตนr

27ดังนั้น เราจะนำท่านไปเป็นเชลย

ไกลออกไปจากกรุงดามัสกัส”s

พระยาห์เวห์ตรัส พระนามของพระองค์คือพระเจ้าจอมจักรวาล

 

5 a “พรหมจารีอิสราเอล” ชาติอิสราเอลถูกเปรียบเทียบกับหญิงสาวที่ต้องสิ้นชีวิตในวัยเยาว์ ก่อนที่จะทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์โดยแต่งงานและให้กำเนิดบุตร (เทียบ วนฉ 11:39)

b “เมือง...ทำสงคราม” แปลตามตัวอักษรว่า “เมืองที่ออกไป” หมายถึงทหารที่ออกไปสู้รบกับศัตรู ข้อความนี้จึงต้องการบอกว่าหายนะจะยิ่งใหญ่ ถ้ายังมีผู้เหลือรอดชีวิต ก็แสดงให้เห็นเจตนาของหายนะ คือเพื่อลงโทษ (ดู 1:8 เชิงอรรถ m; 3:12 เชิงอรรถ i) มากกว่าจะเป็นความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือให้รอดพ้น (ดู อสย 4:3 เชิงอรรถ c) ซึ่งประกาศกไม่ได้คำนึงถึง (ดู อมส 5:2)

c การไปเยี่ยมสักการสถานอาจเรียกได้ว่าเป็นการ “เข้าไปพึ่งพา” หรือ “แสวงหา” พระเจ้า (เทียบ ข้อ 5; ฉธบ 12:5; 2 พศด 1:5) แต่อาโมสยืนยันว่าการแสวงหาพระเจ้าที่แท้จริงนั้นคือ การที่คนหนึ่งแสวงหาความดีและหลีกหนีความชั่ว การทำเช่นนี้เท่านั้นจะช่วยให้เขามีชีวิตรอดได้ (ข้อ 6) ในข้อความอื่นๆ ของพันธสัญญาเดิม ประชาชน “แสวงหา” หรือ “ปรึกษา” พระเจ้า (กริยา darash) โดยทูลถามพระองค์ (ดู 1 ซมอ 14:41 เชิงอรรถ r) ผ่านทาง “คนของพระเจ้า” (ปฐก 25:22; อยพ 18:15; 1 ซมอ 9:9; 1 พกษ 22:8) หรือ “แสวงหาพระวาจา” (1 พกษ 22:5; เทียบ 14:5) ไม่ว่าจะเป็นในหนังสือ (อสย 34:16) หรือโดยมีประกาศกเป็นคนกลาง (1 พกษ 22:7) สำนวนคล้ายๆ กัน (มักใช้กริยา biqqesh) มีความหมายถึงการแสวงหา “พระพักตร์” นั่นคือ “การประทับอยู่” ของพระยาห์เวห์ (2 ซมอ 21:1; 1 พศด 16:11[= สดด 105:4]; สดด 24:6; 27:8; ฮชย 5:15; อพย 33:7 เชิงอรรถ e; ฮชย 3:5; ศฟย 1:6 ฯลฯ) แต่สำนวนทั้งสองเกี่ยวข้องกัน บางคนแสวงหา “พระพักตร์” ของพระยาห์เวห์เพื่อจะรู้พระประสงค์ การประทับอยู่ของพระองค์มักจะแสดงให้เห็นโดยทางการประกาศพระวาจาของประกาศก ในพันธสัญญาเดิม “การแสวงหาพระยาห์เวห์” นี้ เป็นกิจการทางศาสนาที่จำเป็นต้องทำ ในพันธสัญญาใหม่ สำนวนนี้มีความหมายเดียวกับ “แสวงหาพระอาณาจักร” (มธ 6:33)

d เมืองเบเออร์เชบา มีชื่อเสียงในฐานะสักการสถานที่บรรพบุรุษเคยใช้ (ปฐก 21:31-33; 26:23-25)

e การใช้อักษรที่ออกเสียงคล้ายๆ กันเชื่อม “เมืองกิลกาล” กับชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นแก่เมืองนี้ (“จะตกเป็นเชลย” galoh yigeleh) และมีการเล่นคำระหว่างชื่อของเมืองเบธเอล (=บ้านของพระเจ้า) กับ “เบธอาเวน” (=บ้านของ “ความไร้สาระ” หรือของ “ความว่างเปล่า”) “เบธเอล” จึงจะ “สูญ” ไป (เทียบ ฮชย 4:15)

f บางคนคิดว่าน่าจะต้องแก้ไขวลี “เขาทั้งหลายเปลี่ยน...” เป็น “วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่เปลี่ยน...” (เทียบ 5:8 และ 6:1) อย่างไรก็ตาม บทถวายเกียรติในข้อ 8-9 (ซึ่งถูกเสริมเข้ามาในภายหลัง อาจเพื่อใช้ในพิธีกรรม และเป็นส่วนหนึ่งของบทเพลงสรรเสริญเหมือน 4:13 และ 9:5-6) ดูเหมือนจะแยกอย่างไม่สู้จะเหมาะนัก ข้อ 7 จากข้อ 10 ซึ่งแต่เดิมคงต่อเนื่องกัน

g “เท (น้ำ) ลงบนพื้นดิน” อาจเพื่อให้ท่วมแผ่นดิน (โยบ 12:15) ทำให้พื้นโลกกลับไปสู่สภาพเดิมอีก (สดด 104:5-9) หรือเพื่อทำให้พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ (โยบ 36:27-28)

h ตัวบทไม่ชัดเจน แต่ความคิดหลักนั้นชัดเจน คือการทำให้ผู้ทรงอำนาจตกต่ำลง (เทียบ 1 ซมอ 2:4, 7; ลก 1:51-52)

i “ผู้รอบคอบจะนิ่ง...” เพื่อจะได้ไม่ถูกเบียดเบียนจากผู้ปกครองที่ไร้คุณธรรม ข้อนี้อาจถูกเสริมเข้ามาโดยผู้คัดลอก

j เพราะความมั่นใจในตำแหน่งพิเศษเป็นประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร อิสราเอลจึงคิดว่าพระยาห์เวห์จะต้องทรงปกป้องคุ้มครองเขาโดยปราศจากเงื่อนไข (ข้อ 18; 9:10; มคา 3:11)

k “พงศ์พันธุ์โยเซฟที่เหลืออยู่” หมายถึงอาณาจักรเหนือที่พระยาห์เวห์ทรงลงโทษให้ลดจำนวนประชากรลงหลายต่อหลายครั้งแล้ว (4:6-11) และยังจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก (5:3) แม้จะเป็นการประกาศพระวาจาครั้งแรกถึงความคิดเรื่อง “ผู้รอดชีวิตเหลืออยู่” (ดู อสย 4:3 เชิงอรรถ c) ถ้อยคำของอาโมสก็มีลักษณะเป็นการประชดประชัน หรืออย่างน้อยไม่ยอมเชื่อง่ายๆ เกี่ยวกับความคิดทางบวกมากกว่านี้ ดู 9:8-9

l ตัวบทภาษาฮีบรูเรียงลำดับคำสับสนกลับกัน ตามตัวอักษรว่า “เพลงคร่ำครวญมายังผู้ชำนาญการไว้ทุกข์”

m อิสราเอลวางใจในความสัมพันธ์พิเศษที่เขามีกับพระเจ้า (ฉธบ 7:6 เชิงอรรถ b) จึงคิดว่าพระองค์จำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือใน “วันของพระยาห์เวห์” แต่ประกาศกอาโมสนำความคิดของประกาศกอื่นๆ มาตอบโต้ว่า “วันของพระยาห์เวห์” เป็นวันที่พระเจ้าจะทรงลงโทษ (พคค 2:22; อสค 22:24; ศฟย 1:15) อิสราเอลที่ดื้อดึงในบาป วันนั้นเป็นวันของความมืด น้ำตา การฆ่าฟัน ความกลัว (2:13-16; 5:18-20; 8:9-10,13; อสย 2:6-21; ยรม 30:5-7; ศฟย 1:4-18; ดู ยอล 1:15-20; 2:1-11 ด้วย) ข้อความทั้งหมดเหล่านี้มีคำขู่ว่าศัตรูจะมาโจมตี (คือชาวอัสซีเรีย หรือชาวเคลเดีย) ในระหว่างช่วงเวลาการเนรเทศ “วันของพระยาห์เวห์” กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนหวัง การตอบสนองจากพระเจ้าจะกลายเป็นการลงโทษผู้เบียดเบียนข่มเหง (อบด 15) คือ บาบิโลน (อสย 13:6,9; ยรม 50:27; 51:2), อียิปต์ (อสย 19:16; ยรม 46:10, 21; อสค 30:4), ฟีลิสเตีย (ยรม 47:4), เอโดม (อสย 34:6; 63:1) ดังนั้น วันนี้ (=วันของพระยาห์เวห์) จะทำให้อิสราเอลฟื้นตัวขึ้นมาอีก ความหมายนี้ยังพบได้อีกใน 9:11 และใน อสย 11:11; 12:1; 30:26 (ดู ยอล 3:4; 4:1 ด้วย) หลังการเนรเทศ “วันของพระยาห์เวห์” ยิ่งทียิ่งกลายเป็นวัน “การพิพากษา” เป็นประกันชัยชนะของผู้ประพฤติดี และเป็นการทำลายล้างคนบาป (โยบ 21:30; สภษ 11:4; มลค 3:19-23) โดยมีทั้งโลกเป็นเวที (อสย 26:20-27:1; 33:10-16; ดู มธ 24:1 เชิงอรรถ a ด้วย) **** เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของจักรวาลที่เป็นเครื่องหมายของ “วันของพระยาห์เวห์” ดู 8:9 เชิงอรรถ h

n บรรดาประกาศกมักจะกล่าวโจมตีความไม่จริงใจในการปฏิบัติศาสนกิจ และต่อต้านความมั่นใจว่า ถ้าปฏิบัติกิจกรรมภายนอก เช่น การถวายบูชาหรือการจำศีลอดอาหารตามที่กำหนดไว้แล้ว ทุกสิ่งจะดำเนินไปด้วยดี แม้หลักการพื้นฐานเรื่องความยุติธรรมทางสังคมและความรักต่อเพื่อนพี่น้องจะถูกละเลยก็ตาม (1 ซมอ 15:22; อสย 1:10-16; 29:13-14; 58:1-8; ยรม 6:20; ฮชย 6:6; ยอล 2:13; มคา 6:5-8; ศคย 7:4-6; ดู สดด 40:6-8; 50:5-15; 51:16-17) ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีเน้นถึงสภาพจิตใจภายในซึ่งต้องมีอยู่เบื้องหลังการถวายบูชาที่พระเจ้าทรงยอมรับ คือความเชื่อฟัง ความกตัญญูรู้คุณ การเป็นทุกข์เสียใจที่ได้ทำผิด ผู้นิพนธ์หนังสือพงศาวดารก็เช่นเดียวกัน ย้ำถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีถวายบูชา เช่น บทเพลงในพิธีกรรมซึ่งเป็นการแสดงความรู้สึกภายในให้ปรากฏ ผู้เขียนเหล่านี้ทุกคนไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติศาสนกิจเพียงตามรูปแบบภายนอกเท่านั้น พันธสัญญาใหม่จะกล่าวให้เห็นความแตกต่างเช่นนี้อย่างชัดเจน (มธ 7:21; ลก 11:41-42; ยน 4:21-24)

o บรรทัดหนึ่งอาจหายไปที่นี่ หรือมิฉะนั้น ตอนต้นของข้อ 22 อาจเป็นข้อความที่ผู้คัดลอกเสริมเข้ามา แต่อยู่ไม่ครบ

p ศาสนพิธีมักจะมีการขับร้องและเล่นดนตรีควบคู่ไปด้วย (1 ซมอ 10:5; 2 ซมอ 6:5,15)

q ประกาศกอาโมส เช่นเดียวกับประกาศกโฮเชยา (ฮชย 2:16-17; 9:10) และเยเรมีย์ (ยรม 2:2-3) เห็นว่าช่วงเวลาที่ชาวอิสราเอลเดินทางในถิ่นทุรกันดารนั้นเป็นเวลาที่พระยาห์เวห์มีความสัมพันธ์อย่างดีกับประชากรของพระองค์ (ดู ฮชย 2:16 เชิงอรรถ p) สภาพความเป็นอยู่และกฎหมายในรูปแบบง่ายๆ ของชนเผ่าเร่ร่อนไม่เปิดโอกาสให้มีพิธีกรรมที่ซับซ้อน ดังนั้น พระยาห์เวห์น่าจะพอพระทัยกับคารวกิจที่มาจากใจจริง แม้จะเป็นพิธีที่เรียบง่าย

r “สัคคูท” และ “ไควัน” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “สิคคูทกษัตริย์ของท่าน” และ “คียูนรูปเคารพของท่าน ดาวของเทพเจ้าของท่าน” วลีเหล่านี้อาจเป็นข้อความที่เสริมเข้ามาผิดที่ ผู้อาศัยในอาณาจักรจะนำรูปเคารพที่ตนนับถือติดตัวไปในแดนเนรเทศด้วย (เทียบ อสย 46:1; ยรม 48:7; 49:3) สัคคูทและไควันอาจเป็นเทพเจ้าของชาวบาบิโลน เนื่องจากดูเหมือนว่าในศตวรรษที่ 8 ก่อน ค.ศ. ไม่มีหลักฐานว่าชาวอิสราเอลกราบไหว้เทพเจ้าเหล่านี้ นอกจากนั้น เนื่องจากประกาศกอาโมสไม่เคยกล่าวหาผู้ฟังว่าได้กราบไหว้รูปเคารพ ข้อความนี้อาจเป็นข้อความที่ถูกเสริมเข้ามา เป็นการประชดประชัน ทำให้คารวกิจของชาวอิสราเอลร่วมสมัยกับประกาศกอาโมสมีความสัมพันธ์กับคารวกิจของชนต่างชาติที่มาตั้งหลักแหล่ง และสถาปนาขึ้นที่กรุงสะมาเรีย เพื่อแทนที่คารวกิจเหล่านี้ หลังปี 721 ก่อน ค.ศ. (2 พกษ 17:29-31)

s “ไกลออกไปจากกรุงดามัสกัส” คือ ไปยังอัสซีเรีย

ความรู้สึกปลอดภัยของอิสราเอลจะไม่เป็นจริง

6 1วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่มีความสะดวกสบายอยู่ในศิโยนa

และบรรดาผู้ที่รู้สึกปลอดภัยบนภูเขาสะมาเรีย

วิบัติจงเกิดแก่ท่าน คนสำคัญของอิสราเอลซึ่งเป็นเอกในหมู่ชาติทั้งหลาย

ที่พงศ์พันธุ์อิสราเอลไปพบb

2จงผ่านไปที่เมืองคัลเนห์และจงมองดู

จากที่นั่นจงไปยังเมืองคามัทที่ยิ่งใหญ่

แล้วลงไปยังเมืองกัทของชาวฟีลิสเตีย

เมืองเหล่านี้ดีกว่าอาณาจักรยูดาห์และอิสราเอลหรือ

อาณาเขตของเมืองเหล่านี้ใหญ่กว่าอาณาเขตของท่านหรือc

3ท่านคิดจะชะลอวันร้ายให้มาถึงช้าลง

แต่ท่านกลับเร่งให้อาณาจักรแห่งความรุนแรงมาถึงd

4เขาทั้งหลายนอนบนเตียงงาช้าง

เหยียดตัวอยู่บนเก้าอี้ยาว

กินลูกแกะจากฝูงแพะแกะ

กินลูกโคที่ขุนไว้ในคอก

5เขาร้องเพลงไร้สาระeประสานเสียงพิณใหญ่

ประดิษฐ์เครื่องดนตรีใหม่ๆ สำหรับตนเหมือนกษัตริย์ดาวิด

6เขาใช้ชามใหญ่ดื่มเหล้าองุ่น

ใช้น้ำมันอย่างดีชโลมตัว

แต่ไม่เป็นห่วงถึงความพินาศของโยเซฟf

7เขาทั้งหลายจึงจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกจับเป็นเชลย

และงานเลี้ยงอึกทึกของผู้ไม่มีอะไรทำก็จบลง

โรคระบาด แผ่นดินไหว และการถูกศัตรูรุกราน

            8พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสาบานต่อพระองค์เอง

พระยาห์เวห์พระเจ้าจอมจักรวาลตรัสว่า

“เรารังเกียจความหยิ่งยโสของยาโคบ

เราเกลียดวังป้อมของเขา

เราจะมอบเมืองนี้และทุกสิ่งในเมืองแก่ศัตรู

9ถ้าในบ้านหนึ่งมีคนเหลืออยู่สิบคน

เขาจะตาย

10เมื่อญาติของผู้ตายมากับผู้เผาศพg

เพื่อนำกระดูกออกจากบ้าน

เขาจะถามผู้ที่อยู่ในห้องชั้นในสุดของบ้านว่า

“ยังมีใครอยู่กับท่านหรือไม่” เขาจะตอบว่า “ไม่มี”

คนแรกจะพูดว่า “เงียบซิ

เราอ้างพระนามพระยาห์เวห์ไม่ได้”h

11ดูซิ พระยาห์เวห์ทรงบัญชา

ให้ตีบ้านใหญ่เป็นชิ้นๆ

ให้บ้านเล็กแตกเป็นจุณ

12ม้าจะวิ่งบนก้อนหินได้หรือ

จะใช้โคไถทะเลiได้หรือ

แต่ท่านทั้งหลายได้เปลี่ยนความยุติธรรมเป็นยาพิษ

เปลี่ยนผลของความชอบธรรมเป็นบอระเพ็ด

13ท่านทั้งหลายชื่นชมกับ ‘โลเดบาร์’

พูดว่า “เรายึดเมืองคารนาอิมjได้ด้วยกำลังของเรามิใช่หรือ”

14“บัดนี้ ดูเถิด พงศ์พันธุ์อิสราเอลเอ๋ย

พระยาห์เวห์พระเจ้าจอมจักรวาลตรัส

เราจะปลุกชนชาติหนึ่งให้ขึ้นมาต่อสู้กับท่าน

เขาจะเบียดเบียนท่านkตั้งแต่ทางเข้าเมืองคามัท

จนถึงห้วยอาราบาห์”l

 

6 a “ในศิโยน” อาจเป็นวลีที่ชาวยูดาห์ปรับปรุงตัวบทให้เข้ากับสถานการณ์ (ดู 3:1 เชิงอรรถ a; ฮชย 1:7 เชิงอรรถ i)

b “ที่พงศ์พันธุ์อิสราเอลไปพบ” หมายความว่าประชาชนของอาณาจักรอิสราเอลไปหาผู้นำเพื่อแสดงความเคารพ เพื่อขอคำแนะนำ หรือขอความยุติธรรม

c “อาณาเขตของเมืองเหล่านี้ใหญ่กว่าอาณาเขตของท่านหรือ” น่าจะเข้าใจว่าข้อความของข้อนี้เป็นคำพูดที่บรรดาผู้นำในกรุงสะมาเรียบอกผู้มาขอคำแนะนำว่า “ท่านมีกำลังมากกว่าอาณาจักรเหล่านั้น จึงไม่ต้องกลัวอะไร” แต่ตัวบทก็ไม่แน่นอน สองบรรทัดหลังยังอาจอ่านได้อีกว่า “ท่านมีกำลังมากกว่าอาณาจักรเหล่านี้หรือ อาณาเขตของท่านใหญ่กว่าอาณาเขตของเขาหรือ” และดังนี้ การล่มสลายของอาณาจักรเหล่านั้นจึงเป็นเครื่องหมายตักเตือนอิสราเอลได้ แต่ทว่าเมืองคัลเนห์ (เทียบ อสย 10:9) ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองอาเลปโป ถูกชาวอัสซีเรียยึดได้ในปี 738 ก่อน ค.ศ.เท่านั้น เมืองคามัทบนฝั่งแม่น้ำโอรนเตสก็ถูกยึดได้ในปี 720 และเมืองกัทในฟีลิสเตียถูกยึดในปี 711 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นเวลาหลังการเทศน์สอนของประกาศกอาโมสแล้ว

d “อาณาจักรแห่งความรุนแรงมาถึง” หมายความว่า “จะถูกศัตรูเข้ามายึดครอง”

e “ร้องเพลงไร้สาระ” ความหมายของกริยานี้ไม่ชัดเจน แต่มีความหมายในทางลบ

f “ความพินาศของโยเซฟ” หมายถึงความล่มจมของอาณาจักรอิสราเอลที่ใกล้จะมาถึง

g “เมื่อญาติของผู้ตายมากับผู้เผาศพ” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน

h “อ้างพระนามพระยาห์เวห์ไม่ได้” เพราะความเคารพ หรือเพราะกลัวอันตรายที่พระยาห์เวห์ทรงบันดาลให้เกิดขึ้น ข้อความนี้มีความหมายคลุมเครือ แต่ความหมายทั่วไปชัดเจน เป็นการกล่าวถึงหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเมืองและจะมีคนตายเต็มบ้าน รวมทั้งความกลัวที่ผู้รอดชีวิตกลุ่มเล็กๆ จะต้องจัดการกับศพผู้ตาย

i “ใช้โคไถทะเล” แปลโดยแก้ไขตัวบทเล็กน้อย โดยแยกคำว่า “โค” ซึ่งในภาษาฮีบรูอยู่ในรูปพหูพจน์ ออกเป็นคำในรูปเอกพจน์ ตามด้วยคำว่า “ทะเล” (babbaqarim เป็น babbaqar + yam) ตามตัวอักษรว่า “โค (พหูพจน์) จะไถ (ที่นั่น คือก้อนหิน)ได้หรือ”

j มีการเล่นคำและชื่อของสถานที่ “โลเดบาร์” (ซึ่งแปลว่า “ไม่มีอะไร”) 2 ซมอ 9:4 และ “คารนาอิม” (1 มคบ 5:26) ซึ่งแปลว่า “เขา(สัตว์)” ที่หมายถึง “กำลัง” หรือ “อำนาจ” เมืองทั้งสองอยู่ทางเหนือของฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน และบางทีได้ถูกกษัตริย์โยอาชหรือเยโรโบอัมที่ 2 พระโอรสยึดคืนมาได้ (ดู 2 พกษ 13:23-25; 14:25)

k “เขาจะเบียดเบียนท่าน” “เขา” คือชาวอัสซีเรีย

l “ตั้งแต่...อาราบาห์” นั่นคือเขตแดนของอาณาจักรเหนือที่กษัตริย์เยโรโบอัมที่ 2 ทรงยึดมาได้ “ห้วยอาราบาห์” แตกต่างจาก “ห้วยอียิปต์” ซึ่งเป็นชายแดนใต้สุดของแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ (1 พกษ 8:65) เป็นห้วยหนึ่งที่ไหลลงลุ่มแม่น้ำจอร์แดนตอนล่าง (“อาราบาห์”) ใกล้กับทะเลตาย

III. นิมิตต่างๆ

 

นิมิตแรก - ตั๊กแตน

7 1นี่คือนิมิตที่พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงแก่ข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าเห็นพระองค์ทรงทำให้เกิดฝูงตั๊กแตน

เมื่อหญ้ากำลังงอกขึ้นใหม่

หลังจากที่ได้เกี่ยวไปถวายกษัตริย์แล้วa

2เมื่อตั๊กแตนกินหญ้าในแผ่นดินหมดแล้ว ข้าพเจ้าทูลว่า

“ข้าแต่พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอทรงให้อภัยเถิดb

ยาโคบจะตั้งอยู่ได้อย่างไร

เขาเล็กนิดเดียว”

3พระยาห์เวห์ทรงเปลี่ยนพระทัยcเรื่องนี้

พระยาห์เวห์ตรัสว่า “สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น”

นิมิตที่สอง ไฟ

            4นี่คือนิมิตที่พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงแก่ข้าพเจ้า

พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกไฟให้มาลงโทษd

ไฟได้เผาผลาญขุมลึกใหญ่e

และกินแผ่นดิน

5ข้าพเจ้าทูลว่า “ข้าแต่พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้า

ขอทรงยับยั้งไว้เถิด

ยาโคบจะตั้งอยู่ได้อย่างไร

เขาเล็กนิดเดียว”

6พระยาห์เวห์ทรงเปลี่ยนพระทัยเรื่องนี้

พระยาห์เวห์ตรัสว่า “สิ่งนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน”

นิมิตที่สาม สายดิ่ง

            7นี่คือนิมิตที่พระองค์ทรงแสดงแก่ข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยืนอยู่ข้างกำแพง

ที่สร้างตรงด้วยสายดิ่ง มีสายดิ่งอยู่ในพระหัตถ์f

8พระยาห์เวห์ตรัสถามข้าพเจ้าว่า

“อาโมสเอ๋ย ท่านเห็นอะไร”

ข้าพเจ้าทูลตอบว่า “ข้าพเจ้าเห็นสายดิ่ง”

องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า

“ดูซิ เรากำลังตั้งสายดิ่งในหมู่อิสราเอลประชากรของเรา

เราจะไม่ให้อภัยเขาอีกg

9สักการสถานบนที่สูงของอิสอัคจะถูกทำลาย

สักการสถานทุกแห่งของอิสราเอลจะถูกทิ้งร้าง

เมื่อเราจะถือดาบขึ้นต่อสู้พงศ์พันธุ์ของเยโรโบอัม”

สมณะอามาซิยาห์ไม่ยอมให้อาโมสประกาศพระวาจาh

          10อามาซิยาห์สมณะที่เมืองเบธเอลส่งคนไปทูลกษัตริย์เยโรโบอัมแห่งอิสราเอลว่า “อาโมสได้คิดกบฏต่อพระองค์ในหมู่พงศ์พันธุ์อิสราเอล แผ่นดินทนฟังถ้อยคำของเขาไม่ได้ 11เพราะอาโมสพูดว่า ‘กษัตริย์เยโรโบอัมจะสิ้นพระชนม์ด้วยดาบ และอิสราเอลจะถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยห่างจากแผ่นดินของตน’”

12สมณะอามาซิยาห์กล่าวแก่ประกาศกอาโมสว่า “ท่านผู้ทำนายi ไปเสียเถอะ จงกลับไปอยู่ในแผ่นดินยูดาห์ ไปทำมาหากินที่นั่น และประกาศพระวาจาที่นั่นเถิด 13แต่อย่าประกาศพระวาจาที่เบธเอลอีกต่อไป เพราะที่นี่เป็นสักการสถานของกษัตริย์ และเป็นพระวิหารของราชอาณาจักร”j 14อาโมสจึงตอบสมณะอามาซิยาห์ว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นประกาศก หรือเป็นสมาชิกของกลุ่มประกาศก ข้าพเจ้าเคยเป็นคนเลี้ยงสัตว์และเป็นคนแต่งต้นมะเดื่อเทศk 15และพระยาห์เวห์ทรงให้ข้าพเจ้าเลิกต้อนฝูงแพะแกะ พระยาห์เวห์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘ไปเถอะ จงไปประกาศพระวาจาแก่อิสราเอลประชากรของเรา’ 16บัดนี้ จงฟังพระวาจาของพระยาห์เวห์เถิด

ท่านพูดว่า ‘อย่าประกาศพระวาจากล่าวโทษอิสราเอล

อย่าเทศน์สอนกล่าวโทษพงศ์พันธุ์อิสอัค’

17ดีแล้ว พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้

‘ภรรยาของท่านจะเป็นหญิงโสเภณีในเมือง

บุตรชายหญิงของท่านจะล้มลงด้วยดาบ

เขาจะขึงเชือกแบ่งที่ดินของท่าน

ท่านจะตายในแผ่นดินที่มีมลทินl

และอิสราเอลจะถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย

ห่างจากแผ่นดินของตนอย่างแน่นอน’”

 

7 a “ฝูงตั๊กแตน” ตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “พระองค์ทรงปั้นฝูงตั๊กแตน” **** “หญ้ากำลังงอกขึ้นใหม่หลังจากที่ได้เกี่ยวไปถวายกษัตริย์แล้ว (เพื่อใช้เลี้ยงม้าของพระองค์)” แปลตามตัวอักษรว่า “หญ้าที่ขึ้นรุ่นหลัง”

b การวอนขอพระกรุณาจากพระเจ้าแทนประชากรเป็นหน้าที่เฉพาะประการหนึ่งของประกาศก (ปฐก 20:7; ดู 2 มคบ 15:14; ยรม 15:1,11; 18:20; อสค 9:8; ดนล 9:15-19 ด้วย) คำอ้อนวอนของโมเสสเพื่อประชากร (ดู อพย 32:11 เชิงอรรถ e) แต่เมื่อประชากรยังคงทำบาปต่อไป พระเจ้าก็จะไม่ทรงรับคำวอนขอของประกาศกอีก (เทียบ ยรม 14:7-11) ที่นี่ ประกาศกอาโมสทูลขอเพื่อประชากรในนิมิตสองประการแรกเท่านั้น ในนิมิตสามประการหลัง เขาไม่ขอให้พระเจ้าทรงเปลี่ยนพระทัยไม่ลงโทษ

c “พระยาห์เวห์ทรงเปลี่ยนพระทัย” นั่นคือ ทรงตกลงจะทำตามคำขอของประกาศก

d “ทรงเรียกไฟให้มาลงโทษ” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “เรียกเพื่อต่อสู้คดีด้วยไฟ” “ไฟ” คือ “ความแห้งแล้ง” (1:2; 4:6-8) ซึ่งทำลายทุกสิ่ง (เทียบ ยอล 1:19-20; 2:3) บางคนแปลว่า “ทรงเรียกเพื่อพิพากษาด้วยไฟ” นั่นคือ ไฟจากท้องฟ้าเช่นที่ได้ทำลายเมืองโสโดมและโกโมราห์ (ปฐก 19:24-25, 28)

e “ขุมลึกใหญ่” หมายถึงมหาสมุทรใต้บาดาล ซึ่งเป็นคลังน้ำของทะเล

f “สายดิ่ง” คำนี้ (’anek) พบได้ที่นี่เท่านั้นในพระคัมภีร์ แม้ว่ารากศัพท์เดียวกันในภาษาอัคคาเดียน ซีเรียค และอาหรับ มีความหมายว่า “ตะกั่ว” หรือ “ดีบุก” เราก็ไม่รู้ว่าคำนี้หมายถึงอะไรแน่ อาจหมายถึง “แนวตั้งฉาก” หรือใช้กับไม้ฉากเพื่อวัดแนวราบ ความหมายของนิมิตนี้ก็ยังไม่ชัดเจนอยู่ดี

g ข้อความตอบรับใหม่นี้ (เทียบ 8:2) แทนที่ข้อความตอบรับสองครั้งก่อนหน้านั้น (7:3, 6) ชวนให้คิดถึงความดื้อด้านในบาปซึ่งไม่ได้บอกตรงๆ ในตัวบท

h ข้อความร้อยแก้วตอนนี้คงเป็นผลงานของบรรดาศิษย์ซึ่งนำมาแทรกไว้ระหว่างนิมิตที่สามกับนิมิตที่สี่ ต่อจากการประณามราชวงศ์ (ข้อ 7-9) และเล่าถึงปฏิกิริยาของผู้ฟังการประกาศพระวาจาตอนนั้น

i “ท่านผู้ทำนาย” แปลตามตัวอักษรว่า “ท่านผู้แลเห็น” สมณะอามาซิยาห์ใช้คำนี้เรียกประกาศกอาโมส คงมีเจตนาดูถูกเขา

j สมณะอามาซิยาห์พูดเหมือนกับว่าอาโมสหาเลี้ยงชีพโดยการเป็นประกาศก (ดู 1 ซมอ 9:7 เชิงอรรถ d) แต่ไม่กล่าวหาว่าอาโมสเป็นประกาศกเทียม ตรงกันข้าม เมื่ออามาซิยาห์กล่าวหาว่าอาโมสเป็นกบฏ (ข้อ 10) แสดงว่าเขากลัวว่าคำพยากรณ์ของอาโมสจะเป็นจริง

k เกี่ยวกับ “กลุ่มประกาศก” ดู 2 พกษ 2:3 เชิงอรรถ c “คนเลี้ยงสัตว์” เป็นคำที่ไม่ค่อยได้พบในพระคัมภีร์ แต่โดยปกติหมายความถึงผู้เลี้ยงดูสัตว์ที่ใหญ่กว่าแพะแกะ (ดู 1:1 ที่ใช้อีกคำหนึ่ง) “แต่งต้นมะเดื่อเทศ” โดยเด็ดกิ่งเล็กๆ ออกเพื่อช่วยให้ผลสุก

l “แผ่นดินที่มีมลทิน” แผ่นดินทุกแห่งของคนต่างด้าวล้วนเป็นมลทินเพราะรูปเคารพต่างๆ (ฮชย 9:3-4) แผ่นดินอิสราเอลที่พระยาห์เวห์ทรงพำนักอยู่ (ยรม 12:7; ฮชย 8:1; ศคย 9:8) ไม่มีมลทิน (2 พกษ 5:17) และ “ศักดิ์สิทธิ์” (อพย 19:12 เชิงอรรถ e; 2 มคบ 1:7; ศคย 2:16)

นิมิตที่สี่a - กระจาดผลไม้สุกงอม

8 1นี่คือนิมิตที่พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงแก่ข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าเห็นกระจาดผลไม้สุกงอมกระจาดหนึ่ง

2พระองค์ตรัสถามว่า “อาโมส ท่านเห็นอะไร”

ข้าพเจ้าทูลตอบว่า “ข้าพเจ้าเห็นกระจาดผลไม้สุกงอม”

พระยาห์เวห์จึงตรัสกับข้าพเจ้าว่า

“เวลาสุกแล้วbสำหรับอิสราเอลประชากรของเรา

เราจะไม่ให้อภัยเขาอีกเลย”

3“วันนั้น เสียงร้องเพลงในพระราชวังจะเป็นเสียงร้องโหยหวน

พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส

จะมีศพมากมายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

จงเงียบซิ”c

ประณามผู้ฉ้อโกงและเอารัดเอาเปรียบd

            4ท่านทั้งหลายที่เหยียบย่ำคนขัดสน

และทำลายคนยากจนของแผ่นดิน

จงฟังถ้อยคำนี้เถิด

5ท่านพูดว่า “เมื่อไรวันต้นเดือนeจะผ่านไป

เราจะได้ขายข้าว

เมื่อไรเล่าวันสับบาโตจะพ้นไป

เราจะได้นำข้าวสาลีออกขาย

เราจะทำถังตวงข้าวให้เล็กลง

ทำให้ตุ้มเชเขลใหญ่ขึ้น

ใช้ตาชั่งโกงน้ำหนัก

6เราจะได้ใช้เงินซื้อคนจน

และใช้รองเท้าสานคู่หนึ่งซื้อคนขัดสน

เราจะขายแม้กากข้าวสาลี”

7พระยาห์เวห์ทรงสาบานต่อศักดิ์ศรีของยาโคบfว่า

“เราจะไม่ลืมการกระทำของเขาเลย”

8เพราะเหตุนี้ แผ่นดินจะหวั่นไหว

ผู้อาศัยทุกคนในแผ่นดินจะไว้ทุกข์

แผ่นดินทั้งหมดจะพองขึ้นเหมือนแม่น้ำไนล์

จะเอ่อขึ้นและจะงวดลงเหมือนแม่น้ำไนล์แห่งอียิปต์g

คำพยากรณ์ถึงการลงโทษ

            9“วันนั้น พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส

เราจะทำให้ดวงอาทิตย์ตกในเวลาเที่ยงวัน

ทำให้แผ่นดินมืดแม้ในเวลากลางวันh

10เราจะเปลี่ยนเทศกาลฉลองของท่านให้เป็นการไว้ทุกข์

เปลี่ยนบทเพลงทั้งหมดของท่านเป็นการคร่ำครวญ

เราจะให้ทุกคนสวมผ้ากระสอบที่สะเอว

ให้ทุกคนโกนศีรษะจนโล้นi

เราจะทำให้เป็นเหมือนการไว้ทุกข์บุตรชายคนเดียว

และวาระสุดท้ายจะเหมือนวันที่ขมขื่น

อิสราเอลหิวและกระหายพระวาจา

            11“ดูซิ วันเวลาจะมาถึง

พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส

เมื่อเราจะส่งทุพภิกขภัยมาในแผ่นดิน

ไม่ใช่การหิวอาหารหรือการกระหายน้ำ

แต่จะส่งความปรารถนาจะฟังพระวาจาของพระยาห์เวห์j

12เขาทั้งหลายจะเดินทางระเหระหนจากทะเลนี้ไปทะเลโน้น

จะเร่ร่อนจากทิศเหนือไปทิศตะวันออก

เพื่อแสวงหาพระวาจาของพระยาห์เวห์

แต่เขาจะหาไม่พบ”

กล่าวคำพยากรณ์ซ้ำถึงการลงโทษ

          13“วันนั้น หญิงสาวพรหมจารีสวยงามและคนหนุ่ม

จะเป็นลมเพราะความกระหาย

14เขาทั้งหลายที่สาบานโดยอ้างรูปเคารพของกรุงสะมาเรียk

พูดว่า ‘เมืองดานlเอ๋ย เทพเจ้าของเจ้ามีชีวิตอยู่แน่ฉันใด...’

หรือพูดว่า ‘เมืองเบเออร์เชบาเอ๋ย

เทพเจ้าที่เจ้ารักมีชีวิตอยู่แน่ฉันใด...’

ทุกคนจะล้มลง และจะไม่มีวันลุกขึ้นได้อีกเลย”

8 a แม้จะมีเหตุการณ์ที่เมืองเบธเอลเข้ามาคั่น (7:10-17) นิมิตที่สี่นี้ต่อเนื่องกับนิมิตที่สาม (7:7-9) ซึ่งมีโครงสร้างและความคิดคล้ายกัน

b “เวลาสุกแล้ว” ตามตัวอักษรว่า “จุดจบมาถึงแล้ว” ในภาษาฮีบรูมีการเล่นคำระหว่างคำ qaitz = “(ผลไม้)สุกงอม” กับคำ qetz = “จุดจบ, ปลาย”

c “จงเงียบซิ” ไม่ทราบว่าประโยคสุดท้ายของข้อนี้หมายความว่าอะไรแน่

d คำประกาศพระวาจาต่อไปนี้อธิบายให้เหตุผลและขยายความคำประกาศพระวาจาเกี่ยวกับ “จุดจบ” ที่อยู่ในนิมิตที่สี่ และเพิ่มความกังวลถึงการลงโทษซึ่งจะเป็นจุดยอดของนิมิตที่ห้า

e “วันต้นเดือน” (ลนต 23:24 เชิงอรรถ d) เช่นเดียวกับ “วันสับบาโต” (อพย 20:8 เชิงอรรถ f) ชาวอิสราเอลต้องหยุดทำธุรกิจทุกอย่าง

f จากบริบท (ดู 4:2; 6:8 เชิงอรรถ a) ที่นี่ “ศักดิ์ศรีของยาโคบ” อาจเป็นชื่อตำแหน่งของพระเจ้า (เทียบ 1 ซมอ 15:29) หรือ (เช่นใน 6:8) หมายถึงความหยิ่งยโสของอิสราเอลที่มั่นคงจนใช้อ้างในการสาบานได้ หรือยังอาจหมายถึงแผ่นดินของพระยาห์เวห์ คือ ปาเลสไตน์ (สดด 47:5)

g ประกาศกเปรียบเทียบแผ่นดินไหว (ดู 1:1 เชิงอรรถ c) กับน้ำขึ้นน้ำลงของแม่น้ำไนล์ ในการเปรียบเทียบและบรรยายนี้มีจินตนาการทางกวีมากกว่าการสังเกตเหตุการณ์ “เหมือนแม่น้ำไนล์” แปลตามสำนวนแปลโบราณต่างๆ ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “เหมือนแสงสว่าง” (เทียบ 9:5)

h วันของพระยาห์เวห์ (5:18 เชิงอรรถ m) มักจะมีเครื่องหมายในจักรวาลควบคู่อยู่ด้วย เช่น แผ่นดินไหว (8:8; อสย 2:10; ยรม 4:24), สุริยคราส (8:9; ยรม 4:23) ประกาศกในสมัยต่อมามักขยายความเรื่องนี้โดยใช้ภาพพจน์ที่เข้าใจกันซึ่งต้องไม่เข้าใจตรงตามตัวอักษร (อสย 13:10, 13; 34:4; อสค 32:7-8; ยอล 2:10-11; 3:3-4; 4:15-16; ฮบก 3:6; ศฟย 1:15; เทียบ มธ 24:29; วว 6:12-14 และดู มธ 24:1 เชิงอรรถ a)

i การโกนศีรษะเป็นเครื่องหมายของความโศกเศร้าและการไว้ทุกข์ทั่วไปในตะวันออกกลางโบราณ (อสย 15:2; ยรม 7:29; มคา 1:16)

j ประกาศกไม่ได้ทำนายถึงการกลับใจซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประชากรปรารถนาจะฟังพระวาจาของพระเจ้า เพื่อจะได้เชื่อฟังพระองค์ แต่ทำนายถึงการลงโทษจากพระเจ้า พระเจ้าทรงเอือมระอาที่จะตรัสพระวาจาถ้าไม่มีผู้ใดฟัง พระองค์จึงไม่ตรัสอะไรและไม่ทรงส่งประกาศกมาอีก

k “รูปเคารพของกรุงสะมาเรีย” ภาษาฮีบรูว่า “Ashima” ซึ่งเป็นชื่อเทพีองค์หนึ่ง (2 พกษ 17:30) ที่ผู้คนกราบไหว้ที่กรุงสะมาเรียในฐานะเป็น “คู่ครอง” ของพระยาห์เวห์ ที่นี่ ประกาศกอาจต้องการเล่นคำระหว่างชื่อของเทพี Ashima กับคำ ’ashma (= บาป) ดู ฉธบ 9:21 ที่ตรงนั้นอาโรนเรียกรูปลูกโคว่า “บาปของท่าน” (ในต้นฉบับภาษาฮีบรู)

l “เมืองดาน” เป็นเมืองที่กษัตริย์เยโรโบอัมทรงตั้งรูปลูกโคหนึ่งในสองรูปที่ทรงสร้างขึ้นไว้ (1 พกษ 12:30) อีกรูปหนึ่งทรงตั้งไว้ที่เมืองเบธเอล

นิมิตที่ห้า - สักการสถานถูกทำลายa

9 1ข้าพเจ้าเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยืนอยู่ข้างแท่นบูชาb พระองค์ตรัสว่า

“จงตีหัวเสาเพื่อให้ธรณีประตูสั่นสะเทือน

จงตีหัวของเขาทุกคนให้แหลกc

เราจะใช้ดาบฆ่าคนที่ยังเหลืออยู่

ผู้ที่วิ่งหนีจะไปได้ไม่ไกล

ผู้ที่หนีก็จะหนีไม่พ้น

2แม้เขาจะขุดลงไปถึงแดนผู้ตาย

มือของเราจะดึงเขาขึ้นมาจากที่นั่น

แม้เขาจะปีนขึ้นไปบนท้องฟ้า

เราก็จะดึงเขาลงมาจากที่นั่น

3แม้เขาจะซ่อนตัวอยู่บนยอดเขาคารเมล

เราก็จะตามหาเขาจนพบ แล้วจับเขามา

แม้เขาจะไปซ่อนอยู่ที่ก้นทะเลให้พ้นตาเรา

เราก็จะสั่งงูที่นั่นให้กัดเขา

4แม้ศัตรูจะกวาดต้อนเขาไปเป็นเชลย

เราก็จะสั่งดาบให้ฆ่าเขาที่นั่น

เราจะจับตามองดูเขา

เพื่อทำร้าย ไม่ใช่เพื่อทำดี”

บทถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

            5พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าจอมจักรวาลd

ทรงสัมผัสแผ่นดิน แผ่นดินก็ละลาย

ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินก็ไว้ทุกข์

แผ่นดินทั้งหมดจะพองขึ้นเหมือนแม่น้ำไนล์

และจะงวดลงเหมือนแม่น้ำไนล์แห่งอียิปต์

6พระองค์ทรงสร้างที่ประทับeไว้บนสวรรค์

ทรงตั้งหลังคาโค้งครอบแผ่นดิน

ทรงเรียกน้ำของทะเล

และทรงเทลงบนพื้นแผ่นดิน

พระนามพระองค์คือพระยาห์เวห์

คนบาปจะต้องพินาศ

            7“ลูกหลานของอิสราเอลเอ๋ย

สำหรับเรา ท่านและชาวเอธิโอเปียfก็เหมือนกันมิใช่หรือ

พระยาห์เวห์ตรัส

เราได้นำชาวอิสราเอลออกมาจากแผ่นดินอียิปต์

นำชาวฟีลิสเตียออกมาจากเกาะคัฟโทร์

และนำชาวอารัมออกมาจากเมืองคีร์gมิใช่หรือ

8ดูซิ พระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าทอดพระเนตรเห็นอาณาจักรที่ทำบาป

เราจะทำลายล้างอาณาจักรนี้ให้พ้นจากพื้นแผ่นดิน

แต่เราจะไม่ทำลายพงศ์พันธุ์ยาโคบให้หมดสิ้น”

พระยาห์เวห์ตรัสh

9เพราะว่า ดูซิ เราจะสั่ง

และทำให้พงศ์พันธุ์อิสราเอลสั่นสะเทือนในหมู่นานาชาติi

เหมือนร่อนข้าวบนตะแกรง

จะไม่มีก้อนกรวดjแม้เพียงเม็ดเดียวตกลงบนพื้นดิน

10คนบาปทุกคนในหมู่ประชากรของเราจะตายด้วยดาบk

เขาทั้งหลายพูดว่า “หายนะจะไม่มาใกล้และพบเราได้”l

 

IV. ความหวังถึงการกลับสู่สภาพเดิมและความสุขในอนาคตm

         

11“วันนั้น เราจะตั้งเพิงที่ล้มลงแล้วของดาวิดขึ้นใหม่

จะซ่อมแซมช่องโหว่ จะตั้งซากปรักหักพังขึ้นใหม่

จะสร้างเพิงขึ้นใหม่ให้เหมือนในสมัยนานมาแล้ว

12เขาจะได้ยึดคนที่เหลือของเอโดม

และยึดชนชาติทั้งหลายที่เคยเป็นของเราnเป็นกรรมสิทธิ์”

พระยาห์เวห์ตรัส และจะทรงกระทำเช่นนี้

13“ดูซิ วันเวลาจะมาถึง พระยาห์เวห์ตรัส

เมื่อคนไถจะตามทันคนเกี่ยว

ผู้ย่ำผลองุ่นจะตามทันผู้หว่านเมล็ด

เหล้าองุ่นใหม่จะไหลจากภูเขา

ไหลลงมาตามเนินเขาทุกแห่ง

14เราตั้งใจจะนำอิสราเอลประชากรของเราที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยกลับมาo

เขาจะสร้างเมืองที่ถูกทำลายแล้วขึ้นใหม่และจะเข้าไปอาศัยอยู่

เขาจะปลูกสวนองุ่นและดื่มเหล้าองุ่นของสวนนั้น

เขาจะทำสวนผลไม้และจะกินผลจากสวนนั้น

15เราจะปลูกเขาไว้ในแผ่นดินของเขา

เขาจะไม่ถูกถอนออกไปอีกเลย

จากแผ่นดินซึ่งเราได้มอบแก่เขา

พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านตรัสไว้”

 

9 a “สักการสถาน” น่าจะหมายถึงสักการสถานที่เมืองเบธเอล แต่การที่ไม่มีข้อความใดบอกเจาะจงว่าเป็นสักการสถานใดแสดงว่าอาโมสคิดถึงสักการสถานอื่นๆ ในอาณาจักรเหนือด้วย

b “ข้างแท่นบูชา” หรือ “บนแท่นบูชา”

c อาจเป็นพระบัญชาที่พระเจ้าทรงสั่งทูตสวรรค์องค์หนึ่ง

d 3 คำแรกของข้อ 5ก “พระยาห์เวห์ องค์พระผู้เป็นเจ้า จอมจักรวาล” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทเพลงถวายพระเกียรติพระเจ้า (ดู 4:13 เชิงอรรถ l) อาจเป็นข้อความที่ผู้คัดลอกเสริมเข้ามาให้เป็นประธานของประโยค

e “ที่ประทับ” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูมีข้อความบอกให้อ่านว่า “บันไดของพระองค์”

f “ชาวเอธิโอเปีย” ภาษาฮีบรูว่า “ชาวคูช” ซึ่งเป็นชนชาติที่อยู่ห่างไกลและมีเอกลักษณ์พิเศษ อิสราเอลจึงเข้าใจผิดที่คิดว่าตนเป็นเอกในหมู่ชนชาติทั้งหลาย (6:1)

g ชาวอิสราเอลต้องไม่ถือสิทธิพิเศษในฐานะที่เป็นประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร (ดู ฉธบ 7:6 เชิงอรรถ b) การที่อิสราเอลเป็นประชากรที่ทรงเลือกสรรไม่ใช่อภิสิทธิ์ แต่เป็นความรับผิดชอบ (3:2 เชิงอรรถ b) และพระเจ้าทรงเอาพระทัยใสต่อความเป็นอยู่ของชนชาติอื่นๆ เท่ากันด้วย (เทียบ อสย 19:22-25)

h ที่นี่พระเจ้าทรงสัญญาอย่างชัดเจนจะให้มีผู้ “รอดชีวิต” เหลืออยู่ แม้เคยทรงเกริ่นไว้ก่อนแล้วใน 5:15

i การประกาศพระวาจานี้อาจมีอายุจากเวลาที่ชาวอิสราเอลถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยครั้งแรกในปี 734 ก่อน ค.ศ. (ดู 2 พกษ 15:29)

j เมล็ดข้าว (หมายถึงคนดีมีธรรม) เหลืออยู่บนตะแกรง ขณะที่ฝุ่นผงและแกลบลอดผ่านตะแกรงไป หรือบางทีตะแกรงกั้นก้อนกรวด (คนบาป) ไว้ ปล่อยให้เมล็ดข้าว (คนดี) ลอดผ่านตะแกรงไป

k ประกาศกอาโมสบอกตรงๆ ว่า คนบาปจะได้รับโทษ และคนดีจะรอดพ้น อันที่จริงหายนะที่จะตามมาจะไม่ไว้ชีวิตคนทั้งสองกลุ่ม จึงแสดงว่าเขามองโลกในแง่ดีเกินไป 6 ศตวรรษต่อมา ความคิดนี้จะมีบทบาทที่จะปลุกความเชื่อถึงการให้รางวัลความดีหรือลงโทษความผิดภายหลังความตาย (ดู ดนล 12:2-3)

l “หายนะจะไม่มาใกล้และพบเราได้” แปลตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ท่านจะไม่เร่งหายนะหรือทำให้มันมีผลกระทบเรา”

m คำสัญญาเหล่านี้รวมการสถาปนาอาณาจักรของกษัตริย์ดาวิดขึ้นใหม่ (ข้อ 11-12) ความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุ (ข้อ 13-14) การได้บ้านเกิดเมืองนอนกลับคืนมาตลอดไป (ข้อ 15) เรื่องความสุขในยุคพระเมสสิยาห์ ดู ฮชย 2:20 เชิงอรรถ s เห็นได้ชัดว่าข้อความนี้แต่งขึ้นในภายหลัง (ดู “ความรู้เกี่ยวกับประกาศก” ข้อ 17 ตอนปลาย) เพราะสมมติแล้วว่ากษัตริย์ในราชวงศ์ดาวิดไม่ได้ครองราชย์อีกแล้ว (587 ก่อน ค.ศ.) และอาจถูกเพิ่มเข้ามาในสมัยของเศรุบบาเบล (520-515 ก่อน ค.ศ.) เมื่อหลายคนมีความหวังอย่างมากว่าราชวงศ์ดาวิดจะได้รับการสถาปนาขึ้นอีก

n “ชนชาติที่เคยเป็นของเรา” ตามตัวอักษรว่า “ที่นามของเราถูกเรียกขานเหนือเขา” เหมือนกับใน 2 ซมอ 12:28 เห็นได้ชัดว่าชนชาติเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิของกษัตริย์ดาวิด พระคัมภีร์ฉบับ LXX อธิบายข้อความนี้ในความหมายสากลมากกว่า และดังนี้จึงถูกนำมาอ้างถึงใน กจ 15:16-17

o “เราตั้งใจจะนำอิสราเอลประชากรของเราที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยกลับมา” ยังแปลได้อีกว่า “เราจะฟื้นฟูโชคชะตาของอิสราเอลประชากรของเรา”

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก