“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคัมภีร์และพิธีกรรม" โดย บาทหลวงเชษฐา  ไชยเดช
เปาโลผู้ยกเลิกทาสในศตวรรษแรก
            ปัจจุบันยังมีทาสทั่วโลกประมาณ 27 ล้านคน การค้ามนุษย์มีเงินหมุนเวียนราว 32000 ล้านบาท ทาสในยุคเราเกิดจากความโลภ ความกลัวและการมองข้ามคุณค่าชีวิต เป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องเผชิญและต้องแก้อย่างเอาจริงเอาจัง แต่ท่าทีของเปาโลใน 1ทธ 6.1 “ทุก​คน​ที่​เป็น​ทาส​ต้อง​คิด​ว่า​นาย​ของ​ตน​ควร​ได้​รับ​เกียรติ​ทุกอย่าง เพื่อ​พระ​นาม​ของ​พระ​เจ้า​และ​คำสอน​ของ​เรา​จะ​ไม่​ถูก​กล่าว​หา​ใน​ทาง​ที่​เสื่อมเสีย” ดูเหมือนว่าท่านไม่ประนามการเป็นทาส ตรงกันข้ามกับแนะนำคริสตชนที่เป็นทาสให้ยกย่องนายตนที่เป็นคนต่างศาสนา

บริบทของทาสในยุคกรีก-โรมัน
          ดิโอ คริสโซสโตม (40-120 คศ) นักปรัญญา นักพูดและนักเขียนได้กล่าวถึงมติของกลุ่มเมดิเตเรเนียนเกี่ยวกับทาสว่า บุคคลมีสิทธิ์ที่จะใช้คนอื่นตามอำเภอใจ เสมือนสมบัติของเขา หรือเสมือนสัตว์เลี้ยงที่บ้าน อย่างไรก็ดีทาสในสมัยกรีก-โรมัน ไม่ใช่เรื่องของเผ่าพันธ์ มีการสนับสนุนให้ทาสได้รับการศึกษา (มีบางกรณีที่ทาสมีการศึกษาสูงกว่านายตนเสียอีก) เพิ่มคุณค่าให้แก่ตนเอง ทาสหลายคนได้รับงานที่ต้องรับผิดชอบสูงละเอียดอ่อน ทาสเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้รวมทั้งทาสด้วยกัน ปฏิบัติศาสนกิจและประเพณีต่างๆ ได้เหมือนคนที่เป็นไท พวกทาสจัดการชุมนุมสาธารณะได้ และที่สำคัญที่สุดทาสจำนวนมากในเมืองและทาสทำงานในบ้าน ตั้งตารอคอยการรับอิสระภาพเมื่ออายุครบ 30 ปี

          อย่างไรก็ดีมีข้อแตกต่างระหว่างทาสที่เป็นยิว กรีกและโรมัน ในแวดวงกรีกทาสถือว่าทาสเป็นคนชั้นต่ำโดยธรรมชาติ ย่อมเป็นบุญของทาสที่มีนายเป็นกรีก (ซิเซโร อ้างคำพูดของพลาโต อริสโตเติล เฮโรโดตัส) ชาวกรีกยังคิดว่าเสรีภาพแยกได้เป็นภาคเป็นส่วน-คือเสรีภาพของทาสและไท ในระหว่างชาวยิวมีการยอมรับการคืนหนี้โดยเป็นทาสและมีการใช้ทาสในการสร้างวิหารเยรูซาเล็ม แต่เห็นว่าการนำยิวด้วยกันมาเป็นทาสเป็นสิ่งไม่เหมาะสม เพราะยิวทุกคนเป็นทาสของพระเจ้าเท่านั้น เนื่องจากบรรพบุรุษของพวกเขาได้รับการไถ่กู้จากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ โดยพระองค์เอง (ลนต 25.55) ในประเพณีของชาวโรมัน ในแง่หนึ่งทาสคือสิ่งของวัตถุตามกฏหมาย (instrumentum vocale-เครื่องมือที่ใช้พูด) อีกแง่หนึ่งทาสได้รับการปฏิบัติเยี่ยงคนเสรีอื่นๆ และจะได้รับสัญชาติโรมันเมื่อได้รับอิสระภาพ ซึ่งมีบ่อยสม่ำเสมอ ดังนั้นทาสในเมืองและทาสทำงานบ้านจึงถือว่าอยู่ในขบวนการของการรับเข้าเป็นประชากรสังคมโรมัน แม้ว่าจะมีทาสในวัฒนธรรมส่วนใหญ่ มีแต่โรมันและกรีกเท่านั้นที่มีระบบชนชั้นทาสอย่างจริงจัง ความสำเร็จด้านวัฒนธรรมและความสะดวกสะบายของชาวกรีก มาจากน้ำพักน้ำแรงของทาสส่วนใหญ่ คงเป็นไปได้ที่ยิวปลดจากเป็นทาสได้สร้างศาลาธรรมที่กล่าวไว้ใน กจ 6.9 (บาง​คน​จาก​ศาลา​ธรรม​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ศาลา​ธรรม​ของ​เสรีชน​ที่​เคย​เป็น​ทาส)

           แหล่งที่มาของทาสคือ ก) เชลยสงครามและคนที่โจรสลัดจับไปเรียกค่าไถ่ แถบเมดิเตอรเรเนียน ข) ถัดมาในศตวรรษแรกบุตรชายหญิงจากแม่ที่เป็นทาส ก็มักเป็นทาสไปด้วย ค) การขายเด็กไปเป็นทาส ง) เด็กที่ถูกทอดทิ้ง จ) นอกนั้นยังมีคนที่สมัครขายตนเป็นทาสเพื่อ 1) การใช้หนี้ 2) การได้สัญชาติโรมันเมื่อมีการปลดให้เป็นอิสระ 3) การได้งานดี 4) ชีวิตที่มั่นคงและไม่ต้องต่อสู้กับยากลำบากเช่นคนคนจนที่ขัดสนแต่เป็นอิสระ
เพื่อจะเข้าใจ 1 คร 7.23 (​​พระ​เจ้า​ทรง​ซื้อ​ท่าน​มา​ด้วย​ราคา​แพง จง​อย่า​กลับ​เป็น​ทาส​ของ​มนุษย์​อีก) เราต้องนึกถึงบริบทของการเป็นทาสด้วยความสมัครใจ คงมีคริสตชนบางคนที่ขายตนเป็นทาสเพื่อจะได้เงินไปไถ่เพื่อคริสตชนที่มีนายไม่เอาไหน และเพื่อบริจาคทรัพย์สินช่วยคนขัดสน

บริบทของจดหมายเปาโล

          1 ทธ 6.1 ต้องอ่านควบไปกับภาพรวมของบทก่อนหน้านั้น (5.1-21) เปาโลเน้นการให้เกียรติต่อกันและกัน คือการให้เกียรติแก่แม่หม้าย (5.1) ผู้ร่วมพิธีให้เกียรติผู้อาวุโส (5.17) และทาสต้องให้เกียรติแก่นาย (6.1) ผู้อาวุโสเองต้องปฏิบัติตนให้ดีต่อหน้าผู้ที่มิใช่คริสตชน การนบนอบของทาสต่อนายที่ไม่เป็นคริสตชน ย่อมเป็นที่มาของคำชมเชยสรรเสริญจากนาย น่าจะชักจูงพวกเขาให้เลื่อมใสศรัทธาในข่าวดี (เชิญดู รม 2.24)

          ทาสมีศักยภาพที่จะประกาศข่าวดีเท่าเทียมคริสตชนทั่วๆ ไป แต่ถ้าไม่เคารพให้เกียรตินาย อาจมีผลตรงกันข้ามได้ (เพื่อ​พระ​นาม​ของ​พระ​เจ้า​และ​คำสอน​ของ​เรา​จะ​ไม่​ถูก​กล่าว​หา​ใน​ทาง​ที่​เสื่อมเสีย) เปาโลมิได้สนับสนุนระบบทาส แต่สนับสนุนข่าวดีของพระคริสต์ที่จะขจัดระบบบทาสออกไป “​ไม่​มี​ชาว​ยิว​หรือ​ชาว​กรีก ไม่​มี​ทาส​หรือ​ไทย ไม่​มี​ชาย​หรือ​หญิง​อีก​ต่อไป เพราะ​ท่าน​ทุก​คน​เป็น​หนึ่ง​เดียวกัน​ใน​พระ​คริสต​เยซู” (กท 3.28)

อิสระภาพในองค์พระคริสต์

         ในบทจดหมายถึงชาวโคริทธ์เปาโลสอนว่า ในองค์พระคริสต์ทาสเป็นอิสระจากปาบ และดำเนินชีวิตอย่างเสรีในการปกครองของพระองค์ ทาสที่ได้รับการไถ่กู้จากปาบย่อมเป็นทาสของพระคริสต์ “​ผู้​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​เรียก​ขณะที่​เป็น​ทาส​ให้​ดำเนิน​ชีวิต​ใน​พระ​คริสต​เจ้า ก็​เป็น​คน​อิสระ​รับใช้​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ผู้​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​เรียก​ขณะที่​เป็น​คน​อิสระ เขา​ก็​เป็น​ทาส​รับใช้​พระ​คริสต​เจ้า​ด้วย” (1 คร 7.22)

         เปาโลส่งเสริมให้ทาสเป็นไทเมื่อมีโอกาส “​​พระ​เจ้า​ทรง​เรียก​ท่าน​ขณะที่​เป็น​ทาส​อยู่​หรือ อย่า​กังวล​เลย แต่​ถ้า​มี​โอกาส​ที่​จะ​เป็น​อิสระ ท่าน​ควร​ฉวยโอกาส​นั้น” (1 คร 7.21) แต่ถ้ายังไม่สำเร็จความผูกพันธ์กับพระคริสต์ไม่เปลี่ยนแปลงเลย สภาพฐานะทางโลกไม่สำคัญเท่ากับการมีพระคริสต์ครองใจ

เปาโลแนะนำนายของทาส

          คำแนะนำของนายต่อทาสพบในจดหมายถึงชาวเอเฟซัส (5.25-6.9) เมื่อท่านพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว หลังจากแนะนำให้ทาสปฏิบัติตนเพื่อนำเกียรต์แด่พระเจ้าแล้ว (“ทาส จง​เชื่อฟัง​ผู้​ที่​เป็น​นาย​ใน​โลก​นี้​ด้วย​ความ​เคารพ​ยำเกรง​จาก​ใจจริง ประหนึ่ง​เชื่อฟัง​องค์​พระ​คริสต​เจ้า 6 ​อย่า​ทำดี​รับใช้​ต่อหน้า​เหมือน​จะ​ให้​มนุษย์​พอใจ​เท่านั้น แต่​จง​เป็น​เสมือน​ทาส​รับใช้​พระ​คริสต​เจ้า กระทำ​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​เจ้า​จาก​ใจจริง 7 ​จง​รับใช้​ด้วย​ความ​เต็มใจ​เหมือน​กับ​รับใช้​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า มิใช่​รับใช้​มนุษย์ 8 ​ท่าน​รู้อยู่​แล้ว​ว่า​ถ้า​แต่ละ​คน​ทำดี​ไว้​อย่างไร ก็​จะ​ได้​รับ​ค่าตอบแทน​จาก​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ไม่ว่า​เขา​จะ​เป็น​ทาส​หรือ​เป็น​อิสระ​ก็ตาม” อฟ 6.5-8) ท่านก็แนะนำเจ้านายว่า “เจ้านาย จง​ปฏิบัติ​ต่อ​ทาส​เช่นเดียวกัน จง​ละเว้น​การ​ข่มขู่​ต่างๆ ท่าน​ย่อม​รู้อยู่​ว่า ​พระ​องค์​ผู้​ทรง​เป็น​นาย​ทั้ง​ของ​ท่าน​และ​ของ​เขา​นั้น​สถิต​อยู่​ใน​สวรรค์​และ​ไม่​ทรง​ลำเอียง​” (อฟ 6.9)

          ในบทจดหมายถึงชาวโคโลสี เปาโลแนะนำทาสทำงานให้นายเยี่ยงทำงานให้พระเจ้า ต่อนายท่านก็แนะว่าพวกเขามีจ้าวเหนือหัวบนสวรรค์ และดังนั้นทั้งนายและทาสก็เท่าเทียมกันเพราะต่างมีนายสูงสุดองค์เดียวกัน

          ในบทจดหมายถึงฟีเลโมนเปาโลได้เตือนให้นายมองข้ามประเพณีปฏิบัติต่อทาส แต่ให้มองไปยังคำสอนพระคริสต์ที่เน้นการเป็นพี่เป็นน้องในองค์พระคริสต์ นั่นคือฟีเลโมนควรให้อภัยโอเนสิมัส ทั้งๆ ที่ทาสได้ทำผิด (ฟม 16) ฟีเลโมนและโอเนสิมัสเท่าเทียมกันในพระคริสต์ เปาโลเองก็ทำตนให้เท่าเทียมกับทั้งนายและทาส โดยการสละสิทธิอภิสิทธิ์ของการมีสัญชาติโรมัน (ฟม 18)

คำสอนของเปาโลต่อยุคปัจจุบัน

           พระศาสนจักรแรกเริ่มมองตัวเองว่าเป็นเครื่องมือเรียกปวงชนให้มาสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ในพระคริสต์ พบปัญหาระหว่างข่าวดีที่เน้นความเท่าเทียมกัน และความต้องการที่จะไม่ให้การประกาศข่าวดีสะดุด จึงไม่เน้นบทบาทของปัจเจกบุคคลในสังคมมากนัก

            คริสตชนไม่ต้องปฏิบัติตามระบบเก่า หรือกฏวัฒนธรรม พวกเขาถูกเรียกให้เป็นแบบอย่างในกลุ่มคริสตชนด้วยกัน การปฏิบัติเช่นนี้เรียกร้องให้มีความเชื่อและความกล้าหาญ เนื่องจากว่าพระศาสนจักรเพิ่งเกิดใหม่ ที่ไม่ช้านานก็จะเป็นศาสนานอกกฏหมาย การต่อต้านระบบทาสของกรีก-โรมันจะไม่เป็นผลดีต่อการประกาศพระวรสารในช่วงนั้น อย่างไรก็ดีเปาโลได้หว่านเมล็ดที่จะทำลายร้างระบบทาสแล้ว ข่าวดีของพระคริสต์จะนำความเสมอภาคแก่สถาบันสังคมในที่สุด

            ปัจจุบันพระศาสนจักรมีหน้ามีตามีปากมีเสียงในสังคม เราเผชิญหน้ากับระบบทาสที่เป็นธุระกิจ หล่อเลี้ยงด้วยความเกลียดชังและกำไร การประกาศข่าวดีคือการแก้ปัญหาของคนที่ทนทุกข์ และช่วยเหลือคนที่ตกขอบสังคมและถูกเอารัดเอาเปรียบ ถึงเวลาที่ต้องลงมือปฏิบัติแล้ว

อ้างอิง
•    http://www.hypersync.net/mt/2003/03/slavery_grecoroman_artical_ass.html
•    Bible Study Magazine,Sep/Oct 2012,  pp. 36-37

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก