“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“หินที่ช่างก่อสร้างทิ้งเสียนั้น ได้กลายเป็นศิลาหัวมุม”

61. อุปมาเรื่องคนเช่าสวนชั่วร้าย (มก 12:1-12)
     12 1พระเยซูเจ้าตรัสเรื่องอุปมาให้บรรดาผู้นำชาวยิวฟังว่า “ชายคนหนึ่งปลูกองุ่นไว้สวนหนึ่ง ทำรั้วล้อม ขุดบ่อย่ำผลองุ่น สร้างหอเฝ้า ให้ชาวสวนเช่า แล้วก็ออกเดินทางไปต่างเมือง 2เมื่อถึงเวลากำหนด เขาก็ใช้ผู้รับใช้คนหนึ่งไปหาคนเช่าสวน เพื่อรับส่วนแบ่งจากผลผลิตของสวน 3แต่คนเช่าสวนจับผู้รับใช้คนนั้นทุบตี แล้วไล่กลับไปมือเปล่า 4เจ้าของสวนจึงส่งผู้รับใช้ไปอีกคนหนึ่ง คนเช่าสวนตีหัวและด่าว่าผู้รับใช้คนนี้อย่างหยาบคาย

5เจ้าของสวนส่งผู้รับใช้ไปอีกคนหนึ่ง คนเช่าสวนก็ฆ่าเขา เจ้าของสวนยังส่งผู้รับใช้คนอื่นไปอีกหลายคน ก็ถูกคนเช่าสวนทุบตีบ้าง ฆ่าเสียบ้าง 6เจ้าของสวนยังมีคนเหลืออยู่อีกคนหนึ่ง คือบุตรสุดที่รัก เขาจึงส่งบุตรไปเป็นคนสุดท้าย โดยคิดว่า ‘พวกนั้นคงจะเกรงใจลูกของเราบ้าง’ 7แต่คนเช่าสวนเหล่านั้นพูดกันว่า ‘คนคนนี้เป็นทายาท เราจงฆ่าเขาเถิด มรดกจะได้ตกเป็นของเรา’ 8แล้วเขาก็จับบุตรของเจ้าของสวนฆ่า ทิ้งศพไว้นอกสวน 9เจ้าของสวนจะทำอย่างไร เขาจะมาทำลายคนเช่าสวนเหล่านั้น แล้วยกสวนให้คนอื่นเช่า 10ท่านทั้งหลายไม่ได้อ่านพระคัมภีร์ตอนนี้หรือว่า ‘หินที่ช่างก่อสร้างทิ้งเสียนั้น ได้กลายเป็นศิลาหัวมุม
11องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกระทำเช่นนั้น’” เป็นที่น่าอัศจรรย์กับเรายิ่งนัก 12บรรดาผู้นำชาวยิวพยายามจับกุมพระองค์ เพราะรู้ว่าพระองค์ตรัสอุปมานี้กระทบถึงเขา แต่เขายังเกรงประชาชนอยู่จึงผละจากพระองค์ไป

a) อธิบายความหมาย
ในข้อความที่แล้ว เมื่อบรรดาสมณะ บรรดาธรรมจารย์และผู้อาวุโสทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “ใครมอบอำนาจให้ท่านทำการเหล่านี้” พระองค์ไม่ทรงตอบ แต่บัดนี้ ประทานคำตอบโดยทรงเล่าอุปมาพิเศษไม่เหมือนกับอุปมาอื่น ๆ ที่ได้ตรัสให้ประชาชนฟัง บรรยากาศตึงเครียดซึ่งมุ่งไปสู่ชะตากรรมของบุตรชายเจ้าของสวนและชะตากรรมของคนเช่าสวน การเป็นศัตรูแสดงออกยิ่งทียิ่งมากขึ้น เช่น ทุบตีแล้วไล่กลับไปมือเปล่า ตีหัวและด่าว่าหยาบคาย ฆ่าเสีย ส่วนเจ้าของสวนแสดงความเพียรทนอย่างเหลือเชื่อและความซื่อ เรื่องนี้เป็นอุปมานิทัศน์แห่งความรอดพ้น

- พระเยซูเจ้าตรัสเรื่องอุปมาให้บรรดาผู้นำชาวยิวฟังว่า พระเยซูเจ้าทรงเล่าอุปมานี้เพื่อสรุปประวัติศาสตร์ทั้งหมดของประชากรอิสราเอล และเพื่อผู้ฟังจะเข้าใจว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใดในบริบทดังกล่าว

- “ชายคนหนึ่งปลูกองุ่นไว้สวนหนึ่ง เราพบภาพของสวนองุ่นบ่อย ๆ ในพันธสัญญาเดิมหมายถึงชาวอิสราเอล (เช่น อสย 5:1-7; ฉธบ 32:32; สดด 80:9-17; ฮชย 10:1; ยรม 2:2, 12:10 ฯลฯ)

- ทำรั้วล้อม ขุดบ่อย่ำผลองุ่น สร้างหอเฝ้า ให้ชาวสวนเช่า แล้วก็ออกเดินทางไปต่างเมือง การกระทำเช่นนี้สอดคล้องกับการทำกสิกรรมในดินแดนปาเลสไตน์ทั้งในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เรายังสามารถเห็นตัวอย่างของหอเฝ้าคอยที่นั่น ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อตื่นเฝ้าระวังมิให้คนเข้ามาขโมยองุ่นที่สุกในฤดูกาลเก็บเกี่ยว

- เมื่อถึงเวลากำหนด เขาก็ใช้ผู้รับใช้คนหนึ่งไปหาคนเช่าสวน เพื่อรับส่วนแบ่งจากผลผลิตของสวน ค่าเช่าสวนไม่คิดเป็นจำนวนเงิน แต่คิดเป็นจำนวนผลองุ่น เจ้าของสวนคงได้ตกลงกับผู้เช่าสวนแล้วว่า จะต้องแบ่งผลผลิตให้แก่ตนเป็นอัตราส่วนเท่าใด

- แต่คนเช่าสวนจับผู้รับใช้คนนั้นทุบตี แล้วไล่กลับไปมือเปล่า เจ้าของสวนจึงส่งผู้รับใช้ไปอีกคนหนึ่ง คนเช่าสวนตีหัวและด่าว่าผู้รับใช้คนนี้อย่างหยาบคาย เจ้าของสวนส่งผู้รับใช้ไปอีกคนหนึ่ง คนเช่าสวนก็ฆ่าเขา เจ้าของสวนยังส่งผู้รับใช้คนอื่นไปอีกหลายคน ก็ถูกคนเช่าสวนทุบตีบ้าง ฆ่าเสียบ้าง น่าสังเกตว่า คนเช่าสวนใช้ความรุนแรงยิ่งทียิ่งมากขึ้น หลังจากเจ้าของสวนส่งผู้รับใช้ 3 คนแรกไปแล้ว วลีที่ว่า “เจ้าของสวนยังส่งผู้รับใช้คนอื่นไปอีกหลายคน” ชวนให้คิดว่ายังมีผู้รับใช้อีกหลายคนที่ถูกคนเช่าสวนด่าว่าอย่างหยาบคาย ทุบตีบ้างและฆ่าเสีย เหตุการณ์นี้ก็สมจริงถ้าคำนึงถึงความเพียรทนของเจ้าของสวน ซึ่งต้องการอ้างถึงพระทัยดีของพระเจ้าต่ออิสราเอล พระองค์ไม่ทรงหยุดยั้งที่จะทรงส่งผู้รับใช้ของพระองค์ คือบรรดาประกาศกและผู้ชอบธรรมอื่น ๆ เช่น โมเสส เอลียาห์ ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง แก่ประชากรของพระองค์ (เทียบ อมส 3:7; ยรม 7:25; 29:19; อสค 38:17; ศคย 1:6) แม้หลายคนก็ถูกเบียดเบียน ถูกทารุณกรรมและถูกฆ่า (เทียบ 1 พกษ 18:13; 22:27; ยรม 37:15; มธ 5:12; 23:29-36; ลก 6:23; 41:45-51; กจ 7:52; ฮบ 11:32-39)

- เจ้าของสวนยังมีคนเหลืออยู่อีกคนหนึ่ง คือบุตรสุดที่รัก เขาจึงส่งบุตรไปเป็นคนสุดท้าย โดยคิดว่า ‘พวกนั้นคงจะเกรงใจลูกของเราบ้าง’ ในตรงนี้ อุปมานิทัศน์บรรลุความหมายพิเศษสุด เพราะเล่าเรื่องที่ไม่มีเจ้าของสวนคนใดยอมส่งบุตรของตนไปเสี่ยงชีวิต เราเคยพบวลีที่ว่า “บุตรสุดที่รัก” เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง (เทียบ 1:11) และเมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ (เทียบ 9:7) และยังเป็นวลีที่ชวนให้คิดถึงอิสอัค บุตรชายของอับราฮัม (เทียบ ปฐก 22:2-16) และนางซาราห์บุตรสาวของรากูเอล (เทียบ ทบต 3:10) ซึ่งชี้ให้เห็นไม่เพียงความรักที่ผูกพันระหว่างบิดากับบุตรเท่านั้น แต่ยังต้องการบอกว่าเป็นบุตรเพียงคนเดียวอีกด้วย ข้อนี้ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก สอดคล้องกับความคิดที่เราพบในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นว่า “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์” (ยน 3:16)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก