ทูตสวรรค์ของพระยาห์เวห์แจ้งเรื่องหายนะแก่ชาวอิสราเอลa

2 1ทูตสวรรค์ของพระยาห์เวห์bขึ้นจากเมืองกิลกาลไปถึงเมืองโบคิมc กล่าวว่า “เราพาท่านทั้งหลายออกจากอียิปต์ นำท่านมาถึงแผ่นดินที่เราสาบานไว้แก่บรรดาบรรพบุรุษของท่าน เรากล่าวว่า ‘เราจะไม่ละเมิดพันธสัญญาที่ทำไว้กับท่านทั้งหลาย 2ท่านจะต้องไม่ทำพันธสัญญาใดๆ กับชาวเมืองของแผ่นดินนี้ ท่านจะต้องรื้อทำลายแท่นบูชาของเขา’ แต่ท่านไม่ได้เชื่อฟังเสียงของเรา ทำไมท่านจึงทำเช่นนี้ 3ดังนั้น เราจึงบอกท่านว่า ‘เราจะไม่ขับไล่ชนชาติเหล่านี้ออกไปต่อหน้าท่าน เขาจะเป็นหอกข้างแคร่ของท่านd เทพเจ้าของเขาจะเป็นอันตรายเหมือนหลุมพรางดักท่าน’” 4เมื่อทูตสวรรค์ของพระยาห์เวห์กล่าวถ้อยคำเหล่านี้แก่ชาวอิสราเอลทั้งหลายแล้ว ประชากรก็พากันร้องไห้เสียงดัง 5เขาจึงเรียกสถานที่นั้นว่าโบคิมe และถวายเครื่องบูชาแด่พระยาห์เวห์ที่นั่น

II. บทนำที่สอง

 

ข้อคิดทั่วไปเกี่ยวกับสมัยผู้วินิจฉัยปกครองf

6เมื่อโยชูวาปล่อยประชากรกลับบ้าน ชาวอิสราเอลต่างก็ไปยังแผ่นดินที่เป็นมรดกของตน และยึดเป็นกรรมสิทธิ์ 7ประชากรรับใช้พระยาห์เวห์ตราบเท่าที่โยชูวามีชีวิตอยู่ หลังจากที่โยชูวาถึงแก่กรรมแล้ว เขาคงรับใช้พระองค์ตลอดชีวิตของบรรดาผู้อาวุโส ซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ทุกอย่างที่พระยาห์เวห์ทรงกระทำเพื่ออิสราเอล 8โยชูวาบุตรของนูนผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้หนึ่งร้อยสิบปี 9ชาวอิสราเอลฝังเขาไว้ในเขตแดนซึ่งเป็นมรดกของเขาที่ทิมนาทเฮเรสในแถบภูเขาเอฟราอิม ทางเหนือของภูเขากาอัช 10เมื่อชนรุ่นเดียวกับโยชูวาสิ้นชีวิตหมดแล้วก็มีชนรุ่นใหม่เกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้จักพระยาห์เวห์และกิจการที่ทรงกระทำเพื่อชาวอิสราเอลg

 

การอธิบายเหตุการณ์ในสมัยผู้วินิจฉัยตามความคิดทางเทววิทยาh

11ชาวอิสราเอลทำสิ่งเลวร้ายเฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์ หันไปรับใช้พระบาอัลต่างๆ 12เขาละทิ้งพระยาห์เวห์พระเจ้าของบรรพบุรุษซึ่งทรงนำเขาออกจากแผ่นดินอียิปต์ แล้วติดตามเทพเจ้าอื่น ในบรรดาเทพเจ้าของชนชาติที่อยู่โดยรอบ เขากราบไหว้เทพเจ้าเหล่านี้ จึงทำให้พระยาห์เวห์กริ้ว 13เขาละทิ้งพระยาห์เวห์หันไปรับใช้พระบาอัลและพระอัชทาโรทต่างๆi 14พระยาห์เวห์ทรงพระพิโรธชาวอิสราเอลอย่างยิ่ง ทรงมอบเขาไว้ในมือของผู้รุกรานซึ่งเข้ามาปล้น ทรงขายเขาแก่ศัตรูที่อยู่โดยรอบ เขาต้านทานศัตรูไม่ได้อีกต่อไป 15ทุกครั้งที่ชาวอิสราเอลออกไปทำสงคราม พระยาห์เวห์ทรงบันดาลให้เขาพ่ายแพ้ ดังที่เคยตรัสและทรงสาบานไว้ เขาต้องลำบากมาก

16แล้วพระยาห์เวห์ทรงบันดาลให้มีผู้วินิจฉัยjหลายท่านมาช่วยเขาให้พ้นจากเงื้อมมือของผู้รุกราน 17แต่เขาไม่ยอมเชื่อฟังผู้วินิจฉัยเหล่านี้ ทั้งยังขายตัวเหมือนหญิงแพศยาk ไปนมัสการเทพเจ้าอื่น และกราบไหว้เทพเจ้าเหล่านั้น เขาหันเหอย่างรวดเร็วไปจากหนทางที่บรรดาบรรพบุรุษเคยเดิน เขาไม่ทำตามแบบอย่างของบรรพบุรุษที่เชื่อฟังบทบัญญัติของพระยาห์เวห์ 18เมื่อพระยาห์เวห์ประทานผู้วินิจฉัยให้เขา พระองค์สถิตกับผู้วินิจฉัยผู้นั้น และทรงช่วยชาวอิสราเอลให้พ้นจากเงื้อมมือของศัตรูตราบเท่าที่ผู้วินิจฉัยผู้นั้นมีชีวิตอยู่ เพราะพระยาห์เวห์ทรงพระเมตตาสงสารเสียงคร่ำครวญของเขาที่มีความทุกข์เพราะถูกกดขี่ 19แต่เมื่อผู้วินิจฉัยถึงแก่กรรมแล้ว เขาก็กลับไปประพฤติชั่วร้ายยิ่งกว่าชนรุ่นก่อนๆ เสียอีก เขาติดตามเทพเจ้าอื่นไปรับใช้และกราบไหว้เทพเจ้าเหล่านั้น ไม่ยอมเลิกกระทำเลวร้าย และดื้อดึงไม่ยอมเปลี่ยนความประพฤติของตน

 

เหตุผลที่ยังมีชาวคานาอันเหลืออยู่l

20พระยาห์เวห์กริ้วชาวอิสราเอลอย่างยิ่ง ตรัสว่า “ชนชาตินี้ละเมิดพันธสัญญาที่เราได้ทำไว้กับบรรดาบรรพบุรุษของเขา เขาไม่ยอมเชื่อฟังเสียงของเรา 21เราจึงจะไม่ขับไล่ชนชาติต่างๆ ที่ยังเหลืออยู่ให้พ้นจากเขาอีกต่อไปหลังจากโยชูวาถึงแก่กรรมแล้ว 22เราจะได้ใช้ชนชาติเหล่านี้ทดสอบว่า ชาวอิสราเอลจะเดินตามหนทางของพระยาห์เวห์ ดังที่บรรดาบรรพบุรุษของเขาเคยเดินหรือไม่” 23พระยาห์เวห์ทรงปล่อยชนชาติเหล่านี้ไว้ ไม่ได้ทรงรีบขับไล่เขาออกไป และไม่ได้ทรงมอบเขาไว้ในมือของโยชูวา

 

2 a ผู้เรียบเรียงจากสำนักเฉลยธรรมบัญญัติเพิ่มบทที่ 1 แล้วจึงอธิบายว่าทำไมชาวอิสราเอลไม่สามารถยึดครองแผ่นดินคานาอันได้ทั้งหมด โดยให้เหตุผลตามแนวความคิดทางเทววิทยา ยชว 23:12-13 ใช้คำอธิบายเช่นนี้กับชื่อสถานที่แห่งหนึ่งในบริเวณเมืองเบธเอล (ข้อ 4-5) ด้วย

b “ทูตสวรรค์ของพระยาห์เวห์” หมายถึงพระเจ้าเอง ในลักษณะที่มนุษย์มองเห็นได้ (ดู ปฐก 16:7 เชิงอรรถ c) เทียบการที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่โยชูวาที่เมืองกิลกาล (ยชว 5:13-15 ดู ยชว 4:19 เชิงอรรถ b เรื่องเมืองกิลกาล)

c “เมืองโบคิม” ต้นฉบับภาษากรีกว่า “เมืองเบธเอล”

d “หอกข้างแคร่” ต้นฉบับแปลโบราณว่า “ผู้กดขี่”

e “โบคิม” แปลว่า “ผู้ร้องไห้” เราไม่ทราบว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน บางคนคิดว่าหมายถึง “ต้นโอ๊กแห่งน้ำตา” ใกล้เมืองเบธเอล ใน ปฐก 35:8

f บทนำเรื่องราวในหนังสือผู้วินิจฉัยฉบับดั้งเดิมคงเป็นเพียง 2:11-19 ก่อนจะเล่าเรื่องต่อไปตั้งแต่ 3:7 ส่วน 2:6-10 เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อเชื่อมกับหนังสือ ยชว โดยซ้ำข้อความตอนปลายของหนังสือนั้น (เช่นเดียวกับ อสร 1:1-3 ซ้ำ 2 พศด 36:22-23) และ 2:20-3:6 ยังอธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมชนต่างชาติยังคงอยู่ในแผ่นดินอิสราเอล

g ข้อนี้ไม่มีใน ยชว 24 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องเดียวกัน เมื่อโยชูวาและคนร่วมสมัยกับท่านถึงแก่กรรมแล้ว ชาวอิสราเอลก็มีโอกาสง่ายขึ้นที่จะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์

h ในข้อความต่อไปนี้ ผู้เรียบเรียงหนังสือ วนฉ ครั้งแรกตามแนวความคิดของสำนักเฉลยธรรมบัญญัติ เสนอแนวความคิดซึ่งจะนำมาใช้เป็นโครงสร้างของเรื่องราวเกี่ยวกับผู้วินิจฉัยแต่ละท่าน (ดู 3:7 เชิงอรรถ c) เช่นใน 3:7-9, 12-15; 4:1ฯ; 6:10; 10:6; ฯลฯ แนวความคิดนี้คือ (1) อิสราเอลละทิ้งพระยาห์เวห์ไปนับถือพระบาอัล (2) พระยาห์เวห์ทรงมอบอิสราเอลให้ศัตรูกดขี่ (3) อิสราเอลร้องหาพระยาห์เวห์ (4) พระยาห์เวห์ทรงส่งผู้วินิจฉัยมากอบกู้อิสราเอล วนเวียนอยู่เช่นนี้ทุกครั้ง การเล่าเรื่องราวต่อเนื่องกันตามโครงสร้างทางเทววิทยานี้ตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานที่ว่า ผู้วินิจฉัยแต่ละท่านทำหน้าที่ต่อเนื่องกันตามลำดับที่เขียนไว้ในหนังสือ และแต่ละท่านช่วยชาวอิสราเอลทุกเผ่า แต่สมมติฐานทั้งสองข้อนี้เป็นจริงได้ยาก เรื่องราวของผู้วินิจฉัยแต่ละท่านเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับวีรบุรุษท้องถิ่นหลายเรื่อง ซึ่งผู้เรียบเรียงนำมาเล่าไว้ให้ต่อเนื่องตามกรอบโครงสร้างดังกล่าว

i ในพระคัมภีร์ วลีที่ว่า “พระบาอัลและพระอัชทาโรทต่างๆ” หมายถึงบรรดาเทพเจ้าที่ชาวคานาอันโดยทั่วไปนับถือ “บาอัล” “เจ้านาย” เป็นเทพเจ้าเพศชายที่ให้กำเนิดสิ่งต่างๆ บ่อยครั้งได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นเจ้าที่ ส่วนพระอัชทาโรทหรือเทพีอิชทาร์ของชาวอัสซีเรียเป็นเทพเจ้าหญิงแห่งความรักและความอุดมสมบูรณ์ เทพเจ้าหญิงอีกองค์หนึ่งที่ชื่ออาเชราห์ บางครั้งคิดว่าเป็นเทพีองค์เดียวกันกับพระอัชทาโรท (ดู อพย 34:13 เชิงอรรถ e เทียบ วนฉ 3:7; 2 พกษ 23:4) และบางครั้งหมายถึง “เสาศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพีองค์นี้

j “ผู้วินิจฉัย” ดู 3:7 เชิงอรรถ b

k “ขายตัวเหมือนหญิงแพศยา” เป็นสำนวนเปรียบเทียบ หมายถึงการกราบไหว้เทวรูปของเทพเจ้าต่างๆ (ดู ลนต 17:7; ฉธบ 31:16; อสย 1:21; อสค 16:16; ฮชย 1:2)

l วนฉ 2:11-15 (ดู 2:3) กล่าวว่าพระเจ้าทรงปล่อยชนชาติต่างๆ ไว้ในแผ่นดินคานาอัน เพื่อลงโทษความไม่ซื่อสัตย์ของชาวอิสราเอล แต่ในข้อความนี้ยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ เพื่อพระยาห์เวห์จะทรงทดสอบดูว่าชาวอิสราเอลจะซื่อสัตย์หรือไม่ (ข้อ 22-23; 3:1, 4) ข้อความเพิ่มเติมของผู้คัดลอกใน 3:2 ยังให้เหตุผลอีกแบบหนึ่ง คือเพื่อชาวอิสราเอลจะได้ฝึกตนให้พร้อมจะทำสงครามอยู่เสมอ เหตุผลอื่นๆ ยังพบได้อีกใน อพย 23:29 และ ฉธบ 7:22 คือป้องกันไม่ให้สัตว์ป่ามีจำนวนมากจนเข้ามารบกวนชาวอิสราเอล และใน ปชญ 12:3-22 คือเพื่อให้ชนต่างชาติเหล่านี้มีเวลาสำนึกตน กลับใจมายอมรับพระยาห์เวห์