“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ของของซีซาร์จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้าก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด”

62. การเสียภาษีแก่ซีซาร์ (มก 12:13-17)
    
12 13ต่อมา เขาได้ส่งชาวฟาริสีและคนบางคนที่เป็นผู้นิยมกษัตริย์เฮโรดมาพบพระเยซูเจ้า หมายจะจับผิดพระวาจาของพระองค์ 14คนเหล่านั้นทูลว่า “พระอาจารย์ พวกเรารู้ว่า ท่านเป็นคนเที่ยงตรง ไม่ลำเอียง ท่านไม่เห็นแก่หน้าใคร แต่สั่งสอนวิถีทางของพระเจ้าตามความจริง เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่จะเสียภาษีแก่ซีซาร์ เราต้องเสียภาษีหรือไม่ต้องเสียภาษี” 15พระองค์ทรงทราบความเจ้าเล่ห์ของเขา จึงตรัสว่า “มาทดสอบเราทำไม เอาเงินเหรียญมาให้เราดูสักเหรียญหนึ่งซิ” 16เขาก็นำเงินเหรียญหนึ่งมาถวาย พระองค์จึงตรัสถามว่า “รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร” เขาก็ตอบว่า “เป็นของซีซาร์” 17พระองค์จึงตรัสว่า “ของของซีซาร์จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้าก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด” คนเหล่านั้นต่างประหลาดใจในพระองค์


a) อธิบายความหมาย
            เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นวันที่สามในสัปดาห์การรับทรมานของพระเยซูเจ้าคือ วันอังคารศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ในบริเวณพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม และทรงเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้อริอีกกลุ่มหนึ่ง นี่เป็นการโต้เถียงครั้งที่ 2ระหว่างพระเยซูเจ้ากับหัวหน้าชาวยิว ซึ่งนักบุญมาระโกรวบรวมไว้ทั้งหมดเป็น 5 ครั้ง ในข้อความ11:27-12:37 เมื่อสมาชิกสภาซันเฮดรินไม่ประสบความสำเร็จในการโต้เถียงครั้งแรก ก็คิดหาอีกวิธีหนึ่งเพื่อจับผิดพระเยซูเจ้าโดยวางกับดักในเรื่องการเมือง

- ต่อมา เขาได้ส่งชาวฟาริสีและคนบางคนที่เป็นผู้นิยมกษัตริย์เฮโรดมาพบพระเยซูเจ้า นักบุญมาระโกเคยเล่าเหตุการณ์ที่ชาวฟาริสีรวมหัวกับผู้นิยมกษัตริย์เฮโรด “เพื่อปรึกษาว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร” (มก 3:6) เวลานั้น บุคคลเหล่านี้อยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม เพราะใกล้ถึงเทศกาลปัสกา โดยทั่วไปแล้ว ชาวฟาริสีไม่พอใจที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลโรมัน แต่ก็ยอมจำนนต่อสถานการณ์เช่นนี้เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนผู้นิยมกษัตริย์เฮโรดสนันสนุนการปกครองของรัฐบาลโรมัน

- หมายจะจับผิดพระวาจาของพระองค์ ถ้าแปลตามต้นฉบับภาษากรีกตามตัวอักษรได้ว่า “เพื่อจับผิดพระองค์ด้วยคำพูด” ซึ่งอาจหมายความว่าทำให้พระองค์ตรัสบางสิ่งบางอย่างที่ต้องเสี่ยง เพราะอาจตีความหมายว่าเป็นการสบประมาทรัฐบาลโรมัน นักบุญลูกาปรับปรุงประโยคนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เขาเขียนว่า “เพื่อให้มาจับผิดพระองค์ในพระวาจา จะได้มอบพระองค์ให้ผู้ว่าราชการซึ่งมีอำนาจตัดสิน” (ลก 20:20)

- คนเหล่านั้นทูลว่า “พระอาจารย์ พวกเรารู้ว่า ท่านเป็นคนเที่ยงตรง ไม่ลำเอียง ท่านไม่เห็นแก่หน้าใคร แม้คำชมเชยนี้ไม่ออกมาจากความจริงใจ เพราะมีจุดประสงค์ที่จะคอบจับผิดพระเยซูเจ้า แต่ยังเป็นการยอมรับพฤติกรรมไม่มีที่ติของพระเยซูเจ้าและสะท้อนความเคารพอย่างสูงที่ประชาชนมีต่อพระองค์

- แต่สั่งสอนวิถีทางของพระเจ้าตามความจริง สำนวน “วิถีทางของพระเจ้า” มีรากฐานในภาษาฮีบรู หมายถึงวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งตรงกันข้ามกับ “วิถีทางของมนุษย์” คือพฤติกรรมของคนบาป

- เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่จะเสียภาษีแก่ซีซาร์ เราต้องเสียภาษีหรือไม่ต้องเสียภาษี” นอกจากภาษีที่ชาวยิวต้องจ่ายทางอ้อม เช่น ค่าธรรมเนียมในการใช้ถนน ภาษีสินค้าการนำเข้าหรือการส่งออก และภาษีอื่น ๆ อีกมากมาย ชาวยิวแต่ละคนต้องจ่ายภาษีรายหัวแก่รัฐบาลโรมัน ยกเว้น เด็กทารกและผู้สูงอายุเท่านั้น

- พระองค์ทรงทราบความเจ้าเล่ห์ของเขา จึงตรัสว่า “มาทดสอบเราทำไม เอาเงินเหรียญมาให้เราดูสักเหรียญหนึ่งซิ” พระเยซูเจ้าทรงทราบถึงความเจ้าเล่ห์ของผู้ตั้งคำถาม เพราะไม่ว่าพระองค์จะทรงตอบอย่างไรก็จะทำให้กลุ่มหนึ่งไม่พอใจ และเป็นศัตรูกับพระองค์ คือถ้าพระองค์ตอบว่า “ต้องเสียภาษี” ประชาชนส่วนใหญ่ที่ต่อต้านการจ่ายภาษีก็ไม่พอใจพระองค์ แต่ถ้าพระองค์ตอบว่า “ไม่ต้องเสียภาษี” สมาชิกสภาซันเฮดรินจะฟ้องคำพูดของพระองค์แก่ชาวโรมันผู้มีอำนาจปกครอง ซึ่งจะทำให้ไม่พอใจและจัดการกับพระองค์

- เขาก็นำเงินเหรียญหนึ่งมาถวาย เงินที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อเสียภาษีแก่ซีซาร์เป็นเงินเหรียญกษาปณ์ประเภทเงินผลิตที่กรุงโรม หนึ่งเหรียญมีน้ำหนัก 327.50 กรัม และมีมูลค่าเท่ากับค่าจ้าง ของผู้ใช้แรงงานกสิกรรมใน 1 วัน

- พระองค์จึงตรัสถามว่า “รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร” เขาก็ตอบว่า “เป็นของซีซาร์” เงินเหรียญนี้มีรูปของจักรพรรดิทิเบริอุสผู้ทรงครองราชย์ในเวลานั้น และมีตัวอักษรจารึกไว้ว่า “ทิเบริอุส ซีซาร์ เอากุสตุส โอรสของพระเจ้าเอากุสตุส” คำถามของพระเยซูเจ้าบังคับศัตรูของพระองค์ให้ยอมรับว่าเขามีเงินของรัฐบาลโรมัน ในด้านปฏิบัติชาวยิวที่มีเงินตรานั้นจึงแสดงว่า เขายอมรับอำนาจของจักรพรรดิเหนือตนเอง

- พระองค์จึงตรัสว่า “ของของซีซาร์จงคืนให้ซีซาร์ “ของของซีซาร์” หมายถึงเงินตราที่มีรูปจักรพรรดิและผลิตที่กรุงโรม รวมทั้งอำนาจบังคับของกฎหมายในเขตปกครองของรัฐบาลโรมัน

- และของของพระเจ้าก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด” “ของของพระเจ้า” หมายถึงมนุษย์ทุกคนที่ถูกสร้างตามภาพลักษณ์ของพระองค์ รวมทั้งใจมนุษย์ที่ต้องรักและเคารพพระเจ้าแท้เพียงพระองค์เดียว

- คนเหล่านั้นต่างประหลาดใจในพระองค์ น่าสังเกตว่า คู่อริของพระเยซูเจ้าเพียงประหลาดในพระวาจาของพระองค์เท่านั้นแต่ไม่กลับใจ ส่วนคริสตชนผู้อ่านพระวาจานี้ต้องค้นพบพฤติกรรมถูกต้องเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า ซึ่งมีคุณค่าตลอดไป

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก