“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รัชสมัยกษัตริย์อาคัสแห่งยูดาห์ (736-716 ก่อน ค.ศ.)

16 1ปีที่สิบเจ็ดในรัชกาลกษัตริย์เปคาห์บุตรของเรมาลิยาห์ อาคัสพระโอรสของกษัตริย์โยธามทรงเป็นกษัตริย์ปกครองยูดาห์ 2พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์เมื่อพระชนมายุได้ยี่สิบพรรษา และทรงครองราชย์เป็นเวลาสิบหกปีที่กรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ไม่ทรงกระทำสิ่งที่พระยาห์เวห์ทรงเห็นว่าถูกต้อง ต่างจากที่กษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษทรงกระทำ 3พระองค์ทรงดำเนินตามวิถีทางของกษัตริย์แห่งอิสราเอล ทรงเผาพระโอรสเป็นเครื่องบูชาถวายรูปเคารพa ตามแบบอย่างน่ารังเกียจของชนชาติซึ่งพระยาห์เวห์ทรงขับไล่ออกไป ให้ชาวอิสราเอลเข้ามาอาศัยอยู่แทน 4พระองค์ยังทรงถวายเครื่องบูชาและทรงเผากำยานตามสักการสถานบนที่สูง บนเนินเขาและใต้ร่มไม้ทุกแห่ง

5เวลานั้น กษัตริย์เรซีนแห่งอารัมและเปคาห์บุตรของเรมาลิยาห์ กษัตริย์แห่งอิสราเอลทรงยกทัพมาโจมตีกรุงเยรูซาเล็มและล้อมเมืองไว้ แต่ยึดเมืองไม่ได้b 6เวลาเดียวกันนั้น กษัตริย์เรซีนแห่งอารัมทรงยึดเมืองเอลัทกลับคืนมาอยู่ในปกครองของอารัม ทรงขับไล่ชาวยูดาห์ออกจากเมืองเอลัทให้ชาวเอโดมcกลับมาอาศัยอยู่ที่เมืองเอลัท และยังคงอาศัยอยู่ที่นั่นจนถึงทุกวันนี้ 7กษัตริย์อาคัสทรงส่งทูตไปเฝ้ากษัตริย์ทิกลัทปิเลเสอร์แห่งอัสซีเรีย ทูลว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ยอมอยู่ใต้ปกครองของพระองค์d โปรดเสด็จมาช่วยข้าพเจ้าให้พ้นพระหัตถ์ของกษัตริย์แห่งอารัมและของกษัตริย์แห่งอิสราเอลซึ่งยกทัพมาโจมตีข้าพเจ้าเถิด” 8กษัตริย์อาคัสทรงนำเงินและทองคำที่อยู่ในพระวิหารของพระยาห์เวห์และในท้องพระคลัง ส่งไปเป็นบรรณาการถวายกษัตริย์แห่งอัสซีเรีย 9กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงทำตามคำขอร้องของพระองค์ ทรงยกทัพเข้าโจมตีกรุงดามัสกัสและทรงยึดเมืองได้ ทรงกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยที่เมืองคีร์ และทรงปลงพระชนม์กษัตริย์เรซีนe

10เมื่อกษัตริย์อาคัสเสด็จไปเฝ้ากษัตริย์ทิกลัทปิเลเสอร์แห่งอัสซีเรียที่กรุงดามัสกัส พระองค์ทอดพระเนตรเห็นแท่นบูชาที่นั่นf จึงทรงส่งแบบจำลองของแท่นบูชาพร้อมกับรายละเอียดในการสร้างไปให้สมณะอุรียาห์ 11สมณะอุรียาห์สร้างแท่นบูชาตามรายละเอียดทุกประการที่กษัตริย์อาคัสทรงส่งมาให้จากกรุงดามัสกัสเสร็จก่อนที่กษัตริย์อาคัสจะเสด็จกลับมา 12เมื่อกษัตริย์เสด็จกลับจากกรุงดามัสกัสแล้ว พระองค์ทอดพระเนตรเห็นแท่นบูชา จึงทรงเข้าไปใกล้และเสด็จขึ้นไปที่แท่นบูชา 13ทรงถวายเครื่องเผาบูชา ธัญบูชา ทรงเทเหล้าองุ่นถวายบนแท่นบูชานั้น และทรงประพรมเลือดของสัตว์ที่ถวายเป็นศานติบูชาบนแท่นบูชาด้วยg 14ส่วนพระแท่นทองสัมฤทธิ์ที่ถวายแด่พระยาห์เวห์h พระองค์ทรงเคลื่อนย้ายออกจากหน้าพระวิหาร คือระหว่างแท่นใหม่และพระวิหารของพระยาห์เวห์ ไปไว้ทางด้านเหนือของแท่นใหม่

15กษัตริย์อาคัสทรงสั่งสมณะอุรียาห์ว่า “จงใช้แท่นบูชาใหญ่นี้สำหรับถวายเครื่องเผาบูชาในเวลาเช้า ถวายธัญบูชาในเวลาเย็น สำหรับถวายเครื่องเผาบูชาและธัญบูชาของกษัตริย์ ถวายเครื่องเผาบูชา ธัญบูชาและเทเหล้าองุ่นถวายของประชาชนของแผ่นดิน จงประพรมเลือดสัตว์ที่ถวายเป็นเครื่องเผาบูชาและเครื่องบูชาอื่นๆ บนแท่นนี้ด้วย ส่วนพระแท่นทองสัมฤทธิ์นั้น เราจะใช้เพื่อปรึกษาพระยาห์เวห์”i 16สมณะอุรียาห์ก็ทำตามรับสั่งทุกประการ

          17กษัตริย์อาคัสยังทรงแยกแผงออกจากฐานที่ติดล้อ ทรงย้ายอ่างใหญ่หรือทะเลจากที่ตั้งที่เป็นรูปโคทองสัมฤทธิ์ไปวางไว้บนฐานหินj 18พระองค์ยังทรงย้ายยกพื้นที่ตั้งบัลลังก์ของกษัตริย์ออกไปจากพระวิหาร และทรงปิดทางเสด็จส่วนพระองค์เข้าไปในพระวิหารk เพื่อให้กษัตริย์แห่งอัสซีเรียพอพระทัยด้วย

19เหตุการณ์ในรัชสมัยกษัตริย์อาคัส และสิ่งอื่นๆ ที่ทรงกระทำมีบันทึกไว้ในหนังสือพงศาวดารของกษัตริย์แห่งยูดาห์ 20กษัตริย์อาคัสสิ้นพระชนม์และทรงถูกฝังไว้ในนครของกษัตริย์ดาวิด เฮเซคียาห์พระโอรสทรงครองราชย์สืบต่อมา

 

16 a การเผาบุตรเป็นเครื่องบูชาถวายเทพเจ้าเป็นพิธีที่ชนชาติเพื่อนบ้านของอิสราเอลนิยมทำกัน (17:17, 31; 21:6; 23:10) แต่พระเจ้าทรงห้ามมิให้ชาวอิสราเอลทำ (ลนต 18:21)

b “ล้อมเมือง...ยึดเมืองไม่ได้” แปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาซีเรียคและ อสย 7:1 ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ล้อมกษัตริย์อาคัส...ไม่อาจชนะพระองค์ได้” * จุดประสงค์ของสงครามครั้งนี้คือการเปลี่ยนราชวงศ์กษัตริย์แห่งยูดาห์ เพื่อให้เข้ามาเป็นพันธมิตรในการต่อต้านอำนาจของอัสซีเรีย ในโอกาสนี้ประกาศกอิสยาห์กล่าวพระวาจาเรื่อง “อิมมานูเอล” (เทียบ อสย 7-8)

c “ชาวเอโดม” แปลตามสำนวนแปลโบราณ ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ชาวอารัม” * เมืองเอลัทเป็นเมืองของชาวเอโดมที่ตกเป็นประเทศราชของยูดาห์ (ดู 14:22)

d “ยอมอยู่ใต้ปกครอง” แปลตามตัวอักษรว่า “เป็นบุตร” * กษัตริย์อาคัสทรงยอมเป็นประเทศราชของทิกลัทปิเลเสอร์ที่สามในปี 734 แต่นโยบายป้องกันตนเองโดยยอมเป็นประเทศราชเช่นนี้ เป็นการเบิกทางให้อาณาจักรยูดาห์จะถูกทำลายในที่สุด (ดู อสย 8:5ฯ)

e เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อทิกลัทปิเลเสอร์ทรงยึดกรุงดามัสกัสได้ในปี 733-732

f “แท่นบูชาที่นั่น” บางคนคิดว่าแท่นบูชานี้คือแท่นบูชาใหญ่ในวิหารของเทพเจ้าริมโมนที่กรุงดามัสกัส (เทียบ 5:18) แต่บางคนคิดว่าเป็นแท่นบูชาที่กองทัพอัสซีเรียสร้างขึ้นเพื่อถวายบูชาแด่เทพเจ้าของตน และกษัตริย์อาคัสทรงสั่งให้สร้างขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็มด้วย เพื่อให้กษัตริย์ทิกลัทปิเลเสอร์พอพระทัย และเพื่อเตือนประชาชนให้คิดว่าอัสซีเรียเป็นผู้พิทักษ์ของตน

g กษัตริย์เป็นผู้ประกอบพิธีถวายแท่นบูชาในฐานะที่ทรงเป็นสมณะในโอกาสพิเศษ กษัตริย์ยังเป็นผู้ดูแลพระวิหาร และทรงกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพิธีกรรมอีกด้วย (ดู 12:5-17) สมณะอุรียาห์จึงเป็นเพียงข้าราชบริพารคนหนึ่งเท่านั้น

h พระแท่นทองสัมฤทธิ์นี้เป็นพระแท่นที่กษัตริย์ซาโลมอนทรงตั้งไว้ตรงทางเข้าพระวิหาร (ดู 1 พกษ 8:64; 9:25)

i “เราจะใช้เพื่อปรึกษาพระยาห์เวห์” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับไม่ชัดเจน

j ต้นฉบับภาษาฮีบรูค่อนข้างสับสน เราไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นี้มีเจตนาจะปรับปรุงพิธีกรรม หรือเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อเอาทองสัมฤทธิ์ออกมาส่งเป็นบรรณาการถวายแด่กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย

k “ยกพื้น...ทางเสด็จส่วนพระองค์เข้าไปในพระวิหาร” แปลโดยคาดคะเน * กษัตริย์อาคัสคงทรงรื้อถอนเครื่องหมายแสดงอำนาจปกครองของตนในฐานะที่เป็นประเทศราช ที่ทรงกระทำเช่นนี้อาจทรงได้รับคำสั่งจากทิกลัทปิเลเสอร์ก็ได้

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก