หนังสือพงศาวดารฉบับที่สอง

 

III. เหตุการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอนa

 

พระเจ้าประทานปรีชาญาณแก่กษัตริย์ซาโลมอนตามที่ทรงอธิษฐานขอb

1 1กษัตริย์ซาโลมอนพระโอรสของกษัตริย์ดาวิดทรงครองราชย์อย่างมั่นคง พระยาห์เวห์พระเจ้าของพระองค์สถิตกับพระองค์ และทรงบันดาลให้กษัตริย์ซาโลมอนทรงยิ่งใหญ่มาก 2กษัตริย์ซาโลมอนทรงบัญชาให้ชาวอิสราเอลทั้งหลาย พร้อมกับนายพัน นายร้อย ผู้พิพากษา หัวหน้าเผ่า และหัวหน้าครอบครัวทั้งหมดในอิสราเอลมาชุมนุมกัน 3กษัตริย์ซาโลมอนเสด็จไปยังสักการสถานบนที่สูงที่เมืองกิเบโอน พร้อมกับประชาชนที่มาชุมนุมกันกับพระองค์ เพราะกระโจมนัดพบของพระเจ้า ซึ่งโมเสสผู้รับใช้พระยาห์เวห์สร้างขึ้นในถิ่นทุรกันดารอยู่ที่นั่น 4ส่วนหีบพันธสัญญาของพระเจ้านั้น กษัตริย์ดาวิดทรงนำจากเมืองคีริยาทเยอาริมมาประดิษฐานไว้ในที่ที่ทรงเตรียมให้ที่กรุงเยรูซาเล็ม 5พระแท่นบูชาทองสัมฤทธิ์ที่เบซาเลลบุตรของอุรี บุตรของคูร์สร้างขึ้น ก็อยู่ที่หน้ากระโจมนัดพบของพระยาห์เวห์ด้วย กษัตริย์ซาโลมอนเสด็จพร้อมกับประชาชนที่มาชุมนุมกัน ไปทูลถามพระยาห์เวห์ 6พระองค์เสด็จขึ้นไปที่พระแท่นบูชาทองสัมฤทธิ์เฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์ ผู้ประทับอยู่ในกระโจมนัดพบ ทรงเผาสัตว์หนึ่งพันตัวเป็นเครื่องบูชาบนพระแท่นc

          7คืนนั้น พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่กษัตริย์ซาโลมอน ตรัสว่า “ท่านจะขออะไร เราก็จะให้ท่าน” 8กษัตริย์ซาโลมอนทูลขอพระเจ้าว่า “พระองค์ทรงสำแดงความรักมั่นคงยิ่งใหญ่ต่อดาวิดพระบิดา และทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าให้เป็นกษัตริย์สืบแทนพระบิดา 9บัดนี้ ข้าแต่พระยาห์เวห์พระเจ้า ขอให้พระสัญญาของพระองค์ที่มีต่อดาวิดพระบิดาเป็นจริง เพราะพระองค์ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ปกครองประชากรจำนวนมากนับไม่ถ้วนเหมือนฝุ่นผงของแผ่นดิน     10โปรดประทานปรีชาญาณและความรู้แก่ข้าพเจ้า เพื่อจะได้เป็นผู้นำประชากรนี้ ถ้าพระองค์ไม่ประทาน ใครจะปกครองประชากรจำนวนมากเช่นนี้ของพระองค์ได้”

          11พระเจ้าตรัสตอบกษัตริย์ซาโลมอนว่า “เพราะท่านมีความปรารถนาเช่นนี้ และมิได้ขอความมั่งคั่ง ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชีวิตของศัตรู หรือขอชีวิตยืนยาวสำหรับตน แต่ได้ขอปรีชาญาณและความรู้เพื่อปกครองประชากรของเรา ซึ่งเราตั้งท่านให้เป็นกษัตริย์ของเขา 12เราจะให้ปรีชาญาณและความรู้แก่ท่าน นอกจากนี้ เราจะให้ความมั่งคั่ง ทรัพย์สมบัติ และเกียรติยศแก่ท่านอย่างที่ไม่มีกษัตริย์องค์ใดเคยมีมาก่อน หรือจะมีภายหลังท่าน”

          13กษัตริย์ซาโลมอนเสด็จจากสักการสถานบนที่สูงที่เมืองกิเบโอน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานกระโจมนัดพบ กลับไปยังกรุงเยรูซาเล็ม และทรงเป็นกษัตริย์ปกครองชาวอิสราเอล

          14กษัตริย์ซาโลมอนทรงรวบรวมรถศึกและม้า พระองค์ทรงมีรถศึกหนึ่งพันสี่ร้อยคัน และม้าหนึ่งหมื่นสองพันตัว เป็นกองทัพม้าอยู่ที่เมืองเก็บรถศึก และอยู่ใต้พระบัญชาของกษัตริย์ที่กรุงเยรูซาเล็ม 15สมัยของกษัตริย์ซาโลมอน ที่กรุงเยรูซาเล็ม เงินและทองคำมีมากเหมือนก้อนหิน และไม้สนสีดาร์ก็มีมากเหมือนไม้มะเดื่อเทศที่ปลูกไว้ในที่ราบชายทะเล 16ม้าของกษัตริย์ซาโลมอนมาจากแคว้นมูซูร์และซีลีเซียd พ่อค้าของกษัตริย์ไปซื้อมาจากที่นั่น 17บรรดาพ่อค้าซื้อรถศึกเข้ามาจากแคว้นมูซูร์ ราคาหนึ่งคันคิดเป็นเงินหนักหกร้อยบาท ส่วนม้าหนึ่งตัวราคาคิดเป็นเงินหนักหนึ่งร้อยห้าสิบบาท พ่อค้าที่ไปซื้อจะขายม้าต่อให้กษัตริย์ฮิตไทต์และกษัตริย์ซีเรีย

 

การเตรียมสร้างพระวิหาร

            18กษัตริย์ซาโลมอนตั้งพระทัยจะสร้างพระวิหารสำหรับพระนามพระยาห์เวห์ และสร้างพระราชวังสำหรับพระองค์เอง

 

1 a ในบรรดาเรื่องราวในรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอน (2 พศด 1-9) ให้ความสนใจเกือบเพียงแต่เรื่องการก่อสร้างพระวิหาร และการทำให้แผนงานของกษัตริย์ดาวิดสำเร็จเท่านั้น เรื่องราวในแง่ลบของซาโลมอนถูกมองข้าม ในตอนแรกและตอนสุดท้าย (บทที่ 1 และ 9) ความร่ำรวยและความยิ่งใหญ่ได้รับการเน้นว่ามาจากความโปรดปรานของพระเจ้า

b ผู้เขียนพงศาวดารละเว้นไม่กล่าวถึงการช่วงชิงราชสมบัติหลังจากที่กษัตริย์ดาวิดสิ้นพระชนม์ (1 พกษ 2) และเริ่มเล่าถึงรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอนตั้งแต่เรื่องพระสุบินที่เมืองกิเบโอน เขาอ้างว่าการไปทูลขอพระเจ้าที่เมืองกิเบโอนเป็นการกระทำถูกต้อง เพราะมีกระโจมนัดพบอยู่ที่นั่น (ดู 1 พศด 16:39 เชิงอรรถ e) นอกจากนั้นในข้อ 6 เขายังบอกด้วยว่าที่นั่นมีพระแท่นบูชาที่โมเสสสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อชาวอิสราเอลเดินทางอพยพในถิ่นทุรกันดาร โดยวิธีนี้ เขาจึงเน้นถึงความต่อเนื่องจากสถาบันที่โมเสสได้ตั้งขึ้น ปรีชาญาณซึ่งทรงได้รับที่เมืองกิเบโอนจะเป็นที่มาของความรุ่งเรืองของกษัตริย์ซาโลมอน

c ผู้เขียนประวัติศาสตร์ตามแนวเฉลยธรรมบัญญัติที่เขียน 1 พกษ แก้ตัวว่า การถวายบูชาในสถานที่อื่นนอกจากพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มไม่ผิด จากเหตุผลดีที่สุดว่าเพราะขณะนั้นพระวิหารยังไม่ได้สร้าง (1 พกษ 3:2) ดังนั้น ประชาชนจึงยังคงใช้สักการสถานตามที่สูงประกอบศาสนพิธีต่อมา แต่ผู้เขียนพงศาวดารกล่าวว่าสักการสถานบนที่สูงที่เมืองกิเบโอนและการถวายบูชาที่นั่นเป็นการถูกต้องเพราะมีกระโจมนัดพบและพระแท่นบูชาอยู่ที่นั่น (ดูข้อ 3; 1 พกษ 3:4-15; 1 พศด 16:39; 21:29)

d “มูซูร์” เช่นเดียวกับในหนังสือพงศ์กษัตริย์ ต้นฉบับภาษาฮีบรูกล่าวถึง “อียิปต์” (ภาษาฮีบรูว่า “mizrayim”) แทน “มูซูร์” (ภาษาฮีบรูว่า “mimmuzur”) และในข้อต่อมามีคำว่า “miqwe” (= ชุมชน [?]) แทนคำว่า “miqqoweh” (= “แคว้นซีลีเซีย” ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “Kue”) เพราะนักวิชาการมีความเห็นตรงกันว่า “มูซูร์” และ “แคว้นซีลีเซีย” ในอาเซียน้อยเป็นแหล่งที่มาของม้าที่กษัตริย์ซาโลมอนทรงให้จัดซื้อ